เปิดบ้าน ‘ญัฮกุร’ มอญทวารวดี 2,000 ปี
ญัฮกุร เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมใน อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง จึงนำภาษาไทยมาใช้เขียนแทน
โดย...กาญจน์ อายุ
คุณอาจเคยเดินผ่านชาวญัฮกุรโดยไม่รู้ตัว
ญัฮกุร เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมใน อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง จึงนำภาษาไทยมาใช้เขียนแทนอย่าง ญัฮกุร อ่านว่า ญะ (ออกเสียง ฮ ขึ้นจมูก) กุ้น (กระดกลิ้น ร ส่งท้าย) การสืบทอดภาษาผ่านระบบมุขปาฐะ ทำให้ภาษาญัฮกุรเลือนหายไปตามเวลา รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิม เช่น การแต่งกาย อาหาร ลักษณะบ้านเรือน ที่แทบไม่หลงเหลือ เพราะวัฒนธรรมสมัยใหม่กลืนกินไปเกือบหมดสิ้น
การเดินทางไปชมดอกกระเจียวที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงามครานี้ จึงกลายเป็นประเด็นรองเมื่อได้พบกับชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หมู่บ้านญัฮกุร (มอญโบราณยุคทวารวดี) ที่แอบซ่อนอยู่ใน อ.เทพสถิต มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด แต่ตอนนี้ชุมชนเปิดตัวแล้วโดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ โดย สวธ.ให้งบประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมตามแผนพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยในระยะแรกเริ่มที่การพัฒนาบุคลากร จากนั้นจะปรับปรุงภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม จัดทำป้ายบอกทาง ลานวัฒนธรรม และสุดท้ายจะตั้งกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้เองอย่างยั่งยืน
อมรรัตน์ ลีเพ็ญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเครือข่ายและชุมชน สวธ. กล่าวว่า เหตุที่เลือกชุมชนญัฮกุร เพราะมีความพร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเฉพาะเอกลักษณ์ด้านชาติพันธุ์และวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดรายได้แก่คนในชุมชน
ตอนนี้เมื่อนักท่องเที่ยวขับรถสู่ชุมชนบ้านไร่ จะเห็นบ้านจำลอง 3 หลัง และป้ายหมู่บ้านญัฮกุรเตะตาอยู่ริมทางเข้าชุมชน เป็นจุดแลนด์มาร์คให้แวะจอดถ่ายภาพและเริ่มต้นศึกษาวิถีชาวญัฮกุร ประกอบด้วยบ้านไม้ไผ่ใต้ถุนสูงสร้างอย่างเรียบง่าย 3 หลัง ใต้ถุนบ้านมีชิงช้าทำจากไม้ท่อนเดียว ใช้เป็นที่พักผ่อนและห้องครัวในเวลาเดียวกัน หลังคามุงจาก มีชานนอกบ้าน และตัวบ้านทำเป็นห้องใหญ่ห้องเดียว
ทั้งนี้ การเที่ยววิถีชุมชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้รู้มาอธิบาย เพราะถ้าเช่นนั้นบ้าน 3 หลังที่เห็นก็ไม่ต่างอะไรกับพิพิธภัณฑ์ไร้ข้อมูล ดังนั้นก่อนเดินทางต้องติดต่อล่วงหน้าสัก 1 วันโดยโทรศัพท์หาผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พนม จิตร์จำนงค์ เขาเป็นลูกหลานชาวญัฮกุร ที่เป็นผู้ร่วมฟื้นฟูวัฒนธรรมพื้นถิ่นกับปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชน พี่พนมจะพาเข้าไปยังหมู่บ้านญัฮกุรเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตจากชาวบ้านจริงๆ เขากล่าวว่าสมัยก่อนชาวญัฮกุรทำไร่เลื่อนลอยปลูกทั้งข้าว ดอกไม้ อ้อย กล้วย เผือก มัน มะเขือ ตะไคร้ ข่า โดยทำไร่เป็นวงรีไม่ใช่สี่เหลี่ยมเหมือนทั่วไป แต่ก่อนที่จะลงมือทำชาวญัฮกุรจะทำพิธีขออนุญาตก่อนถางป่า เขาเล่าว่า
“พวกเรามีความเชื่อเกี่ยวกับป่า เชื่อว่าป่ามีผู้ดูแลรักษา ดังนั้นก่อนทำอะไรเราต้องทำพิธีโดยเด็ดดอกไม้ หมาก วางไว้ในป่า แล้วตัดต้นไม้เล็กๆ 2-3 ต้นกลับบ้าน ถ้าฝันดี เช่น ฝันเห็นเนื้อ เห็นปลา แปลว่าสามารถกลับไปทำไร่ได้ แต่หากฝันไม่ดีก็จะไม่ทำ และหาพื้นที่อื่นแทน” ชาวญัฮกุรใช้ชีวิตเคียงคู่ธรรมชาติตั้งแต่บรรพบุรุษ อาศัยตามไหล่เขาที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ อันเป็นเหตุให้คนไทยเรียกชาวญัฮกุร ว่า ชาวบน หรือชาวบ้านที่อยู่บนภูเขานั่นเอง
พี่พนมสามารถฟังพูดภาษาญัฮกุรได้ไม่ต่างจากรุ่นปู่ย่า และสามารถเขียนได้ด้วยตั้งแต่มหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาศึกษาวิจัยภาษาญัฮกุร จนทำให้มีภาษาเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จากการวิจัยพบว่าภาษาญัฮกุรอยู่ในประเภทออสโตรเอเชียติก ใกล้เคียงกับภาษามอญโบราณ ซึ่งใช้เป็นภาษากลางเมื่อ 2,000 ปีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี จึงเป็นหลักฐานว่าชาวญัฮกุรคือชาวมอญโบราณยุคทวารวดี อพยพย้ายถิ่นตามแหล่งอาหารบนภูเขาแถบแม่น้ำป่าสักในเขต จ.เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และชัยภูมิ ซึ่งพบจำนวนมากที่สุด มีการตั้งเป็นชุมชนถาวรดังเช่นในบ้านไร่ อ.เทพสถิต แห่งนี้
การวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาเมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นจังหวะที่ภาษาญัฮกุรอยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ นักภาษาศาสตร์จากมหิดลจึงเข้ามารื้อฟื้น โดยนำระบบตัวเขียนมาจดบันทึกและผลิตวรรณกรรมภาษาถิ่นเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน เวลา 10 ปีผ่านมามีนิทานภาษาญัฮกุร 50 เรื่องในชั้นเรียน และโรงเรียนบ้านไร่พัฒนาก็มีคลาสสอนพิเศษสำหรับนักเรียนที่สนใจเรียนภาษาญัฮกุรด้วย
นอกจากนี้ พี่พนมและผู้นำชุมชนกลุ่มเล็กๆ ก็ได้ช่วยกันฟื้นประเพณี แห่หอดอกผึ้ง ที่สูญหายไปเนิ่นนานให้กลับมาอีกครั้งในปี 2550 แห่หอดอกผึ้งเป็นประเพณีดั้งเดิมจัดขึ้นช่วงสงกรานต์ โดยแต่ละบ้านจะนำ
ขี้ผึ้งมาม้วนเป็นกรวยประดับบนโครงต้นผึ้งที่ทำจากไม้ไผ่ ต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 13 เม.ย. จากนั้นวันที่ 14 จะมีงานแห่รอบหมู่บ้านเพื่อนำไปถวายวัด เมื่อแห่เสร็จต้นผึ้งจะถูกรื้อนำไปทิ้งในป่าช้า แต่จะเก็บขี้ผึ้งไว้สำหรับทำเทียน ประเพณีนี้มีความเชื่อว่าเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อขอขมาผึ้งที่ชาวบ้านมักเข้าป่าไปตีรัง
พี่พนมเปิดภาพในมือถือให้ดูหอดอกผึ้ง ฉันเองถึงกับอึ้ง เพราะลักษณะใกล้เคียงกับต้นผึ้งที่ชาวนครพนมทำเพื่อบูชาพระธาตุพนมในวันออกพรรษา เกือบไม่ผิดเพี้ยน แต่ก็ยังหาเส้นเรื่องเชื่อมโยงไม่เจอ เพราะชาวญัฮกุรไม่มีหลักฐานว่าตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นครพนมด้วย
ปัจจุบันเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ทุกบ้านจะทำหอดอกผึ้งร่วมขบวนแห่ ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของพี่พนมและทีมงาน เพราะเมื่อเทียบกับปีแรกที่เริ่มรื้อฟื้น มีแต่บ้านของพี่พนมเท่านั้นที่ทำ นอกจากนี้เครื่องแต่งกายที่รุ่นปู่ย่าใส่ก็ถูกนำมาเป็นตัวอย่างแล้วผลิตซ้ำ ทำให้รุ่นลูกหลานมีไว้ในตู้เสื้อผ้า แม้จะหยิบมาใส่เฉพาะในงานประเพณีก็ตาม
นอกจากพี่พนมและปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถให้ความรู้แล้ว ยังมีมัคคุเทศก์น้อยพาทัวร์หมู่บ้านไปตามจุดเรียนรู้ต่างๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรม การทอเสื่อ ลานการละเล่น สวนพืชผักสมุนไพร ศูนย์ภาษาญัฮกุร วิถีความเชื่อหมอดู การล่าสัตว์ และการทำอาหาร ขนมพื้นบ้าน
ด.ญ.เกษรินทร์ บุญยิ่ง หรือน้องแนน อายุ 13 ปี เป็นลูกหลานชาวญัฮกุรที่ยังพูดภาษาถิ่นกับคนในครอบครัว และเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมโดยไม่รู้ตัว เธอสามารถเล่าขั้นตอนการทำหอดอกผึ้งได้เป็นฉากๆ เพราะช่วยแม่ทำทุกครั้ง เธอสามารถอ่านนิทานญัฮกุรได้คล่องแคล่วและแปลเป็นไทยได้โดยอัตโนมัติ เธอดีดลูกสะบ้าเป็น และเดินไม้โถกเถกเก่งไม่แพ้ผู้ชาย และเธอภูมิใจที่เป็นลูกหลานญัฮกุร โดยไม่รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนๆ ที่เป็นคนไทย
ไม่ต่างจากชาวไอร์แลนด์สองคนนี้ที่รู้สึกว่าตนเป็นชาวญัฮกุรไปเสียแล้ว ชาวญัฮกุรรู้จัก ป้าเบ็ตตี้ (Ms. Betty Pierce) และ ป้าแอ๊ด (Ms. Karen Huebner) เป็นอย่างดี เพราะทั้งสองคนอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2522 หรือเมื่อ 36 ปีมาแล้ว ป้าเบ็ตตี้ เล่าว่า เธอกับเพื่อนเดินทางเข้ามาในชุมชนในฐานะมิชชันนารีเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ แต่ไม่สามารถสื่อสารกันได้ เพราะคนที่นี่เป็นชาวญัฮกุร เธอจึงเริ่มศึกษาโดยการใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ทั้งช่วยทำไร่ ทำนา แล้วจดบันทึกคำศัพท์ต่างๆ ทำความเข้าใจภาษาด้วยตัวเอง จนสามารถพูดสื่อสารได้ แต่ก็ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี
ทุกวันนี้ทั้งสองคนไม่ได้เป็นมิชชันนารีแล้ว แต่ทำงานเป็นอาสาสมัครในมูลนิธิรากฐานมั่นคง ทำงานช่วยเหลือชุมชนและเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษบ้างเป็นครั้งคราว ถามป้าทั้งสองว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ลงหลักปักฐานที่นี่ พวกเธอเกือบตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะ “คน” ชาวญัฮกุรทำให้ชาวต่างชาติทั้งสองคนเลือกบั้นปลายชีวิตอยู่ที่นี่ ขณะนี้ป้าเบ็ตตี้อายุ 68 ปี ส่วนป้าแอ๊ดอายุ 63 ปี และคงไม่จากไปไหนแล้ว ยกเว้นเข้าเมืองไปต่อวีซ่าทุกๆ ปี
การเดินเที่ยวในหมู่บ้านญัฮกุรทำให้รู้จักกับคนที่น่าสนใจเหล่านี้ ซึ่งพี่พนมยอมรับว่าการเปิดชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้คนในชุมชนตื่นตัวและรู้สึกหวงแหนวัฒนธรรมของตนมากขึ้น แต่อย่างไรแล้วก็มีชาวบ้านบางส่วนที่รู้สึกอึดอัดเวลามีนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมผู้ใหญ่บ้านจะต้องระมัดระวังและจัดการให้การท่องเที่ยวดำเนินไปแบบไม่รบกวนชาวบ้านแม้สักคนเดียว นอกจากนี้ป้าเบ็ตตี้ยังแสดงความเห็นว่า การเปิดหมู่บ้านต้องมีกรอบในการท่องเที่ยวด้วย เพราะเธอไม่อยากให้การท่องเที่ยวเข้ามามากเกินไป
“ชอบสมัยก่อนมากกว่า” เธอกล่าว “เมื่อก่อนดูกระเจียวไม่เสียเงิน แต่เดี๋ยวนี้ทำเพื่อนักท่องเที่ยว” อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งเธอก็ดีใจที่มีคนเห็นความสำคัญของชาวญัฮกุร และต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมไว้ โดยมีชาวบ้านเป็นแกนหลักและแรงหลัก เพราะจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น
ภาษาญัฮกุรถูกขึ้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านภาษาเมื่อปี 2555 นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อพี่พนม จิตร์จำนงค์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านไร่ โทร. 08-6153-7312 ซึ่งนอกจากจะได้เที่ยวในหมู่บ้านแล้ว พี่พนมยังสามารถพาไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ดูทุ่งดอกกระเจียว ดูพระอาทิตย์ตกที่ผาสุดแผ่นดิน และพาไปกินอาหารญัฮกุรหรืออาหารอีสาบแซบๆ นอกจากนี้ในอนาคตจะมีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพักค้างแรมและใช้ชีวิตร่วมกับชาวญัฮกุร ที่แม้จะไม่โบราณเหมือนสมัยทวารวดี แต่ก็ยังดิบกลืนธรรมชาติ