posttoday

เช็กประสิทธิภาพเกย์ดาร์

03 กันยายน 2558

“แก...แกดูผู้ชายคนนั้นสิ สเปกฉันเลยอ่ะ หล่อ ตี๋ สูง ใหญ่ กล้ามน่าฟัดมากกกก เห็นแล้วฟินอ่ะ”

โดย...โจนาสเตเชีย ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล/ดร.นฤพนธ์/แม่บ้านมีหนวด/รอยเตอร์ส/เอเอฟพี/อีพีเอ

“แก...แกดูผู้ชายคนนั้นสิ สเปกฉันเลยอ่ะ หล่อ ตี๋ สูง ใหญ่ กล้ามน่าฟัดมากกกก เห็นแล้วฟินอ่ะ”

“ค่ะ ก็หล่อดีนะคะ ว่าแต่เป็นหรือเปล่าก็ไม่รู้ แบบเนี้ยน่าจะไม่พลาด พิมพ์นิยมเกย์กล้ามปู”

“ว้ายยยย!!! ไม่หรอกมั้งแก เพราะเกย์ดาร์ฉันทำงานอยู่นะ งั้นเดี๋ยวฉันขอสแกนซ้ำก่อนได้ปะ ว่าตกลงอีตากล้ามปูคนนี้ เป็นหรือไม่เป็น”

เมาท์มอยในหมู่เพื่อนสาว ใครเป็นหรือไม่เป็น มักถูกยกมาเป็นหัวข้อสนทนาเสมอ สนุกสนานครื้นเครง ยิ่งเมื่อผลการสแกนเกย์ออกมาว่าชายหนุ่มผู้มีความเป๊ะตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ใช่และเป็นชัวร์ (ทั้งๆ ที่คนที่เมาท์มอยก็หาได้รู้จักชายคนนั้นเป็นการส่วนตัวไม่)

เป็นการสรุปเอาเองโดยยึดค่านิยมและวัฒนธรรมสแกนเกย์ยุคเก่า นิ้วก้อยกระดก แต่งตัวเนี้ยบ ปากจัด เจ้าสำอาง หลงใหลในรูปร่าง ฯลฯ เชื่อได้ขนาดไหนว่าเขา (ที่กำลังถูกเมาท์มอยถึง) เป็นหรือไม่เป็น หรือว่ายุคนี้มีวิธีสแกนเกย์แบบใหม่ อะไร และอย่างไรกันหนอ โลกของชาวเรา

เช็กประสิทธิภาพเกย์ดาร์ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

สแกนเกย์ก็แค่มายาคติ

ผู้คลุกคลีและต่อยอดสู่งานวิจัยเกี่ยวกับเกย์ “ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยอมรับว่าส่วนตัวเขาไม่สนใจเรื่องสแกนเกย์สักเท่าไหร่ แต่สนใจปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อบุคคลถูก
สงสัยว่าเป็นเกย์ เพราะคนที่ถูกสงสัยว่าเป็นเกย์มักจะมีวิธีการแสดงออกในเชิงต่อต้านหรือปฏิเสธ หรืออาจจะแสดงออกด้วยคำพูดคำอธิบายเพื่อบอกปัด ปกปิดหรือทำให้เกิดความคลุมเครือในอัตลักษณ์

“วัฒนธรรมเกย์เป็นเสมือนภาพสะท้อนของระบบอำนาจและความรู้สมัยใหม่ แนวทางการศึกษาของผมจึงไม่ต้องการสร้างเกย์ให้เป็นคนที่น่าสงสารหรือน่าเห็นใจ แล้วผมก็ไม่ต้องการเยินยอเชิดชูเกย์ ไม่ต้องการปลดล็อกความเป็นเกย์ หากแต่ต้องการวิพากษ์อำนาจที่ชักใยวัฒนธรรมเกย์และทำให้สังคมและเกย์หลงติดและยึดมั่นอยู่กับมายาคติเรื่องเพศทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือลบล้วนตกอยู่ในอำนาจความรู้ที่มองไม่เห็นทั้งสิ้น หน้าที่ของผมคือชี้ให้เห็นพลังของอำนาจความรู้เหล่านั้นที่กระทำต่อเกย์มากกว่าครับ”

สืบสาวไปหายุควัฒนธรรมสแกนเกย์ ว่ากันว่าเกิดในช่วงปี 1948 ดร.อัลเฟรด คินซีย์ นักวิจัยด้านเพศชาวอเมริกัน เป็นคนแรกที่คิดวิธีการทดสอบพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย โดยให้คะแนนระดับศูนย์ถึงหกคะแนน ซึ่งคะแนนก็มาจากการสัมภาษณ์พฤติกรรมทางเพศ (แบบทดสอบนี้รู้จักในชื่อ Kinsey Scale) ถ้าคะแนนอยู่ในช่องศูนย์ หมายถึงผู้ชายคนนั้นเป็นรักต่างเพศเต็มตัว ถ้าได้คะแนนหกหมายถึงเป็นโฮโมเซ็กชวลเต็มตัว และมีเพียงผู้ชาย 10% ที่มีพฤติกรรมโฮโมเซ็กชวลแบบคงที่ตลอดชีวิต

เช็กประสิทธิภาพเกย์ดาร์

 

ถึงอย่างนั้นวิธีสแกนเกย์ที่นิยมและยังมีคนนำมาใช้ต่อๆ กัน ดร.นฤพนธ์มองว่าเป็นเพียงผลผลิตของวัฒนธรรมบริโภคแบบตะวันตก เป็นเรื่องประกอบสร้างทางสังคมและเป็นวาทกรรม หรือความรู้แบบตะวันตก ที่ต้องการทำให้เกย์เป็นสิ่งที่จับต้องได้และเป็นคนอีกชนิดหนึ่งที่ต่างไปจากคนทั่วไป

“ไม่มีอะไรตัดสินความเป็นเกย์ได้หรอก เพราะการนิยามความเป็นเกย์ไม่ได้ตัดสินจากพฤติกรรมเซ็กซ์ของคนคนนั้น ถึงแม้ว่าคนคนนั้นจะเคยมีประสบการณ์เซ็กซ์กับคนเพศเดียวกัน เขาก็อาจไม่ได้นิยามตัวเองเป็นเกย์

แบบทดสอบที่สร้างขึ้นมาจึงเป็นเพียงวิธีบ่งชี้ว่าคนคนนั้นเคยมีพฤติกรรมทางเพศแบบไหนในอดีต แต่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าในอนาคตเขาจะต้องมีพฤติกรรมทางเพศแบบเดิมเสมอไปนี่ครับ การสแกนเกย์หรือพิสูจน์ว่าใครเป็นเกย์ เป็นเรื่องมายาคติของสังคม ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นเกย์ เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นเพศใดๆ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองพิสูจน์ความเป็นเกย์ของคนอื่นๆ ได้ มันเลยเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะเถียงกันว่าใครสามารถสแกนเกย์ได้หรือไม่ได้ เพราะทุกคนต่างไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าพฤติกรรมและอารมณ์ทางเพศของคนอื่นเป็นอย่างไร หรือเปลี่ยนไปอย่างไร”

เช็กประสิทธิภาพเกย์ดาร์ บุ๊คโกะ-ธนัชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล

เป็นหรือไม่ ต้องให้...ผีเห็นผี!!!

สำนวน “ผีเห็นผี” แท้จริงยังใช้ได้ดีกับวิธีสแกนเกย์หรือไม่ หรือว่าต้องหาวิธีสแกนเกย์แบบใหม่ๆ ดีเจผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าหญิงวงการวิทยุ “บุ๊คโกะ-ธนัชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล” ยอมรับจนถึงปัจจุบัน เธอก็ยังเชื่อว่าผีเห็นผีใช้ได้ดีและแม่นยำ

“ส่วนใหญ่บุ๊คโกะจะใช้วิธีมองตาค่ะ ถ้าใครไม่ยอมสบตา ชอบหลบตาตลอด ก็สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นค่ะ คือวิธีนี้บุ๊คโกะจะรู้ด้วยสัญญาณตัวเอง สบตาแป๊บเดียวรู้เลย เพราะดวงตาจะปกปิดสิ่งที่ซ่อนข้างในได้ยากค่ะ (ยิ้มเชื่อมั่น) แต่บางคนก็ดูย้ากยากนะคะ อะไรของนาง จะเป็นหรือไม่เป็น ซึ่งถ้าวัดกันจริงๆ บ้านเราเกย์ค่อนข้างชัดและดูไม่พลาด ส่วนที่เกาหลีดูไม่ออกค่ะ เพราะทุกคนสำอางหมด หน้าใส หุ่นดี แต่งหน้าทาปาก เป็นวัฒนธรรมปกติที่ไม่สามารถสแกนเกย์ได้ เจอแบบนี้ไม่กล้าฟันธงค่ะ จนกว่าจะได้รู้จักตัวตนของเขาจริงๆ

วิธีสแกนเกย์แบบเดิมๆ บุ๊คโกะว่าบางอย่างมันก็ล้าสมัยไปละ ผู้ชายที่หันมาดูแลและใส่ใจตัวเองมากเป็นพิเศษก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นเกย์ เพราะฉะนั้นมันก็ยากนะคะที่จะไปตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่เราปฏิบัติสืบทอดกันมา อย่างบุ๊คโกะก็เคยสแกนว่าผู้ชายคนหนึ่งเป็นเกย์ แต่ปรากฏว่าเขาไม่ใช่ แต่งงานมีเมียมีลูก อีกคนบุ๊คโกะก็มารู้ทีหลังว่านางเป็นสาว สุดท้ายก็กลายมาเป็นเพื่อนสาวกัน (หัวเราะร่วน) วิธีเดิมชี้ชัดกันไม่ได้อีกแล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์ก็ไร้ขีดจำกัดค่ะ”

เช็กประสิทธิภาพเกย์ดาร์

 

ฟากเจ้าของเพจดัง “แม่บ้านมีหนวด” บอกว่าหากวัดจากประสบการณ์ตัวเองที่ใช้เกย์ดาร์สแกน เมื่อก่อนไม่ผิดฝาผิดตัว แต่ระยะหลังเมื่อสังคมเปลี่ยน การจะมาฟันธงว่าใครใช่หรือไม่ใช่ อาจต้องใช้กระบวนยุทธ์เพิ่มเป็นทวี ลำพังแค่ผีเห็นผีคงหน้าแหกได้

“ส่วนตัวเลยนะคะ เราว่าปัจจุบันผีเห็นผีนี่เริ่มจะใช้ไม่ได้ละ เพราะอะไร เพราะคุณผู้ชายสมัยใหม่ดูยากมากกก ไหนจะเรื่องความเป็นเมโทรเซ็กชวล ซึ่งเราก็ไม่สามารถที่จะไปฟันธงว่าเขาเป็นเกย์ได้หรอกค่ะ ยิ่งผู้ชายประเภทที่ติดสอยห้อยตามไปกับแก๊งเกย์แก๊งกะเทย อาการออก ภาษาก็ดอกส้มสีทอง (หัวเราะ) เชื่อมั้ยว่าเราก็เคยคิดว่าเขาเป็น แต่ที่ไหนได้ เขาไม่ได้เป็นค่ะ

เราว่าผู้ชายสมัยนี้สแกนกันยากขึ้น สิ่งที่เห็นอาจเป็นคนละอย่าง การจะไปตัดสินใคร เราว่าต้องระมัดระวัง แล้วการสแกนเกย์ก็อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไปละ เพราะที่สุดของที่สุดคือการแสดงอัตลักษณ์ในแบบที่ตัวพึงพอใจ นั่นต่างหากค่ะ แม้ว่าจะถูกมองถูกเหมาว่าเข้าข่ายเป็นเกย์ แต่คนที่ไม่ใช่มันก็คือไม่ใช่อยู่ดี”

เช็กประสิทธิภาพเกย์ดาร์

ในความเห็น ดร.นฤพนธ์ ผีเห็นผีเป็นเพียงสำนวนที่ชาวเกย์สมัยใหม่ เพื่อใช้อธิบายว่าคนที่เป็นเกย์เหมือนกันจะมองเกย์ด้วยกันเองออก ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาเป็นบรรทัดฐานในการสแกนเกย์ได้ เพราะปัจจุบันผู้ชายจำนวนมากมีบุคลิกภาพ อารมณ์ นิสัย พฤติกรรมคล้ายๆ ชาวเกย์ เช่น ผู้ชายเมโทรเซ็กชวล ผู้ชายสำอาง ผู้ชายรักการเล่นฟิตเนส ผู้ชายรักสุขภาพ ผู้ชายแนวสปอร์โตเซ็กชวล เมื่อชาวเกย์เห็นผู้ชายเหล่านี้ก็อาจตัดสินเขาว่าเป็นเกย์ ทั้งๆ ที่เขาอาจยังมีความเสน่หากับผู้หญิง

“สำนวนนี้ถูกสร้างขึ้นในชุมชนเกย์ที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับเกย์ที่เปิดเผย นั่นหมายถึงเกย์ที่แสดงออกจะกลายเป็นผู้ที่ตัดสินว่าใครเป็นเกย์ แต่ในความเป็นจริง เกย์ที่แสดงออกย่อมจะมีสมมติฐานส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคล เกย์ที่แสดงออกโดยมองจากบุคลิกภาพภายนอก รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย พฤติกรรม นิสัย อารมณ์ แล้วประมวลจากประสบการณ์ของตัวเองเพื่อใช้ตัดสินความเป็นเกย์ของคนอื่น”

เช็กประสิทธิภาพเกย์ดาร์

เลิกแอ๊บแมนกันมั้ย (?) 

ในเมื่อวิธีสแกนว่าใครเป็นหรือไม่เป็นใช้ไม่ได้ผล สิ่งเดียวที่จะเป็นการกระชากหน้ากากคนที่น่าสงสัยก็คงหนีไม่พ้น “การเลิกแอ๊บแมน” แต่นั่นคือทางออกจริงแท้หรือเปล่า ดร.นฤพนธ์ย้ำว่าหลักใหญ่ใจความที่ทำให้แบบทดสอบความเป็นเกย์ยังมีข้อถกเถียง คือเรื่องอัตลักษณ์ ด้วยว่าอัตลักษณ์เกย์นั้นเป็นเพียงการประกอบสร้างทางวัฒนธรรมของคนในสังคมสมัยใหม่ หรือกลุ่มชนชั้นกลางที่มีวิถีชีวิตในสังคมบริโภคนิยมเท่านั้น

ขณะเดียวกัน แม้สังคมจะเปิดกว้างและยอมรับการเป็นเกย์มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดหายไปและยังคงมีให้เห็นกันเกลื่อนคือ “การแอ๊บแมน” ซึ่งประเด็นนี้ ดร.นฤพนธ์มองว่าการแอ๊บแมนนั้นอยู่ในลักษณะการเมืองแบบเพศวิถี คนจึงยังเลิกแอ๊บแมนไม่ได้ ยิ่งเมื่ออยู่กับแฟนหรือคนรัก เมื่อต้องการหาคู่ เมื่อพบกับคนที่ถูกใจ การแอ๊บแมนยังต้องทำหน้าที่นี้ต่อ

“การแอ๊บแมนผมว่ามันเป็นการเมืองของเพศวิถีที่ถูกทำให้เป็นวัฒนธรรมในโลกสมัยใหม่ แอ๊บแมนคือผลพวงที่เกิดจากการให้คุณค่าและความสำคัญกับความเป็นชายมากกว่า ในสังคมไทยผู้ชายถูกคาดหวังว่าจะต้องแสดงบทบาทเป็นชาย เช่น แข็งแรง อดทน ไม่อ่อนแอ ไม่ตุ้งติ้ง ถ้าผู้ชายแสดงอาการเหล่านั้นออกมาก็จะถูกล้อว่าเป็นกะเทย เป็นตุ๊ด เป็นเกย์ ทำให้ผู้ชายที่สนใจเพศเดียวกันจำเป็นต้องธำรงบุคลิกลักษณะแบบผู้ชายไว้ และผมก็เชื่อนะว่าอัตลักษณ์เกย์ไม่ได้มีอยู่ในเซลล์ หรือมีอยู่ในสายเลือดของคนเราหรอกครับ แต่มันถูกสร้างขึ้นมาจากสังคมตะวันตกที่ต้องการทำให้อารมณ์ทางเพศเป็นตัวบ่งชี้ ซึ่งตัวตนทางเพศของมนุษย์นี่ละคือเครื่องพิสูจน์อัตลักษณ์ของคนคนนั้น

เช็กประสิทธิภาพเกย์ดาร์

 

ยิ่งเราเชื่อว่าคนที่ปกปิดความเป็นเกย์ เราก็ยิ่งตกอยู่ในมายาคติ คำถามคือการเปิดเผยตัวตนเกย์ในโลกปัจจุบันคือการเมืองชนิดใหม่ ที่ต้องการทำให้คนทุกคนนิยามตัวตนทางเพศภายใต้กล่องสำเร็จรูปของความเป็นชาย หญิง เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ไบเซ็กชวล

กล่องทางเพศเหล่านี้คืออำนาจที่เข้ามาบ่งไลฟ์สไตล์ของบุคคล ไลฟ์สไตล์ที่ถูกสร้างในวัฒนธรรมบริโภคที่กระตุ้นให้คนแต่ละคนแสวงหาความสุขและคุณค่าในตัวเอง ผ่านวาทกรรมเรื่องเสรีภาพและสิทธิทางเพศ ปัญหาที่ซ่อนอยู่ก็กลายเป็นอำนาจเหนือชีวิตที่ครอบงำบุคคลให้จัดระเบียบทางเพศของตัวเองภายใต้วาทกรรม

ผลที่ตามมาเราจะประณามคนที่ปกปิดตัวตนทางเพศว่าเป็นคนที่โกหกหลอกลวง เราก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจที่ใช้ตัวตนทางเพศแบ่งแยกคนออกจากกัน