ถังขยะจากขยะ ไอเดียสุดเจ๋งเด็กมัธยม
“เอาขยะมาทำเป็นถังขยะ” ไม่ว่าใครที่ได้ยินไอเดียนี้เป็นครั้งแรกต่างก็คิดชื่นชมในไอเดียของน้องๆ
โดย...โยธิน อยู่จงดี
“เอาขยะมาทำเป็นถังขยะ” ไม่ว่าใครที่ได้ยินไอเดียนี้เป็นครั้งแรกต่างก็คิดชื่นชมในไอเดียของน้องๆ จากโรงเรียนสาธิตบางนา ที่รวมกลุ่มเปิดบริษัท ขยะสมัยใหม่ (บริษัทรูปแบบจำลอง) เพื่อผลิตสินค้าเป็นถังขยะที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ได้สำเร็จ จนกลายเป็นนักเรียนมัธยมกลุ่มแรกของประเทศไทย ที่สามารถเปิดบริษัทและระดมเงินทุนทำไอเดียนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ซึ่งถังขยะ 2,000 ใบแรกมีแผนวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้
ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์
หัดเป็นเถ้าแก่น้อย
ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตบางนา อธิบายที่มาของสินค้าถังขยะรีไซเคิลนี้ว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนพยายามนำเอาโครงการที่สำคัญๆ จากภายนอกเข้ามาให้นักเรียนในโรงเรียนได้มีส่วนร่วมมาตลอด จนมีโครงการ “กรุงไทย ยุววานิช” ที่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการบ่มเพาะความคิดการเป็นผู้ประกอบการ ก็เลยอยากให้เด็กในระดับ ม.ปลาย ได้ลองทำธุรกิจอย่างจริงจังด้วยตัวเอง
โครงการนี้มีเด็กๆ อาสาสมัครเข้าร่วมทั้งหมด 7 คนมาร่วมทำกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขากำลังเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์อยู่พอดี เด็กกลุ่มนี้ก็ทำเหมือนเป็นบริษัทจริงๆ มีประธาน มีคนทำงานแต่ละฝ่ายประสานงานกันผลิตสินค้าให้บริษัทสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้
จากนั้นก็ลองให้เขาคิดกันว่าจะทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดี เพราะตัวโรงเรียนเองก็อยู่ห่างจากบ่อขยะประมาณ 3 กม. ถึงจะไกลแต่ก็ยังได้กลิ่นขยะอยู่บ้าง ด้วยการไปดูเรื่องเกี่ยวกับการจัดการขยะที่ อบต.บางเสาธง ก็พบว่าบ่อขยะที่กองเป็นภูเขาบางส่วนได้มีการจัดการแยกขยะพลาสติกออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีใครเอาไปจัดการรีไซเคิล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ยังรอการแยกและไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ ก็เลยเป็นที่มาของเด็กๆ ที่อยากจะรีไซเคิลพลาสติกเหล่านี้ขึ้นมา
เอาเถาถั่วไปทำฟืนต้มถั่ว
พนักงานในบริษัท ขยะสมัยใหม่ เป็นน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์-คณิต มีทั้งหมด 7 คน คือ ฉันทวัฒน์ เฉิดฉมาดล, ชลิดา วิจิตรสัมพันธ์, ธันย์ชนก วิริยะตั้งสกุล, ชลภัทร อนุรักษ์ธนากร, มัทนาพร ฉุยกลัด, พลอย ปิติภูวนันท์ และ ภานุพงษ์ สมอนาค
ฉันทวัฒน์ ประธานบริษัท เล่าว่า “หลังจากได้รับโจทย์จากโครงการ เราก็มานั่งระดมความคิดกัน โดยเอาข้อมูลทุกอย่างมาดูก็พบว่าขยะที่มีมากที่สุดก็คือพลาสติก และส่วนมากสินค้าพลาสติกรีไซเคิลก็จะเอามาทำเป็นกระเป๋า หรือทำเป็นของใช้อื่นๆ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่คนกังวลก็คือเรื่องสารพิษที่อาจจะออกมาจากพลาสติกเหล่านี้
จึงคิดต่อไปอีกว่าสินค้ารีไซเคิลของเราไม่ควรเป็นของที่ใกล้ตัวเรามากเกินไปนัก ผมจึงนึกถึงสำนวนจีนที่คุณพ่อเคยสอนผมไว้คือ ‘เอาเถาถั่วไปทำฟืนต้มถั่ว’ (มีที่มาจากบทกวี 7 ก้าว ของโจสิด บุตรคนที่ 3 ของโจโฉ ในเรื่องสามก๊ก กล่าวถึงความโศกเศร้าที่พี่น้องฆ่าฟันกันเอง) เลยคิดไอเดียออกมาอย่างหนึ่งก็คือ เราก็เอาขยะไปทำถังขยะ เลยกลายเป็นไอเดียสินค้านี้ขึ้นมา
จากนั้นเพื่อนๆ ก็ช่วยกันออกแบบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จนได้แบบที่แปลกตาดูทันสมัยมีชื่อว่า ‘ถังขยะของคนสมัยใหม่’ จึงส่งโรงงานให้ช่วยผลิตตามแบบที่เราต้องการ โดยขยะพลาสติกที่เราจะเอามาทำเป็นถังขยะนั้นจะเลือกเฉพาะขยะที่เป็นฝาขวดและถังแกลลอน ซึ่งจะเป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรงทนทานเหมาะสำหรับการนำมาทำเป็นถังขยะ
โดยตั้งเป้าการผลิตครั้งแรกอยู่ที่ 2,000 ใบ จำหน่ายในราคาใบละ 99 บาท เน้นช่องทางการขายปลีกทางโซเชียลมีเดีย ส่วนการขายส่งจะติดต่อเสนอให้บริษัทที่สนับสนุนสินค้าลดโลกร้อนนำไปวางจำหน่าย”
น้องๆ เหล่านี้เล่าถึงอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจเล็กๆ ของพวกเขาว่า ที่ยากที่สุดก็คือเรื่องการติดต่อหาโรงงานผลิต เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีประสบการณ์ในการผลิตสินค้ารีไซเคิล อีกทั้งขั้นตอนและการผลิตยุ่งยากกว่าการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ อุปสรรครองลงมาก็คือเรื่องต้นทุน โครงการนี้ใช้ต้นทุนประมาณ 1 แสนบาท เฉพาะค่าแท่นแม่พิมพ์ก็สูงถึง 5 หมื่นบาทไปแล้ว ต้นทุนล็อตแรกจึงอยู่ที่แม่พิมพ์เป็นหลัก ส่วนพลาสติกรีไซเคิลได้รับความอนุเคราะห์จาก อบต.บางเสาธง สนับสนุนโครงการด้วยการให้พลาสติกมาครึ่งตัน ช่วยในการผลิตสินค้าล็อตแรก และได้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการมาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าของบริษัท ขยะสมัยใหม่ ให้อีกด้วย
ความท้าทายของทุกฝ่าย
ดร.นาฎฤดี กล่าวถึงผลงานของเด็กๆ อีกว่า “สิ่งที่เด็กๆ ทำก็ถือว่าเป็นการจุดประกายเรื่องการผลิตสินค้ารีไซเคิล ไม่เฉพาะแต่เด็กๆ เท่านั้นที่พยายามแก้ปัญหาให้สำเร็จ ทางโรงงานและทางโรงเรียนเองก็ช่วยกันเต็มที่เพื่อให้ถังขยะที่ทำจากขยะประสบความสำเร็จ แม้ต้นทุนจะค่อนข้างสูง แต่ก็ได้รับเงินจากโครงการ จากทางโรงเรียน และผู้ที่สนใจสนับสนุนเงินทุนเข้าร่วม ต่อไปถ้าผลตอบรับดี และบริษัทสามารถอยู่ได้ ก็จะผลิตล็อตที่ 2 ซึ่งจะมีกำไรกลับมาให้น้องๆ และส่งกลับไปถึงผู้ที่สนับสนุนเงินทุน
อุทัยวรรณ บอกบุญธรรม เจ้าหน้าที่โรงงานผลิตสินค้า บอกกับเราว่า “ตอนแรกที่เรารับงานมาดู เราก็เห็นด้วยกับไอเดียของเด็กๆ ที่จะนำเอาขยะมาทำเป็นถังขยะ คิดว่าแปลกและท้าทายสำหรับเราเหมือนกัน เพราะโรงงานเองก็ไม่เคยผลิตสินค้ารีไซเคิลมาก่อน จึงคิดจะช่วยเหลือเด็กๆ ให้ทำจนสำเร็จ
อุทัยวรรณ บอกบุญธรรม
ด้วยการรับงานและคิดในราคาถูกที่สุด เพราะเป็นประสบการณ์ใหม่ของเราด้วย สิ่งที่เราพบจากการผลิตก็คือเม็ดพลาสติกรีไซเคิลพอเราเอากลับมาหลอมทำใหม่จะขึ้นรูปได้ยากกว่าเม็ดพลาสติกใหม่ๆ รวมทั้งการใส่สีให้ได้ตามต้องการก็ทำได้ยากกว่า เพราะพลาสติกรีไซเคิลจะมีสีติดมาอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับเม็ดพลาสติกใหม่ที่มีลักษณะใสสามารถใส่สีได้ตามต้องการ ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกจนทำออกมาได้สำเร็จ”
สินค้าที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลนั้นมีมากมาย แต่ถังขยะที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ใบแรกจากไอเดียของเด็กๆ มีเพียงใบนี้เท่านั้น และสิ่งนี้ทำให้เรารู้ว่าการจัดการขยะล้นโลกจำเป็นต้องใช้ไอเดียของเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ก้าวล้ำและกล้าที่จะลงมือทำนั่นเอง