posttoday

Waste to Energy... ตัวอย่างความสำเร็จจากญี่ปุ่น

12 กันยายน 2558

เรื่องการจัดการกับขยะนั้น ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีปัจจุบันก้าวไปไกลมาก ในบรรดาประเทศเจ้าแห่งเทคโนโลยี

เรื่องการจัดการกับขยะนั้น ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีปัจจุบันก้าวไปไกลมาก ในบรรดาประเทศเจ้าแห่งเทคโนโลยี และผู้นำด้านวิศวกรรมทั้งหลาย ต่างก็พัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอด แต่เชื่อหรือไม่ว่าเทคโนโลยีทันสมัยเหล่านั้น จะเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง หากจุดเริ่มต้นยังเหมือนเดิม ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ว่านั้นก็มาจากพฤติกรรมของมนุษย์เรานี่เอง

ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นประเทศที่จัดการกับเรื่องนี้มีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อ ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะพยายามไปศึกษาดูงานและทำความเข้าใจกระบวนการจัดการแบบญี่ปุ่น แต่ก็ยังไม่มีชาติไหนที่จะเลียนแบบได้เลย สาเหตุส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จของการจัดการขยะแบบญี่ปุ่นนั้นมาจากความมีวินัยของผู้คนเป็นสำคัญ

นักท่องเที่ยวหลายท่านที่ได้มีโอกาสไปเยือนญี่ปุ่น จะสังเกตเห็นว่า การหาถังขยะในที่สาธารณะนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นพื้นที่ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมไปเยือนเป็นจำนวนมากๆ เขาก็จะมีถังขยะไว้บริการบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ถือได้ว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีถังขยะอยู่ในที่สาธารณะน้อยนั้น ก็เป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ของเขาเชื่อว่าขยะเป็นความรับผิดชอบพื้นฐานของแต่ละคน ดังนั้นแต่ละคนก็ต้องรับผิดชอบเอากลับมาทิ้งที่บ้านของตัวเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยปัจจัยใดก็ตามที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีวินัยและรับผิดชอบตัวเองเรื่องขยะ ที่แน่ๆ คือปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นปฏิบัติเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าหากเราจะมองในแง่เศรษฐศาสตร์แล้ว ลองบวกลบคูณหารดู ก็จะรู้ว่าค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของประเทศที่เป็นเกาะ ซึ่งมีพื้นที่จำกัดแบบนี้ ถ้าทำไม่ดีก็จะเกิดเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว

Waste to Energy... ตัวอย่างความสำเร็จจากญี่ปุ่น

 

หรือหากจะมองในแง่ของสังคม ก็เป็นปัจจัยที่น่าจะมีส่วนอย่างมากต่อกระบวนคิดของคนญี่ปุ่น เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพวกเขาก็เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างลงตัวอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีการพัฒนาทางวัตถุไปมากเพียงใด แต่คนญี่ปุ่นก็ยังให้คุณค่ากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เสื่อมคลาย ดังนั้น เขาจะไม่ปล่อยให้ขยะมาทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่งดงามของเขาเป็นเด็ดขาด

เมื่อเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองเกียวโต ก็ยิ่งทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า คนญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญและจัดการกับขยะได้อย่างเป็นระบบมากเลยทีเดียว โดยขยะแต่ละชนิดก็ต้องแยกใส่ถุงต่างชนิดกัน แล้วก็ต้องนำไปวางรวมกันไว้ในจุดนัดรับขยะ ซึ่งก็จะมีตารางนัดหมายอยู่ว่าวันไหนจะรับขยะประเภทใด ดังนั้นถ้าใครทะเล่อทะล่า เอาขยะผิดชนิดไปวางไว้ผิดที่ ผิดวัน นอกจากจะมีโอกาสถูกปรับแล้ว ยังอาจจะโดนสังคมประณามอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราก็มักจะไม่เห็นขยะวางเกลื่อนกลาดอยู่ตามท้องถนนในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากการจัดการกับขยะฝั่งต้นทางที่มีประสิทธิภาพแล้ว ญี่ปุ่นยังจัดการกับขยะได้ชนิดที่ว่าราบเรียบ แทบจะไม่เหลืออะไรเลย กล่าวง่ายๆ ก็คือว่า อันไหนเอาไปรีไซเคิลได้ ก็เอาไปรีไซเคิล ส่วนอันไหนเอาไปรียูสได้ ก็ส่งไปรียูส แม้แต่บางอย่างที่ดูเหมือนจะเอาไปสร้างมูลค่าไม่ได้แล้ว เขาก็ยังพยายามเอาไปสร้างประโยชน์อย่างอื่นอีก อย่างเช่น การนำขยะบางชนิดไปบีดอัดหรือแปรรูปให้เป็นวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้ถมทะเล ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะแล้วยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้อีกต่างหาก

อันไหนที่เป็นขยะที่เผาทิ้งได้ เขาก็จะเอาไปเผา โดยกระบวนการเผาก็จะสร้างประโยชน์ได้อีกเช่นกัน เพราะความร้อนที่ได้จากเปลวไฟสามารถนำไปต้มน้ำเพื่อผลิตเป็นไอน้ำ ใช้ปั่นไฟฟ้าได้อีกต่างหาก ส่วนกากขี้เถ้าที่เหลือนิดหน่อยจากกระบวนการเผา ก็ยังเอาไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างหรือเอาไปใช้ถมที่ได้อีกต่างหาก

Waste to Energy... ตัวอย่างความสำเร็จจากญี่ปุ่น

นั่นจึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีโรงเผาขยะอยู่แทบจะทุกเมือง ซึ่งหนึ่งในโรงเผาขยะที่เก๋ไก๋ที่สุดของประเทศ มีชื่อว่า Maishima incineration plant ตั้งอยู่ในเมืองโอซากาที่ว่าเก๋ไก๋มาก ก็เป็นเพราะว่ารูปร่างหน้าตาภายนอก แทบจะดูไม่ออกเลยว่า เป็นโรงเผาขยะ ด้วยสีสันสดใส ที่ตกแต่งด้วยวัสดุหลากสี และมีเส้นสายที่เน้นความโค้งมนไม่แข็งทื่อเหมือนโรงงานทั่วๆ ไป จึงทำให้โรงเผาขยะแห่งนี้เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของโอซากาเลยก็ว่าได้

เจ้าโรงกำจัดขยะที่หน้าตาเหมือนสวนสนุกแห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะเล็กๆ ที่เกิดจากการถมทะเล ซึ่งห่างออกมาจากพื้นที่อยู่อาศัยอยู่สักหน่อย โดยสาเหตุส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากความกังวลของประชาชน โดยโรงกำจัดขยะแห่งนี้เริ่มมีการสร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1997 และแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2001 ด้วยงบประมาณก่อสร้างกว่า 6 หมื่นล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยร่วม 1.8 หมื่นล้านบาท และนอกจากนั้นแล้วก็ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีกปีละประมาณ 1,000 ล้านเยน หรือประมาณ 300 ล้านบาทเลยทีเดียว

สาเหตุที่เทศบาลโอซากาต้องลงทุนมหาศาลขนาดนั้น ก็เพราะว่าจำนวนประชากรของโอซากาเพิ่มมากขึ้น สังคมเมืองก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวก็มาที่โอซากามากขึ้นทุกวัน จำนวนโรงกำจัดขยะที่มีอยู่เดิม 5-6 โรง ก็เริ่มจะไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้างเพิ่มอีกหนึ่งโรง

เจ้าโรงงานที่ดูสวยงามแปลกตาแห่งนี้ เป็นผลงานของศิลปินชื่อดังชาวออสเตรียที่มีชื่อว่า Friedenstreich Hundertwasser ผู้ซึ่งเป็นศิลปินระดับโลก ที่ผลงานออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ โดยอาศัยหลักการสอดผสานระหว่างเทคโนโลยี ระบบนิเวศ และศิลปะ จนทำให้โรงงานดูไม่เหมือนโรงงาน และทำให้โรงกำจัดขยะเป็นงานศิลป์ชิ้นใหญ่ที่ดูแล้วให้ความรู้สึกสดใสและเป็นมิตรกับสายตา

และด้วยความที่โรงกำจัดขยะแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น คนภายนอกก็มักจะให้ความสนใจอยากมาดูด้านใน ทางเทศบาลโอซากาก็เลยจัดที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องขยะควบคู่กันไปเสียเลย ทำให้ในแต่ละวันจะมีทั้งนักเรียน นักศึกษา  แล้วก็นักท่องเที่ยวจำนวนมาก เข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดขยะ ซึ่งพื้นที่ด้านในก็จะมีส่วนที่จัดแสดงแบบแอนิเมชั่น เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจง่าย และก็ยังมีบางส่วนที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้เห็นของจริงแบบใกล้ๆ กันเลยทีเดียว

Waste to Energy... ตัวอย่างความสำเร็จจากญี่ปุ่น

ทุกวันจะมีขยะจำนวนมากที่ถูกทยอยส่งมาที่โรงกำจัดขยะแห่งนี้ด้วยรถขนขยะของเทศบาล และของบริษัทเอกชนที่รับจ้างกำจัดขยะ ซึ่งขยะที่ถูกส่งมาที่นี่ได้ ก็จะต้องเป็นขยะที่สามารถเผาไฟติดเท่านั้น ถ้าขืนขนมาทิ้งแบบมั่วๆ ก็มีสิทธิจะโดนค่าปรับได้

โดยปกติแล้วเมื่อเผาขยะทิ้งจะเกิดเปลวไฟ และความร้อนที่ได้จากเปลวไฟนี่แหละที่เอาไปสร้างประโยชน์ต่อได้ โดยการเอาไปใช้ต้มน้ำ เพื่อให้เกิดเป็นไอน้ำ แล้วก็เอาไอน้ำมาหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่อไป ซึ่งแม้ว่าจะได้ไฟฟ้าในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยความร้อนให้เสียทิ้งไปเปล่าๆ

ปัจจุบันนี้ แนวคิดในการแปลงขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า กำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเราเองก็มีการพูดถึงประเด็นนี้อยู่บ่อยครั้ง และก็อาจถึงขั้นที่ว่าจะรวบรวมเอาขยะทั้งประเทศมารวมกันแล้วตั้งเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะขนาดใหญ่กันไปเลย แต่พอคิดทบทวนอีกทีแล้ว ค่าขนส่งก็คงมากมายมหาศาล บางทีอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ด้วยซ้ำไป ดังนั้นแนวคิดนี้จึงตกไป

อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการแปลงขยะและของเสียให้เป็นพลังงานไฟฟ้านั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์โดยตรงกับชุมชน อย่างเช่น การหมักขยะให้เกิดก๊าซชีวภาพแล้วนำไปใช้กันเองในชุมชนย่อยๆ ก็น่าจะดีไม่น้อย ส่วนเรื่องที่จะให้รัฐบาลมาสนับสนุนกลุ่มนักลงทุนด้านพลังงานจากขยะนั้น อาจต้องทำในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่เกิดประโยชน์อย่างทั่วถึง ซึ่งจะมีเพียงกลุ่มนายทุนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์โดยตรง

ดังนั้น เรื่องการแปลงขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยนั้น คงต้องพิจารณาให้รอบด้าน และที่สำคัญคือเราไม่ควรจะหลงประเด็น เพราะสิ่งที่เราควรทำคือช่วยกันลดขยะ มากกว่าสร้างขยะให้มากขึ้น เพื่อจะได้นำเอามาเผา แล้วคาดหวังพลังงานไฟฟ้า