อุทิศ เหมะมูล กับหนังสือและสำนักพิมพ์ ‘จุติ’
ด้วยสถิติเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ถึง 3 ครั้ง
โดย...ตุลย์ จตุรภัทร
ด้วยสถิติเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ถึง 3 ครั้ง และคว้ารางวัลนี้ไปตั้งแต่เข้ารอบครั้งแรกในปี 2552 จากนวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย มาปีนี้ อุทิศ เหมะมูล ก็สามารถเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ได้อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 4 จากนวนิยายเรื่อง จุติ
วันนี้เขาจะมาบอกถึงเรื่องราวของนวนิยายเรื่องนี้ รวมทั้งการตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ของตนเอง ที่เปิดมาได้กว่า 2 ปีแล้ว
“นวนิยายเรื่อง จุติ ถือว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับลับแล, แก่งคอย และลักษณ์อาลัย ในส่วนของตัวพื้นที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี บ้านเกิดของผมเอง เพียงแต่จุติจะพูดถึงเรื่องตำนาน อภินิหาร พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง การเปลี่ยนผ่านทางความคิด และความทรงจำที่ถูกปรับแต่งและรื้อสร้าง โดยมีทั้งหมด 57 ตอน แบ่งเป็น 5 ภาค ที่ใช้เสียงเล่าและกลวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ยากในการทำ แต่มันก็สนุกเวลาลงมือทำ ผมคิดว่าเสียงเล่านี้ก็ได้สะท้อนวิวัฒนาการของวรรณกรรม และทำให้เราสามารถตรวจสอบความเป็นวรรณกรรมในแต่ละยุคสมัยได้ด้วย เอาเป็นว่าความท้าทายของการเขียนนวนิยายเรื่องนี้คือ การทำให้เสียงเล่าในแต่ละเสียงมีความน่าสนใจ และพยุงแต่ละเรื่องให้ไปด้วยกันได้ดี ไม่มีเรื่องไหนพีก เรื่องไหนดร็อป แต่สามารถจับใจคนอ่านไปได้จนจบเล่ม สำหรับสิ่งที่เชื่อมโยงทั้งเรื่องไว้ก็คือ ลำดับเวลาและการส่งทอดเรื่องเล่าจากเสียงหนึ่งไปสู่อีกเสียงหนึ่งนั่นเอง”
ในแต่ละเรื่องในนวนิยายเรื่อง อุทิศ สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในยุคสมัยไหน มักถูกประกอบสร้างขึ้นมา เพื่อให้ทำขรึมขลัง ให้เก่าแก่ หรือให้มีความน่าสนใจ ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น เงื่อนไขการสร้างชาติ เงื่อนไขการพยายามลบบาดแผลส่วนบุคคล ฯลฯ
“แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็มีเรื่องราวใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ในที่สุดมันจะกลายเป็นตำนาน อภินิหาร พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง การเปลี่ยนผ่านทางความคิด และความทรงจำที่ถูกปรับแต่งและรื้อสร้าง ที่อาจบอกเล่าสืบต่อกันไปในอนาคต หรือนำไปใช้ไม่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง หรือเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งนั่นเอง ชีวิตเราเกี่ยวพันกับสิ่งเหล่านี้อยู่ทุกลมหายใจ เพียงแต่เราจะทำให้มันมีคุณค่า ถูกต้องเหมาะสม ต่อยุคสมัยในแต่ละยุคได้อย่างไรมากกว่า นี่คือสิ่งที่สำคัญ”
อุทิศเผยว่า หน้าที่หลักของนวนิยายเรื่องจุติ อย่างไรก็แล้วแต่ มันยังต้องเป็นนวนิยายที่ให้ทั้งความสาระ บันเทิง และสามารถจูงใจผู้คนให้หันกลับมาอ่านหนังสือกันมากขึ้นนั่นเอง
“สำหรับการทำสำนักพิมพ์จุติ ผมทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจัดพิมพ์หนังสือมาได้หลายเล่มแล้ว จุดหมายของผมเพียงแค่อยากดูแลใกล้ชิดผลงานเขียนของตัวเองเท่านั้นจริงๆ ผมไม่ได้ทำในลักษณะเป็น
สำนักพิมพ์ใหญ่ ผมดูแลเองคนเดียว มันทำให้การทำงานสามารถลดขนาดลงได้ เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนงาน การมีความคล่องตัวในการตัดสินใจในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน”
อุทิศเผยว่า การที่นักเขียนมาเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ เพื่อตีพิมพ์งานเขียนของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร มีลักษณะแบบนี้ได้สักพักแล้ว และอาจมีลักษณะแบบนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
“การมีร้านหนังสือเฉพาะกลุ่มเพิ่มมากขึ้น ก็ล้อไปกับการที่นักเขียนเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ เพื่อจัดพิมพ์งานเขียนของตัวเอง และคนอ่านที่อ่านงานเขียนในรูปแบบเฉพาะที่ตามหาอ่านยากในร้านหนังสือทั่วไป มันทำให้ความเฉพาะตัวทั้งหนังสือ ร้านหนังสือ และคนอ่าน ไปด้วยกันได้ดี ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดกันไปมาอย่างน่าสนใจ”
เป้าหมายในอนาคต เขามุ่งหวังอยากแปลนวนิยายของเขาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสามารถจำหน่ายในพื้นที่ที่วางจำหน่ายวรรณกรรมทั่วโลก เพียงแต่หากมีทุนทำ เขาก็จะลงมือทำเลย