posttoday

รถไฟฟ้ามาหาความเจริญ อดทน...เพื่อชีวิตที่ดีกว่า?

26 กันยายน 2558

ความทุกข์ทรมานในปัจจุบันคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความสะดวกสบายในอนาคต โบราณว่าเอาไว้ “ลำบากก่อน สบายทีหลัง”

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

ความทุกข์ทรมานในปัจจุบันคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความสะดวกสบายในอนาคต โบราณว่าเอาไว้ “ลำบากก่อน สบายทีหลัง”

เป็นเวลายาวนานติดต่อกันร่วม 30 ปี ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เต็มไปด้วยโครงการพัฒนา หนึ่งในนั้นคือการขยายเส้นทางการคมนาคมซึ่งล้วนแต่ใช้เวลานานแสนนาน และส่วนใหญ่มักเกินกว่ากรอบระยะเวลาที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น

ถนนเจ็ดชั่วโคตร-สะพานเจ็ดภพเจ็ดชาติ คือคำเรียกติดปากของคนในพื้นที่ และผู้ที่ต้องสัญจรไปมาผ่านพื้นที่ก่อสร้าง แน่นอนว่าเสียงบ่น-ก่นด่าจากความเดือดร้อนดังระงมไปทั่ว

ที่ดูเหมือนว่าแสนสาหัสในขณะนี้นั่นคือโครงการสร้างรถไฟฟ้าอีกหลากสายหลายสี แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี แม้จะไม่มีหลักประกันใดว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาวิกฤตจราจรได้จริง

การดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทางรวม 18.4 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้างจำนวน 3 หมื่นล้านบาท เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

นั่นคือต้นเหตุของการ “รื้อสะพานข้ามแยกเกษตร” รวมทั้งการปิดถนน จำกัดช่องทางจราจร ขุดเจาะพื้นผิว โดยคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จใน 30 เดือน หรือประมาณ 2 ปีครึ่ง (เป็นอย่างต่ำ)

รถไฟฟ้ามาหาความเจริญ อดทน...เพื่อชีวิตที่ดีกว่า?

 

ตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 18.4 กิโลเมตร พบว่ามี 4 จุดสำคัญที่เกิดวิกฤตจราจร ได้แก่ 1.บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดตัดของรถที่วิ่งมาจากถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต 2.บริเวณแยกรัชโยธิน เนื่องจากมีการทุบทิ้งสะพานข้ามแยกเกษตร เพื่อปรับเป็นอุโมงค์ทางลอดแทน 3.บริเวณแยกเกษตร ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้างตัวสถานี 4.บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งเป็นจุดตัดของสี่เส้นทาง

จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดใช้จริง ชาวกรุงเทพฯ ถึงจะค่อยๆ ปรับตัวได้ ทว่าระหว่างนี้ก็คงจะจับต้องได้แต่ความเดือดร้อน และจินตนาการความคาดหวังถึงโอกาสต่างๆ ที่คนในพื้นที่แนวรถไฟฟ้าจะได้รับ

‘หวังว่าสร้างเสร็จ ทุกอย่างคงดีขึ้น’

อภิสญา หมายสวรรค์ ผู้ประกอบการร้านเสริมสวย ใกล้แยกเกษตร บอกว่า เห็นด้วยที่จะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน และคิดว่าจะช่วยให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น นั่นเพราะปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องหาที่จอดรถยนต์ยากลำบาก ซึ่งหากรถไฟฟ้าสร้างเสร็จคงจะสะดวกต่อการเดินทางมากกว่าปัจจุบัน

“เห็นด้วยว่าควรสร้างรถไฟฟ้า อาจจะลำบากช่วงแรกที่กำลังก่อสร้างเพราะการจราจรติดขัด นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีรถไฟฟ้า คนก็สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ จอดรถไว้นอกเมือง จะไปไหนก็ไม่ต้องเสียค่าที่จอดรถ ทุกวันนี้คนมีรถส่วนตัวไม่ได้รู้สึกดีใจ แต่เป็นทุกข์มากกว่า” อภิสญา เชื่อเช่นนั้น

รถไฟฟ้ามาหาความเจริญ อดทน...เพื่อชีวิตที่ดีกว่า?

 

แม้ปลายทางมีแสงสว่าง แต่ปัจจุบันกลับมืดมิด ชาย เจ้าของร้านกาแฟใกล้แยกเกษตร สะท้อนภาพความเจริญของย่านเกษตรว่า แยกเกษตรเป็นจุดที่มีการก่อสร้างบ่อยมาก ทั้งขุดเจาะอุโมงค์ สร้างสะพาน รื้อสะพาน เสียงดังตลอด คนแถวนี้เบื่อหน่ายที่การก่อสร้างไม่จบไม่สิ้นเสียที ยังมีเรื่องสายไฟระโยงระยางอีกด้วย ตอนนี้ลูกค้าเริ่มน้อยลง เพราะไม่ค่อยมีใครอยากผ่านแยกเกษตรถ้าไม่จำเป็น

“ผมคิดว่าการที่คนส่วนใหญ่ชอบรถไฟฟ้าเพราะมันเดินทางรวดเร็ว แต่เอาเข้าจริงเชื่อสิเวลารถไฟฟ้าวิ่งผ่านใกล้ที่อยู่อาศัย ชุมชนเสียงจะดังทั้งวันไม่สนุกหรอก เห็นๆ กันอยู่เป็นเราไป
อนุสาวรีย์ชัยฯ อากาศข้างใต้ทางรถไฟฟ้ามีแต่ควันพิษแทบหายใจไม่ได้ ถนนไม่ปลอดโปร่งเหมือนแต่ก่อน ผมอยากเห็นต้นไม้มากกว่าทางรถไฟฟ้า” ชาย แสดงความคิดเห็น

เช่นเดียวกับ อนันญา เจ้าของร้านตัดขนสุนัขย่านสะพานใหม่ ที่เล่าว่า ตอนนี้เริ่มมีการปิดถนนบางส่วนแล้ว ส่งผลให้รถเคลื่อนตัวช้าและติดขัดมากขึ้น จึงอยากขอร้องให้รีบสร้างรถไฟฟ้าให้เสร็จเร็วตามกำหนด เพราะต้องเข้าใจว่าย่านสะพานใหม่การจราจรหนาแน่นมาโดยตลอด ยิ่งตอนนี้เหลือช่องทางวิ่งแค่ฝั่งละ 2 เลน คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนสะพานใหม่จำเป็นต้องใช้ถนนพหลโยธิน กว่าจะหนีออกไปเส้นทางอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย

“จากเดิมต้องออกจากบ้านไปส่งลูกที่โรงเรียนตั้งแต่หกโมง ตอนนี้ครอบครัวต้องเปลี่ยนเวลาออกจากบ้านเป็นตีห้า หวังว่าจะรีบสร้างให้เสร็จแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ชีวิตใกล้รถไฟฟ้าเราเห็นด้วย พร้อมสนับสนุน แต่ต้องห้ามสร้างล่าช้าเลยนะ ย่านสะพานใหม่ ถนนพหลโยธินคือเส้นเลือดใหญ่ของที่นี่” อนันญา ทำได้แต่ภาวนาให้โครงการแล้วเสร็จตามกำหนดเดิม

รถไฟฟ้ามาหาความเจริญ อดทน...เพื่อชีวิตที่ดีกว่า?

 

ขณะที่ พรยุพา ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ใกล้บริเวณวงเวียนหลักสี่ แม้จะได้รับความเดือดร้อนและต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน แต่ก็ยังเชื่อว่าที่สุดแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“ตั้งแต่เริ่มมีการตั้งแบริเออร์ ปิดกั้นช่องทางจราจรทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงต้องเปลี่ยนเวลาออกเดินทางจากบ้านไปส่งลูกที่โรงเรียนให้เร็วขึ้นประมาณ 40 นาที และอาจจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นสักพักเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด ยิ่งช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้ารถหนาแน่นมาก ทั้งถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีฯ ตอนนี้ครอบครัวลำบากเรื่องการเดินทางมาก แต่ถ้าสร้างเสร็จแล้วคงจะเดินทางสะดวกกว่านี้ ประเทศไทยควรมีเครือข่ายระบบคมนาคมเข้าและออกนอกเมืองได้ตั้งนานแล้ว” เธอสะท้อนข้อเท็จจริงที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ใต้แท่งคอนกรีต สร้างแล้วก็ยังติด

หากสรุปบทเรียนโดยถอดประสบการณ์จากคนในพื้นที่ซึ่งเคยผ่านการก่อสร้างรถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าก็เปิดใช้มาอย่างยาวนานแล้ว ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า “ชีวิตติดรถไฟฟ้า” จะเป็นอย่างไร

พิพัฒน์ เบญจดำรงธรรม เจ้าของร้านข้าวมันไก่ไจแอนท์ ศรีเหลืองโภชนา ย่านสะพานควาย ฉายภาพความยากลำบากช่วงที่มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสถานีสะพานควาย ว่า การก่อสร้างถนนที่ต้องปิดการจราจรจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารเป็นอย่างมาก เพราะก่อให้เกิดฝุ่นผง ผู้คนไม่สามารถข้ามฝั่งถนนไปมาได้ รถติดนานหลายชั่วโมง ทำให้จำนวนลูกค้าที่เข้าร้านลดลงทันที

สำหรับบรรยากาศระหว่างก่อนและหลังก่อสร้างรถไฟฟ้าแตกต่างกันมาก โดยสมัยก่อนดีกว่าตอนที่มีรถไฟฟ้า เนื่องจากสะพานควายมีชุมชน ตลาด บ้านเรือนขนาดเล็กในตรอกซอกซอย แต่เมื่อรถไฟฟ้ามาถึง ชุมชนถูกเปลี่ยนเป็นคอนโด กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีคน ซื้อไว้แล้วไม่มีใครอยู่ ทำให้พฤติกรรมการออกมาเลือกซื้ออาหารการกินเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

รถไฟฟ้ามาหาความเจริญ อดทน...เพื่อชีวิตที่ดีกว่า?

 

ในส่วนของการเดินทางต้องยอมรับว่าดีขึ้น ผู้คนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนในเมืองได้สะดวก แต่เป็นความเจริญเพียงสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น เพราะราคาคอนโดห้องเช่าแพงมาก สุดท้ายไม่มีใครมาอาศัยอยู่ คนต้องออกไปพักอาศัยนอกเมืองกันหมดแล้วนั่งรถไฟฟ้าเข้ามา

“แม้จะได้ความเจริญขึ้นมา แต่บรรยากาศเก่าๆ หายไปหมด ผมคิดว่าบรรยากาศก่อนสร้างรถไฟฟ้าดีกว่านะ ร้านของผมตั้งอยู่แถวสะพานควายมานานตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ ขณะนั้นมีการสร้างสะพานควายขึ้นมาไม่นาน ก็ต้องทุบทิ้งเพื่อทำเป็นรถไฟฟ้า ใช้เวลาก่อสร้างนานเป็นปี ซึ่งทุกวันนี้รถก็ยังติดยิ่งกว่าเดิมแทบจะตลอดทั้งวัน แตกต่างจากสมัยก่อนที่รถติดเป็นบางช่วงบางเวลาเท่านั้น” พิพัฒน์ ระบุ

สอดคล้องกับ เกรียงไกร เจริญอุไร เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น ในย่านเดียวกันนี้ ที่เล่าว่า ตอนที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ละร้านต้องยอมรับสภาพที่ลูกค้าจะหดหายไป ไม่มีใครอยากเข้ามานั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวสูดดมฝุ่น ยิ่งไปกว่านั้น แค่คิดจะเข้ามาแถวสะพานควายหลายคนก็ถอดใจแล้ว กว่าจะสร้างเสร็จได้ใช้เวลานานมาก ต้องอดทนเพื่อหวังว่าเขาจะรีบสร้างให้เสร็จโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุกวันนี้จะสร้างเสร็จแล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือบรรยากาศร่มเงาต้นไม้ กลายเป็นร่มเงาของเส้นทางรถไฟฟ้า ส่วนตัวก็เห็นด้วยที่สร้างรถไฟฟ้า เพราะมันคือความเจริญที่ต้องเกิดขึ้น ไม่มีใครไม่เห็นด้วย คนก็ยังเข้ามานั่งที่ร้านเหมือนเดิม เพราะตั้งอยู่ใกล้อาคารสำนักงานก็ถือเป็นโชคดี

“ส่วนตัวผมยังกลัวอยู่ว่าแม้จะสร้างรถไฟฟ้าเสร็จแล้วจะแก้ปัญหารถติดได้จริงหรือ เพราะค่านิยมของคนไทยคือการมีรถยนต์ส่วนตัว มันน่าแปลกที่ทุกวันนี้เห็นได้จากตัวอย่างของย่านสะพานควาย รถก็ยังติดอยู่ดี ดังนั้นปัญหามันไม่ได้อยู่ที่สร้างหรือไม่สร้างรถไฟฟ้า” เขารวบยอดความคิดจากประสบการณ์ตรง

เกรียงไกร ยอมรับว่า การมีรถไฟฟ้าทำให้คนเดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ตรงนี้ต้องยอมรับการพัฒนา เมื่อรู้ว่าจะมีการต่อขยายเส้นทางออกไปถึงสะพานใหม่ คูคต ก็รู้สึกเห็นใจคนที่อาศัยในบริเวณนั้น แนะนำได้ว่าต้องอดทนให้มาก เห็นในข่าวว่าเริ่มปิดถนนบางส่วนรถก็ติดหนักแล้ว

อีกหนึ่งพื้นที่อย่างจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงขณะนี้ล่วงเลยมาร่วม 2 ปีแล้ว แน่นอนว่าคนในพื้นที่ต่างเดือดร้อนทั่วทุกหัวระแหง

รอไม่ไหว ขอย้ายทำเลหนี

น้อย ชูถม เจ้าของร้านน้อยบิวตี้ ร้านเสริมสวยที่อยู่คู่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 มานานกว่า 10 ปี เล่าถึงผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เริ่มอย่างจริงจังเมื่อประมาณปี 2556 ว่า เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการปิดถนนจาก 4 เลน เหลือเพียงแค่ 2 เลน และขอบทางที่พอจะจอดรถได้บ้างตอนสายๆ ก็ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว เนื่องจากมีอุปกรณ์การก่อสร้างมาวางขวางกั้นระเกะระกะ โดยเฉพาะในช่วงเวลาฝนตกพื้นที่บริเวณนี้จะเจิ่งนองดินโคลนสกปรก สายไฟระโยงระยางไม่น่าดู

รถไฟฟ้ามาหาความเจริญ อดทน...เพื่อชีวิตที่ดีกว่า?

 

“แม้ร้านเราไม่ได้อยู่ริมถนน ขนาดเข้ามาในซอย 3-4 ห้องก็ยังได้รับผลกระทบ คือรถติดมากจนลูกค้าที่อยู่ไกลไม่อยากเดินทางมา เรียกว่าลูกค้าหายไปราวๆ 30% จะมีก็เพียงลูกค้าที่เป็นคนย่านนี้เท่านั้น” น้อย ฉายภาพผลกระทบ

นั่นทำให้ “น้อย” ตัดสินใจว่าจะย้ายทำเลหนีรถไฟฟ้าก่อนที่จะอดตาย

“เราเช่าตึกเขาเปิดร้าน แต่เมื่อรายได้ตกค่าเช่าก็ไม่ได้ลดลงตาม พอดีร้านหมดสัญญาสิ้นปีนี้ก็เลยคิดว่าจะไม่ต่อสัญญาแล้ว จะไปหาที่อื่นดีกว่า เพราะกว่ารถไฟฟ้าจะเสร็จก็ปี 2560 เรารอไม่ได้ ลูกก็ยังเรียน รอไม่ไหวถ้าเสร็จแล้วค่อยว่ากัน เราหาเช้ากินค่ำทุนเราไม่หนาพอก็อยู่ยากละ” น้อย กล่าวอย่างถอดใจ

ไม่แตกต่างไปจาก จิรสรณ์ สะอาดเย็น เจ้าของร้านเมเปิ้ลสปาและนวดแผนไทย ที่เปิดร้านมาตั้งแต่ปี 2554 และต้องตัดสินใจย้ายร้านออกจากพื้นที่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเล่าว่า ตอนแรกร้านอยู่ริมถนนตรงป้ายรถเมล์คนก็คึกคักดี พอรถไฟฟ้ามาเขาย้ายป้ายรถเมล์ออกไป คนก็เริ่มเงียบ แถมยังมีก่อสร้างมาบังหน้าร้านอุปกรณ์ต่างๆ วางเละเทะไม่น่าดู แม้ทางตัวแทนรถไฟฟ้าจะเอาป้ายผ้ามาขึงหน้าร้านบอกว่าร้านเราอยู่ตรงนี้ และยังเปิดบริการตามปกติ แต่นั่นก็ไม่ส่งผลดีอะไร คนแทบไม่ขับผ่านเพราะเขากลัวรถติดกันก็เลยเลี่ยง

“แล้วร้านเราใกล้อุโมงค์แยกบางพลัด บางที 3-4 ทุ่ม ก็ไล่รถลงอุโมงค์ คนก็ไม่ผ่านร้านเรา เขามุดลงอุโมงค์ไปเลยแน่นอนยอดขายก็ลดลงๆ หายไปเกือบครึ่ง หน้าร้านที่เคยมีต้นไม้วางดูสวยงามก็ถูกรื้อพื้นถนนดูไม่งามตา เราเช่าสัญญา 4 ปี หมดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ไม่ต่อแล้ว ไปหาที่ใหม่ ให้ควักกระเป๋ารออีก 2 ปีไม่ไหวหรอกนะ ทำการค้าไม่เหลือกำไรจะทำไปเพื่ออะไร เหนื่อยฟรีงั้นเหรอ คงไปหาที่อื่น ตอนนี้ก็พักยาวไปถึงสิ้นปีเลย ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่” จิรสรณ์ เป็นอีกหนึ่งรายที่ถูกโครงการพัฒนารุกไล่

ทางด้าน อิศราพร ยอดศรีมงคล คุณแม่ลูกหนึ่ง ที่มีบ้านอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 และอาศัยมานานกว่า 12 ปี ยอมรับเช่นเดียวกันว่า ได้รับผลกระทบเยอะมากโดยเฉพาะถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งขณะนี้ถูกบีบเป็นคอขวดเหลือไม่ถึง 2 เลน ทุกวันตอนเช้าเวลาไปส่งลูกและไปทำงาน ต้องเลี่ยงไปใช้ถนนสิรินธรแทนเพราะทนรถติดไม่ไหว

“เดิมเราใช้ทั้งถนนจรัญสนิทวงศ์และบรมราชชนนี ตอนนี้ไม่ออกด้านจรัญฯ เลยมันติดมาก โชคดีว่าลูกเรียนอยู่เซนต์คาเบรียล ไม่ไกลบ้านมาก ไม่งั้นไม่ทัน เราก็ต้องหาทางเลี่ยงไปใช้เส้นอื่นแทน หวังว่าอีก 2 ปีเสร็จแล้วมันจะดีสมกับที่รอคอย เพราะตอนนี้สาหัสจริงๆ ยิ่งวันไหนฝนตกด้วยอย่าให้พูดเลย นิ่งสนิท ทิ้งรถนั่งมอเตอร์ไซค์อย่างเดียวเลย” เธอเปลือยความทุกข์อย่างตรงไปตรงมา

เรียกได้ว่าเป็นหนังม้วนเดียวกัน สำหรับชะตากรรมของประชาชนที่อยู่ใต้รถไฟฟ้าซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉายภาพความเดือดร้อนชัดเจน คือชุมชนวัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ ซึ่งอยู่ใต้รถไฟฟ้าเส้นทาง “ตากสิน-บางหว้า”

สุณีรัตน์ ดีคะสัมพันธ์ แม่ค้าร้านข้าวแกง ชุมชนวัดนาคปรก เล่าว่า หลังจากมีรถไฟฟ้ามาถึงบางหว้า ทำให้การค้าขายในชุมชนไม่คึกคัก เพราะคนเดินทางหายไปประมาณ 50% ส่วนหนึ่งเปลี่ยนเส้นทางไปขึ้นรถไฟฟ้าสถานีบางหว้า วุฒากาศ หรือตลาดพลู ไม่ผ่านย่านชุมชนแถววัดนาคปรก ซึ่งเดิมจะมีผู้เดินทางผ่านมาจำนวนมาก เพราะเป็นอู่รถเมล์สายสำคัญที่จะเข้าสู่ใจกลางเมือง เช่น สาย 4 สาย 9 เป็นต้น

“เดิมร้านพี่ขายกาแฟแล้วเปลี่ยนมาขายข้าวแกง เป็นช่วงที่คนเริ่มเปลี่ยนเส้นทางไปใช้รถไฟฟ้า ทำให้ค้าขายไม่ค่อยดี จึงกลับมาขายกาแฟเหมือนเดิม แต่คนก็หายไปเยอะอยู่ดี” สุณีรัตน์ กล่าว

ต่าย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง วินหน้าวัดนาคปรก กล่าวว่า เมื่อก่อนรายได้ดีมาก แต่ตอนนี้คนหายไปจำนวนหนึ่งเพราะเปลี่ยนเส้นทางไปขึ้นรถไฟฟ้า แม้จะมีคนมานั่งมอเตอร์ไซค์ไปต่อรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นสายสั้นๆ รายได้จะน้อยลงกว่าเมื่อก่อนที่มีคนเรียกเข้าเมืองไปสยาม สีลม รวมถึงพระราม 4 ซึ่งจะมีรายได้ต่อเที่ยวสูงกว่าปัจจุบัน

นอกจากนี้ สำหรับย่านชุมชนวัดนาคปรก ยังมีบางส่วนที่ย้ายที่อยู่ไป ไปอยู่ตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ทำให้ความคึกคักไปอยู่ในบริเวณรถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ย่านชุมชนเดิมเงียบเหงาลงไป

อยู่คอนโดติดรถไฟฟ้าดีจริงหรือ?

อีกด้านแม้รถไฟฟ้านำมาซึ่งความเจริญ ซึ่งมีข้อพิสูจน์ให้เห็นเมื่ออาคารบ้านเรือน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ออฟฟิศ ฯลฯ เกิดขึ้นราวดอกเห็ดในบริเวณแนวรถไฟฟ้าด้วยเงินลงทุนนับหมื่นนับแสนล้านบาท ก่อให้เกิดไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในเมืองที่คนรุ่นใหม่แสวงหา

แต่การมีชีวิตคอนโดติดรถไฟฟ้าหาใช่สะดวกสบายไม่ นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการด้านผังเมือง มองว่า ปัจจุบันหลายคนต้องการอยู่คอนโดมิเนียมใกล้ๆ สถานีรถไฟฟ้า ยิ่งใกล้ยิ่งรู้สึกว่าสะดวก ขณะที่คอนโดมิเนียมที่สร้างขึ้นก็มีราคาแพง แต่จริงๆ แล้วบริเวณสถานีรถไฟฟ้าไม่ได้เป็นทำเลที่เหมาะกับการอยู่อาศัยแม้แต่น้อย เพราะต้องจ่ายแพง เพื่อแลกกับความสะดวก ที่สำคัญต้องอยู่กับความพลุกพล่าน อยู่กับมลพิษ ทั้งเรื่องเสียง เรื่องอากาศ คงจะไม่คุ้ม

“ทั้งหมดเพราะเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพ ซึ่งต้องการความสบาย ความเงียบสงบ โดยการขยับออกจากพื้นที่ที่พลุกพล่าน มีมลพิษเกินไป หันไปอยู่ในซอยที่เงียบจะดีกว่าไปอยู่ข้างถนน หรือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่นิยมไปอยู่ใกล้สนามบิน เพราะคิดว่าบริเวณนั้นจะเจริญ แต่จริงๆ กลับมีทั้งปัญหามลพิษทางเสียง และมีความเสี่ยง”

นพนันท์ ให้ความเห็นว่า การพัฒนาขนส่งมวลชนระบบราง หรือรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ เส้นทาง ผังเมืองจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้สอดรับกับระบบรางที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโดยหลักการบริเวณรอบๆ สถานีรถไฟฟ้าไม่ควรจะเป็นที่พักอาศัย แต่ควรจะเป็นพื้นที่ธุรกิจมากกว่า แล้วขยับออกไปค่อยเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย แต่กลายเป็นว่าบ้านเรามักมีคอนโดมิเนียมใหญ่ๆ เกิดขึ้นรอบๆ สถานีแทน ซึ่งจริงๆ แล้วบริเวณใกล้ๆ สถานีรถไฟฟ้านั้น ถ้าไม่นับเรื่องของความสะดวกแล้ว ไม่เหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัยเลย เพราะมีแต่มลพิษทั้งเรื่องเสียง เรื่องอากาศ” นพนันท์ ให้ความเห็น

“บางทีคนไปซื้อคอนโดมิเนียมราคาแพงเพื่อต้องการมีกรรมสิทธิ์ แต่จริงๆ แล้วเราควรจะซื้อหรือควรจะเช่า ถ้าคอนโดเช่ามีราคาค่าเช่าที่ถูกกว่าราคาซื้อ และอีก 30 ปีข้างหน้า เราอาจจะอยากย้ายไปอยู่ที่อื่น ถามว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะลงทุนกับมันจริงๆ หรือควรจะเอาเงินไปทำอย่างอื่น เช่น ไปเรียนต่อ หรือเอาไปพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นไม่ดีกว่าหรือ” นักวิชาการผู้นี้ทิ้งท้าย

เส้นทางสารพัดสี พลิกโฉมคนกรุงฯ

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งดำเนินการรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ อย่างต่อเนื่องและคืบหน้าตามลำดับ

โครงการแรก รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ด้านการก่อสร้างงานโยธาเสร็จ 100% ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการงานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้าแล้วประมาณ 72% โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบขบวนรถไฟฟา้ในเดือน ก.ย. 2558-ม.ค. 2559 จากนั้นจะใช้เวลาทดสอบระบบประมาณ4 เดือน ช่วงเดือน พ.ค. 2559 จะเปิดทดลองเดินรถได้

ทั้งนี้ จะเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค. 2559 แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดให้เดินรถได้ก่อนกำหนดตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการเร็วขึ้น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ การก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 61% จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2559 หรือไม่เกินต้นปี 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อรับมอบโอนรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ไปให้บริการต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส

ขณะที่ การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นจุดก่อสร้างที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อปัญหาจราจรระหว่างถนนพหลโยธินกับรัชดาภิเษกนั้น ผู้รับเหมาได้ทยอยนำอุปกรณ์และแผงกั้นต่างๆ ลงไปในพื้นที่ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยแนวทางแก้ปัญหาคือการทุบสะพานข้ามแยกเกษตร และทำอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธินสำหรับเส้นทางนี้ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 3 ปี

สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง 2 ของรฟม. กล่าวว่า การบริหารจัดการจราจรในช่วงระหว่างการก่อสร้างนั้นรฟม.มีประสบการณ์ในหลายพื้นที่ที่คาดว่าจะวิกฤตมาก เช่น บริเวณย่านเยาวราชสามารถดำเนินการได้ดี ดังนั้นบริเวณแยกรัชโยธินหากจะมีการรื้อสะพานเดิมนั้น จะวิกฤตหนักมากที่สุดช่วง 6 เดือนแรกเท่านั้น เพราะจะใช้เวลา 2 เดือนในการรื้อสะพานข้ามแยก 2 และใช้เวลาอีก 4 เดือนในการวางโครงสร้างหลักของอุโมงค์ หลังจากนั้นจะสามารถคืนพื้นผิวจราจรให้ได้ประมาณ 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% จะกันพื้นที่เพื่อบริหารการก่อสร้างในช่วงดังกล่าว ซึ่งจะใช้เวลารวมทั้งสิ้น 3 ปีจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อุโมงค์ทางลอดได้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค งานก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 60% อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนเข้ามาจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและเดินรถไฟฟ้า โดย รฟม.ยืนยันที่จะใช้วิธีการเจรจากับเอกชนรายเดิม คือ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ(บีเอ็มซีแอล) เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด แต่คงจะต้องมีการหารือกับอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม อีกครั้งว่าจะใช้วิธีใด

ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรงนั้น ได้เสนอกระทรวงคมนาคมนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แล้ว หาก ครม.อนุมัติจะสามารถเปิดประกวดราคาสายสีส้ม และสายสีม่วงได้ประมาณปลายปี 2559 ขณะที่สายสีเหลืองและสายสีชมพูจะช้ากว่าเพราะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556

อย่างไรก็ตาม ตามแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางของกรุงเทพฯ จะทำให้เห็นภาพใหม่ของเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะวิถีชุมชนและการใช้ชีวิตของคนกรุงที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป