ลมหายใจสุดท้ายของ ‘ชุมชนวัดกัลยาณ์’
“วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” หรือ “วัดกัลยาณ์” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2463
โดย...ขุนอิน
“วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” หรือ “วัดกัลยาณ์” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2463 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต แซ่อึ้ง) ว่าที่สมุหนายก ต้นสกุล กัลยาณมิตร ได้อุทิศบ้านและที่ดินถวายแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”
วัดนี้อุดมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และปูชนียสถานและถาวรวัตถุล้ำค่ามากมาย อาทิ พระวิหารหลวง พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต (ซำปอกง) เป็นต้นจนได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2492
นอกจากนี้ มีที่ดินบางส่วนให้ชาวบ้านเช่าเป็นที่อยู่อาศัย “สมัยนั้นยังใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ผู้คนใช้ชีวิตบนเรือ พอสร้างวัดขึ้น พระก็บิณฑบาตลำบาก ท้ายที่สุดจึงให้ชาวบ้านเช่าที่ดินปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัย เพราะเห็นว่าควรให้ชาวบ้านเข้ามาช่วยทำนุบำรุงวัด และคนที่ช่วยดูแลวัดตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็คือ ชุมชนวัดกัลยาณ์” ดร.เชียรช่วง กัลยาณมิตร ทายาทตระกูลกัลยาณมิตรกล่าวถึงเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในการบริจาคที่ดินผืนนี้
แต่วันนี้ชุมชนที่อยู่มานานนับร้อยปีกลับต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน หลังชาวบ้านลุกขึ้นคัดค้านไม่ให้เจ้าอาวาสทุบทำลายโบราณสถานเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ ผลคือถูกขับไล่ออกจากที่ดินวัด โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2546 หลังจากพระธรรมเจดีย์ (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่ ได้เดินหน้าบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานภายในวัด อ้างเหตุผลว่าเก่าแก่ทรุดโทรม กรมศิลปากรขอให้หยุดแต่ไม่เป็นผล จนมีเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีกับทางวัดข้อหาทำลายโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535)
ระหว่าง พ.ศ. 2551-2558 มีทั้งหมด 22 รายการ รวมทั้งการบูรณะโดยไม่ได้ขออนุญาตอีก 5 รายการ ปัจจุบันวัดกัลยาณมิตรและกรมศิลปากรมีคดีฟ้องร้องที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 16 คดี ใน 45 รายการ ของโบราณสถานและโบราณวัตถุ หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ผู้ละเมิดจะมีโทษฐานทำลายโบราณสถาน จำคุก 1 ปี และปรับ 10 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ก็คือ ทางวัดได้ประกาศยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินบางส่วนของชุมชนวัดกัลยาณ์ ให้ชาวบ้าน 56 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 230 หลังคาเรือน ออกจากพื้นที่ ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม พร้อมกำลังตำรวจ ทหาร และชายฉกรรจ์กว่าครึ่งร้อย เดินทางเข้าปิดล้อมและยึดทรัพย์สินของบ้านหลังหนึ่งภายในชุมชนวัดกัลยาณ์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา
“ผมไม่ได้เก็บข้าวของแม้แต่ชิ้นเดียว เพราะไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ไม่มีหมายแจ้งเตือนบอกกล่าวอะไรทั้งนั้น มาถึงก็ทุบเลย มันเจ็บปวดมากๆ”
ชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธุ์ เจ้าของบ้านหลังแรกที่ถูกไล่รื้อ บอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
“เราอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดยันรุ่นหลานเหลน จู่ๆ ก็จะไล่เราออก เพียงเพราะแค่เราไม่เห็นด้วยกับการทุบทำลายโบราณสถาน เจ้าอาวาสก็ไม่เคยลงมาคุยเลย ไม่ยอมให้เข้าพบ ไม่แม้แต่จะออกมาบิณฑบาต เหตุผลที่วัดอ้างว่าจะไล่รื้อชุมชนเพื่อนำที่ดินไปสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่ทำกลับเป็นการทุบทำลายประวัติศาสตร์ ทำลายทั้งโบราณสถานภายในวัด ทำลายทั้งวิถีชุมชนรอบวัด”
บรรยากาศความวิตกกังวลแผ่ซ่านภายในชุมชนวัดกัลยาณ์ ชาวบ้านนั่งจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันหน้าบ้าน ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงคิวตัวเอง ใครจะถูกไล่รื้อเป็นรายถัดไป บางคนถึงกับร้องไห้ออกมาอย่างไม่อาย เพราะยังไม่มีแผนการรองรับใดๆ ทั้งสิ้น ป้ายประท้วงต่อต้านการกระทำของวัดถูกติดไว้ทั่วชุมชน สะท้อนความรู้สึกอันเจ็บปวดของชาวบ้านออกมาได้อย่างแจ่มชัด
ชะตากรรมของชาวชุมชนวัดกัลยาณ์ในวันนี้คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าพยายามประสานกับทางวัด เจรจาขอให้หยุดไล่รื้อชั่วคราว และยืดเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวตั้งหลักชีวิตต่อไป
อนาคตของชาวบ้านชุมชนวัดกัลยาณ์ช่างมืดมนและน่าเป็นห่วงยิ่ง