posttoday

Can We Learn Everything from Online?

29 กันยายน 2558

อีกครั้งที่พันทิปยังคงเป็นทั้งแหล่งความรู้และการรวบรวมข้อสงสัยที่หลายหัวข้อเราก็อดทึ่งกับปัญหาที่สรรหามาถามกันไม่ได้

โดย...เอกศาสตร์ สรรพช่าง

อีกครั้งที่พันทิปยังคงเป็นทั้งแหล่งความรู้และการรวบรวมข้อสงสัยที่หลายหัวข้อเราก็อดทึ่งกับปัญหาที่สรรหามาถามกันไม่ได้

ผมไปเจอกระทู้หนึ่งในพันทิป มีเด็กคนหนึ่งตั้งคำถามไว้ว่า คนรุ่นพ่อจบมหาวิทยาลัยมาได้ยังไงโดยไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะทุกวันนี้เขาอยากรู้อะไร เขาก็แค่เข้าไปในอินเทอร์เน็ต เสิร์ชหาในกูเกิล แค่นี้เขาก็ได้คำตอบที่อยากได้แล้ว

คำถามนี้ทำให้ผมเกิดคำถามต่อว่า แล้วอย่างนี้อนาคตหากว่าทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้เหมือนกันหมดทั้งโลก (ซึ่งไม่น่าจะเกิน 20 ปีต่อจากนี้แน่นอน) โฉมหน้าของการศึกษาน่าจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้หรือเปล่า คนสามารถเรียนรู้ทุกอย่างผ่านแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน แม้กระทั่งแปลภาษาหรือจะหาหมอก็ทำได้

อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นเมื่อราวทศวรรษที่ 1970 เริ่มใช้กันในแวดวงการทหาร กว่าจะใช้ได้จริงๆ มีไฮเปอร์ลิงค์ มี World Wide Web มีเบราเซอร์แบบเป็นเรื่องเป็นราวก็ปี 1991

ส่วน Google เริ่มประกอบธุรกิจเมื่อปี 1998 นี่เอง ในประเทศไทยการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายเริ่มจริงๆ ก็พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของกูเกิล เมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีราคาถูกลง โน้ตบุ๊กเริ่มไม่ใช่ของแพง และเริ่มมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต สมัยก่อนเวลาจะต่ออินเทอร์เน็ตที ก็ต้องต่อกับสายโทรศัพท์บ้าน เสียบโมเดมกรอกรหัสผ่าน แล้วก็นั่งรอฟังเสียงตื๊ดๆ ตอนผมเริ่มทำงานก็เป็นช่วงที่ไมโครซอฟท์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทดแทนโปรแกรมการพิมพ์งานที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “เวิร์ดจุฬา”

การทำงานของกองบรรณาธิการสมัยนั้น หากเราจะใช้อินเทอร์เน็ต จะพิมพ์งาน ก็ต้องไปต่อคิวรอใช้คอมพิวเตอร์กลางที่มีอยู่ไม่พอกับจำนวนคน คนที่ไม่ได้ใช้งาน ก็จะออกไปสัมภาษณ์หรือออกไปค้นหาข้อมูลที่ห้องสมุด ไม่ก็ไปช่วยช่างภาพเลือกรูป ส่องสไลด์ ใครสั่งพรินต์งานที ได้ยินกันทั้งชั้น เพราะสมัยนั้นเครื่องพรินเตอร์ส่วนมากยังเป็นแบบเข็ม

นึกๆ แล้วก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าระยะเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ เราสามารถหาทุกอย่างได้จากอินเทอร์เน็ตจริงๆ ข้อมูลจาก The International Data Report ประมาณการกันว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตตอนนี้ หากเราเอามาใส่ไว้ในไอแพดแอร์ขนาด 16 กิกะไบต์ จะต้องใช้ไอแพดทั้งหมด 7.5 หมื่นล้านเครื่อง และมันสามารถวางเรียงต่อกันจากพื้นสูงขึ้นไปได้ 603 กม.จากพื้นโลก และเชื่อว่าในปี 2020 ธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตอาจสูงถึง 4.5 แสนล้านครั้ง/วัน นั่นเป็นจำนวนที่ยิ่งกว่ามหาศาล

แล้วถ้าเรามีข้อมูลและความรู้มากมายขนาดนี้แล้ว แถมยังหาได้จากสมาร์ทโฟน เรายังต้องไปโรงเรียนอีกไหม เราควรให้ลูกรู้จักและใช้ไอแพดตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

ในประเทศไทยตอนนี้คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจริงๆ ยังแค่ครึ่งเดียวของประชากรครับ ในโลกคนก็ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแค่ 1 ใน 5 แน่ละว่ามันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้และข้อมูลเหล่านี้ก็น่าจะสร้างโอกาสให้คนได้ไม่น้อย สำหรับผมการได้รับข้อมูลกับการเรียนรู้จากข้อมูลนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ การเป็นผู้รับสารเช่นว่า เราดูวิธีการปรุงอาหารจากยูทูบ เราอาจรู้ว่าพายเนื้อกวางของอังกฤษเขาทำกันอย่างไร แต่การจะลงมือทำให้ได้อย่างนั้น เราต้องมีส่วนประกอบที่ต้องออกไปหา “นอกห้องครัว” อีกมาก

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันกับการไปโรงเรียน

การศึกษาหาความรู้หลายอย่างของเราได้มาจากการได้เจอกันของครู เพื่อนที่โรงเรียน แต่เวลาที่เราอยู่นอกห้องเรียนก็มีมาก ผมรู้ว่าเม็ดแข็งๆ ของต้นหูกวางนั้นกินได้ ก็ตอนที่เราช่วยกันปีนต้นหูกวางที่โรงเรียน แล้วเอาหินทุบ ชื่อของหญ้าหลายๆ ชนิด เราก็รู้จักตอนที่ลุยเข้าไปเก็บลูกฟุตบอลที่ตกลงไปในป่าละเมาะหลังโรงเรียน

สิ่งที่ผมกำลังจะบอก คือ การเข้าสังคมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ พอๆ กับข้อมูล ประสบการณ์ชีวิตคือการแบ่งปัน ส่วนเรื่องระบบการศึกษานั้น ผมถือว่าเป็นเรื่องของการจัดระเบียบขั้นพื้นฐาน และจากนั้นระบบพวกนี้จะเป็นกรอบความคิดที่ดีให้พวกเราแหกกฎในอนาคต เพราะการรวมกลุ่มจะกระตุ้นให้คนคิดแตกต่างโดยอัตโนมัติ เพราะสัตว์ทุกตัวล้วนอยากเป็นจ่าฝูง ซึ่งมนุษย์เราก็ด้วย

แต่ถามว่าในอนาคตจะมีพ่อแม่สักกี่คนที่คิดต่างแล้วอยากลองให้ลูกเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เด็ก โดยไม่ไปโรงเรียน จะมีไหม ผมเชื่อแน่ว่ามี แต่การจัดการทางสังคม การสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้เข้าสังคม ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นมากอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม โลกในอนาคตคงพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เชื่อผมเถอะว่า สิ่งที่คุณนั่งดูในยูทูบอยู่ทุกวี่วัน มันจะคูลกว่านี้ ถ้าหากว่าคุณจะออกไปทำมันจริงๆ มากกว่านั่งดูอยู่หน้าจออย่างเดียว

 Can We Learn Everything from Online?