posttoday

Perfect Work

06 ตุลาคม 2558

โดย...เอกศาสตร์ สรรพช่าง

โดย...เอกศาสตร์ สรรพช่าง

ผมเชื่อว่าสำหรับคนกรุงเทพฯ ปัญหาที่เรามักถามตัวเองในทุกเช้าก็คือทำไมรถติด และทำไมต้องเป็นฉันที่ต้องทนอยู่บนถนนวันละสองสามชั่วโมงทุกวัน!

เวลาที่หมดไปบนถนนช่างเป็นช่วงเวลาที่ไร้ค่า เราหมดเวลาไปกับการเล่นมือถือ ผลาญ 3จี และแบตเตอรี่ไปเรื่อยๆ เพื่อฆ่าเวลา และทุกอย่างพร้อมจะเลวร้ายลงไปอีกสองเท่า หากวันนั้นมีงานซ่อมอะไรสักอย่างบนถนน หรือไม่ก็ฝนตกห่าใหญ่โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย

ตอนนี้รถยนต์บนถนนเหมือนจะมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้คนที่เคยจอดรถไว้ในวันธรรมดา เริ่มเอารถออกมาใช้ ซึ่งยิ่งเพิ่มจำนวนรถเข้าไปอีก ยิ่งปีหน้าแว่วๆ มาว่าราคาน้ำมันยังจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แถมยังจะมีการปิดสะพานข้ามแยกในถนนหลักอีกหลายๆ สายเพื่อทำรถไฟฟ้า

แค่คิดก็อยากจะอ้วกออกมาเป็นตอม่อให้มันรู้แล้วรู้รอด

ผมได้ยินข้อเสนอของผู้ว่าฯ กทม. ที่บอกว่าเราน่าจะเริ่มคิดเรื่องการคุมกำเนิดรถยนต์ในกรุงเทพฯ บ้างได้แล้ว เพราะดูเหมือนปัญหารถติดจะเป็นอุปสรรคที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้ง่ายๆ หากว่าไม่มีมาตรการหักดิบอะไรสักอย่าง แต่ก็ดูเหมือนว่ากระทรวงคมนาคมที่รับช่วงต่อก็ยังยืนยันว่าคงต้อง “เอาไปศึกษา” ก่อน (ซึ่งไม่น่าจะเร็ว) และยังเชื่อว่าระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้ทุกอย่างแย่ลงมากกว่าจะดีขึ้น

อาชีพนักเขียนอย่างผมอาจไม่ได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้มากนัก เพราะด้วยงานไม่ได้บีบบังคับให้เราต้องเข้างานเป็นเวลามากนัก ชั่วโมงการทำงานค่อนข้างยืดหยุ่น แต่สำหรับใครหลายๆ คนที่บริษัทยังคงเข้มงวดเรื่องการเข้าออกงาน ปัญหาเรื่องรถติดและการเดินทางไปทำงานให้ทันตอกบัตร สแกนลายนิ้วมือ สแกนม่านตา ดูจะเป็นเรื่องที่กวนใจไม่น้อย จริงๆ แล้ว มันน่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างจริงจังว่ามันหมดสมัยรึยังที่ที่ทำงานของเราถูกจำกัดอยู่ในคอกสี่เหลี่ยมบนตึกสูง

หากเปรียบเทียบกับการทำงานเมื่อสักสิบปีที่แล้ว เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้ชีวิตการทำงานดีขึ้นมาก ยกเว้นเรื่องเดียวที่เรายังไม่เคยปรับเปลี่ยน นั่นคือเวลาในการทำงาน

Internet of Things และ Cloud รวมถึงคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กพกพาสะดวก มันน่าจะทำให้เราทำงานที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้อย่างที่เราโฆษณากัน แต่การให้พนักงานเลือกเวลาทำงานเองได้มากขึ้น หรือลดเวลาการทำงานลง ดูเหมือนไม่ใช่ตัวเลือกที่เจ้านายจะเลือกกัน

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมีการศึกษาเรื่องนี้และพบว่า คนอเมริกันทุกวันนี้ 40% ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/วัน แต่ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานแบบนี้ไม่ได้ส่งผลดีกับงาน การลดเวลาการทำงานลงให้ผลที่ดีมากกว่า

แต่ไม่ใช่อเมริกาที่เริ่มทำแบบเป็นรูปเป็นร่าง ที่สวีเดนแนวความคิดเรื่องของการลดเวลาการทำงานต่อวันกลับถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง โดยเริ่มทดลองทำแล้วในปีนี้ในหลายบริษัท หรือสถานดูแลคนชราได้ออกมาตรการลดเวลาการทำงานของนางพยาบาลลงจาก 8 ชั่วโมง เหลือ 6 ชั่วโมง/วัน มาตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีนี้ และพบว่าการทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยลงนั้น พนักงานส่วนใหญ่มีความกระตือรือร้นมากขึ้น และในขณะเดียวกันพวกเขากลับมีเวลาในการจัดสรรเวลาในชีวิตได้ดีมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ The Guardian อ้างคำพูดของนางพยาบาลคนหนึ่งที่เขาไปสัมภาษณ์ เธอบอกว่ามันหมดยุคสมัยที่คนต้องทำงานหนักอยู่ที่ออฟฟิศเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว แม้กระทั่งบริษัทใหญ่อย่างโตโยต้าในสวีเดนก็เริ่มลดเวลาการทำงานของพนักงานลง พวกเขาพบว่ามันกลับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น 25% และลดอัตราคนลาออกลงด้วย

เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยความกล้าหาญของผู้นำเพียงอย่างเดียวจริงๆ ในการเปลี่ยนแปลง ในเมืองไทยก็มีบางบริษัทที่ผมรู้จัก ลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ก็พบว่าประสิทธิภาพของการทำงานไม่ได้แตกต่างจากการทำงาน 5 หรือ 6 วัน และอัตราการลาออกของพนักงานนั้นลดลงด้วย

บริษัทระดับท็อปหลายแห่งของโลก เริ่มเล็งเห็นข้อจำกัดเรื่องการเข้างานของพนักงานว่า เป็นส่วนปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ก็เลิกบังคับด้วยการเข้างาน แต่ใช้วิธี “เชิญชวน” ให้พนักงานไปทำงานด้วยวิธีอื่นแทน เช่น เสนอบริการซักผ้าฟรีให้กับพนักงาน อาหารกลางวันฟรี หรือนำเสนอที่ทำงานที่สวยสงบ แต่ก็แลกมาด้วยพันธสัญญาในการทำงานที่ต้องตรงเวลา ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่คาดหวังว่าอยากจะได้จากบริษัทที่พวกเขาเลือกเข้ามาทำงานมากกว่าความมั่นคงในระยะยาว

ผมเคยสัมภาษณ์กับสเตฟาน แซกมายสเตอร์กราฟฟิกดีไซเนอร์ชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบในนิวยอร์ก Sagmeister & Walsh Inc. ร่วมกับ Jessica Walsh เขาบอกว่าปีหนึ่งๆ บริษัทของเขาจะทำงานเพียง 11 เดือน อีกหนึ่งเดือนพวกเขาจะปิดบริษัทและให้พนักงานออกไปเที่ยว ออกไปเดินทาง เพราะเชื่อว่าการออกเดินทางแบบนี้นี่แหละที่ทำให้เขาได้งานใหม่ๆ จากการเดินทาง ความคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ผู้ประกอบการเท่านั้น ผู้ให้บริการก็เริ่มเข้าใจวิถีชีวิตแบบใหม่ของเด็กรุ่นใหม่

มีการปรับตัวเพราะเริ่มรู้แล้วว่าพนักงานแบบที่พกโน้ตบุ๊กตอนไปเที่ยว พนักงานที่มักแฝงตัวอยู่ตามร้านกาแฟใกล้บ้าน ตามล็อบบี้โรงแรม ก็เริ่มมีมากขึ้น กระแสของการไม่ต้องเข้างานอย่างจริงจังแบบนี้ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน หรือร้านกาแฟที่เริ่มแปลงตัวเองเป็น Co-working space นั้นเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมคิดว่ากรุงเทพฯ น่าจะลองใช้วิธีคิดเรื่องการลดเวลาการทำงานหรือการยืดหยุ่นเรื่องเวลาการทำงานมากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

85 ปีที่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ John Maynard Keynes ทำนายไว้ว่า ในปี 2030 คนเราจะกลายเป็นพวกบ้างาน พนักงานบริษัทอาจต้องทำงานกันมากถึง 15 ชั่วโมง/วันเลยก็ว่าได้

แม้ตอนนี้ยังไม่ถึง (และไม่อยากให้ถึง) แต่เราก็หวังว่าความคิดแบบนี้จะเป็นเรื่องแค่การคาดเดาที่ผิดพลาดอีกอย่างหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น