posttoday

ปีเตอร์ แลนยอน เจ. เอ็ม. ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ศตวรรษที่ 20

18 ตุลาคม 2558

ปีเตอร์ แลนยอน (มีชีวิตระหว่างปี 1918-1964) ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในจิตรกรคนสำคัญของอังกฤษหลังสงคราม (โลกครั้งที่ 2)

โดย...อฐิณป ลภณวุษ artofmylifeasafrog.blogspot.com

ปีเตอร์ แลนยอน (มีชีวิตระหว่างปี 1918-1964) ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในจิตรกรคนสำคัญของอังกฤษหลังสงคราม (โลกครั้งที่ 2)

ปีเตอร์ได้ปฏิวัติรูปแบบของการวาดภาพแลนด์สเคป โดยต่อยอดจากศิลปินแลนด์สเคปชื่อดังชาติเดียวกันในดวงใจ อย่าง โจเซฟ มัลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ (หรือ เจ. เอ็ม. ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์) นำมาตีความใหม่ในรูปแบบร่วมสมัยและในสไตล์ของตัวเอง

บางคนก็เรียกเขาว่าเป็น เจ. เอ็ม. ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ แห่งโลกศิลปะยุคใหม่ ปีเตอร์อาศัยความพยายามและการฝึกฝนอย่างมากในการสร้างสรรค์ ตีความคำว่า “แลนด์สเคป” ให้ออกมาเป็นภาษาภาพในสไตล์ของตัวเอง นอกจากจะด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติแล้ว เขายังได้นำปรัชญาแนวคิดอัตถิภาวนิยม (ปรัชญาที่ว่าด้วยความเป็นปัจเจก ตัวตน ประสบการณ์ของปัจเจกแต่ละคน และความพิเศษอันเป็นหนึ่งเดียว) มาใช้ในการตีความด้วย

ปีเตอร์ แลนยอน เจ. เอ็ม. ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ศตวรรษที่ 20

 

ในช่วงชีวิตอันแสนสั้นของปีเตอร์ เขาตั้งคำถามเรื่องธรรมชาติแท้จริงแล้วคืออะไร มนุษย์เราอยู่ตรงส่วนไหน และมีส่วนร่วมอย่างไรในธรรมชาติ แปลงเป็นข้อความในภาพแลนด์สเคปแนวแอบสแทรกต์ที่สร้างชื่อให้เขาเป็นประหนึ่ง เจ. เอ็ม. ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ แห่งศตวรรษที่ 20

(จอร์จ) ปีเตอร์ แลนยอน เกิดเมื่อ 8 ก.พ. 1918 ที่เมืองเซนต์อีฟส์ เขตคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ เขาเป็นลูกชายคนเดียวของช่างภาพและนักดนตรีสมัครเล่น ดับเบิลยู เอช แลนยอน โดยในวัยเด็กได้รับการศึกษาด้านศิลปะพิเศษจากบอร์ลาส สมาร์ท ควบคู่ไปกับการเรียนสายสามัญ ก่อนที่ในปี 1937 จะได้เจอกับ เอเดรียน สโต๊กส์ ผู้ซึ่งแนะนำให้เขาได้รู้จักกับโลกศิลปะร่วมสมัยและประติมากรรม

เอเดรียนแนะนำให้ปีเตอร์ไปเรียนต่อที่โรงเรียนอูสตัน โร้ด เขาจึงไปลงเรียนกับวิคเตอร์ พาสมอร์ เป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างนั้นเขาก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะเพนซานซ์ไปด้วย ซึ่งเขาได้รู้จักกับแวดวงศิลปินที่มีชื่อเสียงขณะนั้น ตั้งแต่ เบน นิโคลสัน, บาร์บารา เฮปเวิร์ท และนวม กาโบ ซึ่งระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น เขากลับไปอยู่บ้านในเซนต์อีฟส์และได้รับการติวด้านศิลปะเป็นพิเศษจาก เบน นิโคลสัน

ปีเตอร์ แลนยอน เจ. เอ็ม. ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ศตวรรษที่ 20

 

ในช่วงนี้เองที่รูปแบบในชิ้นงานของปีเตอร์เปลี่ยนไป โดยได้อิทธิพลอย่างสูงจากเบน และศิลปินอีก 2 ท่านที่ว่ามา

ระหว่างปี 1940-1945 ปีเตอร์ต้องไปรับใช้ชาติในสงคราม โดยไปสังกัดกองทัพอากาศของอังกฤษ ประจำการ ณ ปาเลสไตน์ ก่อนจะย้ายไปอิตาลี หลังสงครามเขาแต่งงานกับ ชีลา เซนต์จอห์น บราวน์  และกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มศิลปินคริสปต์แห่งเซนต์อีฟส์ในทันที

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นช่วงการผลิตผลงานที่เข้มข้นมากที่สุดของปีเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นภาพแลนด์สเคปของชายหาดในคอร์นวอลล์ตะวันตก ที่ออกมาในสไตล์สีสันแรงๆ และกระเดียดไปทางแอบสแทรกต์

ปีเตอร์ไม่ใช่สักแต่จะวาดรูปออกมาในสไตล์ของตัวเองเท่านั้น หากเขามักจะเอาตัวเองไปใกล้ชิดธรรมชาติ เพื่อที่จะศึกษาเบื้องลึกและค้นหาความหมายของความมีอยู่และเป็นอยู่ของธรรมชาติ อีกทั้งความหมายของชีวิต

ปีเตอร์ แลนยอน เจ. เอ็ม. ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ศตวรรษที่ 20

 

ในฤดูร้อนปี 1956 ระหว่างที่เขาเดินเลาะชายหาดเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจในการเขียนภาพ เขาได้เดินผ่านหน้าผาสูง เมื่อมองขึ้นไปก็ได้เจอกับเครื่องบินร่อน 3 ลำ กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า เขารู้สึกลึกๆ ขึ้นมาในใจทันทีว่านี่คือสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง

ปีเตอร์เริ่มหัดบินอย่างจริงจังในปี 1959 ก่อนจะเริ่มบินเดี่ยวได้ในปีถัดมา การเล่นเครื่องร่อนของเขามีความสำคัญต่อมุมมองในการวาดภาพใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการมองบนพื้นดินเท่านั้น

ประสบการณ์ใหม่ไปปรากฏลงในผลงานศิลปะ มิใช่เพียงมุมมองใหม่มุมมองเดียว ทว่าเขาได้ผสมผสานเอาแต่ละมุมมองทั้งที่เคยจากผืนดิน ในทะเล และบนอากาศ สร้างสรรค์เป็นมุมมองเฉพาะของตัวเอง พร้อมๆ กับองค์ประกอบภาพ พื้นผิวที่แปลกใหม่ สายลมที่มองไม่เห็นแต่ปรากฏในภาพ พัฒนาการเหล่านี้มาพร้อมกับการเล่นเครื่องร่อนที่เสี่ยงตายไปเรื่อยๆ เพื่อหามุมมองแปลกพิสดาร ไม่ซ้ำแบบเดิม

ปีเตอร์ แลนยอน เจ. เอ็ม. ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ศตวรรษที่ 20

 

การบินผาดโผนเพื่อสร้างมุมมองใหม่ในการวาดภาพ นับเป็นความสำเร็จสุดๆ ของปีเตอร์ แลนยอน ซึ่งทำให้เขากลายเป็นจิตรกรอังกฤษหนึ่งเดียวคนนี้ที่มีความสำคัญมากหลังสงครามและของศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม ความสร้างสรรค์นี้ก็ต้องแลกมาด้วยชีวิตในอุบัติเหตุเครื่องร่อนตกในปี 1964 ที่เขาบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในขณะรักษาตัวในโรงพยาบาล

นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดนิทรรศการเพื่อเป็นเกียรติต่อปีเตอร์ แลนยอน และการวาดภาพด้วยมุมมองจากเครื่องบินเล็ก จัดโดยโทบี เทรเวส ภัณฑารักษ์ชื่อดัง ณ คอร์โทลด์ แกลเลอรี่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 17 ม.ค. ปีหน้า ซึ่งโดยปกติแล้วผลงานของเขาสามารถหาชมได้ตลอดเวลา ณ เทต แกลเลอรี่ เซนต์อีฟส์ เมืองเซนต์อีฟส์ เขตคอร์นวอลล์ ทางตอนใต้ของอังกฤษ อันเป็นบ้านเกิดของเขานั่นเอง