posttoday

โรคหวาดระแวง

07 พฤศจิกายน 2558

ความหวาดระแวง (Paranoid) เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง เกิดจากความสงสัยแล้วทำให้คิดจนเกินเลย

โดย...วุฒิ นนทฤทธิ์

ความหวาดระแวง (Paranoid) เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง เกิดจากความสงสัยแล้วทำให้คิดจนเกินเลย

อาการหวาดระแวงมีได้หลายระดับ เช่น การรับฟังข้อมูลจากคนอื่นแล้วทำให้เกิดความสงสัยโดยไม่ได้เชื่อข้อมูลที่ได้ยินมาทั้งหมด แต่ก็เริ่มหวาดระแวงนิดๆ ถือเป็นความหวาดระแวงระดับต้นๆ ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มเพื่อนหรือองค์กรที่ไม่มีผลประโยชน์โดยตรง ไปจนถึงความหวาดระแวงแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ใครจะพูดอะไร จะนำหลักฐานอะไรมาแสดงก็ไม่เชื่อ เป็นความหวาดระแวงที่ฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึก เช่น หวาดระแวงว่าจะถูกแย่งชิงของรักของหวง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีค่าหรือไม่ก็ตาม

บางครั้งความหวาดระแวงจะเกิดแค่ชั่วคราว พบได้ในกลุ่มที่มีปัญหาทางอารมณ์ หรือปัญหาบุคลิกภาพ แต่คนที่มีอายุและมีการศึกษาที่ดีจะสังเกตได้ยาก เพราะคนกลุ่มนี้รู้ว่าควรระแวงแบบไหน

ผู้มีอาการหวาดระแวงบางราย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแล้วไปกระทบภาวะทางจิต เช่น ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอก ในสมอง โรคเอสแอลอีขึ้นสมอง แต่พบได้ไม่บ่อย

ปกติร่างกายมีกลไกตามธรรมชาติในการป้องกันอยู่แล้วคือ เหตุผล เช่น หากสงสัยเรื่องใด ก็จะหาเหตุผลว่าใช่หรือไม่ แต่ถ้ากลไกส่วนนี้ไม่ทำงาน คนคนนั้นก็อาจแสดงท่าทีที่ไม่ปกติ หรือพูดในสิ่งที่เป็นการคิดเกินเลยออกมา (ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความกดดันหรือความเครียด)

การรักษาคนที่มีอาการ “หวาดระแวง” หากกลไกของร่างกายไม่ทำงาน บางรายอาจถึงขั้นต้องไปพบจิตแพทย์ เช่น ระแวงว่าจะถูกทำร้ายต้องพกอาวุธติดตัว ระแวงคนในบ้านจะฮุบสมบัติ เป็นต้น

บางรายชอบขว้างปาสิ่งของหรือทุ่มวัตถุที่อยู่ในมือหรืออยู่ใกล้มือ เพราะโดยธรรมชาติ คนหวาดระแวงจะกังวลว่าตัวเองจะถูกทำร้าย เพราะฉะนั้นเขาจะต้องป้องกันตัวเอง

หากใครพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการ “หวาดระแวง” ควรพาไปตรวจเช็กสุขภาพจิต ไม่เช่นนั้นจะรักษายากและใช้เวลารักษานาน

ส่วนใหญ่อาการหวาดระแวง จะทำให้คิดในทางลบ แต่ถ้าคิดในทางบวก เช่น ลูกจ้างถูกนายจ้างดุด่า ก็ให้คิดว่าเพราะรักเราอยากให้เราได้ดี เราก็จะปรับปรุงแก้ไขทำงานให้ดีขึ้น สังคมก็จะดี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขู่ว่าจะปิดประเทศ ก็ให้คิดว่าจะได้ไม่มีชาวต่างชาติมาก่ออาชญากรรมในบ้านเรา หุหุ

เรื่องความหวาดระแวง หากถอดบทเรียนจากสามก๊ก

โจโฉ ผู้นำวุยก๊ก เน้นการบริหารคน คัดเลือกคนที่มีความสามารถจัดให้เหมาะกับงานโดยไม่สนใจภูมิหลัง และวัดคนที่ผลของงาน ขณะเดียวกัน โจโฉอารมณ์แปรปรวนง่าย ทำให้ลูกน้องมีความหวาดระแวง เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่โจโฉเพียงคนเดียว กลายเป็นความหวาดระแวงต่อผู้นำที่รวบอำนาจ

ขณะที่ เล่าปี่ ผู้นำแห่งจ๊กก๊ก ใช้การกระจายอำนาจ ทำงานบนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เหมือนครอบครัวเดียวกัน ให้อิสระในการทำงาน เช่นมอบความไว้วางใจให้ขงเบ้งรับผิดชอบดูแลบริหารจัดการกองทัพทั้งหมดหลังเชิญมาร่วมงาน ที่สำคัญ เล่าปี่ยึดมั่นในคุณธรรม ลูกน้องจึงไม่มีความหวาดระแวงในตัวผู้นำ ยอมทำงานให้แบบถวายหัว

ถามว่า ผู้นำแบบไหนดีกว่ากัน อันนี้...นานาจิตตัง