posttoday

ช้างหายไปไหน???

07 พฤศจิกายน 2558

ภาพช้างเร่ร่อนที่เคยคุ้นชินเห็นอยูในเมืองหลวง เริ่มลดจำนวนน้อยลง จนหลายคนสงสัยว่าช้างเหล่านั้นหายไปไหน

ภาพช้างเร่ร่อนที่เคยคุ้นชินเห็นอยูในเมืองหลวง เริ่มลดจำนวนน้อยลง จนหลายคนสงสัยว่าช้างเหล่านั้นหายไปไหน
  
ปัจจุบัน องค์การสวนสัตว์ ได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้างไทย เพื่อแก้ปัญหาช้างเร่ร่อน ที่ควาญช้างนำออกมาหากินในเมืองหลวง โดยจัดตั้งให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน...

นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ได้กล่าวถึง เหตุผลของการจัดตั้งโครงการช้างคืนถิ่น หรือ โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ เพื่อต้องการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนที่ออกหากิน ในเมืองและพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลสวัสดิภาพช้าง นับตั้งแต่ 2552 เป็นต้นมา องค์การสวนสัตว์ ได้ผุดโครงการนี้ขึ้นตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จ  พระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยปัญหาช้างเร่ร่อนในเมือง และทรงรับสั่งให้องค์การสวนสัตว์ ดูแลและอนุรักษ์พันธุ์ช้างไทย ให้ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นและอยู่ดำรงอย่างมีศักดิ์ศรีคู่บ้านคู่เมืองสืบไป

“เราดูแลเพื่อคงวิถีการเลี้ยงช้างเอาไว้ ให้ช้างได้เล่นน้ำ ควาญช้างมีเงินเดือน ไม่ต้องออกไปเร่ร่อน ดำรงวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างแบบโบราณเอาไว้ หลักๆคือ ต้องดูแลสวัสดิภาพของช้างให้ดีที่สุด และถ่ายทอดไปถึงควาญช้างด้วยเช่นกัน” นายเบญจพล กล่าว

การดำเนินงานตามโครงนำช้างคืนถิ่น ได้ลดปัญหาการนำช้างออกไปเร่ร่อน ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  ซึ่งถือเป็นความสำเร็จขององค์การสวนสัตว์ในการสร้างให้เป็น "คชอาณาจักร" ให้เป็นชุมชนช้างที่ยิ่งใหญ่แห่งแรกของโลก และปัจจุบัน องค์การสวนสัตว์มีช้างอยู่ในความดูแลภายในโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 161  เชือก และในปี 2559 ได้ตั้งเป้าจะนำช้างเข้าร่วมโครงการให้ครบจำนวน 200 เชือก

ทางด้าน นายวันชัย สวาสุ รักษาการผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า  ตามแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ได้ตั้งเป้าจะนำช้างเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๒๐๐ เชือก ซึ่งได้เข้าไปคุยกับควาญช้างที่อยู่ตามชุมชนใกล้เคียงในจังหวัดสุรินทร์แล้ว ซึ่งชุมชนในหลายหมู่บ้านได้ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ

โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน อำเภอ  ท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ บนเนื้อที่ 3,000 ไร่ ที่พร้อมรองรับช้างทั่วประเทศ โดยเฉพาะควาญช้างที่นำช้าง ในกรรมสิทธิ์ของตนเองออกไปเร่ร่อน แต่หากนำมาอยู่ภายในโครงการฯ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอยู่ในเมือง

สำหรับเป้าหมายแนวทางการพัฒนาโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ยังมีการจัดทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น เน้นความเป็นอยู่บนพื้นฐานหมู่บ้านช้างเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มความสมบูรณ์ของพื้นที่ ความมั่งคั่งของอาหารช้างเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ต่อไป.