posttoday

เช็กเล่นๆ ไหม ‘เราเกลียดตัวเองหรือเปล่า’

08 พฤศจิกายน 2558

ถ้าถามกันจริงๆ จะมีใครยอมรับบ้างไหมหนอว่า “เราเกลียดตัวเอง” มันเป็นประโยคที่ฟังดูรุนแรงมากจริงๆ ค่ะ

โดย...หนูดี-วนิษา เรซ ภาพ อีพีเอ

ถ้าถามกันจริงๆ จะมีใครยอมรับบ้างไหมหนอว่า “เราเกลียดตัวเอง” มันเป็นประโยคที่ฟังดูรุนแรงมากจริงๆ ค่ะ และว่ากันไปแล้วมันผิดธรรมชาติสำหรับสมองมากๆ เลยด้วย เพราะหากธรรมชาติสร้างเรามาให้เกลียดตัวเองซะแล้วเราคงฆ่าตัวเราตายไปเสียตั้งแต่เรามีกำลังทำได้ และเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็คงไม่เหลือมาจนทุกวันนี้แน่ๆ

แต่...มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนสูงมาก อะไรที่ดูเหมือนจะใช่กลับไม่ใช่ อะไรที่ดูเหมือนจริงกลับไม่จริง และในขณะที่เรากลัวคนอื่นจะมาหลอกเรานั้น เรากลับหลอกตัวเองเสียสนิทเลย พูดได้ว่า กว่าคนอื่นจะมาต้มเรานั้น เราต้มตัวเองซะเปื่อยสนิทไปเสียนานแล้ว อย่างประเด็น “เกลียดตัวเอง” นี่ล่ะค่ะ

ว่ากันว่า ไอ้เจ้าความเกลียดตัวเองนี่มันหลบซ่อนอยู่ในสมองเราเหมือนเครื่องบินรุ่น Stealth ที่มีศักยภาพในการพรางตัวสูงมาก มันจะทำให้เราคิดว่าเราไม่ได้เกลียดตัวเองหรอก เราแค่...

อิจฉาคนอื่น

เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

ทำไมเราถึงไม่รวยเท่าเขา

ทำไมเราถึงไม่ผอมเท่าเขา

ทำไมเราถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าเขา

หรือเราอาจจะมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้

ฉันนี่เจ๋งกว่าใครเลย

ไม่มีใครเก่งเท่าฉัน

ฉันเป็นคนดี และคนอื่นๆ เป็นคนไม่ดี

ฉันดูดีกว่าใคร

ฉันรวยกว่า...

ความเกลียดตัวเองจะหลบซ่อนอยู่ในพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ที่ดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นกัน เพราะจะมีใครบ้างล่ะในสังคมที่ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร แค่เปิดโทรทัศน์หรือส่องดูโซเชียลมีเดียของคนอื่นๆ เราก็สามารถนั่งอยู่ในบ้านแล้วรู้สึกว่า บ้านเราเล็กกว่าบ้านหลังนั้นในทีวีอีก กระเป๋าแบรนด์เนมของดาราคนนั้นสวยจัง ใบตั้งเป็นแสน เราคงไม่มีปัญญาจะซื้อแน่ๆ ฯลฯ​

แต่ “การเปรียบเทียบ” ที่ดูเหมือนเป็นของธรรมดานี่ล่ะค่ะมันจะสามารถบ่อนทำลายความสุขในหัวใจของเราและพลังงานในสมองของเราได้อย่างมากมาย เพราะมันคืออีกหนึ่งโฉมหน้าของการ “เกลียดตัวเอง” นั่นเอง

แล้วแก่นของการเกลียดตัวเองน่าจะมาจากที่ไหนกัน มันเริ่มต้นมาจากตรงไหน ...ในฐานะครูแล้วเราจะได้มองเห็นการก่อกำเนิดของสิ่งนี้มาตั้งแต่วัยเด็กเลย เพราะแก่นของมันคือ “การรู้สึกว่าเราไม่ดีพอ” เหมือนกับสิ่งที่เราเป็นไม่ว่าจะตอนนี้หรือตอนไหนมันไม่พอสักที เราไม่เก่งพอ ไม่น่ารักพอ ไม่ขยันพอ ไม่พูดเพราะพอ ไม่ ฯลฯ​

ในฐานะครูและพ่อแม่เราต้องระวังความคิดและคำพูดของเรามากๆ เพราะบางครั้งในการพยายามอยากให้ลูกเป็นคนเก่ง คนดี คนน่ารัก เราจะเผลอไปเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นๆ โดยไม่ตั้งใจ เช่น ทำไมไม่ขยันแบบพี่ล่ะ ทำไมไม่พูดเพราะๆ กับพ่อแม่แบบลูกบ้านนั้นล่ะ ทำไมคะแนนไม่ดีเหมือนเด็กข้างบ้านที่เขาตั้งใจเรียนกว่าเรา คำพูดเหล่านี้จะฝังเข้าไปในหัวเด็กๆ จนมันกลายเป็น “คำพูดภายใน” ที่เขาใช้พูดกับตัวเองไปตลอดชีวิตเมื่อเขาโตขึ้น สิ่งที่เขาได้ฟังมาตลอดจะกลายเป็นเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยินมันจะเพลย์และรีเพลย์ในหัวเขาเสมอแม้กระทั่งในเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ตายไปนานแล้ว

หากเราเป็นผู้ใหญ่แล้วและเราพบว่า เราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เปรียบเทียบน้อยลงและมีความสุขขึ้นเราควรจะทำอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือ การระมัดระวัง “อีโก้” ของเราเอง มันน่าประหลาดนะคะ เพราะเรามักคิดว่าคนที่เกลียดตัวเองจะไม่มีอีโก้สูง แต่หากมองลงไปอย่างลึกซึ้งแล้วเจ้าตัว “อีโก้” นี่ละที่เป็นตัวบงการให้เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น บางครั้งเปรียบเทียบว่าเราแย่กว่า บางครั้งเปรียบเทียบว่าเราดีกว่า (เพราะอีโก้มักจะชอบโยนสิ่งที่เราเกลียดเกี่ยวกับตัวเราเองไปลงที่คนอื่น และเราก็จะบอกว่าเราไม่ชอบคนคนนั้นเพราะเขามีนิสัยแบบนี้ ทั้งๆ ที่นิสัยแบบนี้ละที่เราเกลียดในตัวเอง เช่น คนที่บอกว่าเกลียดคนโกหกที่สุด แต่ตัวเองก็พูดไม่จริงบ่อยๆ เหมือนกัน)

“อีโก้” ก็เหมือนการเกลียดตัวเอง คือเราตามจับที่มาที่ไปของมันยากมาก เพราะมันแฝงมาในเครื่องบิน Stealth ...ล่องหนหายตัวจนมาโผล่ใกล้ตัวและใจเราที่สุดแบบห้ามไม่ทัน แต่วิธีจับอีโก้ให้ได้คือการคอยฟังเสียงในหัวของเรา มันคือเสียงที่คอยบอกเราว่า เราไม่ดีพอ เราไม่เก่งพอ และเสียงที่คอยเปรียบเทียบเรากับคนนั้นคนนี้ เมื่อเราจับทันเมื่อไหร่ก็ให้มองและเฝ้าสังเกตมันไปโดยไม่ต้องไปร่วมเล่นด้วย แค่รู้ทันเท่านั้นเสียงนี้จะค่อยๆ เบาลงไปเองจนเงียบหายไปในที่สุด จนวันหนึ่งเมื่อ “สติ” ของเราเท่าทันอีโก้ เสียงนี้ก็จะเงียบหายไปจากชีวิตเราโดยถาวร

สติสำคัญมากในกรณีนี้ค่ะ เราคงแทบเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้เลยหากเราไม่มีสติคอยช่วยเอาไว้ และการฝึกสติก็เหมือนการว่ายน้ำ นั่นก็คือยิ่งทำบ่อยๆ เรายิ่งเป็นเร็ว ฝึกมากๆ ก็เก่งมากๆ ตอนแรกก็ยากหน่อยเหมือนทุกๆ เรื่องในโลก แต่โบนัสที่เราจะได้เพิ่มขึ้นมาคือเราจะเป็นคนที่น่ารักและน่าอยู่ด้วยมากขึ้น เพราะเมื่อเราเลิกเกลียดตัวเองได้เราก็จะเลิกจับผิดและให้อภัยคนใกล้ตัวได้มากขึ้น เพราะในเชิงจิตวิทยาแล้วเราสามารถรักคนอื่นได้มากที่สุดเท่าที่เรารักตัวเอง

ดังนั้น ตามหลักเหตุและผลแล้วเมื่อเรารักตัวเองได้มากขึ้น เราก็จะรักคนอื่นได้มากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว การฝึกสติให้เราเท่าทันใจตัวเองในเรื่องนี้จึงได้ดีสองเด้ง คือนอกจากใจเราจะสบายขึ้นแล้วคนรอบตัวเราก็จะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วยแบบเต็มๆ

วันนี้ลองมาเช็กกันไหมคะว่าเราเข้าข่ายเกลียดตัวเองไหม...แม้เราจะไม่อยากยอมรับก็ตาม ก็ไม่ต้องยอมรับกับคนอื่น แค่ยอมรับในใจเราก็พอและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเราให้รักตัวเองได้มากขึ้น ทำได้แล้วลองสังเกตดูนะคะว่า ใจของเราสบายขึ้นจริงไหม

อย่าเชื่อหนูดี ของอย่างนี้ต้องลองเอง