posttoday

อิตาเลียนฟิวเจอริสม์ ร้อยปีแห่งความล้ำสมัย

27 ธันวาคม 2558

ชาวอิตาเลียนเรียกความเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวฟิวเจอริสม์ (Futurism) ที่มีต้นกำเนิดในอิตาลีราวต้นศตวรรษที่ 20 ว่า

โดย...อฐิณป ลภณวุษ artofmylifeasafrog.blogspot.com

ชาวอิตาเลียนเรียกความเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวฟิวเจอริสม์ (Futurism) ที่มีต้นกำเนิดในอิตาลีราวต้นศตวรรษที่ 20 ว่า ฟูตูริสโม (Futurismo) ซึ่งผ่านมาเป็นเวลาร้อยปีแล้ว หอศิลป์เดอะ มาร์ต ในเมืองโรเวเรโต แคว้นเตรนติโน ทางตอนเหนือของอิตาลี ขอเฉลิมฉลองด้วยบรรดามาสเตอร์พีซจากยุคฟิวเจอริสม์ ที่มีจุดเริ่มต้น ณ อิตาลี ก่อนจะกลายเป็นแนวทางของศิลปะโลกในขณะนั้น

นิทรรศการนี้เป็นการย้อนระลึกถึงศิลปินอย่าง อุมแบร์โต บอคโคนี, จาโคโม บัลลา, การ์โล การ์รา, จีโน เซเวรินี, ลุยจิ รุสโซโล, ฟอร์ตูนาโต เดเปโร และเอ็นริโค ปรัมโปลินี ซึ่งเป็นเหล่าผู้บุกเบิกฟิวเจอริสม์ในอิตาลี

อิตาเลียนฟิวเจอริสม์ ร้อยปีแห่งความล้ำสมัย

 

ในปี 1915 จาโคโม บัลลาและฟอร์ตูนาโต เดเปโร ออกประกาศ Ricostruzione futurista dell’universo (กลุ่มฟิวเจอริสม์บูรณะจักรวาลใหม่) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบฟิวเจอริสม์อย่างเป็นทางการ โดยศิลปินกลุ่มอาวองต์-การ์ดชาวอิตาเลียน ที่ศิลปะของพวกเขาสร้างสรรค์ด้วยแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ ในชีวิต ตั้งแต่เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว ไปจนถึงเรื่องหนักๆ อย่างสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนกระทั่งถึงความรุนแรงในสังคม

ฟิวเจอริสม์ในอิตาลี กำเนิดขึ้นใกล้เคียงกับในรัสเซีย ทว่ากลุ่มก้อนศิลปินในอิตาลีนั้นใหญ่กว่า เพราะนอกจากจะปรากฏแนวคิดนี้ในกลุ่มจิตรกรแล้ว บรรดาแฟชั่น อุตสาหกรรม กับอินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ก็ได้รับอิทธิพลไปด้วย รวมถึงแวดวงวรรณกรรม ภาพยนตร์ สถาปัตย์ ไปจนถึงเรื่องของการครัว โดยกลุ่มจิตรกรคิวบิสม์ อาร์ตเดโค คอนสตรักทีวิสม์ และเซอร์เรียลิสม์ชาวอิตาเลียนในยุคนู้น ล้วนเบนเข็มตบเท้าเข้าสู่วงล้อของฟิวเจอริสม์กันอย่างพร้อมเพรียง

อิตาเลียนฟิวเจอริสม์ ร้อยปีแห่งความล้ำสมัย

 

วี่แววของฟิวเจอริสม์เริ่มเป็นกระแสในกลุ่มอาวองต์-การ์ดของอิตาลี ตั้งแต่ปี 1909 โดยเริ่มในแวดวงวรรณกรรม ก่อนที่ศิลปินอย่าง อุมแบร์โต บอคโคนี, จาโคโม บัลลา, การ์โล การ์รา, จีโน เซเวรินี จะเอาด้วย เช่นเดียวกับนักแต่งเพลง ลุยจิ รุสโซโล พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานจากสิ่งรอบตัว โดยโฟกัสที่ความเร็ว เทคโนโลยี รถยนต์ คนหนุ่มสาว อุตสาหกรรมใหม่ๆ เครื่องบิน วิทยาศาสตร์ และสิ่งล้ำสมัยต่างๆ แล้วก็เรื่องของโลกอนาคต

จิตรกรฟิวเจอริสม์พัฒนารูปแบบของพวกเขาอย่างช้าๆ ในช่วงแรกๆ พวกเขานิยมใช้แนวทางสีแบบดิวิชั่นนิสม์ (Divisionism) ที่มีการแบ่งแสงและสีออกเป็นแถบๆ หรือจุดๆ โดยเฉพาะโจวานนี เซจันตินี และจีโน เซเวรินี ที่เคยอยู่ในกรุงปารีสและได้นำเทคนิคที่เขาเห็นที่นั่นมาใช้ ก่อนที่ภายหลังจะพัฒนาไปสู่รูปแบบคิวบิสม์ ที่จีโนอธิบายว่า แสดงพลังและแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในแนวทางของฟิวเจอริสม์ได้ชัดเจนกว่า

อิตาเลียนฟิวเจอริสม์ ร้อยปีแห่งความล้ำสมัย

 

ภาพที่มักปรากฏในผืนผ้าใบของศิลปะแนวฟิวเจอริสม์ ส่วนใหญ่เป็นฉากตอนของสังคมเมือง อย่าง Funeral of the Anarchist Galli (1910–11) ของการ์โล การ์รา ภาพเขียนขนาดใหญ่ที่วาดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมประท้วงบนท้องถนน ส่วน His Leaving the Theatre (1910–11) จิตรกรคนเดิมอาศัยเทคนิคแบบดิวิชั่นนิสม์ แสดงแสงสีของท้องถนนยามค่ำคืน ขณะที่คนออกจากโรงละครเดินทางกลับบ้าน

The City Rises (1910) ของอุมแบร์โต บอคโคนี แสดงภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานกำลังก่อสร้างอาคาร ตรงกลางภาพที่ม้าตัวโตสีแดงที่ดูกำลังพยศและยากจะควบคุม พลังความเคลื่อนไหวของภาพนี้แสดงการก้าวสู่ความเป็นฟิวเจอริสม์อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับ Dynamism of a Dog on a Leash (1912) ของจาโคโม บัลลา ที่เป็นภาพของสุนัขกำลังวิ่งตามเจ้าของ เป็นความเคลื่อนไหวไวเสียจนไม่เห็นเท้าของสุนัขกันเลยทีเดียว ส่วน His Rhythm of the Bow (1912) เป็นอีกภาพที่แสดงความเคลื่อนไหวในสไตล์ภาพฟิวเจอริสม์ เป็นภาพมือของนักดนตรีที่เคลื่อนไหวขณะเล่นไวโอลินในเฟรมรูปสามเหลี่ยม

อิตาเลียนฟิวเจอริสม์ ร้อยปีแห่งความล้ำสมัย

 

ชาวฟิวเจอริสม์นิยมถ่ายทอดเรื่องราวความรุนแรงในสังคมเมือง ไปจนถึงการแสดงออกถึงความรักชาติ “เราเชิดชูทหารหาญที่ไปรบเพื่อชาติ” นอกจากนี้ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เป็นเนื้อหาสาระที่ปรากฏบ่อยครั้งในศิลปะฟิวเจอริสม์ด้วย

การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เรี่ยวแรงของอิตาเลียนฟิวเจอริสม์เริ่มแผ่วๆ ลงไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าจิตรกรบางคนก็เสียชีวิตไประหว่างสงคราม ขณะที่บางรายลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงปารีส และพัฒนาตัวเองกลายเป็นจิตรกรคิวบิสม์ไปเลย

ในทศวรรษที่ 1960 มีความพยายามจะฟื้นฟูฟิวเจอริสม์ขึ้นใหม่ ทว่าเกิดในกลุ่มนักคิดนักเขียน เรียกว่า il secondo Futurismo (ฟิวเจอริสม์ที่ 2) แต่ก็ไม่อาจจะสร้างแกนในแวดวงศิลปะขึ้นมาแต่อย่างใด

อิตาเลียนฟิวเจอริสม์ ร้อยปีแห่งความล้ำสมัย

 

อิตาเลียนฟิวเจอริสม์ ร้อยปีแห่งความล้ำสมัย