อาร์ตตลกหกฉาก นักเดินทางล่าราเมน
แรงบันดาลใจในการเดินทางของแต่ละคนต่างกัน บ้างต้องการค้นหาตัวเองบ้างอยากเห็นโลกกว้าง
โดย...รอนแรม ภาพ... ศิลป์ รุจิรวนิช
แรงบันดาลใจในการเดินทางของแต่ละคนต่างกัน บ้างต้องการค้นหาตัวเองบ้างอยากเห็นโลกกว้าง แต่สำหรับ อาร์ต-ศิลป์ รุจิรวนิช นักแสดงค่ายเวิร์คพอยท์ เขาออกเดินทางเพราะ “ราเมน” อาหารสุดคลาสสิกของชาวญี่ปุ่นที่เขาหลงรักถึงขั้นคลั่งไคล้มาตั้งแต่เด็ก เพราะสำหรับเขามันไม่ได้เป็นแค่อาหารแต่ยังเป็นแรงบันดาลใจและศิลปะการใช้ชีวิต
เด็กเส้น
อาร์ตชอบกินราเมนมาตั้งแต่เด็ก เขาตั้งคำถามกับอาหารชามนี้มาตลอดว่าทำไมอาหารที่มีเส้นกับน้ำถึงได้อร่อยโดยไม่ต้องปรุงแต่งอะไร อย่างเขาเองก็กินแค่เส้นกับน้ำแทบจะไม่กินหมูชาชูเลย
“เท่าที่จำความได้พ่อผมพาไปกินอาหารญี่ปุ่น ด้วยความบังเอิญผมเลือกเมนูผิดแล้วได้โซบะเย็นมา เราก็ลองกินดูปรากฏว่าอร่อยมากทั้งที่ไม่มีเครื่องอะไรเลยมีแต่เส้นไปจุ่มน้ำแค่นี้ จากนั้นผมก็กินราเมนมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ก็ต้มกินเองทุกเช้า”
ถามถึงร้านราเมนที่ชื่นชอบ อาร์ตแนะนำ 4 ร้าน ร้านแรกชื่อ แกรนด์ราเมนอยู่ย่านทองหล่อ ซอยสุขุมวิท 55 เมนูแนะนำคือ ราเมนไข่เจียวปูอัด ร้านต่อมาชื่อคิโอะราเมน อยู่ในโครงการเรนฮิลล์ แนะนำสองเมนูคือ โชยุราเมนกับอาบูระโซบะ อีกร้านชื่อ ฟูจิยามาโกโก อยู่สุขุมวิท 39 เด่นที่เมนูราเมนแห้งแยกน้ำซุป ซุปจะมาพร้อมเตาทำให้เดือดเพื่อรักษารสชาติ และร้านก๋วยเตี๋ยวโยโกฮามา อยู่แถวพระราม 9 สามารถเลือกได้ว่าจะกินเส้นขนาดไหน ระดับความแข็งของเส้น ระดับความเค็มความเผ็ด หรือเครื่องที่ใส่ลงไป ซึ่งเมนูเด็ดคือ ราเมนซุปเกลือที่อร่อยโดดเด่นกว่าทุกเมนู ทั้งสี่ร้านเป็นร้านประจำที่อาร์ตจะไปกินวนอยู่แค่นี้
“เข้าร้านราเมนแทบทุกวัน ถ้าถามว่าเบื่อไหม ผมเบื่อได้แค่สองวันก็จะกลับมาคิดถึงมันอีกแล้ว” อาร์ตกล่าว “บางคนชอบกินราเมนเพราะชอบกินหมูชาชู ซึ่งจะถามว่าผมชอบกินเส้นหรือซุปมากกว่ากัน ผมชอบที่มันอยู่คู่กัน ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่อร่อย มันก็จะเป็นราเมนที่ไม่อร่อย ดังนั้นทั้งสองอย่างมันต้องบาลานซ์”
ค่าที่รักราเมนทำให้อาร์ตรักญี่ปุ่นไปด้วย ซึ่งการเดินทางไปญี่ปุ่นแต่ละครั้งเขาจะไปค่อยวางแผนเพราะเชื่อว่าทุกร้านใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ซึ่งเมืองแห่งราเมนเขายกให้ “โตเกียวเท่านั้น”
โตเกียวมีราเมน
เมืองหลวงโตเกียวเป็นแหล่งรวมสถานที่ท่องเที่ยว ร้านช็อป ร้านอาหาร ซึ่งถ้าโฟกัสไปที่ราเมนจะมีเพียงสองพื้นที่ที่โด่งดัง คือ ชินจูกุ นัมเบอร์วันของคนรักราเมนที่ไม่ว่าเดินเข้าร้านไหนก็อร่อย และชิบูยาที่มีให้เลือกมากมาย อย่างอาร์ต เขาเคยจัดทริปตามไปกินราเมนที่แนะนำในแมกกาซีนญี่ปุ่นแต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะแม้ว่าจะมีที่อยู่ชัดเจน แต่ทุกร้านไม่มีภาษาอังกฤษ
“รอบที่แล้วที่ไปโตเกียวผมตั้งใจไว้ว่าจะไปกินราเมน 15 ร้าน จากที่จดมาจากรายการทีวีแชมเปี้ยนส์ โดยผมจะแยกกับเพื่อนแล้วไปตามหาร้านราเมน ซึ่งหาเจอแค่ 5 ร้านเท่านั้นเอง แต่ที่กินมั่วๆ เจอร้านไหนก็เข้ามีเกิน 15 ร้านแน่นอน อย่างกินเสร็จออกมาเจอร้านข้างๆ น่ากิน ผมก็เข้าไปกิน แล้วมันก็กินได้ กินได้เรื่อยๆ จริงๆ”
อาร์ตยังให้ข้อมูลว่าที่ประเทศญี่ปุ่นจะขายราเมนสองไซส์คือ ไซส์ผู้ชายกับผู้หญิง ซึ่งไซส์ผู้หญิงจะเล็กกว่า จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงกินราเมนได้หลายมื้อในหนึ่งวัน
นอกจากนี้ เขายังสนใจชีวิตของคนโตเกียวโดยการทำตัวให้เร่งรีบเหมือนเขา อย่างอาหารเช้าของพนักงานออฟฟิศคือร้านอุด้งที่ไม่มีเก้าอี้ พวกเขาจะซื้อจากตู้อัตโนมัติ หยอดเงินรอรับอาหาร และยืนซดอุด้งในเวลาถึง 3 นาทีแล้วจากไปจากนั้นมื้อเที่ยงจะมีเวลามากหน่อย พวกเขาก็จะเข้าร้านซูชิหรือร้านข้าวหน้าต่างๆ และมื้อเย็นจะชวนกันเข้าร้านอาหารสั่งเป็นอาหารมื้อใหญ่กินคู่กับเบียร์ด้วยความเชื่อ (ที่น่าจะเป็นจริง) ที่ว่าเบียร์จะช่วยเปิดลิ้นให้รับรสชาติได้มากขึ้น และมื้อเย็นยังเป็นมื้อกระชับความสัมพันธ์ในออฟฟิศทั้งกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน
ราเมนคือศิลปะ
สำหรับอาร์ต เขาคิดว่าราเมนไม่ได้เป็นแค่อาหาร แต่มันคือศิลปะ “ถ้ามองลึกเข้าไปในเส้นราเมน คนญี่ปุ่นจะเอาใจใส่ตั้งแต่การนวดเส้นส่วนใหญ่แต่ละร้านจะนวดเส้นเองเป็นซิกเนเจอร์ร้านใครร้านมัน น้ำซุปก็ต้องต้มสามวันขึ้นไป ใช้วัตถุดิบที่ดี เน้นคุณภาพเกรดเอ อย่างเช่นการหั่นหมูชาชู การวางบนจาน ทุกอย่างมันละเอียด ดูสวยงาม หรือการวางตำแหน่งผัก มันถูกคิดมาแล้วเหมือนเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งในชามหนึ่งใบ”
นอกจากนี้ อาร์ตยังเล่าถึงการกินราเมนอย่างไรให้อร่อย ซึ่งตามที่เขาได้ศึกษามามีบอกไว้ว่า ต้องซดน้ำซุปก่อนเพื่อซึมซับรสชาติแล้วค่อยกินเส้น กินเครื่อง ซึ่งระหว่างนี้จะไม่มีการซดน้ำซุปอีกแล้วจนกว่าทุกอย่างจะหมดแล้วซดน้ำซุปรวดเดียวปิดท้าย แต่อาร์ตไม่เคยทำแบบนั้น เขาจะกินเส้นและเครื่องให้หมดก่อนแล้วค่อยซดน้ำซุปทีเดียว ซึ่งก็อร่อยไม่ต่างกัน
บาลานซ์ชีวิตเหมือนเส้นกับซุป
อาร์ตทำงานหลายอย่าง นอกจากจะเป็นนักแสดง พิธีกร เขายังเป็นดีเจเปิดแผ่น อาร์ตเล่าว่า เขาเห็นดีเจเปิดแผ่นในรายการโทรทัศน์แล้วรู้สึกว่ามันเท่เลยไปตามร้านขอเข้าไปออดิชั่นแบบไม่มีความรู้ แต่ก็เพราะวิธีนี้เขาจึงได้รู้จักเครื่องมือจริง ลองทำจริง และได้รับความรู้จากดีเจตัวจริง ทำให้สุดท้ายเขาสามารถยึดอาชีพดีเจเป็นอาชีพแรกในชีวิตทำตั้งแต่อายุ 17 ปี สมัยเรียนมหาวิทยาลัยจนสำเร็จการศึกษา จากนั้นไม่นานก็รู้สึกอิ่มตัวจึงเปลี่ยนสายไปเป็นดีเจวิทยุ จับพลัดจับผลูสู่วงการบันเทิงและกลายเป็นนักแสดงมีสังกัดอย่างเช่นปัจจุบัน
ด้วยความที่เป็นคนพยายามแบบสุดทาง ทำให้อาร์ตจริงจังในการทำงานทุกอย่าง จนถึงจุดที่เขาต้องบอกกับตัวเองว่า พักบ้างก็ได้ อาร์ตไปญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.2558 ซึ่งเป็นการเดินทางหลังจากบ้างานมาพักใหญ่
“ตอนทำงานมันมีความสุข แต่ตอนเที่ยวมันมีความสุขกว่า เรื่องง่ายๆ อย่างสมาร์ทโฟนในกระเป๋าเราแทบไม่ต้องจับมัน ไม่ต้องกังวลว่าจะมีคนมาตามงาน การขาดการติดต่อไปช่วงหนึ่งมันก็สบายดี ซึ่งมันทำให้ผมรู้ว่าชีวิตมันต้องเที่ยว”การเดินทางครั้งหน้าอาร์ตจะไปซัปโปโร เมืองที่ไม่ค่อยมีร้านราเมนแต่เขาต้องหาให้ได้
โลกของอาร์ต
ถ้ามีโลกของตัวเองหนึ่งใบ อาร์ตอยากให้โลกใบนั้น อร่อย“ด้วยความอร่อย มันเกิดจากความกลมกล่อมของแต่ละรสชาติ เปรียบได้กับนิสัยใจคอของคนที่อยู่ร่วมกัน คนจะเป็นยังไงก็ได้แต่ขอให้มันเข้ากันได้ อยู่ในชามเดียวกันได้ ถ้ามันอร่อยก็เหมือนโลกที่มีความสุขนั่นเอง”
ติดตามโลกของอาร์ตและราเมนของเขาได้ทางอินสตาแกรม @artalwaysart และทางช่องเวิร์คพอยท์กับรายการตลกหกฉากและสตูดิโอโกแกง