เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

16 มกราคม 2559

หนึ่งสิ่งที่ครูในยุคสมัยปัจจุบันสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้การช่วยสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดย...กองบรรณาธิการ

หนึ่งสิ่งที่ครูในยุคสมัยปัจจุบันสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้การช่วยสอนอย่างมีประสิทธิภาพ คือ เทคโนโลยี ในยุคสมัยนี้เทคโนโลยีอันทันสมัยทำให้การค้นคว้าหาข้อมูลเป็นไปอย่างง่ายดาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กนักเรียนยุคใหม่จะเข้าถึงรูปแบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่สามารถหาได้ด้วยตัวเองแบบไร้ขีดจำกัด กลายเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ครูในโรงเรียนต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ให้เข้ากับนักเรียนแห่งศตวรรษที่ 21

ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของเด็กและเยาวชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เปิดเผยว่า เด็กยุคใหม่สามารถหาความรู้ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต ทำให้อายุขัยขององค์ความรู้ตายเร็ว นั่นคือ เมื่อเผยแพร่ความรู้อะไรก็ตามลงไปในอินเทอร์เน็ตจะมีคนเข้ามาต่อยอดหรือหักล้าง รวมถึงแชร์ข้อมูลต่อไปอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นครูจึงมีความสำคัญในการป้อนความรู้น้อยลงและเปลี่ยนเป็นการสอนแบบให้ “ทักษะ” มากขึ้น

ทัศนะของธันยวิช มองว่า การศึกษายุคปลายศตวรรษที่20 ครูเน้นให้เด็กมีความสามารถค้นหาข้อมูล เข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ได้ แต่เวลานี้ก้าวผ่านช่วงเวลานั้นมาสู่ศตวรรษที่ 21ซึ่งนักเรียนจะต้องถูกพัฒนาเรื่องทักษะ การคิดและวิจารณญาณที่มากเพียงพอ จะทำอย่างไรที่จะสกัดข้อมูลจำนวนมากออกมาเป็นองค์ความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

เขมณิจ อ่ำแห หรือครูทราย ครูรุ่นใหม่สอนภาษาไทย ประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิชาภาษาไทย โรงเรียนวัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพฯ ซึ่งได้รางวัลสื่อการสอนภาษาไทย
ดีเด่น กล่าวว่า ทุกวันนี้ครูต้องเข้าไปสอนในห้องแชตไลน์หรือเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับการสอนในห้องเรียนปกติ เพราะสถานที่ของการสื่อสารไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นการที่ครูเข้าไปในห้องไลน์เพื่อร่วมพูดคุยกับนักเรียน เพื่อให้รู้ว่าเขากำลังคุยเรื่องอะไร คิดอย่างไร และสนใจเรื่องใดอยู่ ครูยุคใหม่จึงต้องเป็นเพื่อนของนักเรียนมากยิ่งขึ้น

“การพูดคุยกับเด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ถือว่าสำคัญมาก เพราะเข้าสู่วัยเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนของร่างกาย เด็กบางคนติดเกม บางคนมีความรัก และบางคนเริ่มพูดคุยน้อยลง การที่ครูเข้าไปพูดคุยในห้องแชตต่างๆ ทำให้รู้ว่าเด็กเหล่านี้มีความคิดเห็นอย่างไร เมื่อรู้ปัญหาก็จะหาทางออกได้ ขณะที่บางกรณีพบว่าเด็กเล่นอินเทอร์เน็ตมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเสียการเรียน หรือแม้กระทั่งภาวะสังคมก้มหน้าภายในครอบครัวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นรูปแบบของการสื่อสารกับผู้ปกครองหรือการเยี่ยมบ้านยังเป็นเรื่องที่คนเป็นครูต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาไปพร้อมกับครอบครัว”

เพราะโลกแห่งการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในห้องเรียนจึงต้องมีกฎระเบียบให้นักเรียนนำโทรศัพท์มือถือมาฝากไว้ที่ครู เพื่อป้องกันการสูญหาย ทั้งยังสร้างวินัยของการอยู่ร่วมกันในห้อง สำหรับโรงเรียนจะต้องพัฒนาห้องสมุดแหล่งค้นหาข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

ในช่วง 9 ปีที่เริ่มเข้ามาโลดแล่นในฐานะติวเตอร์ ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ แห่งสถาบันแองกริซ (Angkriz)ก็ได้พบว่า เด็กนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ปี เด็กสมัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง โลกของเด็กๆ ส่วนใหญ่คือโซเชียลเน็ตเวิร์ก นิสัยที่เด่นชัด คือ มีความอดทนต่ำ เพราะชินกับการเข้าถึงข้อมูลแบบทันทีทันใด

“บางทีเรียนๆ อยู่ เด็กๆ เขาเผลอจะหยิบมือถือแล้ว โชคดีที่สถาบันของลูกกอล์ฟไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ เพราะคลาสเราแต่ละครั้งไม่ได้ใหญ่มาก ลูกกอล์ฟจะอาศัยขอความร่วมมือเป็นหลัก ซึ่งเด็กๆ ก็เข้าใจ”

บุคลิกของเด็กยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คุณครูสมัยนี้ก็ต้องปรับตัวให้ทันโลกมากขึ้น เตรียมตัวสำหรับการสอนให้มากขึ้น เพราะเด็กสมัยนี้รู้เยอะ เพราะไม่เช่นนั้นความเชื่อถือของเขาอาจจะลดลงได้ถ้าไม่สามารถตอบคำถามของเด็กนักเรียนหรือให้คำตอบที่ผิด

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

“คุณครูสมัยนี้ต้องหมุนตามโลก อัพเดทเทรนด์ต่างๆ ตลอดเวลา ต้องรู้ว่าอะไรกำลังอยู่ในความสนใจของเด็ก บางเรื่องเราอาจจะไม่อิน แต่ถ้าเด็กเขาอินเราก็ต้องรู้ อย่างน้อยเราจะได้คุยภาษาเดียวกับเด็ก”

ครูลูกกอล์ฟยกตัวอย่างการเรียนการสอนของตัวเองที่ปรับตัวให้เข้ากับเด็กยุคใหม่ว่า แทนที่เราจะมาสอนคำศัพท์คำหนึ่งที่ยากมาก และเด็กไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ เราอาจจะนำเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์เข้ามาใช้ เช่น ลองเปิดข้อมูลจากสื่อหรือการแสดงที่มีการหยิบคำศัพท์คำนั้นขึ้นมาใช้จริงๆ เพื่อให้เด็กเขาเห็นว่าสิ่งที่เราสอนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยากกับการหยิบมาใช้ เพราะเราทำให้มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น หรือบางทีสอนออกเสียงคำภาษาอังกฤษ ก็อาศัยเปิดเสียงของเจ้าของภาษาให้เด็กฟังเลย เขาจะได้เข้าใจกับสิ่งที่เราสอนมากขึ้นว่า ทำไมต้องเน้นเสียงตรงนี้

“ลูกกอล์ฟอาจจะโชคดีกว่าคุณครูอีกหลายๆ คน ตรงที่เราเป็นติวเตอร์ เด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่เลือกแล้วที่จะมาเรียนกับเรา ดังนั้นเขาจะตั้งใจเรียน ขณะที่คุณครูตามโรงเรียนอาจจะเลือกนักเรียนไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณครูยิ่งต้องทำการบ้านมากขึ้น ใช้ใจในการสอนและเข้าใจเด็กมากๆ ซึ่งลูกกอล์ฟมองว่าเรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณครูบางท่านความรู้เยอะ แต่อาจจะสื่อสารออกมาได้ไม่ดี ตัวลูกกอล์ฟพอมาเป็นครูใช้ความรู้นิเทศศาสตร์มาช่วยเยอะมาก ทั้งการใช้สายตา ท่าทาง การเว้นวรรค การใช้เสียงหนักเสียงเบา”

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

ในขณะที่เด็กๆ เปลี่ยนไป ครูเองก็เปลี่ยน อย่างจักรกฤต โยมพยอม หรือ ครูทอม คำไทย ติวเตอร์และสุดยอดแฟนพันธ์ุแท้สุนทรภู่ ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่พ้นจากกรอบเดิมๆ ของอาชีพครูไปไกล ด้วยผมยาวทรงฟั่นเชือกและแต่งกายแบบชาวร็อก “คือด้วยบุคลิกแบบนี้มันไม่เข้ากับการเป็นครูภาษาไทยครับ เพราะว่าครูภาษาไทยที่หลายคนเคยเจอกันมานานนมก็อาจจะเป็นครูที่มีอายุหน่อย อาจจะดุบ้าง หรือไม่ก็ออกไปทางอนุรักษนิยม ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี่ไม่ใช่บุคลิกของผมเลยแม้แต่นิดเดียว และด้วยสไตล์การสอนที่จะเน้นความสนุกสนาน ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวด้วย ลูกศิษย์ก็จะชอบครับ เพราะว่าเราสามารถให้เขาเห็นภาพชัดเจน ไม่ใช่แค่หยิบยกมาจากในแบบเรียนเท่านั้น

“พอเราฉีกรูปแบบเดิมๆ ของการเป็นครูภาษาไทยมาเป็นครูแปลกๆ แบบนี้ ก็เลยทำให้นักเรียนสนใจวิชาภาษาไทยมากขึ้นด้วยครับ แต่ก็ไม่ใช่เพราะคาแรกเตอร์อย่างเดียวนะครับที่ทำให้ผู้ปกครอง นักเรียน และอาจารย์สถาบันต่างๆ สนใจ การที่ผมจบมาด้านภาษาและวรรณคดีไทยจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตรงก็เป็นอีกอย่างที่ทำให้หลายคนยิ่งรู้สึกว่าขัดแย้งกับภาพลักษณ์ที่เห็น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ผมเป็นก็ทำให้เหมือนเป็นตัวแทนของครูรุ่นใหม่ ที่ไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรจำเจครับ”

ในฐานะครูรุ่นใหม่ ครูทอมมองภาพรวมระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันว่า มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ทำให้ผู้สอนสามารถอธิบายได้เนื้อหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และผู้เรียนก็สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นแล้วเทคโนโลยียังช่วยให้ช่องว่างระหว่างครูกับศิษย์ลดลงอีกด้วยครับ

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

“หมายถึงว่าเรามีช่องทางติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นเช่น อีเมล เฟซบุ๊ก ทำให้ทั้งครูและลูกศิษย์ใกล้ชิดกันมากกว่าในอดีต โดยส่วนตัวผมเอง ไม่ได้เป็นครูประจำในสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เป็นอาจารย์พิเศษเป็นครั้งคราวในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะเห็นเลยครับว่า นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่รู้จักใช้เทคโนโลยีมาใช้เป็นตัวช่วยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างดี เวลามีคำถามที่ต้องการคำตอบ ก็จะรู้จักใช้อินเทอร์เน็ตนอกเหนือจากการค้นคว้าเพิ่มเติมในห้องสมุด จนบางครั้งรู้สึกว่าผู้เรียนค่อนข้างเห็นความสำคัญของข้อมูลออนไลน์มากกว่าที่อยู่ในเอกสาร ตรงนี้ก็เลยเป็นเหมือนดาบสองคมนะครับ เพราะว่าข้อมูลในสื่อออนไลน์บางแหล่งก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง แหล่งอ้างอิงก็ไม่น่าเชื่อถือ แต่นักเรียนนักศึกษาบางคนก็เอาข้อมูลนั้นมาประกอบการทำรายงาน”

เพราะคุ้นเคยกับลูกศิษย์หรือเด็กยุคปัจจุบันมาไม่น้อย ในสายตาครูทอม มองว่า นักเรียนที่กล้าคิดกล้าถามมีมากขึ้นกว่าเดิม “คือสมัยก่อนเด็กจะไม่ค่อยกล้าถามครูเท่าไร อาจจะเพราะว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้ครูหลายๆ ท่านก็ปรับมุมมอง กระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากถามมากขึ้น เด็กก็ไม่กลัวครูดุ ซึ่งปมมองว่าบรรยากาศห้องเรียนแบบนี้นี่แหละครับที่เอื้อต่อการเรียน และจะทำให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้ไว และเมื่อเด็กนักเรียนพัฒนาตัวเองได้ การศึกษาไทยก็จะพัฒนาตามไปด้วยอย่างแน่นอนครับ”

ในโลกยุคใหม่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ครูจะต้องมีบทบาทหน้าที่ซับซ้อนขึ้น ต้องมีทั้งความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งการก้าวทันโลก ธันยวิช ได้สรุปการทำหน้าที่ครูแห่งศตวรรษที่ 21 ควรมี 8 ข้อ คือ 1.ทำให้เด็กนักเรียนมีความมั่นใจในตัวเอง กล้าแสดงความเห็น โดยเฉพาะวัยรุ่นจะเปราะบางอ่อนไหวง่าย อะไรที่กระทบความรู้สึกจะส่งผลให้ขาดความมั่นใจทันที 2.ส่งเสริมให้คิดเชื่อมโยงเหตุและผล เข้าใจการจรรโลงสังคมหรือจรรโลงโลกให้ได้ เช่น การจะสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะต้องอาศัยองค์ความรู้หลายด้าน จึงจะสามารถทำภารกิจให้สำเร็จ 3.เรียนรู้ให้เข้าใจความเป็นปัจเจกของบุคคล เข้าใจความแตกต่าง อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น ที่สำคัญต้องเข้าใจตัวเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ช่วยเหลือทีมช่วยเหลือสังคมได้

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

4.ฝึกวางแผน วางเป้าระยะสั้น ระยะยาว วิเคราะห์วิธีที่จะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย 5.ฝึกกำกับตัวเอง เพราะที่ผ่านมาเวลานักเรียนเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย มีความเป็นอิสรภาพมาก หลายคนเตลิดไปกับสิ่งอื่นทำให้เสียการเรียนได้ 6.ทำให้เชื่อมั่นในความดีงาม คุณธรรม จริยธรรม ครูต้องสร้างสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในชีวิตให้เห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยจริยธรรมและคุณธรรม ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ดีอย่างไร ทำให้เด็กตัดสินใจด้วยตนเอง 7.สร้างความท้าทายตื่นเต้นในการเรียนรู้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ครูต้องทำให้ได้ สร้างบรรยากาศให้รู้สึกอยากเรียน ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป และ 8.พยายามให้เด็กตอบสนองกับครูมากขึ้น มีความเข้าใจต่อกัน ครูต้องสามารถเป็นเพื่อนของนักเรียนได้ ทั้งหมดคือรูปแบบของครูยุคใหม่

เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ครูคนแรกของประเทศไทยที่คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แสดงทัศนะว่า คนเป็นครูต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ เพราะเราไปสอนความรู้ให้นักเรียนหน้าห้องอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว แต่ควรเปลี่ยนมาตั้งโจทย์ที่เป็นปัญหาให้นักเรียนหาทางคิดแก้ไขจึงจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

“ยุคสมัยนี้นักเรียนค้นหาความรู้ได้มากกว่าครูแล้ว ซึ่งการยกกรณีตัวอย่างขึ้นมาให้นักเรียนพยายามแก้ไข คือขั้นตอนที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ยุคสมัยต่อจากนี้ครูเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น”

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยน ครูจะเปลี่ยน หรือนักเรียนจะเปลี่ยนไปอย่างไร ครูเฉลิมพร ยังเชื่อเสมอว่า สิ่งที่ครูพึงสอนนักเรียนนั้นมีอย่างหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ...

“ต้องเสริมแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรมศีลธรรม เพราะหากปราศจากเรื่องสำคัญเช่นนี้โลกจะวุ่นวาย”

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

เรือจ้างแห่งศตวรรษที่ 21

 

Thailand Web Stat