posttoday

พระถังซัมจั๋ง นักเรียนนอกผู้ยิ่งใหญ่

17 มกราคม 2559

ผู้คนรู้จักพระถังซัมจั๋งเป็นอย่างดี ผ่านวีรกรรมการเดินทางจากจีนไปสู่ชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎก

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ผู้คนรู้จักพระถังซัมจั๋งเป็นอย่างดี ผ่านวีรกรรมการเดินทางจากจีนไปสู่ชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎก

ผู้ที่เคยได้อ่านได้ชม “ไซอิ๋ว” จะรู้จักพระถังซัมจั๋งพร้อมซุนหงอคง ตือโป๊ยก่ายและเห้งเจีย ส่วนผู้ที่ศึกษาจากประวัติจริงจะรู้ว่าท่านไม่ได้เดินทางไปชมพูทวีปพร้อมสิ่งมีชีวิตพิสดารเหล่านั้น

และท่านไม่ได้ออกเดินทางด้วยความสนับสนุนจากราชสำนักใดๆ หนำซ้ำยังต้องหลบหนีออกไปในฐานะคนทำผิดกฎหมายเพราะไม่มีใบอนุญาตเดินทางไปนอกอาณาเขตในช่วงสงคราม ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต…

เดิมพระถังซัมจั๋ง (จีนกลางอ่านว่าถังซานจั้ง-แปลเป็นไทยได้ว่าพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง) มีชื่อเมื่อออกบวชว่า “เสวียนจั้ง”

ที่จริงพระเสวียนจั้งบวชเป็นเณรตั้งแต่อายุ 13 ด้วยศรัทธาและความเคร่งครัดในพระธรรมคำสอน เณรเสวียนจั้งศึกษาและเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เมื่อท่านอายุได้ 20 ก็บวชเป็นพระ

ในฐานะที่ศาสนาพุทธมาจากอินเดีย ก่อนหน้ายุคพระถังซัมจั๋งก็มีภิกษุจำนวนไม่น้อยที่ไปอัญเชิญพระไตรปิฎก และร่ำเรียนพุทธศาสนาจากอินเดีย แต่เนื่องจากความยากลำบากในการเดินทาง พระไตรปิฎกที่นำกลับมาแต่ละครั้งก็เป็นเพียงบางส่วน และบางครั้งคำสอนที่นำกลับมาก็เจือปนไปด้วยการตีความเองหรือจากความทรงจำที่ไปร่ำเรียนมา แต่ก็นับได้ว่าต่างมีคุณูปการต่อศาสนาพุทธยุคต้นในจีน

เมื่อถึงยุคพระเสวียนจั้ง เมื่อท่านเดินทางไปศึกษาพระธรรมกว่าครึ่งแผ่นดินจีน ก็กลับพบว่าคำสอนต่างๆ บางส่วนถูกแปลมานาน ภาษาที่ใช้เป็นภาษาโบราณ อ่านยาก ทำให้เกิดการตีความหลากหลาย และแม้ท่านจะศึกษาภาษาสันสกฤตไปบ้างแล้ว แต่ก็หาแหล่งคำสอนต้นฉบับให้อ้างอิงได้ยาก

ท่านจึงตัดสินใจจะออกเดินทางไปร่ำเรียนให้รู้จริง และอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมาที่จีน

ท่านขอใบอนุญาตผ่านทางจากทางการจีนหลายครั้ง แต่เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในยุคที่ต้องระวังภัยสงครามจากชนเผ่านอกด่าน จึงโดนปฏิเสธตลอด แต่นั่นก็หยุดท่านไม่ได้ พระเสวียนจั้งตัดสินใจลักลอบออกเดินทางจากฉางอัน (เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง) เพื่อไปสู่แหล่งศึกษาศาสนาพุทธที่สำคัญที่สุดในยุคนั้น มหาวิทยาลัยนาลันทา

ท่านใช้เส้นทางสายไหมในการเดินทาง ซึ่งขบวนพ่อค้าคาราวานใช้เดินทางค้าขายระหว่างตะวันออก ตะวันตกอยู่แล้ว แต่พระเสวียนจั้งออกเดินทางไปเพียงลำพัง โดยไม่มีสิ่งมีชีวิตพิสดารใดๆ ตามไปด้วย

เส้นทางที่ท่านผ่านมีเมืองตั้งอยู่เรียงราย ประหนึ่งแสงสว่างจากเปลวเทียนที่ตั้งอยู่ห่างๆ ระหว่างทาง จากบันทึกของท่าน เมืองรายทางในตอนนั้นส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนา

การมีเมืองตั้งอยู่ระหว่างทางดูเหมือนจะทำให้ท่านเดินทางสะดวกขึ้น แต่นั่นก็แค่ดูเหมือนเท่านั้น

เพราะช่วงแรกๆ ของการเดินทาง เมืองคืออุปสรรค เพราะไม่มีใบอนุญาตผ่านทาง ท่านจึงต้องคอยหลบหนีเลียบๆ เคียงๆ เมือง จึงลำบากต่อการพักและหาเสบียงดำรงชีพ บางเมืองท่านโดนจับได้ แต่ก็โชคดีที่เจ้าเมืองมีความศรัทธาในศาสนาพุทธ และให้ท่านเดินทางต่อไปพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ประปราย

ระยะทางระหว่างเมือง ปราการธรรมชาติคือความท้าทาย ช่วงเดินทางผ่านทะเลทรายโกบี ท่านต้องอดข้าวอดน้ำถึง 5 วัน 4 คืน จนสลบอยู่กลางทะเลทราย โชคยังดีที่พอท่านตื่นขึ้นมา ม้าของท่านสามารถนำท่านไปพบแหล่งน้ำ

บางครั้งได้พบเจอกับเจ้าเมืองที่ศรัทธาในตัวท่านมากๆ ถึงขนาดอยากจะกักตัวท่านไว้ และข่มขู่ท่านว่า ถ้าไม่ทำตามจะส่งตัวกลับจีน จนท่านต้องอดอาหารประท้วง จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางต่อ พร้อมมอบเสบียงและเตรียมคณะลูกศิษย์ให้ร่วมทางไปด้วย

แต่ระหว่างทางก็ไม่พ้นต้องเจอปล้นชิงทรัพย์สิน และคณะผู้ร่วมทางต้องล้มตายอยู่ท่ามกลางภูเขาหิมะไปกว่าครึ่ง พอผ่านเข้าชมพูทวีปก็ต้องพบเจอลัทธิประหลาดที่จะจับท่านบูชายัญ

เส้นทางทั้งหมดผ่านทั้งทะเลทรายอันกว้างใหญ่ ไล่ขนานไปทางด้านเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ผ่านเลยตอนเหนือของอนุทวีปอินเดียไปถึงคีร์กีซสถานแล้วไปข้ามภูเขาหิมะเพื่อเข้าสู่อินเดียทางด้านตะวันตก ผ่านปากีสถาน ล่องใต้ แล้ววกไปทางตะวันออกอีกทีเพื่อถึงนาลันทา

สำหรับหลายคนต่อให้มีเห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง ไปเป็นองครักษ์ ยังสะบักสะบอม

แต่ท่านก็ถึงมหาวิทยาลัยนาลันทาในแคว้นมคธได้ในที่สุด ท่านศึกษาพระธรรมอย่างแตกฉาน ได้เป็นรองอธิการบดีของนาลันทา ผู้คนที่นั่นต่างนับถือท่านในฐานะผู้ทรงความรู้ในพระธรรม ท่านออกเดินทางไปศึกษาธรรมยังดินแดนต่างๆ ในอินเดีย แล้วท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับ พร้อมอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับสู่จีน

นับจากเริ่มเดินทางจนถึงเมื่อท่านกลับมาสู่ฉางอันอีกครั้งในไม่กี่ย่อหน้าสั้นๆ คือเวลาในชีวิตพระเสวียนจั้งทั้งสิ้น 17 ปี รวมระยะการเดินทางกว่า 2.5 หมื่นกิโลเมตร

ท่านกลับมาจีนพร้อมการต้อนรับอย่างใหญ่โต ฮ่องเต้ถังไท่จง แห่งราชวงศ์ถังออกต้อนรับท่านด้วยตนเอง

ฮ่องเต้ถังไท่จงทรงสนใจในศาสนาพุทธ แต่ก็ยังไม่มากเท่าความสนใจในประสบการณ์ของการท่องแดนตะวันตกของพระเสวียนจั้ง

เพราะราชสำนักถังต้องการขยับขยายอำนาจ ฮ่องเต้ถังไท่จงจึงทรงทาบทามให้พระเสวียนจั้ง “สึก!” มารับราชการในราชสำนักถังเพื่อมาเป็นกูรูเรื่องดินแดนตะวันตก แต่พระเสวียนจั้งปฏิเสธอย่างหนักแน่น

เมื่อให้ท่านสึกไม่สำเร็จ จึงทรงขอให้พระเสวียนจั้งเขียนบันทึกการเดินทางมอบให้แก่ราชสำนักแทน

บันทึกนี้นี่เอง ที่พระเสวียนจั้งใช้เวลายามค่ำคืนในช่วง 1 ปี เขียนออกมาเป็น “บันทึกท่องแดนตะวันตกแห่งราชวงศ์ถัง” (ต้าถังซีโหยวจี้)

บันทึกเล่มนี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เส้นทางสายไหมและอินเดียอย่างยิ่ง พุทธ สถานอย่างมหาวิทยาลัยนาลันทา, เจดีย์พุทธคยา ฯลฯ ก็ถูกขุดค้นพบด้วยการสืบค้นจากบันทึกนี้ วงการประวัติศาสตร์อินเดียต้องขอบคุณพระเสวียนจั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ราชสำนักยังทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง ซึ่งก็กลายเป็นชื่อที่เราเรียกท่านติดปากว่า “พระถังซัมจั๋ง”

ส่วนภารกิจที่แท้จริงของท่านเพิ่งเริ่มต้น ท่านดำเนินการแปลพระไตรปิฎกที่อัญเชิญมาโดยใช้เวลาแปลทั้งสิ้นถึง 19 ปี ยาวนานกว่าระยะเวลาที่ท่านเดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกในทริปฉางอัน-นาลันทาเสียอีก

พระไตรปิฎกฉบับแปลของท่าน เป็นการแปลให้เป็นภาษาที่ทันสมัย (ราชวงศ์ถัง) และครบถ้วนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนยุคโบราณ และกลายเป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ของพระไตรปิฎกยุคนั้นที่สำคัญ

ตลอดเวลาที่ท่านแปลพระไตรปิฎกอยู่นั้น ท่านถูกทาบทามให้สึกออกมาช่วยราชการอยู่เนืองๆ บางครั้งราชสำนักถังแทบจะเชิญท่านให้ช่วยไปให้ข้อมูลถึงชายแดน แต่ความแน่วแน่ของท่านยังคงเดิม ภารกิจหนึ่งเดียวในชีวิตท่านคือเรื่องทางธรรม ไม่ใช่เรื่องทางโลก โดยเฉพาะเรื่องแก่งแย่งชิงดินแดนและท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งพุทธศาสนานิกายฝ่าเซี่ยงในจีน

จากสัดส่วนเวลาที่ท่านใช้แสดงให้เห็นได้ว่า แม้การเขียนบันทึกการเดินทางเล่าวิถีชีวิตจะน่าสนใจและดึงดูดผู้คนได้ดี และยังประโยชน์ไม่น้อยทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ท่านก็ให้ความสำคัญกับงานแปลพระไตรปิฎกเป็นที่หนึ่ง (เปรียบเทียบยุคปัจจุบันคือท่านอาจเล่าเรื่องการท่องไปอินเดียผ่านอินสตาแกรมแชร์ให้ผู้สนใจตามคำเรียกร้องบ้าง แต่ท่านให้น้ำหนักวิชาการที่ไปเล่าเรียนมามากกว่าเยอะ)

พระถังซัมจั๋งเป็นหนึ่งในบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องในหลายบทบาท และบทบาทที่ใกล้เคียงกับผู้คนจำนวนมากในยุคนี้อย่างยิ่งคือบทบาทนักเรียนนอก

นักเรียนนอกผู้มีจิตใจตั้งมั่นกับวิชาการที่อยากเรียนรู้ และมุ่งมั่นไปเรียนรู้จากดินแดนต้นกำเนิด นักเรียนนอกที่ไม่เคยย่อท้อต่อความยากลำบาก นักเรียนนอกที่ต้องการศึกษาให้กระจ่าง และนำวิชาจากแดนไกลกลับมาให้แผ่นดินแม่ นักเรียนนอกที่ไม่จบแค่การชุบตัว หรือถูกหลอกล่อด้วยลาภยศสรรเสริญ แต่ทุ่มเทตลอดชีวิตเพื่อให้สิ่งที่เล่าเรียนมาเป็นประโยชน์แด่คนรุ่นหลังสืบไป นี่คืออีกหนึ่งบทบาทที่นำพระถังซัมจั๋งลงจากบนหิ้ง และเราๆ ท่านๆ ปฏิบัติได้จริง คือพระถังซัมจั๋งในบทบาทนักเรียนนอก