บึงกาฬหลากวิถี บัวชมพู สะดุ้ง เกลือ
เรารู้จักบึงกาฬในฐานะจังหวัดใหม่ล่าสุดแต่ยังไม่คุ้นเคย ถ้าโฟกัสไปที่ธรรมชาติ บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีบึง
โดย...จำลอง บุญสอง
เรารู้จักบึงกาฬในฐานะจังหวัดใหม่ล่าสุดแต่ยังไม่คุ้นเคย ถ้าโฟกัสไปที่ธรรมชาติ บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีบึงหรือพื้นที่ชุ่มน้ำมากที่สุดในประเทศไทย และมีภูเขาหินทรายสวยงามหลายต่อหลายแห่ง ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.อีสาน) กับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ โดย รัชตะ สำราญชลารักษ์ ร่วมกันโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เป็นจุดขาย ยกตัวอย่าง ภูสิงห์ ที่นักท่องเที่ยวแห่กันไปชูมือบนหลังหินวาฬ หรือน้ำตกภูถ้ำพระที่ใครต่อใครก็อยากไปชมความอลังการของม่านน้ำตกและลานหิน ทว่าวิถีชีวิตคนบึงกาฬก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอย่าง 3 แห่งที่จะกล่าวถึงนี้
บึงบัวชมพู บ้านดอนหญ้านาง
แห่งแรกคือ บึงบัวชมพู บ้านดอนหญ้านาง ที่นี่ชาวบ้านไม่อยากเรียกบัวว่า บัวแดง เหมือนทะเลบัวแดงที่อื่น เพราะเขาอยากมีเอกลักษณ์ ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าใครจะเรียกบัวสีอะไรมันก็แค่ชื่อ เพราะมันคือบัวสายสีชมพูเข้มแบบเดียวกันนั่นเอง อย่างวันก่อนโน้นบัวแดงอยู่ที่บึงบอระเพ็ดก็เรียกว่าทะเลบัวแดงบึงบอระเพ็ด ต่อมาเจออีกแห่งที่ทะเลน้อย จ.พัทลุง และที่ฮือฮาที่สุดน่าจะเป็นทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี จ.อุดรธานี ที่ใหญ่ถึง 22,500 ไร่ แต่บัวแดงก็ยังมีอีกหลายแห่ง ทั้งวังบัวแดงของหนองคาย บางซอกหลืบของโคราช รวมถึงบึงกาฬที่บ้านดอนหญ้านาง อ.พรเจริญ
เครื่องสูบน้ำเกลือจากลำน้ำสงคราม
แม้ว่าบึงบัวชมพูบ้านดอนหญ้านางจะมีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก และน้ำในบึงลึกไม่เหมาะกับการเติบโตของบัวสาย แต่ด้วยพื้นที่ที่มีลำน้ำสงครามท่วมถึงทำให้พัดพาปุ๋ยมาทุกปี บึงแห่งนี้จึงผลิตบัวแดงดอกใหญ่สีสวยสด และยัง “สด” มาก เพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนน้อยนักที่รู้จักทำให้มีบรรยากาศล่องเรือถ่ายรูปเงียบๆ
ผมเองก็มาช้ากว่าคนอื่นเป็นปี หลังจากรู้ข่าวจาก ททท.อีสาน ก็รีบตื่นมาดูบัวบาน แม้ว่าตอนเช้าจะเจอฝนหลงฤดูจนออกไปถ่ายรูปไม่ได้ แต่ตกสายพระอาทิตย์ไล่เมฆ เลยได้ภาพดอกบัวชุ่มฉ่ำ มีเม็ดฝนเกาะตามกลีบใบดูชุ่มชื้น หลังจากนี้ใครไปภูสิงห์หรือเที่ยวบึงกาฬก็ทราบโดยทั่วกันแล้วว่ายังมีบึงบัวให้ถ่ายรูปสวยๆ ได้ไม่แพ้อุดรฯ
ดอกใหญ่อุดมสมบูรณ์
เกลือสินเธาว์ บ้านท่าสะอาด
ลำน้ำสงครามยังพบวิถีที่น่าสนใจในอีกอำเภอ คือ การทำเกลือสินเธาว์บ้านท่าสะอาด อ.เซกา ข้อมูลจากวารสาร Journal of Mekong Societies หัวข้อ บ่อหัวแฮด : เกลือกับชุมชนในลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ บันทึกไว้ว่า ภาคอีสานเคยเป็นทะเลหรือมีน้ำทะเลรุกเข้ามาก่อนแผ่นดินจะยกตัวขึ้นปรากฏแอ่งเกลือขนาดใหญ่ 2 แอ่ง คือ แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช ซึ่งลุ่มน้ำสงครามตั้งอยู่ในแอ่งสกลนคร ทำให้ชาวบ้านตั้งแต่ 100 ปีที่แล้วต้มเกลือขาย โดยใช้น้ำเค็มใต้ดินที่อยู่ใต้น้ำอีกทีขึ้นมาต้มด้วยฟืน และใช้เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างชาวบ้านฝั่งแม่น้ำสงครามและแม่น้ำโขง
ตั้งแต่อดีตชาวบ้านได้ขุดบ่อน้ำบาดาลลึก 30-50 เมตร จำนวน 2 บ่อเพื่อใช้ร่วมกัน คนต้มเกลือมีสิทธิสูบมาใช้ต้มเกลือและต้องจ่ายเงินภาษีให้กับเทศบาลตำบลท่าสะอาด แต่ละวันจะผลัดเปลี่ยนกันสูบน้ำเกลือไปเก็บไว้ในบ่อพัก จากนั้นนำไปต้มในเตาต้มเกลือ เตาสร้างด้วยอิฐโบกปูนทรงสี่เหลี่ยมขุดลึกลงไปในดินและมีขอบพ้นผิวดินเล็กน้อย ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะต้มประมาณ 8-10 ชั่วโมง ได้เกลือวันละ 1,200 กิโลกรัม เตาหนึ่งตักได้สองครั้งคือ เช้าและกลางคืน
ต้มเกลือจากใต้ดินใต้ลำน้ำสงคราม
ชาวบ้านจะเริ่มต้มในเดือน พ.ย.ของทุกปี จนกระทั่งฝนตกอีกครั้งประมาณต้นเดือน พ.ค. หรือ ก.ค. ซึ่งราคาเกลือจะขายได้ราคาดีในฤดูฝนประมาณตันละ 2,500 บาท นอกจากนี้ความพิเศษของบ้านท่าสะอาดยังเป็นบ่อเกลือสินเธาว์ใต้น้ำแห่งเดียวของไทย ไม่เหมือนกับเกลือใต้ดินของอีสานที่มีหลายแห่งตั้งแต่โคราชถึงอุดรฯ
สะดุ้ง บ้านหัวแฮด
อำเภอเดียวกัน ลำน้ำเดียวกัน ยังมีเรื่องราวของวิถีคนริมน้ำสงครามอีกเรื่องกับวิถียกยอ หรือยกสะดุ้งของบ้านหัวแฮด อ.เซกา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าที่นี่คือเมืองหลวงของการยกยอก็ไม่เยินยอเกินไป เพราะมีสะดุ้งใหญ่มากมายทำงานทั้งปี
ท่อลำเลียงน้ำเกลือ
ตามลักษณะภูมิศาสตร์ของลำน้ำสงครามที่ไหลต่อมาจากลำน้ำโขง ทำให้ระหว่างทางเกิดพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ ห้วยหัวแฮด แหล่งทำมาหากินของชาวบ้านโดยเฉพาะการจับปลา ชาวบ้านจะนำไปทำเป็นปลาแดดเดียว ปลาส้ม ปลาร้า ผมไปลองมาแล้วรับรองได้ว่าสดและอร่อยจริงๆ โดยเฉพาะส้มตำปลาร้าที่ใครเคยกินที่ไหนแล้วบอกอร่อยที่สุด อยากให้มาชิมที่บ้านหัวแฮด รับรองจะเปลี่ยนใจมาซบครกที่นี่เหมือนผม
ตามแคมเปญ “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร” ของ ททท. ถ้าพูดถึงวิถีบึงกาฬว่า ไม่เหมือนใคร นี่เป็นเรื่องจริง แต่จะเก๋ไก๋หรือไม่ คงเป็นเรื่องมุมมอง ถ้าคำว่าเก๋หมายความถึงการได้เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเห็น การได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ไม่เคยรู้จัก หรือการได้สัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ของสถานที่แห่งนั้นแบบให้เวลากับมัน ทั้ง 3 วิถีริมลำน้ำสงครามน่าจะเป็นความเก๋ที่เก๋ไก๋สุดในบึงกาฬ
เก็บเกลือที่ต้มได้ใส่ถุงรอส่งขาย
กระต๊อบสำหรับยกสะดุ้ง เจ้าของมานอนเพื่อยกตอนกลางคืน
สมฤดี ผอ.ททท.อีสาน ดูวิธีต้มเกลือ
ห้วยหัวแฮดแหล่งสะดุ้งของบึงกาฬ
สำรวจแหล่งท่องเที่ยวใหม่บึงบัวชมพูบ้านดอน หญ้านาง