posttoday

‘ชายอาหรับ’ ในบทเพลงและหนังสือ

07 กุมภาพันธ์ 2559

แปลกแยกและเงียบงัน มีเพียงความฝันที่ล่องลอยไป...ไกลสุดไกลเท่าที่ใจไปถึง เป็นความรู้สึกหลังจากที่ได้ฟังเพลง

โดย...พรเทพ เฮง

แปลกแยกและเงียบงัน มีเพียงความฝันที่ล่องลอยไป...ไกลสุดไกลเท่าที่ใจไปถึง

เป็นความรู้สึกหลังจากที่ได้ฟังเพลงซึ่งไม่ได้ฟังมานานแล้ว “Killing An Arab” ของวงดนตรี เดอะ เคียวร์ วงดนตรีในแนวโพสต์-พังก์ และนิวเวฟ ที่โด่งดังอย่างมากมายในยุคทศวรรษที่ 80

 เมื่อพูดถึงบทเพลงนี้ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงหนังสือเล่มที่เป็นตำนานของวงการวรรณกรรมโลก ถือเป็นการวิวัฒน์ทางความคิดและสกุลงานเขียนที่แหวกขนบสู่ความใหม่อย่างที่ไม่มีมาก่อน

 “คนนอก” (L’Etranger-The Stranger) ของ อัลแบร์ กามู นักเขียนชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1942 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมใน ค.ศ. 1957 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 1960 ด้วยอุบัติเหตุรถยนต์

 เพราะแรงบันดาลใจและเนื้อเพลงนั้น มาจากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นนวนิยายในแนวแอ็บเสิร์ด (Absurd) หรือสภาวะที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล ที่ใช้ในงานวรรณกรรมและบทละครช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีความหมายเฉพาะต่างกับความหมายทั่วไปของคำว่า แอ็บเสิร์ด ซึ่งหมายความไร้สาระ

 ชายอาหรับ ที่วงเดอะ เคียวร์ หยิบมาเป็นธีมในการเขียนเนื้อร้องนั้น ก็คือชายชาวอาหรับในหนังสือเล่มนี้

‘ชายอาหรับ’ ในบทเพลงและหนังสือ

กรุงปารีสและเมืองแซ็ง-เดอนี (ย่านชานกรุงปารีสทางทิศเหนือ) ในช่วงกลางคืนของวันที่ 13 พ.ย. 2015 เกิดเหตุก่อการร้ายซึ่งประกอบด้วยการกราดยิง การระเบิดฆ่าตัวตาย และการจับตัวประกัน จากเหตุการณ์นี้ มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 153 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างเหตุโจมตีอีก 352 คน นอกจากพลเรือนที่ประสบความสูญเสียแล้วยังมีผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 7 คน โดยภายหลังกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ออกมาอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

 ท่ามกลางกระแสคลื่นผู้อพยพชาวอาหรับจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือสู่ยุโรป ซึ่งต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ทำให้เห็นภาพที่เปลี่ยนไปของยุคหลังอาณานิคม ที่เคยมีชาวอาหรับในแอฟริกาเหนือ ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาตั้งรกรากอยู่ในฝรั่งเศสหลายรุ่นแล้ว ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป

 ทว่าหนังสือ “คนนอก” และบทเพลง “Killing An Arab” ยังเป็นภาพของความคิดทางศิลปะการเขียนและดนตรีที่สามารถไปยึดโยงได้กับยุคหลังอาณานิคม โดยมีภาพของ “ชายอาหรับ” เป็นศูนย์กลาง

 เมื่อหยิบงานวิจารณ์หนังสือเล่มนี้จากบทความ “ความแอ็บเสิร์ด การโกหก และชายอาหรับใน คนนอก” ที่รวมเล่มในหนังสือ “อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง” โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ โดยเคยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือน ม.ค. 2544 มาอ่านอีกครั้ง ก็ยิ่งตอกย้ำภาพที่ชัดเจน

‘ชายอาหรับ’ ในบทเพลงและหนังสือ

 

 “นวนิยายเรื่อง คนนอก เป็นตัวอย่างสาธิตความแอ็บเสิร์ดที่กามูนิยามข้างต้นได้อย่างชัดเจน มักมีผู้กล่าวกันอยู่เสมอๆ ว่า นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอโศกนาฏกรรมของปัจเจกชนที่ตกเป็นเหยื่อของความอคติในสังคมที่ไม่ยอมรับผู้มีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากบรรทัดฐานที่กำหนดไว้ แต่หากจะให้พูดกันถึงที่สุดแล้ว นวนิยายเล่มนี้ต้องการที่จะชี้ว่า มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของความอคติที่ยึดเอาหลักเหตุและผลเป็นฐานในการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ และปรากฏการณ์ในชีวิต…

 ในยุคปัจจุบันที่แนวคิดสกุลหลังอาณานิคม เริ่มมีความเข้มแข็งและมีบทบาทมากขึ้นในวงวิชาการทุกๆ ด้าน รวมทั้งวรรณกรรมวิจารณ์ เราไม่อาจจะมองข้ามมิติปัญหาเผ่าพันธุ์ และลัทธิอาณานิคมที่ปรากฏในนวนิยาย คนนอก ได้อีกต่อไป

 เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการพูดถึงชายอาหรับที่ถูกฆ่าตาย เมอโซ (ตัวละครเอก) ไม่เคยบอกชื่อของผู้ตายให้เรารู้เลย เสมือนหนึ่งว่า ผู้ตายมิได้มีความสลักสำคัญแต่อย่างใด เขาเป็นเพียง ‘ชายอาหรับ’ คนหนึ่งเท่านั้น ราวกับว่าชาวอาหรับทุกคนมีสิทธิพอๆ กันที่จะถูกยิงตายกลางวันแสกๆ และที่สำคัญในการบรรยายฉากสำคัญนี้ เมอโซได้ลบตัวตนของชายอาหรับผู้นี้ออกไปโดยสิ้นเชิง แม้แต่ในวินาทีที่ชายอาหรับถูกยิงนัดแรก เมอโซพูดแต่ว่า ‘มีเสียงแห้งๆ ที่แผดดังสนั่นก้อง’ ไม่มีทั้งผู้กระทำ (เมอโซ) และผู้ถูกกระทำ (ชายอาหรับ) ชายอาหรับมาปรากฏอีกครั้งก็เมื่อกลายเป็นเพียง ‘ร่างที่ไม่ไหวติง’ ซึ่งก็เป็นแต่เพียงศพที่ไม่มีการระบุเผ่าพันธุ์แต่อย่างใด

 หากเมอโซทำให้การสังหารคนต่างเผ่าพันธุ์ให้เป็นการทำลายดุลยภาพของจักรวาล อัยการเองก็ได้แปรให้คดีฆาตกรรม ‘คนพื้นเมือง’ ในประเทศอาณานิคม ให้กลายเป็นคดีมาตุฆาตที่คุกคามศีลธรรมอันดีงามและคุณค่าอันสูงส่งของอารยธรรมคนขาว เมื่อเขาพยายามตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ความผิดอันมหันต์ที่ทำให้เมอโซสมควรถูกประหารชีวิตก็คือ ‘เขาได้ฝังศพแม่ของเขาด้วยจิตใจของฆาตกร’ อัยการได้ทำให้เมอโซกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความชั่วร้าย’ ไม่ใช่เพราะเขาฆ่าคนอาหรับ แต่เพราะเขา ‘ฆ่ามารดาทางจิตใจ’

 ในทำนองเดียวกัน เราอาจกล่าวได้ว่า การตีความ คนนอก ว่าเป็นนวนิยายที่แสดงถึงความเอ็บเสิร์ดของชีวิต ก็เป็นการแปรคดีฆาตกรรมคนต่างเผ่าพันธุ์และประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเหยียดผิวและลัทธิอาณานิคมให้กลายเป็นปัญหาอภิปรัชญาอันสูงส่งไปโดยไม่รู้ตัว...”

 สถานการณ์ปัจจุบัน ในยุคของการก่อการร้ายอย่าโหดเหี้ยมรุนแรงในเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพฯ ซึ่งห่างจากหนังสือ “คนนอก” ถึง 74 ปี และห่างจากบทเพลง “Killing An Arab” ที่ออกมาในปี 1980 ถึง 36 ปี “ชายอาหรับ” ซึ่งเคยเป็นผู้ถูกกระทำในมุมมองแบบหลังอาณานิคม กลับการเป็นผู้กระทำในโลกยุคใหม่ที่สื่อสารเชื่อมโครงข่ายด้วยระบบดิจิทัล สายตาของคนทั้งโลกต่างมอง “ชายอาหรับ” ไม่ว่าคนไหนด้วยความหวาดระแวงและหวั่นกลัว พร้อมที่จะหลีกหนีและป้องกันตัวก่อน

 “ชายอาหรับ” จึงเป็นภาพลักษณ์ของความอันตรายและไม่น่าไว้ใจ มิใช่ชายอาหรับของ อัลแบร์ กามู และเดอะ เคียวร์ อีกต่อไป