โรคข้อสะโพกเสื่อม
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคข้อสะโพกมากขึ้น โดยสถิติของโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบเท่ากับ 3.5%
โดย...เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคข้อสะโพกมากขึ้น โดยสถิติของโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบเท่ากับ 3.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่มีอายุ 25 ปี พบว่า มีอัตราข้อเสื่อมเท่ากับ 4.9% ที่อายุ 45 ปี พบว่า มีอัตราข้อเสื่อมเท่ากับ 19.2% และเมื่ออายุถึง 60 ปี มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมสูงถึง 37.4%
นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า สาเหตุของโรคข้อสะโพกเสื่อมที่คนไทยเป็นกันมาก คือ โรคข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด โดยโรคข้อสะโพกเสื่อมนั้นส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น ทำให้กระดูกผิวข้อสึกกร่อน โรครูมาตอยด์
แต่สำหรับวัยกลางคนจากสถิติพบว่ามีปัญหากระดูกสะโพกเสื่อมได้เช่นกัน สาเหตุเนื่องมาจากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือบางคนทานยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ปริมาณมาก ส่งผลให้เลือดหนืดไหลเวียนไม่ดี ไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกซึ่งยื่นขึ้นไปด้านบนได้ เป็นสาเหตุทำให้หัวกระดูกสะโพกตายรวมถึงการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมาก่อน หรือกระดูกสะโพกหัก เป็นต้น
สำหรับอาการของโรคจะปวดสะโพกเรื้อรังทั้งในขณะขยับตัวและนอนหลับ รู้สึกตึงเมื่อเวลาลุกนั่งเจ็บเวลาเดินลงน้ำหนัก ขึ้นลงบันไดไม่สะดวก แนวทางการรักษาในแต่ละระยะของอาการไม่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ให้ยากายภาพจนถึงการผ่าตัด โดยการผ่าตัดแบบเดิมนั้นจะทำการผ่าตัดโดยเข้าทางด้านหลังสะโพก (posterior approach)หรือเข้าทางด้านข้างสะโพก (lateral approach)ซึ่งที่ผ่านมามีอุบัติการณ์ของการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมปีละกว่า 2.5 หมื่นราย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไวและลดอัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด โดยใช้“เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (direct anterior approach total hip replacement)” ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยการเข้าด้านหน้า ไม่ตัดกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกเจ็บปวดน้อย แผลเล็ก เคลื่อนไหวสะดวก ภาวะแทรกซ้อนน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ลดอัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมากขึ้น
การผ่าตัดรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยเทคนิคนี้จะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพกทำให้ข้อสะโพกเทียมหลุดน้อยกว่าวิธีเดิม หลังผ่าตัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทำงาน และเล่นกีฬาได้เร็วขึ้นภายใน 4 สัปดาห์