posttoday

‘Please do not leave me’ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ในวันที่ศิลปะมาถึงเลข 60

28 กุมภาพันธ์ 2559

เดินชมงานศิลปะที่ดึงดูดใจด้วยรูปแบบและเทคนิคที่หลากหลายในหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดย...เพรงเทพ

เดินชมงานศิลปะที่ดึงดูดใจด้วยรูปแบบและเทคนิคที่หลากหลายในหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่ามีงานหลายชิ้นที่ตรึงให้เพ่งพิศพิจารณา และตีความร่วมไปกับชิ้นงานที่แฝงความหมายและนัยสำคัญของเนื้อสารในสารัตถะของชีวิตที่ศิลปินต้องการเสนอ

นิทรรศการแรกภายใต้โครงการศิลปกรรมไทยประจำปี 2559 ที่คัดสรรศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาร่วมแสดง โดยมุ่งเน้นในการสนับสนุนและส่งเสริมความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยในระดับสากล “Please do not leave me” เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยว (Solo Exhibition) ครั้งแรกของ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เขามีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์ผ่านการใช้สื่อต่างๆ ที่ไม่จำกัดรูปแบบและมีการแสดงออกอย่างน่าสนใจ

เมื่อมาทำความเข้าใจชิ้นงานที่ส่งพลังออกมาสู่ผู้ชม ให้สำเหนียกรู้และเดินทางค้นหาความหมายของภาพอย่าง Reflection No.1 (1984) หรือเงาสะท้อนหมายเลข 1 ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตึกในมหานคร เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความเจริญทางด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไป ตึกสูงถูกสร้างขึ้นมากมาย

‘Please do not leave me’ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ในวันที่ศิลปะมาถึงเลข 60

 

Silence Communication (2001) การสื่อสารในความเงียบ เป็นผลงานที่เกิดจากการเริ่มตั้งคำถาม โดยการใช้สายตาสื่อสารกันระหว่างมนุษย์กับพระพุทธเจ้า บางครั้งบางทีเราเป็นมนุษย์ผู้มี รัก โลภ โกรธ หลง แต่จะมีห้วงเวลาหนึ่งที่เราตระหนักถึงความรู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจในรัก โลภ โกรธ หลง นั้น กระจกจึงเปรียบเสมือนเงาที่สะท้อนความเข้าใจนั้น มันอยู่ที่ว่าเราจะยืนมองมันอยู่มุมไหน แล้วเห็นอะไร

 Where is the Monks? (2002) เป็นการนำภาพถ่ายมาเทียบเคียงกับวัสดุจริงนั่นคือ “จีวร” ที่ยับย่นและถูกจับมาวางเคียงคู่กัน ลวงหลอกกันและกัน สิ่งใดคือความลวง สิ่งใดคือความจริงแท้ปะทะกันอย่างน่าสนใจ ในผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการร่อนตะกอนที่หยาบกร้าน และที่เห็นผิวเผินแค่เปลือกนอก สีเหลืองของจีวรก็อาจไม่ได้หมายถึง “พระ” เสมอไป เพราะหลายครั้งของผู้ที่ปกคลุมร่างกายด้วยจีวรสีเหลืองนั้น เขาก็ไม่ใช่ “พระ” อำมฤทธิ์เลือกที่จะเล่นระหว่างความจริงและความหลอกลวง

 และ Lexhip – Lesson form a Friend (2016) การสนทนากันระหว่างคน 2 คน เรื่องที่เมื่ออายุก้าวเข้า 60 แล้ว คิดอย่างไร ทำไมตัวเลขนี้ถึงสำคัญ?

‘Please do not leave me’ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ในวันที่ศิลปะมาถึงเลข 60

 

 กฤษฎา ดุษฎีวนิช ในฐานะคิวเรเตอร์ (Curator) ซึ่งเป็นคนคัดสรรและวางแนวคิดในการจัดแสดงงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้ของอำมฤทธิ์ บอกว่า แทบจะทุกครั้งอำมฤทธิ์มักจะใช้สื่อสร้างผลงานที่แตกต่างไปจากสื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะดั้งเดิม สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเขา ความสำคัญในผลงานจึงเผยให้เห็นว่าสารที่แฝงตัวอยู่ในสื่อนั้นสำคัญกว่าเสมอ

 กฤษฎายังนำเสนอต่อว่า ผลงานของอำมฤทธิ์มีการผันแปรไปตามวัยวุฒิ ความสุกงอมทางความคิดเริ่มแรกแย้มออกตามริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า มีการตรวจสอบรื้อสร้างตัวตนในขณะที่ตนเองสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ สิ่งเดียวที่ไม่ค่อยปรากฏในผลงานคือ การยึดติดกับอัตลักษณ์ของศิลปินที่พบเห็นได้บ่อยในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยจากคนรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่มีการพลิกผันเปลี่ยนไปตามบริบทโลกและสังคมอย่างต่อเนื่อง เป็นการหาคำตอบต่างๆ นานาให้แก่ชีวิตตนเองและสังคม

 อำมฤทธิ์ ในฐานะศิลปินเจ้าของงาน บอกว่า นิทรรศการครั้งนี้เป็นงานที่บอกเล่าช่วงเวลาของเขาที่ล่วงเลยมาถึงวัย 60 ปี แต่ก็ยังทำงานอยู่

 “ผมก็อยากสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา ณ เวลานี้ เจออะไรมาบ้าง ถึงวัยตรงนี้ก็ทำให้เห็นว่าจากที่เคยเดินมาในการทำงานศิลปะจนมาถึงตรงนี้มันมีอะไรอยู่บ้าง และไม่ได้หยุดแค่นี้ เพราะมันจะเป็นคำตอบที่จะต่อไปในอีกในวันข้างหน้า พื้นฐานของผมก็มาจากเพนติ้ง แต่เวลาเปลี่ยน เปลี่ยนที่ทางโดยการไปอยู่ต่างประเทศ ได้รับรู้อะไรหลายๆ อย่าง ผมได้เรียนรู้เรื่องภาพถ่าย เรื่องวิดีโอ ทำให้ก้าวเข้าสู่งานเชิงทดลอง ซึ่งพอเห็นผล แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนได้ เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับเราเข้าไปช่วยค้นหาคำตอบของเด็กๆ ที่เรียน ก็เลยเกิดการทำงานในหลายๆ ทาง หลายๆ เทคนิค”

‘Please do not leave me’ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ในวันที่ศิลปะมาถึงเลข 60

 

 ในผลงานของอำมฤทธิ์ เขามักนำการตีความในเชิงพุทธศาสนา ปรัชญาชีวิต และความเป็นไปในบริบททางสังคม ณ ขณะนั้น มาสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงออกถึงการสรุปความคิดแบบรวบยอดผ่านการใช้สื่อสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น วิดีโอ วัสดุสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งการที่ใช้ผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน  สื่อสมัยใหม่ถูกนำมาใช้ไม่ใช่เพียงเพื่อแสดงความเท่าทันต่อเทคโนโลยี แต่เป็นดั่งเครื่องมือที่เหมาะสมที่ถ่ายทอดสารที่ต้องการสื่อให้ชัดเจน โดยอาศัยผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของงาน มิใช่ส่วนเกินจากงาน

 กว่าจะมาถึงจุดนี้ อำมฤทธิ์บอกว่าก็มีอะไรที่เปลี่ยนตัวเองไปตั้งหลายอย่าง ในเวลาที่เหลือจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องศิลปะ

 “งานครั้งนี้เหมือนเป็นถ้อยคิดถ้อยคำนึงของคนทำงานศิลปะ ผมไม่ปิดบังตัวเองว่าเดินมาอย่างไร ผมเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ทำอะไร คิดอย่างไร และผมกล้าที่จะเดินไปต่อ และผมจะไม่หยุด แม้บางคนจะพูดว่าศิลปินจะมียุคทอง แต่ติดหล่มอยู่กับตัวเอง ผมสนุกกับการที่ได้เจออะไรมากกว่า”

 มาร่วมเปิดมุมมองใหม่และสร้างความเข้าใจในศิลปะร่วมสมัย อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานโดยไร้ขีดจำกัด กับศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างยาวนานและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ชีวิตการทำงานที่กำลังก้าวข้ามผ่านวัยเกษียณอายุราชการเข้าสู่บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของเขา ไปสู่เส้นทางใหม่ การเดินทางใหม่ในฐานะคนทำงานศิลปะเต็มตัว การมองโลกใหม่บนพื้นฐานของความจริง ชีวิตจริง ศิลปะจริงๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตและพื้นฐานของสังคม

 พรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการจัดแสดงแล้ว ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) เวลา 09.00-19.00 น. หากพลาดก็ยังชมผลงานได้ที่ www.art-centre.su.ac.th