เกาะพระทอง สะวันนาอันดามัน
ความรู้สึกแรกเมื่อสัมผัสทรายเม็ดแรกบน เกาะพระทอง มันไม่นุ่มกว่าทรายที่อื่นแต่อย่างใด
โดย..ภาพ กาญจน์ อายุ
ความรู้สึกแรกเมื่อสัมผัสทรายเม็ดแรกบน เกาะพระทอง มันไม่นุ่มกว่าทรายที่อื่นแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เห็นอยู่ข้างหน้านั้นต่างหากที่ทำให้รู้สึกพิเศษ ทั้งทุ่งหญ้าพิเศษ ป่าพิเศษ กวางพิเศษ ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งพิเศษบนเกาะพิเศษสุดแห่งนี้
เกาะพระทองตั้งอยู่ใน อ.คุระบุรี จ.พังงา มีพื้นที่ 102 ตร.กม. ใหญ่ที่สุดในพังงาและใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทย แต่มีชุมชนเพียง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านปากจก บ้านทุ่งดาบ และบ้านแป๊ะโย้ย แต่หลังจากสึนามิซัดขึ้นเกาะชาวบ้านต่างอพยพออกทำให้เกาะแทบร้าง จากนั้น 13 ปีผ่านไปมีไม่ถึงร้อยครัวเรือนที่กลับมา เกาะพระทองจึงมีความเป็นธรรมชาติสูง (มาก) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเกาะพระทองไม่ดังเท่าเกาะตาชัยที่มาทีหลังแต่ดังแซงไปเจ็ดโค้ง เพราะเกาะแห่งนี้เลือกแค่บางคนให้เข้ามา
หนึ่ง ที่พักบนเกาะมีทั้งโฮมสเตย์เกสต์เฮาส์บ้านๆ และรีสอร์ท ทุกแห่งมีคอนเซ็ปต์เดียวกันคือ ไม่มีระบบไฟฟ้า แต่เกือบทุกบ้านจะมีแผงโซล่าเซลล์ไว้ใช้ในครัวเรือน ทว่าเรื่องมีหรือไม่มีไฟฟ้าไม่ใช่ปัญหา เพราะคนที่นี่มักใช้เวลาส่วนใหญ่ข้างนอก ถ้าเป็นชาวบ้านก็ออกเรือไปทำประมง ส่วนนักท่องเที่ยวชอบออกไปนอนบนชายหาดที่มีทั้งแอร์ธรรมชาติและแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนไม่ติดกินหรูอยู่สบายถือว่าเข้าข่ายผู้เหมาะสม
สอง เกาะพระทองใหญ่ใหญ่ที่สุดในพังงาก็จริงแต่ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวใดๆ นอกจากแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติและแต่ละอย่างล้วนมีช่วงเวลาของมัน อย่างทุ่งหญ้าสะวันนามีเฉพาะหน้าแล้งและจะเป็นสีทองแค่ตอนเช้าตรู่ ถ้าอยากเห็นแหล่งหญ้าทะเลบ้านปากจกต้องรอช่วงน้ำลด หรือถ้าอยากเจอกวางม้าก็ต้องไปแอบสุ่มโดยที่ไม่รู้ว่าจะเจอตอนไหน ดังนั้นถ้าคุณไม่ชอบทำตามใจธรรมชาติน่าจะไม่สนุกเท่าไรบนเกาะนี้
สาม สั้นๆ ง่ายๆ ถ้าคุณเป็นคนขี้เหงา อย่ามา เพราะบรรยากาศโดยรวมมันเพิ่มปริมาณความเหงาได้อย่างไม่รู้ตัว
สะวันนาอันดามัน
ชาวบ้านเรียกทุ่งหญ้าสะวันนาว่า หญ้าเสือหมอบ ทุกปีน้ำทะเลจะหนุนท่วมส่วนกลางของเกาะแล้วลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นหญ้าจะอุบัติขึ้นครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 หมื่นไร่เป็นอาหารชั้นดีของกวางป่า จากนั้นจะกลายเป็นทุ่งหญ้าสีทองในช่วงฤดูแล้งระหว่างเริ่มตั้งแต่ พ.ย.-เม.ย. แต่จะสวยที่สุด ธ.ค.-ม.ค.
บางคนเรียกมันว่า ทุ่งหญ้าซาฟารี หากแต่ไม่มีสิงโต ยีราฟ เสือชีตาห์ และรถจี๊ป จะว่าไปคนพระทองก็ใช้รถจี๊ปแบบไทยๆ เป็นรถอีแต๊ก มันคือพาหนะที่เหมาะกับสภาพถนนแบบดินปนทราย โดยนักท่องเที่ยวสามารถว่าจ้างชาวบ้านขับรถอีแต๊กพาเที่ยวทุ่ง พวกเขายินดีมารับตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อพาไปรอแสงอาทิตย์ แต่ว่าจะพาไปรับชมจุดไหนนั้นแล้วแต่ความต้องการของผู้โดยสาร เพราะพื้นที่ 3 หมื่นไร่มีมุมให้มองมากมายจึงไม่สามารถตอบได้ว่ามุมไหนสวยสุด แต่ช่วงเวลาที่สวยที่สุดมีเพียงไม่กี่นาทีแรกเมื่อแสงแรกพ้นขอบฟ้า
ลองคิดภาพตาม...ทุ่งหญ้าถูกอาบด้วยแสงสีทอง มีสายลมอ่อนๆ พัดเส้นผมเหมือนต้นหญ้า นัยน์ตาเบิกกว้างรับแสงสว่าง และผิวสัมผัสถึงความอุ่นมิใช่ความร้อน มันเป็นช่วงเวลาเพียงนิดในชั่วกัลป์ เพราะเมื่อตะวันพ้นยอดหญ้าไปหนึ่งคืบ สีทองที่เห็นเมื่อครู่จะกลายเป็นสีขาวไร้ความอบอุ่น และทุ่งหญ้าในฝันก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนอันแห้งแล้ง
ถามว่าช่วงเวลาแฮปปี้อาวจะเห็นกวางป่ามาเดินกินหญ้าเหมือนในนิทานหรือไม่ คำตอบคือ แล้วแต่ดวงและความเงียบ เพราะส่วนใหญ่กวางป่าจะออกหากินช่วงแดดอ่อนๆ แต่ส่วนใหญ่จะวิ่งหนีกระเจิงเมื่อได้ยินเสียงรถอีแต๊ก ดังนั้นเมื่อจอดรถแล้วต้องรอ ใช้ความเงียบและดวงที่พกมารอสู้กับโอกาสระหว่างกวางไม่ถึงร้อยตัวกับพื้นที่ร้อยกว่าตารางกิโลเมตร ซึ่งพี่คนขับจะพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “เจอบ่อย” ให้รอไปจนกว่าแดดแรงจนเหงื่อเต็มหน้านั่นแหละถึงรู้หมู่หรือจ่า
หลังจากได้แค่ปาดเหงื่อและเห็นเพียงรอยเท้ากวาง พี่คนขับจะพาไปแต๊กๆ ต่อที่ป่าเสม็ดขาว ต้นไม้ที่มีเปลือกคล้ายกระดาษห่อหุ้มลำต้นซึ่งไม่แปลกอะไรที่มันเติบโตได้ดีบนเกาะ แต่ที่น่าสนใจคือ มันมีจำนวนมหาศาลและล้วนมีขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่ามันแพร่ขยายหลังสึนามิพัดพาออกไปและเติบโตโดยที่ไม่มีใครรบกวนมาหนึ่งทศวรรษ นอกจากนี้ระหว่างทางจะเจอขุมเหมืองเก่าหรือบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดไว้สมัยเหมืองแร่เฟื่องฟู เกาะพระทองเคยเป็นแหล่งขุดแร่ดีบุกและมีการค้าขายรุ่งเรือง จนกระทั่งเกิดไข้ทรพิษระบาดและโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 การทำเหมืองจึงยุติลง
การทัวร์ด้วยรถอีแต๊กมักจะจบแค่ครึ่งวันเช้า เพราะหลังจากนั้นอากาศจะร้อนเกินไปและไม่มีอะไรให้ดูมาก (แน่นอนว่ากวางป่าไม่ออกหากินกลางแดดร้อน) ครึ่งบ่ายจึงเหมาะแก่การเที่ยวชุมชนอีกด้าหนึ่งของเกาะ
คนพระทอง
สองในสามหมู่บ้านมีเรื่องน่าสนใจให้ไปเยือน หนึ่งคือ บ้านทุ่งดาบ บ้านนี้มีการเพราะเลี้ยงกล้วยไม้หายากหลายชนิด เช่น เอื้องปากนกแก้ว สายพันธุ์ที่พบบนเกาะพระทอง ชาวบ้านจึงเพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อจำหน่ายบางส่วน และบ้านปากจก บ้านนี้เคยเป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดใหญ่แต่หลังจากถูกคลื่นยักษ์ทำลาย ชาวบ้านจำนวนมากย้ายไปตั้งถิ่นฐานบนฝั่ง แต่บางส่วนยังปักหลักอยู่ที่เดิม ซึ่งต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนจึงได้ชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น บ้านไลอ้อน ชาวบ้านยังคงประกอบอาชีพประมง ส่วนผู้หญิงยังอยู่บ้านสานใบจาก และในหมู่บ้านยังมีสิ่งปลูกสร้างเดิมที่เหลือเป็นซากปรักหักพัง คอยเตือนใจถึงพลังของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุม
บ้านปากจกมีโฮมสเตย์หลายบ้านซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใครที่ต้องการสัมผัสชีวิตชาวประมง ทั้งการทำลอบหมึก ขึ้นเรือหางยาวไปตกหมึก จับเคย จับแมงกะพรุน เรียนรู้การอนุรักษ์เต่าทะเล ทำกะปิปากจกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกะปิที่ดีที่สุดในประเทศไทย เก็บผลกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) และลองทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติกับกลุ่มสตรี
การทัวร์ชุมชนสามารถใช้บริการมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างหรือรถกระบะ สัญจรบนถนนปูนเลนเดียวซึ่งเป็นเส้นทางสู่ตัวตนของคนพระทองโดยแท้ เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะเหลือไม่ถึงร้อยครัวเรือน (รวมสามหมู่บ้าน) แต่พวกเขาเลือกที่จะอยู่บนผืนดินเกิดบนความหลังอันเจ็บปวดที่ไม่มีวันลืม
การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์และวิถีชุมชนทำให้เกาะพระทองเที่ยวได้ตลอดปี แต่ถ้าพูดถึงความพิเศษคงไม่มีช่วงไหนพิเศษไปกว่านี้แล้ว ช่วงที่ทุ่งหญ้าสีทองของฤดูแล้งจะเปลี่ยนแปลงความสิ้นหวังให้เป็นความสวยงาม และจะอยู่ต่อไปถึงสงกรานต์เท่านั้น