เตรียมความพร้อมก่อนภัยมา!
เมื่อก่อนไม่เคยได้ยินคำว่า สึนามิ มาก่อนเลย แต่เมื่อเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกทางภาคใต้ของไทยเมื่อ 10 ปีก่อน
โดย...บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์
เมื่อก่อนไม่เคยได้ยินคำว่า สึนามิ มาก่อนเลย แต่เมื่อเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกทางภาคใต้ของไทยเมื่อ 10 ปีก่อน จากนั้นสังเกตว่าก็ได้ยินคำนี้มาเรื่อยๆ แม้กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประเทศอินโดนีเซียและต่อเนื่องผล
กระทบมายังประเทศไทย โชคดีที่ครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรง อย่างไรก็ตามสะท้อนให้เห็นว่าภัยธรรมชาติมาโดยไม่ทันตั้งตัว การเตรียมพร้อมรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อภัยเกิดขึ้นเราต้องเอาตัวรอด ไม่จำเป็นต้องรอสัญญาณ และไม่ประมาทในพลังของธรรมชาติ
เตรียม 5 ความพร้อมก่อนภัยมา!
1.เตรียมใจ
ต้องเตรียมเป็นอย่างแรก คือ เตรียมใจ หมายถึงการเตรียมพร้อมสำหรับความไม่ตื่นตระหนกหรือตกใจจนเกินไปเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ฝึกสติให้เป็นนิสัยประจำตัว จะช่วยควบคุมอารมณ์เพื่อให้การตัดสินใจและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างละเอียดรอบคอบขึ้น เรื่องนี้ไม่เพียงส่งผลต่อตัวเราเอง แต่หมายถึงคนในครอบครัวและสมาชิกในบ้านที่อยู่รอบข้างเราด้วย
2.เตรียมสมาชิกในบ้าน
ต้องหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร สนใจฟังประกาศเตือนจากเจ้าหน้าที่รัฐ เรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติในท้องถิ่นของตัวเอง เช่น ในกรณีของดินถล่ม ที่มักเกิดขึ้นซ้ำๆ ในที่เดิม รวมทั้งรู้จักสภาพพื้นที่รอบบ้าน ขอข้อมูลจากศูนย์วิจัยหรือสำนักงานในท้องถิ่น เรียนรู้เส้นทางภายในชุมชน ป้ายหรือสัญลักษณ์เตือน ตลอดจนเส้นทางที่จะใช้อพยพไว้ล่วงหน้า รวมทั้ง
ที่ตั้งของศูนย์หลบภัยในชุมชนตั้งอยู่ที่ใด
นอกจากนี้ ต้องซักซ้อมคนในครอบครัวให้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับแผนการอพยพหนีภัย ควรฝึกซ้อมและพูดคุยทำความเข้าใจกันบ่อยๆ ควรหลบหนีได้แม้เป็นเวลากลางคืนหรือเมื่อสภาพอากาศแปรปรวน เตรียมตัวทุกคนด้วยการศึกษาวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
3.เตรียมข้อมูลที่จำเป็น
ซักซ้อมทำความเข้าใจกับคนในบ้านให้ทราบตำแหน่งวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดแก๊ส สะพานไฟฟ้า (รวมถึงวิธีปิด) เรียนรู้อุปกรณ์ที่อาจเป็นอันตรายเมื่อเกิดเหตุ ก่อนอพยพต้องปิดแก๊สและปิดวงจรกระแสไฟฟ้าทั้งหมด รวมทั้งติดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ที่โทรศัพท์ทุกเครื่อง ศึกษาวิธีการติดต่อกับหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือได้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น หน่วยงานในท้องถิ่น บันทึกเบอร์โทรศัพท์จำเป็นไว้ในมือถือของทุกคน
เตรียมเส้นทางหนีภัยอย่างน้อย 2 ทางที่เชื่อมต่อกับเพื่อนบ้าน เพราะหากพลัดหลงกับสมาชิกในครอบครัวจะได้หลบหนีไปพร้อมกัน อย่าลืมตระเตรียมสิ่งของจำเป็นให้พร้อมสำหรับการอพยพได้ตลอดเวลา เช่น เป้ยังชีพพร้อมคว้า (ของทุกคน)
4.เตรียมบ้านเรือน
ตรวจดูส่วนต่างๆ ภายนอกบ้าน หากจับแล้วยังโยกได้ ให้ยึดส่วนนั้นไว้ให้มั่นคง ถ้าทำไม่ได้ ให้ถอดออกไปเลย รถที่ไม่ได้จอดในโรงรถให้จอดบริเวณที่อยู่ใต้ลม เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกพัดพามาโดนตัวบ้านหากเกิดพายุหรือความสั่นไหวรุนแรง ตัดเล็มกิ่งไม้ใหญ่ในบริเวณบ้านเสมอ ยึดชั้นวางของหรืออุปกรณ์ในบ้านให้แน่นหนา กรณีเป็นของที่ห้อยแขวนให้เอาลง ย้ายของที่
น้ำหนักมากวางไว้ในที่ต่ำ รูปภาพหรือกระจกปลดลงและอย่าวางไว้ใกล้เตียงนอน อย่าลืมที่ปลอดภัยให้สัตว์ด้วย
นอกจากนี้ ให้เตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในภาวะฉุกเฉินไว้ในที่ที่ทุกคนในบ้านรู้และหยิบฉวยได้ เช่น ไฟฉาย ยา กระเป๋ายังชีพ เครื่องดับเพลิง ฯลฯ เตรียมถ่านหรือแบตเตอรี่สำรองสำหรับไฟฉาย มือถือและวิทยุเสมอ เพราะไฟฟ้าจะดับ หากประเมินแล้วว่าบ้านไม่มั่นคงพอ ใช้หลบภัยไม่ได้ และต้องอพยพไปที่อื่น ให้แจ้งทุกคนให้รู้ว่าจะอพยพไปที่ใด เผื่อในกรณีถ้าพลัดหลงกันแล้วสามารถไปเจอกันได้ในที่ที่กำหนด รวมทั้งต้องกำหนดเงื่อนเวลาไว้ด้วย เช่น ถ้าเกิน 2 สัปดาห์แล้วจะย้ายไปยังที่อื่นต่อไป
5.เตรียมสิ่งจำเป็น
กรณีที่ไม่จำเป็นต้องอพยพไปที่ใด ควรเตรียมสิ่งต่างๆ ในบ้าน ดังนี้
- น้ำ 1 แกลลอน (ต่อคนต่อวัน) อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง
- ยารักษาโรค อุปกรณ์และคู่มือปฐมพยาบาล
- วิทยุใส่ถ่าน ไฟฉายและถ่านสำรอง ไฟแช็ก
- เสื้อผ้าสะอาด รองเท้าหุ้มส้น
- ถุงนอนและผ้าห่มสำรอง
- ไอโอดีนเม็ด และคลอรีนสำหรับทำน้ำให้สะอาด
- นม อาหารเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูปและอุปกรณ์สำหรับเด็ก
- กระดาษชำระหรือผ้าเช็ดชำระแบบใช้แล้วทิ้ง เตาไฟฟ้าปิกนิก และเครื่องดับเพลิง
- ของส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย ฯลฯ
- อุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก ไม้ถูพื้น รวมทั้งภาชนะเก็บความเย็น
- เติมน้ำมันในรถยนต์ให้พร้อม พลุสัญญาณ สายต่อพ่วง แผนที่
ผู้รู้คือผู้รอด จึงจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้และหาวิธีรอดเมื่อภัยมา โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่ภัยมาในทุกรูปแบบ และมาแบบไม่บอกไม่กล่าว บ่อยขึ้นเรื่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ