พุทธศาสนา ความเคารพธรรมสู่สันติ
เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา หลักธรรมในพุทธศาสนานั้น ยึดหลักสายกลางเป็นปกติ
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา
หลักธรรมในพุทธศาสนานั้น ยึดหลักสายกลางเป็นปกติ คือ การเว้นจากการเข้าไปเกาะเกี่ยวกับรัก-ชังในโลกนี้
พระพุทธศาสนาจึงยึดธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเป็นธง ธรรมเป็นตรา จึงมีพระธรรมวินัยเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองดูแลพุทธบริษัทโดยเฉพาะในสังฆมณฑล!
พระวินัย คือ ข้อปฏิบัติที่ทรงบัญญัติขึ้นไว้ เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ในการปกครองพระสงฆ์สาวกให้มีความเรียบร้อยเสมอเหมือนกัน
โดยต้องคำนึงถึงกฎหมายบ้านเมืองและจารีตประเพณีหรือกฎสังคมด้วยเป็นสำคัญ เรียกว่า การที่จะทรงบัญญัติพระวินัยในเรื่องใด ก็จะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับสังคมบ้านเมืองด้วย
แต่ทั้งนี้ต้องไม่โอนเอนจนสูญเสียหลักธรรมที่รองรับหรือแสดงเจตนารมณ์ในบัญญัติวินัยนั้นๆ เรียกว่า มีธรรมเป็นธง... เป็นตราจริงๆ
พระวินัย จึงบัญญัติรูปแบบความสำคัญของการกระทำสังฆกรรมไว้อย่างเด่นชัด เป็นแบบเฉพาะดังที่ระบุส่วนสำคัญ ๕ ประการ ในรูปสังฆกรรม ได้แก่
๑.จำนวนสงฆ์ผู้เข้าร่วมประชุม
๒.สถานที่ประชุมเพื่อทำสังฆกรรม
๓.การประกาศเรื่องที่ประชุมและการประกาศขอความเห็นชอบ เช่น หากเรื่องไม่สำคัญนัก จะมีการประกาศทราบ ๑ ครั้ง และประกาศขอความเห็นชอบ ๑ ครั้ง เรียกว่า ญัตติทุติยกรรม และหากเป็นเรื่องสำคัญจะมีการประกาศให้ทราบ ๑ ครั้ง และประกาศขอความเห็นชอบอีก ๓ ครั้ง ดังเรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม เช่น การอุปสมบท ฯลฯ
๔.สิทธิของภิกษุผู้เข้าร่วมประชุม ในข้อนี้เป็นการแสดงถึงสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในหมู่คณะสงฆ์อย่างเท่าเทียมกันของพระภิกษุทุกรูป ที่จะแสดงความคิดเห็นทั้งในการคัดค้านและเห็นด้วย
...ดังคำกล่าวประกาศในท่ามกลางว่า หากคัดค้านพึงแสดง หากเห็นด้วยพึงสงบนิ่ง!
และข้อ ๕ มติที่ประชุม เรื่องนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการประชุม เมื่อจะสรุปผลใดๆ ว่า เห็นชอบหรือไม่ ต้องขอมติที่ประชุมซึ่งต้องเป็นเอกฉันท์ ทั้งนี้ เพื่อการอยู่ร่วมกัน มีความไว้วางใจกัน
การให้ความเคารพต่อสงฆ์ จึงเป็นลักษณะที่แสดงออกถึงธรรมาธิปไตยที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา สงฆ์โดยภาพรวมจึงมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อความเป็นเอกภาพของสังฆมณฑล
ดังการทำงานของคณะสงฆ์ไทยที่ต้องมีมหาเถรสมาคม หรือ มส. เป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่แทนคณะสงฆ์ จึงต้องมีการกลั่นกรองคัดเลือกพระมหาเถระ พระเถระ ที่ทรงคุณธรรม ความรู้ ความสามารถ และมีความยึดมั่นในพระธรรมวินัยมาเป็นตัวแทนของหมู่คณะ
ทั้งหมดก็เพื่อให้การดำเนินงานของคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามแบบแผนทั้งทางพระธรรมวินัยและกฎหมายจารีตประเพณีของสังคมไทย
ดังกรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชแห่งคณะสงฆ์ไทย ที่ควรเป็นไปตามระเบียบแบบแผน ตามพระธรรมวินัยและกฎหมายจารีตประเพณี ซึ่งควรกระทำให้แล้วเสร็จชัดเจนไปตามขั้นตอน
ไม่เป็นคุณประโยชน์ใดๆ เลย หากถือปฏิบัติผิดแผกไปจากแนวทางที่เคยกระทำ ด้วยอคติธรรมของบุคคลบางกลุ่มบางคณะ ที่หวังเพียงแค่ความต้องการของตนและพวกจนขาดความเคารพธรรม
การเคารพธรรมนั้น รวมถึงการถวายความเคารพต่อกันของบุคคลผู้ประพฤติธรรมอย่างถูกต้องตามฐานะ หากท่านเหล่านั้นยังมิได้เสื่อมไปจากฐานะอันควรแก่การแสดงความเคารพนั้นๆ
ดังการเรียกชื่อพระมหาเถระในทุกรูป จึงควรเรียกให้ถูกต้องตามชื่อสมณะฐานะนั้นๆ หรือหากขี้เกียจ เพราะเห็นว่าชื่อยาว จำยาก ก็ควรกล่าวคำสรรพ
นามที่แสดงออกถึงการถวายความเคารพ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในอนุชนรุ่นต่อๆ ไป จะได้มีแบบแผนจารีตประเพณีที่ควรถือปฏิบัติอันเป็นเครื่องหมายของสังคมอารยธรรมในวิถีพุทธ...
เจริญพร