posttoday

โศกนาฏกรรมความ (ไม่) รู้

30 มีนาคม 2559

ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารคนเรามักจะให้เครดิตกับคำว่า “รู้” มากกว่าคำว่า “ไม่รู้” จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้จะมี “คนรู้” มากกว่า “คนไม่รู้”

โดย...ดร.วรัญญา สะอาดเอี่ยม รีเทนนิส ภาพ  คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารคนเรามักจะให้เครดิตกับคำว่า “รู้” มากกว่าคำว่า “ไม่รู้” จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้จะมี “คนรู้” มากกว่า “คนไม่รู้”

1.“ไม่รู้” ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ตราบใดที่เรายอมรับ และพร้อมจะเรียน (ให้) รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นเรื่องยาก-ยากจริงๆ ท่ามกลางสังคมแวดล้อมที่บูชาความรู้-คนรู้ จึงง่ายกว่าที่เราจะไม่ยอมรับว่า ตัวเองไม่รู้ และแสร้งทำเป็นว่า รู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางสถานการณ์ บางบทบาทหน้าที่ที่ทำให้เราต้องตกอยู่ในสภาวะต้องรู้ ไม่รู้...ไม่ได้ นั่นยิ่งทำให้ความ “ไม่รู้” กลายเป็นเรื่องผิดบาปน่ารังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของครูบาอาจารย์ ปราชญ์ กูรู-กูรู้ทั้งหลาย หรือแม้แต่ “พ่อแม่” ฯลฯ

บุคคลเหล่านี้ต่างมีความคาดหวังปริมาณมหาศาลรายล้อม-บีบคั้น-ผลักดันให้ต้อง “รู้” อยู่ตลอดเวลาหนักเข้าก็ตกเป็น “เหยื่อ” ของความรู้--รู้ไปซะทุกเรื่อง

2.การเผชิญหน้ากับ “ความไม่รู้” กลายเป็นเรื่องยาก ท้าทายในสังคมในปัจจุบัน และหลายๆ ครั้งก็โหดร้าย...เกิน (บางคน) จะรับได้ เพราะความไม่รู้นี้ อาจนำไปสู่การโดนดูถูกเหยียดหยามเสียหน้า ไม่เป็นที่ยอมรับนับถือ ไม่ได้รับความสนใจกลายเป็นบุคคลไร้ค่า ไร้ตัวตน ฯลฯ หรือบางครั้งแค่ความกลัวว่าอีกฝ่ายจะผิดหวังเสียใจจากความไม่รู้ ทำให้เราหวาดหวั่นที่จะเอ่ยปากบอกใครๆ ว่า ฉันไม่รู้ กระทั่งไม่กล้ายอมรับว่า ตัวเองไม่รู้ และหลอกผู้อื่น หลอกกระทั่งตัวเองว่า ฉันรู้-รู้ไม่จริง 

ความรู้แบบ “รู้ไม่จริง” นั้น เป็นผลิตผลจากการไม่ยอมรับความไม่รู้ของตัวเอง ซึ่งหากถ่ายทอดความรู้ที่ว่านี้ออกไป แน่นอนว่าไม่เป็นประโยชน์-เป็นโทษทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างไม่ต้องสงสัย

3.ลองไหม? ปิดปาก เปิดโอกาสให้สมองคิดไตร่ตรอง ให้หัวใจได้พูดคุยกับตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ ว่า ตลอดเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา เราให้คุณค่า-เครดิตกับคำว่า “ไม่รู้” สักกี่ครั้ง ทั้งๆ ที่เราทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมความไม่รู้ จนมีวลีติดปากใครต่อใครว่า “ไม่มีใครรู้มาตั้งแต่เกิด” ใช่! ทำไมเราจะไม่รู้...ไม่ได้ เพียงอนุญาตให้หัวใจตัวเองยอมรับว่า คนเรานั้น ต่างมีเรื่องที่รู้และไม่รู้-เป็นธรรมดาสามัญ

ฉะนั้น บางเรื่องรู้ บอกรู้ บางเรื่องไม่รู้ บอกไม่รู้ และบางเรื่องไม่รู้ อย่าแสร้งว่ารู้ บางเรื่องที่รู้ อย่าแสร้งว่าไม่รู้ จงซื่อสัตย์ ชัดเจนกับตัวเอง ถอดทิ้งอัตตาตัวตน ไม่ต้องสนใจว่าใครจะรู้สึกอย่างไรกับความ “ไม่รู้” ของตัวเรา เชื่อเหอะว่าความหวาดหวั่นสั่นไหวหนักอึ้งในหัวใจทั้งหมดที่เคยมี จะถูกแทนที่ด้วยความเข้มแข็ง กล้าหาญ เบิกบาน เบาสบาย อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

โปรดเอื้อเฟื้อพื้นที่ชีวิตให้กับความ “ไม่รู้...บ้างก็ได้” &O5532;

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.วรัญญา สะอาดเอี่ยม รีเทนนิสผู้เขียนนักรบสนามชีวิต และนักพูดและนักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจ