ยินดี ปรีดา เหลืองปรีดียาธร
ฤดูกาลผันเปลี่ยนเวียนผ่าน ดงเหลืองปรีดียาธรได้เวลาเบ่งบานริมสองข้างทางถนนสามชุก-หนองหญ้าไซ-ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
โดย...กาญจน์ อายุ
ฤดูกาลผันเปลี่ยนเวียนผ่าน ดงเหลืองปรีดียาธรได้เวลาเบ่งบานริมสองข้างทางถนนสามชุก-หนองหญ้าไซ-ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี อันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ชาวสุพรรณฯ ทราบกันดีว่า ทุกเดือน มี.ค.ต้นไม้ใหญ่ริมทางหลวงหมายเลข 3502 จะกลายเป็นสีเหลืองสด ด้วยต้นเหลืองปรีดียาธรกำลังออกดอกสะพรั่งตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. กระทั่งดอกสุดท้ายจะร่วงหล่นเมื่อย่างเข้าเดือน เม.ย. ...แสนสั้น
สามชุกอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว 2 ชม. ขับเลยไปทางด่านช้างอีก 20 กม. จะถึงถนนสายดอกไม้ หลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โปรโมทเมื่อปีที่ผ่านมา ภาพถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ทำให้คนกรุงเทพฯ แห่ไปถ่ายภาพจนกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย แต่น่าเสียดายที่ปีนี้ดอกไม้ไม่หนาแน่นเท่าปีที่แล้ว เป็นเพราะสภาพอากาศแปรปรวนทำให้บางต้นสลัดดอกทิ้งก่อนจะบาน
แต่ใช่ว่าจะไม่มีความงาม ไม่ว่าอย่างไรเหลืองปรีดียาธรก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ทั้งความสวยสดของสีสันและความอลังการยาวเกือบ 2 กม. เวลาที่เหมาะสมแก่การถ่ายภาพ ถ้ากล่าวตามจริงต้องบอกว่าเลือกไม่ถูกว่าเวลาไหน เพราะดอกไม้สวย ต่อให้ถ่ายอย่างไร ใช้กล้องอะไร หรือเวลาใดก็สวย แต่ถ้าจะตอบแบบช่างภาพ พวกเขามองว่าช่วงเย็นจะสวยกว่าเพราะแสงพระอาทิตย์จะคล้อยต่ำลงมาสาดต้นพอดี ทำให้ดอกสีเหลืองที่เห็นจัดจ้านในช่วงกลางวันกลายเป็นละมุนและเย็นตา ทั้งยังเปลี่ยนความรู้สึกของฤดูร้อนให้เป็นฤดูอบอุ่นในทันที
นอกจากนี้ ยังต้องกล่าวถึงเรื่องการระมัดระวังตัวเอง เพราะถนนเส้นนี้รถวิ่งเร็ว มีรถบรรทุกแล่นเกือบตลอดเวลา เมื่อจอดรถไว้ไหล่ทางยิ่งทำให้เหลือพื้นที่เดินน้อย หรือบางคนอยากได้ภาพมุมกว้างก็เสี่ยงไปยืนกลางถนน เห็นแล้วเป็นห่วงความปลอดภัยกลัวว่าจะได้ภาพอื่นแทนดอกไม้
ทั้งนี้ จากที่กล่าวไปทุกอย่าง เพียงต้องการจะบอกว่า “ให้รีบไป” เพราะเหลืองปรีดียาธรจะอยู่ให้ชื่นชมอีกเพียงแค่ 1 อาทิตย์ ไม่รอสงกรานต์ ไม่รอวันหยุดยาว ไม่รอใครทั้งนั้น และถ้าเมฆฝนจากกรุงเทพฯ ลอยไปถึงสุพรรณฯ เมื่อไร เชื่อได้เลยว่ารุ่งขึ้นต่อมาทั้งต้นจะเหลือแต่ใบ
เมื่อมาชมดอกไม้แล้ว สุพรรณบุรียังมีอะไรอีก? เราจะข้ามคำตอบยอดนิยมอย่างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง-มังกรสวรรค์ หรือบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติไป เพื่อตอบคำตอบที่เอ็กโซติกอย่าง หมู่บ้านอนุรักษ์แย้ ภายในหมู่บ้านสุวรรณตะไล อ.สามชุก
พี่ม่อน-นพมาศ ปานสุวรรณ เจ้าของบ้าน เล่าว่า แต่ก่อนละแวกบ้านไม่มีแย้ แต่ด้วยคุณพ่อเป็นคนรักสัตว์จึงจับแย้จากที่อื่นมาเลี้ยง ผลปรากฏว่าแย้คู่นั้นออกลูกออกหลานและเริ่มขยายบริเวณไปบ้านข้างๆ จนทำให้ทุกวันนี้บ้านพี่ม่อนเป็นศูนย์กลาง ประกอบกับบ้านใกล้เรือนเคียงอีกกว่า 20 หลัง ที่เลี้ยงแย้เป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งทุกหลังให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ โดยการไม่กิน ไม่ทำร้าย และปล่อยให้มันอยู่ตามธรรมชาติ อีกทั้งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อปี 2554 ให้ผู้สนใจเข้ามาดูวิถีแย้ฟรี
“แย้เป็นสัตว์น่ารัก” พี่ม่อนกล่าว นั่นอาจเป็นเพราะสีสัน ลักษณะลำตัวอ้วนป้อม หรือนิสัยเชื่องคนก็เป็นได้ เธอเล่าถึงพฤติกรรมของพวกมันให้ฟังว่า แย้อาศัยอยู่ใต้พื้นดินที่มีลักษณะเป็นดินปนทรายลึกลงไป 1 ฟุต และสร้างเป็นโครงข่ายใต้พื้นดิน พอเข้ารูนี้สามารถออกรูนู้นได้โดยฉับไว ทุกเช้าถึงสายช่วงที่แดดยังไม่แรงจัด แย้จะเปิดรูออกมาหาอาหาร ปกติมันจะกินแมลงศัตรูพืช แต่แย้ที่บ้านนี้กินหนอนนก (กิโลกรัมละ 500 บาท) และรังผึ้งเพิ่มสารอาหาร “ถ้าไม่เลี้ยงให้อิ่ม ตัวใหญ่จะไปกินลูกของตัวอื่น” เธอกล่าว พี่ม่อนให้วันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน และเย็น จากนั้นเมื่ออากาศภายนอกร้อนมากเข้า พวกมันจะกลับเข้ารูแล้วใช้เท้าผลักดินทรายขึ้นมาปิดเพื่อเก็บตัวเองไว้ในความเย็นใต้ดิน
นอกจากนี้ ทุกปีช่วงเดือน มิ.ย.-พ.ย. แย้จะจำศีลในรูเพื่อหนีฝน จากนั้นเดือนถัดมาจะเริ่มผสมพันธุ์ทันทีแล้วจะเห็นแย้น้อยออกมาเดินเพ่นพ่านช่วงเดือน ก.พ. ตามข้อมูลระบุว่า แย้มี 8 ชนิด เช่น แย้อีสาน แย้ใต้ แย้ธรรมดา แย้จีน แย้กะเทย (แย้เวียดนาม) ซึ่งแย้ที่สุพรรณฯ เป็นแย้อีสาน ซึ่งปกติแล้วคนอีสานนิยมจับกินเป็นอาหาร พอคนอีสานเห็นแย้ที่นี่จึงค่อนข้างแปลกใจกับขนาด เพราะแย้อีสานจริงๆ มีโอกาสโตยาก มักถูกจับกินเสียก่อนโต
เวลาชมแย้ที่ดีที่สุด คือ ช่วงก่อนเที่ยงวัน นั่นเป็นช่วงที่แย้ออกจากรูและยังท้องว่าง นักท่องเที่ยวสามารถบริจาคเงินซื้อหนอนนกให้อาหารแย้จากมือก็ได้ จะนอนเซลฟี่กับแย้ก็ได้ หรือจะอุ้มแย้ก็ได้ (พี่ม่อนบอกว่ายังไม่เคยมีประวัติแย้กัดใครเลยตั้งแต่เปิดบ้านมา) นอกจากนี้บทบาทของหมู่บ้านอนุรักษ์ยังมีความสำคัญ เพราะปัจจุบันแย้อยู่ในฐานะใกล้สูญพันธุ์จากถิ่นธรรมชาติ ถึงแม้ว่าแย้สุพรรณฯ จะไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์แย้ไทยได้มากทีเดียว
ถ้าใครได้ไปดูพวกมัน เชื่อว่าจะค่อยๆ ลดอคติที่มีต่อสัตว์ประเภทกิ้งก่าหรือตุ๊กแกไป เรื่องนี้พิสูจน์มาแล้วกับตัว เพราะจากที่คอยดูห่างๆ ก็ค่อยๆ เขยิบเข้าไป ใกล้ขึ้นๆ จนถึงปากรู และแปลกใจตัวเองที่เริ่มเห็นมันน่ารัก สีสันที่ดูน่าขนลุกกลับมองเป็นลายสวยงาม ขนาดของมันกลับเป็นความตุ้ยนุ้ยที่น่าขัน กลายเป็นว่ามองมันได้เรื่อยๆ แม้มันจะเลิกสนใจตั้งแต่หนอนนกในกระปุกหมดไปตั้งนานแล้วก็ตาม
มาสุพรรณฯ คราวนี้อยู่ๆ ก็ตกหลุมรักแย้ แน่นอนว่าตกหลุมรักเหลืองปรีดียาธร และเริ่มตกหลุมรักสุพรรณบุรีที่อยู่ในฐานะเมืองผ่านเสมอมา ทำให้คิดถึงประโยค “ไม่เห็นค่าสิ่งใกล้ตัว” ซึ่งไม่อยากให้มันเกิดขึ้น จึงขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นโค้งสุดท้ายของเหลืองปรีดียาธร สำหรับคนเมืองกรุงต้องใช้คำว่า “สุพรรณฯ ใกล้แค่นี้” อย่าได้เสียโอกาสสุดท้ายเพื่อหวังปีหน้า อย่างที่เกิดขึ้นไปแล้วกับคนปีก่อนที่ได้เห็นสิ่งสวยงามกว่าคนปีนี้