posttoday

มารยาทไทย ความงามที่หายไป เป็นเพราะคนหรือยุคสมัย?

07 เมษายน 2559

เปิดโซเชียลมีเดียทุกครั้ง เรามักจะพบว่าเพจเฟซบุ๊กที่มียอดคนติดตามเป็นล้านคนขึ้นไปมักจะเป็นเพจที่แอดมินพูดจาหยาบคายติดตลก

โดย...โยธิน อยู่จงดี

เปิดโซเชียลมีเดียทุกครั้ง เรามักจะพบว่าเพจเฟซบุ๊กที่มียอดคนติดตามเป็นล้านคนขึ้นไปมักจะเป็นเพจที่แอดมินพูดจาหยาบคายติดตลก และเต็มไปด้วยคำด่าทอ คล้ายจะเป็นการระบายความเครียดอย่างหนึ่ง ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ที่ป้ายรถเมล์ไม่เคยเห็นการต่อแถวขึ้นรถเมล์ เด็กรุ่นใหม่ชอบพูดจาหยาบโลนทะลึ่งใต้สะดือในลิฟต์ และที่สาธารณะกันอย่างเป็นเรื่องปกติ ที่จอดรถในศูนย์การค้าก็มักจะเห็นคนที่มีอวัยวะครบ 32 เข้าจอดในที่จอดคนพิการอยู่เสมอ

มารยาทอันดีงามของคนไทยนั้นหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีมารยาทอะไรบ้างที่กำลังถูกกลืนหายไป

วรเชษฐ์  สิงห์ลอ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม แสดงทัศนะในเรื่องมารยาทไทยที่หายไปว่า เป็นเรื่องจริงที่คนรุ่นใหม่ขาดมารยาทที่ดีในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องง่ายๆ อย่างการไหว้ทักทาย “แต่ก่อนคนไทยเราเจอกันก็จะทักทายกัน ว่าไปไหนมา สบายดีไหม กินข้าวหรือยัง เป็นคำทักทายตามปกติ ถ้าเจอผู้ใหญ่ก็จะไหว้สวัสดี แต่จากประสบการณ์ของผมในการสอนเด็กมหาวิทยาลัย ผมสอนพวกเขาเทอมก่อน พอมาเจออีกเทอมที่ไม่ได้สอนพบว่าพวกเขาไม่ยกมือไหว้ไม่ทักทายสวัสดีทำเหมือนไม่เคยรู้จัก

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทย ที่คนรุ่นใหม่รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาเพราะเห็นว่า ดูเท่ดูดี แต่กับวัฒนธรรมของเราเองกลับดูเชยไม่ทันสมัย ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมที่ดีงามของชนชาติตัวเอง แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ไม่มีหลักสูตรวิชาเรื่องวัฒนธรรมไทยเข้าไปอยู่ในวิชาการเรียนการสอน ก็ยิ่งทำให้มารยาทและวัฒนธรรมของไทยถูกกลืนหายไปตามกระแสวัฒนธรรมต่างชาติที่ถาโถมเข้ามา”

มารยาทไทย ความงามที่หายไป เป็นเพราะคนหรือยุคสมัย?

รอยยิ้มคนไทยหายไปไหน

ปลายปีที่แล้วผมเดินทางไปเที่ยว อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ระหว่างเดินเลือกสินค้าในร้าน เป็นจังหวะเดียวกันกับที่แม่ค้าเดินออกมาดูพอดี ผมส่งยิ้มทักทาย แต่ไม่มีรอยยิ้มตอบกลับ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเจออากัปกิริยาแบบนี้ แม้กระทั่งเพื่อนบ้านใหม่ของผมที่เจอกันครั้งแรก ก็ส่งยิ้มทักทายพร้อมคำสวัสดี แต่สิ่งที่ได้คือสายตาแห่งความสงสัยว่า ผมจะยิ้มให้เขาไปทำไม

จำได้ว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนผมเดินไปไหนมาไหน ก็มักจะเห็นแต่รอยยิ้ม เจอหน้ากันครั้งแรกไม่รู้จักกันไม่ต้องถึงกับยกมือไหว้ แค่ยิ้มทักทายแล้วเดินผ่านไปก็สุขใจพอแล้ว สมกับที่เราเคยภูมิใจในความเป็นสยามเมืองยิ้ม แต่เดี๋ยวนี้การยิ้มให้กันกลายเป็นเรื่องชวนสงสัย ตีความคำว่ามิตรให้กลายเป็นอื่น ยิ้มให้เราทำไม, มีอะไรหรือเปล่า, คนนี้น่าสงสัย, เกย์หรือเปล่า, จะเข้ามาขอเงินหรือเปล่า... ยิ่งถ้าเจอข้อสุดท้ายนี่เครียดหนัก

นั่นอาจจะเป็นเพราะคนไทยเราระมัดระวังตัวกับภัยทางสังคมมากขึ้น ไม่รู้ว่าใครจะมาดีมาร้าย ข่าวสารสังคมในทางลบมีมากกว่าข่าวดีๆ หลายเท่า อย่าลืมว่าความเป็นมิตรและการระมัดระวังตัวนั้นเป็นคนละเรื่องกัน คนไม่ดีในสังคมมีมากมายก็จริงแต่อย่าให้สิ่งเหล่านี้มาทำลายตัวตนความเป็นคนไทยของเราให้หมดไป

ลืมสิ้นวัฒนธรรมการไหว้

การไหว้เป็นมารยาทพื้นฐานที่สุดของคนไทย แต่สังเกตไหมว่าเด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่นิยมการไหว้ รวมถึงเลือกที่จะเรียกผู้อาวุโสกว่าว่า พี่ หรือ คุณ ไม่ว่าเขาจะมีอายุรุ่นราวคราวพ่อก็ตาม คล้ายกับว่าธรรมเนียมการยกมือไหว้นั้นไม่ทันสมัยเท่ากับการทักทายแบบชาวตะวันตก แต่ที่จริงแล้วการยกมือไหว้นั้นเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามอย่างมากในสายตาชาวต่างชาติ

เด็กเรียนจบใหม่เพิ่งเข้าทำงานหลายคน มักจะพยักหน้าทักทายแทนการไหว้ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าเขาจะแก่ว่ามากน้อยแค่ไหน เหมือนกับว่าพอได้เข้ามาทำงานแล้วทุกคนคือเพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งการเข้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จัก ก็จะทักเพียงแค่คุณลุงหรือคุณป้า โดยไม่ยกมือไหว้ทักทายกันก่อน ทั้งที่ในสายตาผู้ใหญ่ถ้าเห็นเด็กเข้ามาขอความช่วยเหลือด้วยการยกมือไหว้สวัสดี และพูดถึงสิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลือนั้น ดูดีและน่าให้ความช่วยเหลือที่สุด

มารยาทไทย ความงามที่หายไป เป็นเพราะคนหรือยุคสมัย?

 

ไม่ต่อแถวเข้าคิว

การเข้าแถวต่อคิวเป็นมารยาทพื้นฐานทางสังคมของคนทั้งโลก ที่ยอมรับถึงความเป็นอารยชนผู้เจริญแล้ว แต่ทุกวันนี้เรายังเห็นการแซงคิวเกิดขึ้นมากมายในทุกที่ คิวซื้ออาหาร แซงคิวเข้าสถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ หรือแม้กระทั่งการขับรถเบียดคอสะพานก็ถือว่าเป็นการแซงคิวอย่างหนึ่งเช่นกัน

คนไทยกลุ่มหนึ่งชอบแซงคิวกันเพราะเหตุอะไร ทั้งที่ชีวิตในวัยเรียนชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย พวกเราต้องเรียนรู้เรื่องการเข้าแถว ต่อคิวในทุกวัน และคงไม่พอใจถ้ามีคนซึ่งมาทีหลังได้ก่อนด้วยเหตุไม่สมควร แต่ที่แย่กว่านั้นคือคนที่ควรมีหน้าที่ตักเตือนเรื่องการเข้าคิวเช่นเจ้าหน้าที่ เจ้าของร้านค้าร้านอาหาร และคนที่ถูกแซงคิวไม่ทำหน้าที่และรักษาสิทธิของตัวเอง ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้คิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และไม่มีใครว่าอะไร กลายเป็นเรื่องธรรมดา

พูดถึงเรื่องการเข้าคิวแล้วคงไม่มีชาติไหนจะเคร่งครัดเท่าประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนแก่ต่างต้องเข้าคิวด้วยกันทั้งสิ้น และเมื่อเห็นชาวต่างชาติแซงคิว พวกเขาจะตักเตือนให้รู้ถึงมารยาทสากลอันสำคัญข้อนี้ในทันที

กาลเทศะหามีไม่

ระหว่างการถ่ายทอดสดแถลงการค้นพบคลื่นแรงโน้มถ่วงในโซเชียลมีเดีย เด็กไทยกลุ่มหนึ่งตัดสินใจทำในสิ่งที่คนทั่วโลกไม่คาดคิด คือเข้าไปโพสต์ข้อความแบบที่คนไทยสมัยนี้เรียกว่า “เกรียน” ในการแถลงข่าวที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ หรือแม้กระทั่งในอินสตาแกรมของเจ้าชายอับดุล มาทีน แห่งราชวงศ์บรูไน ก็มีผู้หญิงไทยเข้าไปโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะ หรือจะเรียกว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงก็คงไม่ผิดนัก 

แม้กระทั่งการแต่งกายสุภาพเข้าวัดและสถานที่ราชการ หรือเรื่องง่ายๆ แค่การรู้ว่ากับใครควรจะพูดจาแบบไหนก็เห็นได้ยากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เน้นคำหยาบคาย เอาสบายส่วนตัวเป็นที่นิยม การรู้จักกาลเทศะเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรตระหนัก แม้ว่าความคิดสร้างสรรค์ เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ แต่การเคารพกฎกติกาทางสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้นเป็นเรื่องสำคัญกว่า

มารยาทไทย ความงามที่หายไป เป็นเพราะคนหรือยุคสมัย?

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

โปรดเอื้อเฟื้อที่นั่งแก่เด็กสตรีมีครรภ์และคนชรา แต่ดูเหมือนว่าป้ายเหล่านี้จะไม่ได้ช่วยอะไรเลยสภาพสังคมปัจจุบัน เพราะหลายคนเลือกความสะดวกสบายส่วนตัว มากกว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนที่ลำบากกว่า ทั้งที่จริงแล้วสมัยก่อนคนไทยเราจะเอื้อเฟื้อที่นั่งให้โดยไม่ลังเลเลยที่จะทำ ในส่วนของผู้ที่ได้นั่งเองก็จะมีน้ำใจช่วยถือของให้กับคนที่เสียสละ
ที่นั่งให้เป็นเรื่องปกติ

แต่ในสภาพสังคมเมือง การจราจรที่ติดขัด การแก่งแย่งทรัพยากรของผู้คน ความเครียดสะสมของคนเมือง ทำให้คนไทยเหล่านี้ไม่เหลือความมีน้ำใจต่อกัน อย่างที่ควรจะเป็น ถือคติ “เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด” ซึ่งเป็นคติที่ไม่ควรมีแม้จะเกิดในเศษเสี้ยวความคิด เพราะแนวคิดแบบนี้จึงทำให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ขาดหายไปแม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ ที่มีกฎเกณฑ์บังคับ เช่นที่จอดรถคนพิการ ก็ยังมีคนที่อวัยวะครบ 32 เข้าไปจอดกันเป็นประจำ เช่นเดียวกับการเห็นคนกำลังรอข้ามทางม้าลายท่ามกลางแดดเปรี้ยง แม้จะพยายามตั้งท่าข้าม เท้าเหยียบลงมาบนถนนทั้งสองข้างแล้ว ก็ยังไม่วายมีใครที่จะมีน้ำใจจอดให้ทางพวกเขาข้ามไปได้ง่ายๆ ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายวัดใจวัดดวงกันเป็นประจำ

ปล่อยผีวันสงกรานต์

ทุกครั้งที่พูดถึงวันสงกรานต์ หลายคนจะคิดถึงการปิดถนนสาดน้ำในทุกที่ เปิดเพลงเสียงดังๆ ตั้งกลุ่มดื่มเหล้าและผู้หญิงผู้ชายออกมาเต้นยั่วยวน หนักหน่อยก็ถึงกับถอดเสื้อผ้าจนเหลือแค่กางเกงในตัวเดียว ไม่เหลือภาพการรดน้ำดำหัว อวยพรแต่สิ่งดีๆ ให้กันแบบไทยเดิมที่เราเคยรู้จัก และเป็นเช่นนี้มาอย่างยาวนานจนถ้าจะบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมาไม่เคยเห็นสงกรานต์แบบไทยเดิมเลยตั้งแต่เกิดก็คงจะไม่ผิดนัก

จุดเริ่มต้นของสงครามสาดน้ำมาจากไหนไม่มีใครบันทึก รู้เพียงว่าเมื่อมีคนเริ่มแต่ไม่มีคนปรามก็ต้องมีคนตาม และเมื่อมีคนตามก็เกิดการลุกลามไปสู่การเล่นน้ำในรูปแบบอื่นๆ จนถึงจุดที่เรียกว่าเข้าขั้นอนาจารในที่สุด ถึงวันนี้เราไม่ได้หวังว่าจะได้เห็นภาพการเล่นน้ำสงกรานต์แบบไทยเดิม แต่อย่างน้อยการเล่นน้ำอย่างมีขอบเขตไม่ก้าวล่วงสิทธิของผู้อื่น และไม่กระทบภาพลักษณ์อันดีงามของชาวไทยนั่นคือสิ่งที่ทุกคนคาดหวังมากที่สุด

รักนวลสงวนตัว

นิติพงษ์ ห่อนาค เคยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาโดยมีใจความสำคัญว่า “เคยคิดเล่นว่าวันหนึ่งอยากจะมีพลังหรือความสามารถในการได้ยินความคิดของคนอื่น แต่วันนี้ทุกคนต่างแสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงในเว็บบอร์ดและโซเชียลมีเดีย ให้เราได้อ่านกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีพลังพิเศษเลย” แต่พอเห็นข้อความของสาวๆ ในโซเชียลมีเดียแล้วทำให้เรารับรู้ถึงแนวความคิดและมุมมองที่เปลี่ยนไปของผู้หญิงไทย ที่แสดงออกในเปิดเผยถึงความต้องการส่วนตัวอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะข้อความเท่านั้น การโพสต์รูปส่วนตัวแบบเปิดอกโชว์ความเซ็กซี่เพื่อเรียกยอดไลค์ ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วผู้ชายส่วนมากมักจะเลือกผู้หญิงที่แต่งกายเรียบร้อยหรือโชว์ความเซ็กซี่นิดๆ ชวนค้นหามากกว่าเปิดเผยเตะตาแต่ไม่โดนใจในระยะยาวมากกว่า คนรุ่นใหม่ตีความคำว่ารักนวลสงวนตัวเป็นการเสียโอกาส แต่ทั้งที่จริงแล้วเป็นการสร้างคุณค่าในตัวเองได้มากกว่ามารยาทใดมารวมกันเสียอีก ส่วนโอกาสนั้นสร้างด้วยการเปิดใจหาใช่เปิดกาย

วรเชษฐ์  แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การแสดงออกทางกาลเทศะที่ถูกต้อง เช่น การแต่งกายให้ถูกระเบียบ ความสุภาพเรียบร้อย การรู้จักกาลเทศะและการแสดงออกที่ถูกที่ควรก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล ในสายตาคนรุ่นใหม่ “โดยเฉพาะกลุ่มโซเชียลมีเดีย การพูดจาไม่สุภาพการแสดงความเห็นอย่างหยาบคาย ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ไปแล้ว แต่ในสายตาของคนในสายศิลปวัฒนธรรมนั้น สิ่งเหล่านี้คือปัญหาทางด้านวัฒนธรรมอันดีงาม

ในมหาวิทยาลัยที่ผมสอน ก็ไม่น้อยที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่มาจากโรงเรียนที่เคร่งครัดเรื่องการอบรมมารยาท ก็จะพบว่าเป็นเด็กที่มีมารยาทรู้จักกาลเทศะ เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของครูอาจารย์ทุกท่าน ทางมหาวิทยาลัยถึงมีโครงการรณรงค์มารยาทไทยเพื่อที่จะขยายแนวคิดการแต่งกายสุภาพเรียบร้อย การมีมารยาทรู้จักเคารพผู้ใหญ่ รู้จักกาลเทศะให้เป็นอีกมาตรฐานหนึ่งของนักศึกษา และนักศึกษากลุ่มนี้ก็จะได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่ต้อนรับแขก เป็นพิธีกรในงานต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัย เป็นหน้าเป็นตาของมหาวิทยาลัย

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากก็คือเรื่องมารยาทนั้นควรได้รับการอบรมปลูกฝังตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ควรจะแบ่งเวลาดูแลลูก พูดคุยและทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก เพราะมารยาทที่ดีงามไปจนถึงจริยธรรมและจิตสำนึกที่ดีต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจะได้ผลดีที่สุด มาฝึกตอนโตนั้นเป็นเรื่องที่สายเกินแก้ไปแล้ว”