จารีตผิดๆ ในละครไทย

11 เมษายน 2559

เฟซบุ๊ก Prachuab Wangjai

เฟซบุ๊ก Prachuab Wangjai

เธอเป็นชาวอังกฤษ เข้ามาอยู่เมืองไทยเพราะหลงใหลมวยไทย ระหว่างฝีกมวย ก็หารายได้พิเศษเป็นครูสอนภาษาอังกฤษไปด้วย

วันหนึ่งในคลาสเรียน มีนักเรียน (วัยผู้ใหญ่) เข้าเรียนสี่คน เป็นผู้ชายสอง ผู้หญิงสอง ระหว่างที่สอนอยู่นั้น ช่วงหนึ่งนักเรียนก็หัวเราะ เธอรู้สึกได้ว่าพวกเขาหัวเราะเธอ แต่ไม่รู้เรื่องอะไร จึงทำสีหน้าสงสัย ก่อนนักเรียนหญิงคนหนึ่งจะปรายตามองนักเรียนชายอีกคนและตอบว่า

"เขาว่าถ้าครูไม่ให้เขาผ่าน เขาจะปล้ำครู"

เธอนิ่ง แล้วเอ่ย "I don't understand" เธอจริงจัง ทั้งสีหน้าและน้ำเสียง

"rape น่ะครู เขาจะข่มขืนครู" นักเรียนหญิงคนนั้นพยายามอธิบายต่อ

"ฉันเข้าใจคำนั้น" เธอ-ครูสอนภาษาอังกฤษ และเป็นชาวอังกฤษ พูดชัดและช้า "แต่ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเล่นตลกอะไรแบบนี้"

นี่คือจุดเริ่มต้นในการค้นหาที่มาของวัฒนธรรมอันน่าขยะแขยงที่พูดถึงการข่มขืนอย่างคะนองปาก จนกระทั่งกลายมาเป็นบทความ Rape Culture in Thailand ของ เอ็มมา โธมัส ครูสอนภาษาอังกฤษคนนั้น

บทความนี้ เข้าถึงจารีตผิดๆ ในละครไทยได้ลึกซึ้งยิ่ง อย่างละครบางเรื่องพระเอกปล้ำนางเอกในตอนแรกๆ แต่เมื่อพระเอกทำดีด้วยหน่อย นางเอกกลับโอนอ่อน ท้ายที่สุดก็รักกัน จนคนดูลืมหรือหลงประเด็นใหญ่ที่สุดในช่วงต้นเรื่องอย่างการข่มขืนกระทำชำเราจนหมดสิ้น และเรื่องต่อๆ มาก็ปฏิบัติซ้ำแบบนี้อีก เรื่องแล้วเรื่องเล่า

ในบทความยังระบุถึงผลการศึกษาพบว่าละครไทยที่ออกอากาศตลอดทั้งปี 2557 มีถึง 80% พบฉากข่มขืน มันบ่อยจนคนซึมซับและรู้สึกได้ว่านี่คือส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ปกติ

และนี่อาจเป็นคำตอบว่าทำไมนักเรียนในคลาสภาษาอังกฤษถึงได้พูดออกมาอย่างไม่รู้สึกรู้สาเช่นนั้น

อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่นี่
https://undertheropes.com/2016/04/01/rape-culture-in-thailand/

ภาพจาก club.sanook.com

ที่มา https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10156989760400105&set=a.10151571800565105.841628.768840104&type=3&theater

 

Thailand Web Stat