posttoday

เพลง+ภาพ ศิลปะแห่งสารคดีดนตรี

01 พฤษภาคม 2559

ไม่เพียงแค่ฟัง แต่คนรักดนตรีไม่น้อยยังชื่นชอบที่จะดู เพื่อเรียนรู้ดื่มด่ำกับสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ

โดย...เพ็ญแข สร้อยทอง

ไม่เพียงแค่ฟัง แต่คนรักดนตรีไม่น้อยยังชื่นชอบที่จะดู เพื่อเรียนรู้ดื่มด่ำกับสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบในแง่มุมซึ่งกว้างไกลและลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะจาก “สารคดีดนตรี” หรือ “Music Documentary”

สารคดีเกี่ยวกับดนตรีสร้างสรรค์ออกมาแล้วมากมาย ในจำนวนนั้นมีหลายเรื่องที่ถูกจัดขึ้นอันดับยอดเยี่ยมหรือมีรางวัลต่างๆ มาการันตีคุณภาพ และสัปดาห์นี้คอลัมน์“สุนทรีย์” ก็ได้รับเกียรติจากกูรูเรื่องดนตรีมาเลือกมิวสิคด็อกคูเมนทารี ที่น่าชมมาแนะนำ โดยเฉพาะงานที่ผลิตหลังปี 2000 เผื่อว่าจะเป็น “ไกด์” ให้ท่านผู้อ่านได้ไปตามดูกันบ้าง

กูรูคนแรกคือ ปิโยรส หลักคำ บรรณาธิการ พ็อกเกตบุ๊กดนตรีและเพจ Music X Thailand บรรณาธิการนิตยสารโอเวอร์ไดรฟ์ นิตยสารกีตาร์ และ คอนเทนต์ เอดิเตอร์ เคเคบ็อกซ์ ไทยแลนด์ ขอเลือก …

All Things Must Pass : The Rise and Fall of Tower Records (ปี 2015)

สารคดีที่เพิ่งฉายในบ้านเราและได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม หนังเล่าถึงความรุ่งเรืองและตกต่ำของ ทาวเวอร์ เรคอร์ดส ซึ่งเป็นมิวสิค รีเทลเลอร์ หรือร้านขายแผ่นเสียง ซีดี ดีวีดี ฯลฯ ที่โด่งดังที่สุดในโลก

ปิโยรส บอกว่า วิธีการถ่ายทอดของผู้กำกับ (โคลิน แฮงค์) ทำให้คนดูได้สัมผัสและมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวของ ทาวเวอร์ เรคอร์ดส ในรายละเอียดนั้นลงลึกไปถึงเบื้องหลัง ไม่ว่าจะไลฟ์สไตล์ของพนักงาน หลังร้านที่คนอาจจะไม่เคยเห็นหรือรับรู้มาก่อน รวมทั้งมุมมองแนวคิดทางธุรกิจที่ไม่เหมือนใครของจอมกบฏอย่างรัสส์ โซโลมอน อีกแง่หนึ่งยังสะท้อนภาพวงการเพลงและธุรกิจดนตรีโดยรวม

เพลง+ภาพ ศิลปะแห่งสารคดีดนตรี

 

“ในที่สุดทุกอย่างก็เหมือนกับชื่อของหนัง สุดท้าย ทาวเวอร์ เรคอร์ดส ก็เหลือเพียงสาขาที่ญี่ปุ่น All Things Must Pass เป็นหนังที่ถ่ายทอดได้ครบทุกด้าน ฉากที่ประทับใจน่าจะเป็นตอนที่เจ้าของทาวเวอร์ เรคอร์ดส เดินทางไปญี่ปุ่น แล้วเขาได้รับการต้อนรับอย่างดี

“ถ้าจะต้องให้คะแนน เรื่องนี้ผมให้ 9 จาก 10 คะแนน All Things Must Pass เป็นหนังที่เหมาะกับคนที่เติบโตมาในยุคทาวเวอร์ เรคอร์ดส รวมทั้งคนที่อาจจะเกิดไม่ทันก็สามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์วงการเพลงผ่านหนังเรื่องนี้ได้เช่นกัน”

หากจะถาม นพปฎล พลศิลป์ นักวิจารณ์อิสระนิตยสารสีสันและเอ็นเตอร์เทน เจ้าของเพจ facebook.com/Sadaos สารคดีเพลงในดวงใจของเขาต้องเป็นเรื่องนี้

Sound City (ปี 2013)

หนังสารคดีเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ เดฟ โกรห์ล แห่งเนอร์วานาและฟูไฟเตอร์ส

“ว่าด้วยองค์ประกอบที่เป็นมนุษย์ในเรื่องของดนตรี การสูญหายของศิลปะในการบันทึกเสียงแบบอะนาล็อก และประวัติศาสตร์จากห้องบันทึกเสียง” จากที่ไม่มีใครรู้จัก กลายมาเป็นห้องอัดเสียงที่ยิ่งใหญ่คือ “ซาวด์ ซิตี้” ในซาน เฟอร์นาโด วัลเลย์ สหรัฐ “ซึ่งเคยเป็นบ้านของตำนานนับไม่ถ้วน ทั้งยังเคยเป็นพยานของประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของโลกร็อกแอนด์โรลล์ และเป็นความลับของโลกดนตรีร็อกที่ถูกเก็บไว้อย่างดีที่สุด”

ห้องอัดซาวด์ ซิตี้ เปิดเมื่อปี 1969 และได้ชื่อว่าเป็นห้องอัดระดับสุดยอดในยุคนั้น เป็นแหล่งกำเนิดผลงานเพลงคลาสสิกในโลกของร็อกแอนด์โรลล์หลายต่อหลายชุด ก่อนที่เทคโนโลยีเดินหน้าไป และอุปกรณ์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในกระบวนการบันทึกเสียง แต่ซาวด์ ซิตี้ ก็ยังยืนยันความเป็นอะนาล็อกของตัวเองไว้ได้ เดฟ โกรห์ล กับเพื่อนๆ ของเขาเคยทำงานของพวกเขาที่นี่ และเนอร์วานาก็ทำให้ห้องอัดแห่งนี้โด่งดัง แต่เทคโนโลยีก็มีพลังยากจะต้านทาน ทำให้ห้องบันทึกเสียงทั่วโลกเริ่มปิดประตูของตัวเองลงไป รวมทั้งซาวด์ ซิตี้ด้วย

จากที่เคยเป็นหนึ่งคนซึ่งทำงานที่ซาวด์ ซิตี้ และเมื่อเห็นรายชื่อของศิลปินซึ่งเคยมาอัดเสียงกันที่นี่ เดฟคิดจะทำหนังสั้นเกี่ยวกับที่นี่เพื่อโพสต์บนยูทูบ แต่หลังจากได้ศึกษาลงลึกทำให้โครงการของเดฟพัฒนาไปเป็นหนังสารคดีขนาดยาว

เพลง+ภาพ ศิลปะแห่งสารคดีดนตรี

 

“หนัง Sound City สำหรับผมคืองานชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิต และผมหวังว่าคุณจะรู้สึกแบบเดียวกัน”

ลองไปหามาชมดู แล้วค่อยตอบว่า คุณจะรู้สึกแบบเดียวกันกับเขาหรือไม่ 

และสุดท้าย ผู้เขียนเองขอเลือก

No Direction Home : Bob Dylan (ปี 2005)

หนังสารคดีโดย มาร์ติน สกอร์เซซี นำเสนอเรื่องราวชีวิตของ บ็อบ ดีแลน ในฐานะศิลปินผู้ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ 20 หลังออกเผยแพร่หนังได้รับการตอบรับอย่างยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ ก่อนจะคว้ารางวัลแกรมมี่สาขา Best Music Film หรือ Best Long Form Music Video มาครอง

หนังเน้นนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงปี 1961-1966 ซึ่ง บ็อบ ดีแลน ในวัย 20 ปี ได้โด่งดังขึ้นมาในฐานะนักร้องนักแต่งเพลงโฟล์ก ก่อนเขาจะประสบอุบัติเหตุเพราะมอเตอร์ไซค์จนต้องหยุดทัวร์

ชื่อหนังมาจากท่อนหนึ่งของ Like a Rolling Stone เพลงดังปี 1965 ของ บ็อบ ดีแลนหนังเผยแพร่ครั้งแรกทางโทรทัศน์ในสหรัฐ โดยเป็นส่วนหนึ่งของหนังชุด American Masters ที่อังกฤษอยู่ในซีรี่ส์ Arena ก่อนจะทำเป็นดีวีดี พร้อมมีซีดีซาวด์แทร็ก The Bootleg Series Vol. 7 : No Direction Home : The Soundtrack ออกวางขายพร้อมๆ กัน

หนังเริ่มต้นจาก เจฟฟ์ โรเซน ผู้จัดการของ บ็อบ ดีแลน เขาสัมภาษณ์เพื่อนๆ รวมทั้งผู้ร่วมงานของศิลปินดัง เช่น กวีดัง อัลเลน กินสเบิร์ก และนักดนตรีโฟล์ก เดฟ แวนรองค์ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนที่หนังจะเสร็จ แม้แต่ ซูซี โรโตโล อดีตแฟนของบ็อบ ซึ่งไม่ค่อยจะให้สัมภาษณ์ยังมาร่วมด้วย ตัว บ็อบ ดีแลน เองก็นั่งให้สัมภาษณ์อย่างเปิดอกนานเป็น 10 ชั่วโมง นอกจากให้สัมภาษณ์และข้อมูลแล้ว บ็อบ ดีแลน ก็ออกตัวว่า เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับหนังเรื่องนี้

จากทั้งหมดที่ เจฟฟ์ โรเซน สัมภาษณ์มาก็ส่งให้นักสร้างหนังผู้เลื่องชื่ออย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี รับไม้ต่อจนกลายเป็นเรื่อง โดยนำฟุตเทจที่ทีมงานของ บ็อบ ดีแลน ถ่ายเก็บไว้มาร้อยเรียงเข้าไป

หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้จัก บ็อบ ดีแลนเจ้าพ่อและตำนานที่มีชีวิตผู้นี้มากขึ้น (แน่นอน) นอกจากนั้นแล้วก็ทำให้เราเห็นภาพของวงการดนตรีโฟล์กในช่วงทศวรรษ 1960 ชัดเจนขึ้น

ด้วยสารคดีดนตรีเหล่านี้อาจจะทำให้ผู้ชมใกล้ชิดกับเพลง นักดนตรี รวมทั้งวงการที่คุณรักมากยิ่งขึ้น และหลังจากที่ได้ดูสารคดีเหล่านี้ คุณอาจจะได้บางสิ่งบางอย่างจากการฟังเพลงที่แปลกต่างไปจากเคย