posttoday

นายหนังตะลุงอาชีพ อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

04 พฤษภาคม 2559

บรรยากาศของเด็กๆ กำลังฝึกหนังตะลุง บางคนทำท่าหัดเชิด บางคนหัดร้อง ขับบทด้วยน้ำเสียงเจื้อยแจ้ว

โดย...นกขุนทอง-ศศิธร จำปาเทศ ภาพ... อภิชัย วิจิตรปิยกุล วิกรัย จาระนัย และ มูลนิธิวิชาหนังสือ

บรรยากาศของเด็กๆ กำลังฝึกหนังตะลุง บางคนทำท่าหัดเชิด บางคนหัดร้อง ขับบทด้วยน้ำเสียงเจื้อยแจ้ว เป็นภาพและเสียงที่พบเห็นได้เป็นปกติในวันเสาร์อาทิตย์ ณ วัดพระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้การฝึกสอนของ ครูมาโนชญ์ เพ็งทอง ผู้ที่ฝากอนาคตศิลปวัฒนธรรมการเชิดหนังตะลุงของภาคใต้ไว้ในมือนายหนังตะลุงตัวน้อยๆ นับสิบคนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ วัดพระพรหม จ.นครศรีธรรมราช

ท่ามกลางเด็กน้อยหลายคน หนึ่งคนที่เฉิดฉายเป็นเพชรเม็ดงาม ทำการแสดงเป็นที่ประทับใจประจักษ์แก่ทุกสายตาของคนในท้องถิ่นมาแล้ว คือ“สกนธ์ สุวรรณคช” ในวัยเพียง 9 ขวบ สามารถมีคณะหนังตะลุงเป็นของตัวเอง ร้องและเชิดหุ่นเองทั้งเรื่องได้ไม่แพ้นายหนังตะลุงคนไหนๆ มีงานจ้างชุก และถึงแม้จะออกงานเล่นเป็นอาชีพได้แล้ว หากแต่ยังฝึกฝนอยู่ทุกเสาร์อาทิตย์เช่นเคย ยิ่งตอนนี้การฝึกซ้อมยิ่งเข้มข้นเพราะในอีกไม่กี่วันจะเป็นอีกหนึ่งการเดินทางครั้งสำคัญของ “หนังตะลุงคณะสกนธ์ ตะลุงธรรม” ที่จะมาอวดลวดลายเชิดหุ่นและน้ำเสียงนายหนังตะลุงอายุน้อยที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการแสดงนี้ได้รับการสนับสนุนจาก มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 ช่วยประกาศให้ดาวดวงนี้แจ่มจรัสมากยิ่งขึ้น และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาหนังสือไทย และมูลนิธิวิชาหนังสือ

นายหนังตะลุงอาชีพ อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

อวดหนังตะลุงด้วยมือน้อย

หนังตะลุงเป็นมหรสพทางภาคใต้ของไทย หากมองให้ลึกลงไปหนังตะลุงเป็นมากกว่าการแสดงที่ให้ความบันเทิง ผู้สืบทอดจึงต้องเรียนรู้ เข้าใจแก่นแท้ที่แฝงอยู่ในศิลปะอันเป็นอัตลักษณ์ของคนใต้ด้วยความลึกซึ้ง

สกนธ์ ไข่นุ้ยสายเลือดเมืองคอนผู้สืบทอดอาชีพนายหนังตะลุงอายุน้อยที่สุดของประเทศไทยก็ว่าได้ เริ่มฝึกเล่นหนังตะลุงกับครูมาโนชญ์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ขณะนั้นนับว่าอายุน้อยและตัวเล็กที่สุดในโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะฯ

“ผมรู้สึกชอบหนังตะลุงตั้งแต่เรียนอนุบาล 3 เห็นเพื่อนซื้อหนังตะลุงตัวเล็กๆ มาเล่นที่โรงเรียน เลยให้พ่อพาไปซื้อ ต่อมาพ่อกับแม่ก็พาผมไปดูหนังตะลุงคณะน้องเดียว ที่วัดโพธิ์นิมิตร พอกลับมาบ้าน ผมก็ตัดหยวกกล้วยท่อนสั้นๆ ไว้ปักรูปหนังตะลุงเหมือนที่เขาเล่นหนังตะลุงกัน แต่ผมเล่นแบบไม่มีจอ พอรู้จากพี่ชายว่าที่วัดพระพรหมมีครูมาสอนหนังตะลุงเลยให้พี่พามาฝากตัวเป็นศิษย์ครูมาโนชญ์ ทุกเย็นวันศุกร์ผมจะมาที่วัดแล้วกินอยู่ที่นั่น วันอาทิตย์เย็นก็กลับบ้าน เตรียมตัวไปเรียนตามปกติ ตื่นเช้าตอนตีสี่”

นายหนังตะลุงอาชีพ อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

หนังตะลุงให้หลายสิ่งกับสกนธ์ ทุกวันนี้ค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ไม่ได้รบกวนทางบ้าน แถมยังมีเงินเก็บ แต่กว่าสกนธ์จะมีวันนี้เขาต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ทว่าก็คุ้มค่ากับเวลา 2 ปีที่เขาทุ่มเท ตั้งใจที่จะเอาดีให้ได้ในเส้นทางนี้ ในการแสดงหนึ่งเรื่อง สกนธ์ต้องเชิดหนังราว 30 ตัว และต้องจำทุกบทของทุกตัวละคร ซึ่ง ไข่นุ้ยนายหนังตะลุงมีกลวิธีในการจำ

“ไม่ยากครับ อย่างกลอนยาวแค่ไหนก็ตาม ผมจะจำไปทีละ 4 วรรค หรือหนึ่งบท อ่านจนจำแล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ก็เริ่มง่ายขึ้น”

ความสามารถพิเศษของเด็กวัยอยากรู้อยากเห็น ด้วยใจรักและความตั้งใจ ทำให้สกนธ์ฝีมือพัฒนาอย่างเร็วรวด จากคำบอกเล่าของครูมาโนชญ์ บอกว่า สกนธ์เกิดมาเพื่อเป็นนายหนังตะลุง

“อดีตนายหนังฝึกฝนกันตั้งแต่อายุ 11 ปี อย่าง กั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ ท่านฝึกตั้งแต่อายุ 11 แต่กว่าจะได้ออกโรงก็ปาเข้าไป 18-20 ปี สกนธ์ตอนแรกผมก็ไม่นึกว่าเขาจะทำได้เร็วขนาดนี้ พอฝึกไปแค่ 1 ปีเขาก็ทำได้ คนที่จะทำอย่างนี้ได้ เขาเรียกว่าต้องมีเชื้อมาก่อน คือมีเชื้อหนัง เชื้อโนรามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด สกนธ์เขามีเชื้อโนราสายตรง จุดปุ๊บมันก็ติดปั๊บเลย ฝึกไม่ยาก เชิดรูปหนังตะลุงมีอยู่ไม่กี่รูป เขาเรียกว่ารูปครู หัดเชิดรูปครูได้ก็จะเชิดตัวอื่นได้ทั้งหมด การขับบทก็มีจังหวะวรรคตอน ให้ฟังจังหวะเสียงดนตรี เรียกว่าขับให้เข้าโหม่ง สกนธ์จดจำบทกลอนได้ทั้งเรื่องโดยไม่เปิดหนังสือเลย ความจำดีมาก ผมเลยพาไปครอบมือกับคุณลุงหนังศรีพัฒน์ จากนั้นเขาก็เป็นนายหนังอาชีพอย่างเต็มตัว เขาครบเครื่องจริงๆ สำหรับความเป็นนายหนัง การแสดงออกเขาล้นตัวมากสมเป็นนักแสดง ไม่ขลาดคน พร้อมที่จะแสดงออกในทุกสถานการณ์”

นายหนังตะลุงอาชีพ อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

หนังตะลุงถือเป็นศิลปะชั้นสูง ประกอบด้วยหลายทักษะ ทั้งเชิด ขับบท นายหนังตะลุงจึงต้องฝึกฝนทักษะทั้งหมดนี้ แต่กลับไม่ใช่เรื่องยากสำหรับสกนธ์ ครูมาโนชญ์เล่าถึงลูกศิษย์อย่างภาคภูมิใจ

“ศัพท์กลอนหนังที่ผมแต่งหลายคำเป็นศัพท์ชั้นสูง เขาไม่เข้าใจเขาก็จะถามหาคำตอบ ผมสอนเรื่องไตรภูมิ เพราะเขาต้องรู้ ถ้าไม่เข้าใจเขาจะเล่นไม่ถูก ชั้นอินทร์ ชั้นพรหม นาคราช นรก สวรรค์ กี่ชั้นต้องแจงให้เขาเห็นภาพหาคำอธิบายจนเขาเข้าใจ เด็กวัยแค่นี้ทั่วไปไม่มีใครเรียนเรื่องนี้หรอก แต่คนเป็นนายหนังไม่เรียนไม่ได้ครับ นายหนัง 1 คน ต้องร้อง เชิด ขับบท พูดเสียงตัวละครราว 30 ตัว ส่วนลูกคู่อีก 6 คน เล่นดนตรีคนละชั้น ตอนสกนธ์แสดงใหม่ๆ เรายังไม่ได้ฝึกลูกคู่ เพราะยังขาดคนและเครื่องดนตรี ต้องเช่าลูกคู่ เช่าโรง เช่าเครื่องเสียง ภายหลังเราก็เริ่มสะสมอุปกรณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รับงานคืนละ 1-2 หมื่นบาท นำมาแบ่งจ่ายค่าเช่าทั้งหมดครั้งละ 1 หมื่นบาท งานจะชุมช่วงเทศกาล อย่างงานเดือนสิบเมืองคอนปีที่แล้ว สกนธ์แสดง 4 คืนติดต่อกัน นอกนั้นก็มีงานบุญต่างๆ ประเพณีทางใต้เจ้าภาพจะรับหนังให้คนมางานได้ชมกัน สกนธ์เป็นนายหนังเด็กมักจะได้รางวัลความเอ็นดูจากหน้าโรงอีกประมาณสามพันบาท ไม่นานเขาก็รับงานไปทั่ว มีผลงานแสดงเป็นที่รู้จักของชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงที่เขาเดินทางไปแสดง ทั้งนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ กระบี่”

หนังตะลุงเปิดโลกใหม่เด็กชายสกนธ์

สกนธ์เล่าด้วยน้ำเสียงฟังชัดมีจังหวะจะโคนราวกับกำลังขับบทกลอนหนังตะลุงอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ ความสุขที่เจืออยู่ในน้ำเสียงนั้น เมื่อพูดถึงสิ่งที่เขาได้จากการเป็นนายหนังตะลุง ซึ่งแทบจะไม่ต้องเสียเวลานึกคิดเรียบเรียงคำพูดเลย มันพรั่งพรูออกมาจากความรู้สึกของนายหนังตัวน้อย

นายหนังตะลุงอาชีพ อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

“ผมมีความรู้เกี่ยวกับการเชิดหนังตะลุง ผมได้อยู่กับสิ่งที่ผมรักผมชอบ ได้แสดงความสามารถของผมออกมาให้คนในสังคมได้รู้ ผมได้รู้จักคนมาก ผมฝึกพูด ออกเสียงได้อย่างถูกต้องชัดเจน จากการพากย์หนัง ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ เช่น เรื่องไตรภูมิ และเรื่องวรรณคดีต่างๆ ฝึกหนังในวัด ทำให้ผมได้เข้าวัดอยู่เป็นประจำ ได้ฟังธรรมรู้เรื่องธรรมะจากครูมาโนชญ์ หลวงปู่ หลวงตาที่ช่วยกันสอน ผมได้รู้จักบุคลิกของตัวละครหนังตะลุงที่แตกต่างกัน ได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ไกลๆ มากมาย หลายครั้งผมได้เข้าไปอยู่ในพิธีสำคัญ ได้เรียนรู้เรื่องมารยาทในการเข้าสังคม มีชีวิตสนุกสนานจากการเล่นหนัง สถานที่ฝึกหนัง (ในวัด) มีศิลปะอื่นๆ อยู่ด้วย ทำให้ผมได้ฝึกวาดภาพและร้องเพลงควบคู่ไปกับการเล่นหนัง”

สิ่งที่สกนธ์เอ่ยมานั้นเป็นสิ่งที่เด็กคนหนึ่งสัมผัสได้ โดยไม่ผ่านการซับซ้อนอะไร หากแต่สิ่งที่เขาได้มากกว่านั้นคือ “โอกาส” จะมีเด็กสักกี่คนที่ยอมละทิ้งการละเล่นสนุกสนานมาฝึกเชิดหนังตะลุง บางคืนต้องนอนดึกกว่าการแสดงจะเลิก ไหนจะภาระหน้าที่การเล่าเรียนในวัยที่กำลังศึกษา แต่สกนธ์ทำได้ดีในทุกบทบาทของชีวิต นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่เขาทำได้ปรากฏแก่สายตาและสัมผัสใจของผู้ใหญ่

นอกจากแสดงหนังตะลุงแล้ว สกนธ์ยังสนใจวาดรูปและเขียนหนังสือ การันตีฝีมือจากรางวัลชมเชย อันดับ 9 การประกวดภาพวาดพร้อมคำบรรยาย สมุดภาพบันทึกประจำวัน อินิกิ ภาพวาดของเขามีเสน่ห์แตกต่างจากผลงานทั่วไป ได้สะดุดตา มกุฏ อรฤดี จนต้องเดินทางไปยังปักษ์ใต้เพื่อตามหาเด็กชายมหัศจรรย์คนนี้ จนล่าสุดความสามารถและความมุ่งมั่นของสกนธ์ได้ประจักษ์ต่อผู้ใหญ่ใจดี มกุฏ อรฤดี ได้ช่วยหาทุนการศึกษาให้สกนธ์เรียนจนจบปริญญาตรี

นายหนังตะลุงอาชีพ อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

 

จากคนตัวใหญ่สู่คนตัวเล็ก

การสืบทอดศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสายเลือดศิลปินโดยตรง หากแต่ความรักศิลปะที่ผุดขึ้นกลางจิตใจคือสิ่งที่ผู้ถ่ายทอดมั่นใจจะฝากฝังงานศิลป์ที่ตนเคยได้รับถ่ายทอดจากครูส่งต่อให้ศิษย์รุ่นสู่รุ่นอย่างสุดหัวใจเช่นกัน

สกนธ์ไม่ได้เป็นเพชรเม็ดงามคนเดียวของครูมาโนชญ์ หากในโครงการยังมีเด็กอายุตั้งแต่ 4 ขวบ ถึง 10 ขวบ ที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ ครูมาโนชญ์ตั้งใจฝึกฝนทุกคน หวังว่าสักวันหนึ่งเพชรเหล่านี้จะเปล่งประกายแสงได้อย่างสกนธ์นั่นเอง

“ถ้าเรามองถึงแก่นของหนังตะลุงแล้ว ผมพบว่าหนังตะลุงคือสื่อสำคัญอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่สอนธรรมะแก่ผู้คนตลอดมา มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาคนแต่งเรื่องและตัวนายหนัง เด็กๆ ทางใต้นี้ได้เรียนรู้ถูกผิดจากตัวตลกไอ้เท่ง ไอ้หนูนุ้ยกันเยอะ งานศิลปะทุกแขนงทำหน้าที่บันทึกอารมณ์ยุคสมัยของสังคมด้วยนะ ถ้าคนในยุคไหนอยู่กันอย่างสงบสุข งานศิลปะจะงดงาม ยุคสมัยคนอยู่กับสงคราม ความแร้นแค้น ศิลปะก็สื่อออกมาตามนั้น หนังตะลุงก็เช่นกัน จะเห็นว่า คนสมัยนี้รีบร้อนแข่งขันกับเวลาเพื่อทำมาหากิน ไม่มีเวลาดูหนังกันทั้งคืนเหมือนเมื่อก่อน หนังก็ต้องปรับการแสดงไปกับยุคของสังคม เทียบกับสมัยก่อนแล้วจะเห็นว่ามันหยาบลง เช่นเดียวกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ แต่ถามว่าถึงขั้นจะต้องสูญหายไปไหม ตราบเท่าที่ยังมีกลุ่มชนภาคใต้ของไทยอยู่มันคงไม่หายไปไหน เพราะหนังตะลุงคือรสชาติแท้จริงของเขา เหมือนน้ำพริกนั่นแหละ เราจะไปชิมพิซซ่าบ้างอะไรบ้าง แต่ของอร่อยเราคือน้ำพริก เราไม่ทิ้งหรอก”

นายหนังตะลุงอาชีพ อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

 

หนังตะลุงรวมศาสตร์ศิลปะเอาไว้ทั้งหมด ทั้งประติมากรรมเครื่องมหรสพคือ การแกะสลักหนัง ระบายสีที่เป็นจิตรกรรม มีบทหนังเป็นวรรณกรรม ดนตรีที่เป็นคีตกรรม การเชิดเป็นนาฏกรรม นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมด้านจิตวิทยา นับเป็นมหรสพที่ทำได้ยากที่สุด เพียงคนเดียวต้องทำได้หลายอย่าง ทั้งร้อง พากย์ เชิด เจรจา รูปหนังได้เป็นร้อยๆ ตัว สามารถพูดแยกเสียงตัวละครได้ทั้งหมด คุณสมบัติต้องเป็นคนมีจิตวิทยา สร้างอารมณ์ขันควบคุมและดึงอารมณ์คนดูมาอยู่กับตัวนายหนังให้ได้

“เราต้องยอมรับว่าคนประเภทนี้มีน้อยมาทุกยุคทุกสมัย แต่ก็มีมาตลอดครับเป็นคนกลุ่มน้อยแล้วต้องเป็นคนที่มีใจรักงานศิลปะแขนงนี้อย่างเข้าสายเลือดด้วย ถ้าไม่รักจริงไม่นานก็จะเลิกร้างไป คนไม่มีเชื้อหนังมาก่อนก็เล่นได้ แต่ต้องเป็นคนที่ผุดขึ้นมา คือใจของเขาชอบขึ้นมาเองโดยไม่เคยมีเชื้อจากบรรพบุรุษมาก่อน ลักษณะเช่นนี้เขามีศัพท์เรียกว่า สิงหร ผุดขึ้นมาเองในใจ ผมเป็นสายเลือดศิลปิน บรรพบุรุษทำงานรับใช้ศาสนา ใช้ศิลปะโน้มนำให้คนอยู่ในวิถีปฏิบัติอันถูกต้องดีงาม เมื่อถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ผมก็หวังให้เขาได้เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ต่อไปเพื่อความสงบสุขของสังคม เพื่อวิถีชีวิตอันดีงามของผู้คน ดังที่ครูบาอาจารย์เคยสอนผมไว้ คนมันตายได้ แต่งานมันจะไม่ตาย ผมเชื่อว่าสกนธ์เขาเป็นคนดีที่มีค่าของสังคม และเป็นผู้น้อมนำคนในสังคมไปในทางดีงาม ด้วยงานศิลปะของเขา”

เมื่อครูฝากอนาคตของหนังตะลุงไว้ที่ลูกศิษย์ตัวน้อย สิ่งที่สกนธ์น้อมรับและตอบกลับมาก็คือ

“ผมอยากเล่นหนังของผมต่อไปให้ดีที่สุด และเป็นคนดีมีคุณธรรม ครูมาโนชญ์เคยสอนว่า ศิลปินที่ไม่มีคุณธรรม จะครองใจคนไม่ได้”

นายหนังสกนธ์ยืนยันแทนเพื่อนๆ เยาวชนอีกหลายคนว่าเขายังคงจะทำหน้าที่สืบทอดหนังตะลุงให้อยู่คู่กับดินแดนปักษ์ใต้และประเทศไทยต่อไป

ส่วนการแสดงที่จะนำศิลปะทางภาคใต้มาแสดงที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 8 พ.ค. ณ หอศิลป์ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ทำการแสดง 2 รอบ เวลา 17.00 น. เล่นเรื่องแก้วประจำเมือง เวลา 20.00 น. เรื่องไข่มุกดำ วันที่ 9 พ.ค. ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี เวลา 13.30 น. เรื่องไข่มุกดำ ซึ่งทั้งสองเรื่อง มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ ปริศนาธรรม ซึ่งครูมาโนชญ์ตั้งใจให้หนังตะลุงมารับใช้เผยแผ่ธรรมะสู่สายตาคนภาคกลาง โดยเปิดให้เข้าชมฟรีทั้ง 2 แห่ง