posttoday

ลมหายใจอันแผ่วเบา ของต้นน้ำ

05 พฤษภาคม 2559

ความยิ่งใหญ่ของมหานทีหนึ่งสายล้วนเกิดจากหนึ่งหยดน้ำรวมตัวกันจนกลายเป็นธารน้ำเล็กๆ เดินทางผ่านป่าแล้วป่าเล่า

โดย...กองทรัพย์ ภาพ... จักรพันธ์ สุวรรณพาณิชย์

ความยิ่งใหญ่ของมหานทีหนึ่งสายล้วนเกิดจากหนึ่งหยดน้ำรวมตัวกันจนกลายเป็นธารน้ำเล็กๆ เดินทางผ่านป่าแล้วป่าเล่า ป่าที่สมบูรณ์สายน้ำก็จะเริงร่า ป่าที่มอดไหม้สายน้ำก็ไร้ชีวิตชีวา อย่างไรเสียน้ำก็ไหลรวมกันกลายเป็นแม่น้ำหนึ่งสายและเป็นมาเช่นนี้เสมอ ในวันที่คนปลายน้ำยังรู้สึกสบายดีอยู่ เปิดก๊อกยังมีน้ำประปาไหล แต่สถานการณ์ต้นน้ำหลายสายบอบช้ำ อยู่ในช่วงเวลาที่ต้องเอาใจช่วย อย่างไรก็ตาม ความบอบช้ำของต้นน้ำนั้นหนักหนาเกินกว่าเราจะเดินทางไปถึง แต่พื้นที่ที่พอจะมีความหวังในเรื่องการฟื้นฟูเพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยให้ป่าต้นน้ำ ที่นั่นคือ...ต้นน้ำแม่ปิง ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 

จับชีพจรต้นน้ำแม่ปิง

นิคม พุทธา ชายผู้คลุกคลีกับงานอนุรักษ์มาตลอดชีวิตการทำงาน เป็นทั้งเจ้าของพื้นที่กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง ทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเปล่งเสียงบอกสถานการณ์ของป่าต้นน้ำปิงกับคนภายนอกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (Nikom Putta) นำทางให้กลุ่มบิ๊กทรีและผู้ร่วมสังเกตการณ์ในฐานะอาสาสมัครมาที่เชียงดาวเพื่อตามหาคำตอบจากต้นน้ำแม่ปิง

“จริงๆ แล้วต้นน้ำปิงไหลมาจากดอยถ้วยในฝั่งเมียนมาและเริ่มต้นในเขตไทยในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง ในบ้านเมืองนะเหนือ อ.เชียงดาว สถานการณ์ของป่าต้นน้ำแม่ปิงในปัจจุบันอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง เพราะพื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายอย่างรวดเร็ว โดยมีการรุกล้ำขึ้นไปบนภูเขาสูง ซึ่งมีทั้งไร่ข้าวโพด ไร่กะหล่ำปลี สวนส้ม ไร่พริก กระเทียม ฯลฯ พื้นที่เกษตรเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาหากทำกินในพื้นที่ราบหุบเขาที่มีการอนุญาตให้ทำกินได้ หากแต่พื้นที่สวนและไร่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้รุนแรงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และส่งผลให้เห็นเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยลง และในปี 2559 เกิดปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง เกิดไฟป่าบ่อยครั้งและแต่ละครั้งก็กินพื้นที่มากขึ้น ทั้งยังซ้ำเติมปัญหาหมอกควันในภาคเหนือซึ่งเกิดขึ้นทุกปีทวีความรุนแรงมากขึ้น”

ลมหายใจอันแผ่วเบา ของต้นน้ำ

 

สิ่งที่ทำให้ต้นน้ำปิงป่วยไม่ได้มีเพียงไฟป่าและการบุกรุกต้นน้ำเท่านั้น หากแต่การรุกล้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำพร้อมกับสารเคมีแบบเข้มข้นที่ใช้ในการเกษตรรวมทั้งการทำประปาภูเขาเพื่อนำน้ำไปใช้ในการเกษตรสร้างแรงสะเทือนให้สายน้ำก็ส่งผลต่อระบบนิเวศของสัตว์ในแม่น้ำเช่นกัน

“ที่นี่คือแม่น้ำสายเดียวกันกับที่ชาวเชียงใหม่ใช้ เป็นสายเดียวกันกับแม่น้ำที่ไหลรวมกันเป็นเจ้าพระยา การใช้น้ำมากตั้งแต่ต้นน้ำ ก็จะเหลือน้ำที่ไหลลงไปในเมืองน้อย ซึ่งการใช้น้ำในเมืองก็ใช้ในอุตสาหกรรม โรงแรม และสาธารณูปโภคซึ่งล้วนแต่ใช้น้ำจำนวนมาก ผมจึงอยากพามาดูว่าต้นน้ำในจินตนาการของคุณกับสภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไร ออกมาดู มารู้ มาเห็น ให้เราได้สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมจัดค่ายเยาวชน และเปิดรับอาสาสมัครมาช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำ ทั้งทำแนวกันไฟ และเก็บขยะบนดอยหลวงเชียงดาว เพื่อหวังว่าจะเกิดการสื่อสารและสร้างความห่วงใยส่งต่อไปยังคนอื่นๆ ที่มีใจรักผืนป่าและสายน้ำ โดยหวังว่าจะส่งผลต่อพื้นที่ป่าอื่นๆ ภาพที่เห็นหรือประสบการณ์ที่ได้รับจะซึมซับเข้าไปภายใน เมื่อใดที่พร้อมก็มาช่วยกัน”

จากป่าต้นน้ำที่เป็นธารน้ำเล็กๆ ผ่านป่าไปเป็นระยะทางราว 10 กม. จากพื้นที่ป่าหัวโล้น ความร้อนจากไฟที่เผาพื้นที่เตรียมปลูกข้าวโพด สีน้ำตาลแดงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว ธารน้ำกว้างขึ้น มีน้ำมากขึ้น พื้นที่นี้คือหมู่บ้านโป่งอางที่มีคนพื้นราบ ชาวไทยใหญ่และกะเหรี่ยงอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่บ้านตัวอย่างของการอนุรักษ์ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว สิงห์คำ แก้วสุข กรรมการหมู่บ้านโป่งอาง บอกถึงสิ่งที่ให้น้ำปิงที่โป่งอางใสและมีชีวิตชีวาคือการดูแลป่าและกฎการแบ่งปันที่ตั้งไว้ร่วมกัน พื้นที่ป่าของที่นี่ถูกแบ่งเป็นป่าทำกิน ป่าใช้สอย และป่าอนุรักษ์ มีเวรยามตรวจตราในป่าหากพบผู้บุกรุกจะต้องผลักดันให้ออกไป ความเข้มแข็งนี้จึงทำให้โป่งอางมีน้ำเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี มีพื้นที่สีเขียวมากพอจะปกป้องชาวบ้านจากหมอกควัน แม้จะบอกว่าในระยะ 10 ปีมานี้ป่าเปลี่ยนไปมากก็ตามที

ลมหายใจอันแผ่วเบา ของต้นน้ำ

ความหวังและพลังต่อลมหายใจ

บ่อยครั้งที่เราพูดถึงการปลูกป่า ซึ่งหลายคนมองว่านี่คือทางออกและแก้ปัญหา แต่แท้จริงแล้วนิคมบอกว่าปัญหาที่ป่าต้นน้ำกำลังเผชิญสลับซับซ้อนมากกว่านั้น และมีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ดังนั้นต้องใช้ยาแก้หลายขนาน ต้องทำซ้ำเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากชาวบ้านเจ้าของพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน “ถ้าเรามองไปที่ชาวบ้านสายตาที่มองไปที่เขาอย่าทำให้เขาเป็นผู้ร้าย เพราะการช่วยคนเท่ากับเราได้ช่วยป่า เราจะมุ่งเน้นอนุรักษ์อย่างเดียวไม่ได้”

เกษร สังขโบสถ์ เจ้าของบ้านไร่สายหมอก หนึ่งในสถานที่ตั้งแคมป์ในเชียงดาว เธอเป็นคนนอกพื้นที่ที่ไม่เพียงแต่ตกหลุมรักหนุ่มเชียงดาวเท่านั้น แต่อ้อมกอดที่สวยงามของเชียงดาวคือสิ่งที่ทำให้เธอไม่ไปไหนและยึดมั่นที่จะตักรักษาเชียงดาวอีกหนึ่งแรง

“ในฐานะที่เราอาศัยอยู่ในพื้นที่ก็อยากทำอะไรให้เมืองที่เราอยู่ดีขึ้น แม้จะรู้ว่าการทำให้กลับมาให้เหมือนเดิม 100% มีโอกาสน้อย แต่ถ้าเราทำให้กลับมาได้ 20-30% ก็ยังดี ถ้าเรานิ่งเฉยความเสียหายกับป่าต้นน้ำและพื้นที่อุทยานก็จะเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนตัวเราปลูกป่าเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ก็เห็นด้วยกับพี่นิคมว่าการทำเพียงผิวเผินไม่ได้สำเร็จในระดับการเข้าถึงจิตวิญญาณ เราจึงมาร่วมในการเดินทางตามหาต้นน้ำแม่ปิงในครั้งนี้ด้วย เพื่อมองหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและสิ่งที่ชาวเชียงดาวคนหนึ่งพอจะช่วยได้” 

ลมหายใจอันแผ่วเบา ของต้นน้ำ

 

ในเวลาเดียวกันที่คนพื้นที่นำทางไปดูพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง เป็นเวลาเดียวกันกับ อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำทีมนักศึกษาสถาปัตยกรรมชั้นปีที่ 1 กว่าร้อยชีวิตมาเรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับชาวบ้านด้วยการนำวิชาความรู้มาประยุกต์ใช้

“ปัญหาที่เรารับรู้จากเชียงดาว คือ ภัยแล้งและพื้นที่ต้นน้ำถูกคุกคาม ก่อนหน้านี้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจว่าสิ่งที่เราพอทำได้มีอะไรบ้าง ก็ได้ข้อสรุปมาว่า ในพื้นที่เชียงดาวมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าทึ่งมาก เป็นเส้นทางที่มีเรื่องราวในเชิงพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันในเชิงนิเวศก็มีความหลากหลายและสวยงาม แต่เส้นทางนี้ยังต้องมีการจัดการพื้นที่ เพิ่มจุดให้ความรู้ และมีกราฟฟิกที่เชิญชวนให้คนอยากเดินป่า

นอกจากนี้ ในงานที่เราถนัดอีกอย่างหนึ่งคือการดูแลต้นไม้ใหญ่ ในพื้นที่เชียงดาวมีทิวต้นยางแดงอายุหลายร้อยปี เป็นเส้นทางที่สวยงามมาก แต่ต้นไม้หลายต้นยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน และอีกหลายต้นต้องการการรักษา หน้าที่ของพวกผมก็คือเก็บข้อมูลต้นไม้ใหญ่และเข้าไปรักษาต้นไม้ที่ป่วยเพื่อให้เขามีอายุยืนที่สุด ซึ่งเท่าที่เห็นก็มีหลายร้อยต้น น่าจะต้องลงพื้นที่กันอีกหลายรอบ ทั้งหมดนี้เราได้ประสานทั้งกับผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อุทยาน และเจ้าของพื้นที่แล้ว ผมว่าการที่เด็กได้มาเห็นต้นตอของปัญหาจะทำให้เขาเข้าใจว่าหมอกควันในเมืองที่มากขึ้น น้ำปิงที่น้อยลง หน้าแล้งที่รุนแรง มันมีผลต่อเนื่องด้วยกันหมด” อาจารย์บรรจง กล่าวสรุป

ลมหายใจอันแผ่วเบา ของต้นน้ำ

เสียงจากอาสา

การ์ตูน-วรศิริ ดีระพัฒน์ เลขาฯ สาวที่ถนัดนั่งตากแอร์เย็นฉ่ำมากกว่าการเดินป่า เธอบอกว่าตัวเองเป็นคนเมืองที่หลบความร้อนของป่าเมืองออกมาตามหาความร่มเย็นของป่าต้นน้ำ และหวังว่าการมาค่ายเยาวชนเชียงดาวจะได้รูปสวยๆ กลับไป แต่สิ่งที่เธอพบต่อหน้าต่อตาคือไฟป่า

“ถ้าพูดถึงป่าต้นน้ำก็เคยคิดว่าจะต้องเดินผ่านป่าลึก มีต้นไม้ใหญ่อยู่เต็มสองข้างทาง มีสีเขียวชุ่มฉ่ำและได้ยินเสียงน้ำไหลไม่ขาดสาย แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือป่าต้นน้ำถูกขนาบข้างด้วยไร่กะหล่ำปลี ไร่พริก ไร่กระเทียม และยังมีท่อน้ำขนาดใหญ่ หรือที่เขาเรียกว่าประปาภูเขาวางอยู่เพื่อนำน้ำจากต้นน้ำไปใช้ เราเห็นการใช้น้ำมากตั้งแต่ต้นน้ำ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่น้ำจะเหลือน้อยในปลายทาง”

วันที่สองของการมาค่ายเยาวชนเชียงดาว การ์ตูนและเพื่อนๆ ได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากคือการได้เจอไฟป่าต่อหน้าต่อตา ได้ช่วยดับไฟ

ลมหายใจอันแผ่วเบา ของต้นน้ำ

“เป็นประสบการณ์ที่เปิดมุมมองของคนเมืองอย่างเราได้มากมาย แม้ว่าวันนี้จะยังไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือป่าต้นน้ำได้อย่างไรบ้าง แต่ในฐานะคนที่ใกล้ชิดกับโลกโซเชียลก็คงสื่อสารให้คนเมืองอื่นๆ ได้เห็นสภาพของต้นน้ำแบบที่เราได้เห็น และสิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงภายในของตัวเอง เรามองว่าป่าต้นน้ำกับคนเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ปัญหาทุกอย่างเชื่อมโยงกันทั้งหมด ถ้าป่าต้นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ มีปริมาณมากพอ คนที่อยู่ปลายน้ำก็สบายใจที่จะใช้ และเชื่อว่าถ้าได้มาเห็นไฟป่าอย่างที่เราเห็น เขาจะต้องสะเทือนใจและสงสารต้นไม้ไม่แพ้กัน”

บทสรุปของการเดินทางครั้งนี้ยังไม่ได้ถูกบันทึกแบบรวบยอด แต่อย่างน้อยในหน้าบันทึกของอาสาสมัครและผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้ ต้องเต็มไปด้วยเขม่าควันไฟป่าและต้นไม้ที่เกิดในใจทุกคนเรียบร้อยแล้ว รอเพียงวันต้นกล้าเติบโต