posttoday

ปราสาทพระวิหารจำลองกระทบความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาอย่างไร?

12 พฤษภาคม 2559

เฟซบุ๊ก Supalak Ganjanakhundee

เฟซบุ๊ก Supalak Ganjanakhundee

ปราสาทพระวิหารจำลองกระทบความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาอย่างไร?

คนที่สร้างปราสาทพระวิหารจำลองบนพื้นที่ขนาด 800 ตารางเมตรที่ผามออีแดงคงประหลาดใจกับคำสั่งกองทัพบกที่ให้ทุบทิ้งเพราะเกรงกระทบความสัมพันธ์กับกัมพูชานี่ว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร? แถมมีการย้ายผบ.หน่วยทหารผู้ริเริ่มโครงการอีก ชักจะไปกันใหญ่

เหตุผลที่หน่วยงานใดก็ไม่กล้าแถลงมีดังต่อไปนี้นะครับ

1 คนกัมพูชารู้ซึ้งว่าชนชั้นสูงของไทยจำนวนหนึ่งอยากได้ปราสาทหลังนี้ (ความจริงก็เกือบจะอยู่สภาพเศษหินศิลาแลงแล้วแหละ) มาไว้เป็นสมบัติของชาติ เพราะทึกทักเอาว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลบูรพามาแต่เดิม แต่ความจริงแล้วมณฑลบูรพานั้นสยามก็ใช้กำลังยึดมา การครอบครองปราสาทพระวิหารในปี 1954-1962 นี่ก็โดยอาศัยกำลังทหาร ในความเห็นของชาวกัมพูชาแล้ว ไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมายและประวัติศาสตร์อะไรสนับสนุนข้ออ้างของไทยเลย การสร้างปราสาทจำลองแบบนี้มองจากมุมของคนธรรมดาๆก็คือก๊อปกันหน้าด้านๆแหละ ถ้าไม่เข้าใจว่าความรู้สึกนี้เป็นแบบไหนก็ลองนึกถึงตอนที่จีนก๊อปสถานที่ทางศาสนาอะไรสักอย่างหนึ่งในประเทศไทยไปสร้างที่เมืองจีนนั่นแหละแบบเดียวกัน

2 ในแง่ข้อเท็จจริงพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างผามออีแดงและภูเขาพระวิหารที่ตัวปราสาทของจริงตั้งอยู่นั้น ยังไม่ได้รับกำหนดให้ชัดว่าแค่ไหน พื้นที่บริเวณนี้มีความคลุมเครือ เพราะเส้นบนแผนที่ Annex I ตามการตีความของศาลโลกเมื่อ 11 พ.ย. 2013 นั้นยังไม่ได้ถ่ายทอดลงบนพื้นที่จริงว่ามันอยู่ตรงไหนกันแน่ คณะกรรมการร่วมไทยกัมพูชาว่าจะกำหนดกันมาแต่ครั้งที่ศาลสั่งแล้ว แต่เหตุความวุ่นวายทางการเมืองภายในของไทยก็เลยทำให้มีอุปสรรค ในสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ควรจะไปสร้างอะไรทั้งสิ้นแหละ

3 กระทรวงกลาโหมรู้สึกเสียหน้านิดหน่อยตั้งแต่การเจรจาขอให้เปิดประตูปราสาทด้านผามออีแดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นได้จากฝั่งไทยเมื่อเดือนมีนาคมตอนเตียบัณห์มาเยือนเมืองไทยแล้วไม่สำเร็จ แต่ความพยายามนั้นยังไม่เลิกล้ม ทางฝ่ายกัมพูชาก็ไม่ได้ตัดบัวไม่เหลือใยเสียเลยทีเดียว เตียบัณห์ ฮุนเซน นั้นเข้าใจหัวอกคนไทยดีอยู่ ความสัมพันธ์ทางฝ่ายทหารก็ถือว่าดี แต่เขาก็กลัวว่าการเปิดประตูฝั่งไทยจะทำให้เขาเสียการเมืองและเสียรายได้ เพราะฝั่งบ้านโกมุยนั้นก็กำลังพัฒนากันอยู่ ที่สำคัญก็ยังไม่ค่อยมั่นใจหรอกว่าผู้รักชาติของไทยคณะไหนจะถือโอกาสขึ้นไปโบกธงไตรรงค์บนนั้นอีก ก็เลยชะลอหรือรืๆรอๆอยู่จนปัจจุบัน การไปสร้างปราสาทจำลองที่ตรงนั้นก็เหมือนเป็นการบอกว่า "ฉันไม่ง้อเธอไม่ให้ดูของจริงฉันก็มีของก๊อปของฉัน" ถ้าทำแบบนั้นก็แปลว่าสปิริตที่จะร่วมมือพัฒนาบริเวณนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันมันก็หายไปด้วย

4 การสร้างของจำลองเพื่อวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวนั้นก็ไม่แปลกหรอก ของก๊อปเพื่อประโยชน์แบบนี้มีอยู่ทั่วโลก ความจริงปราสาทเทียมหลังนี้ก็ไม่ใช่หลังแรกในประเทศไทยหรอก ในตัวจังหวัดก็มีหลังหนึ่ง ซุกอยู่ในซอกหลีบแห่งอารยะธรรมแถวบ้านอาจารย์เต๊ะ Akkharaphong Khamkhun นั่นแหละ หลังนั้นสร้างขึ้นปลอบใจไทยทั้งชาติก็อย่างที่รู้กัน แต่ว่าการไปสร้างปราสาทจำลองเคียงตัวจริงนี่มันดูเกินไปสักหน่อย มองจากอีกมุมหนึ่งมันเหมือนท้าทายดวงวิญญาณของกษัตริย์สุริยวรมันเลยทีเดียวที่บังอาจเอาปูนซีเมนต์ปั้นกากๆ ไปเทียบเทียมวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งสิกขาคีรีสวารา

5 อันนี้ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา แต่เป็นความรู้สึกส่วนตัวในฐานะมีนิวาสถานอยู่ที่นั่น โปรดอย่าอ้างความต้องการของคนท้องถิ่นเลย คือพวกเราไม่รู้เรื่อง (จริงๆให้ดิ้นตาย ยอมรับว่าตกข่าว หลังสงกรานต์ไปบ้านภูมิซรอลไม่มีแม่ค้าไก่ย่างคนไหนแถวนั้นพูดถึงเรื่องนี้เลย) เรื่องนี้พวกธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองกับกองทหารและการอุทยานสมคบกันทำขึ้นมากันเอง ว่าที่จริงคนบ้านภูมิซรอลหมดโอกาสทำมาหากินกับปราสาทพระวิหารตั้งแต่พวกท่านก่อศึกในปี 2008 โน่นแล้ว ถึงวันนี้พอไม่ได้ปราสาทตัวจริงมา ก็เอาปูนปั้นของเด็กเล่นมาหลอก ถามจริงเถอะ มีนักท่องเที่ยวที่ไหนอยากเดินทางรอนแรมแสนไกลเพื่อไปดูของกระจอกๆแบบนั้นบ้าง ตอนโปรโมตทะเลหมอกผามออีแดงก็ยังดูมีสติปัญญากว่านี้เยอะเลย ตอนนี้ไหงทำเหมือนคนสิ้นคิดแบบนี้

6 แนวทางที่ถูกต้องสำหรับการพัฒนาพื้นที่แถบนั้นเพื่อการท่องเที่ยวคือ สร้างความสัมพันธ์อันดีกัมพูชา อดทนเจรจาให้เขาเห็นประโยชน์แห่งการร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่และผู้คนแถวนั้น เลิกล้มความคิดที่จะเอาปราสาทพระวิหารมาครอบครอง เรื่องวาทกรรมเสียดินแดน บ้าบอคอแตกอะไรนั้น พอกันเสียที มันเป็นมรดกโลกไปแล้ว แปลว่ามนุษยชาติต้องร่วมมือสร้างสรรค์ด้วยกัน จบครับ

ที่มา https://www.facebook.com/supalak.ganjanakhundee/posts/484306165097320?fref=nf&pnref=story