มวยไทย ไปไกลในต่างแดน
เมื่อ 30 ปีที่แล้วในช่วงเวลาที่ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี แผ่ขยายอิทธิพลในวงการกีฬาศิลปะการต่อสู้ไปทั่วโลก
โดย...โยธิน อยู่จงดี
เมื่อ 30 ปีที่แล้วในช่วงเวลาที่ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี แผ่ขยายอิทธิพลในวงการกีฬาศิลปะการต่อสู้ไปทั่วโลก แต่มวยไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมวยแนวตั้งสู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก กลับหลบอยู่ในมุมมืดไร้แสงสปอตไลต์ใดๆ ไปโฟกัสให้เจิดจรัสเหมือนเช่นมวยอื่นๆ แม้กระทั่งคนไทยด้วยกันเองก็มีน้อยคนนักที่อยากจะเรียนมวยไทย
แต่เวลานี้กระแสความนิยมในมวยไทยกำลังทะยานขึ้นสู่ความนิยมของคนทั้งโลก เพราะมีชาวต่างชาติมากมายเหลือเกินที่มีความประสงค์อยากจะเรียนมวยไทยมากกว่าศิลปะการต่อสู้อื่น ซึ่งสิ่งที่เรากล่าวนั้นไม่ได้เกินจริงแม้แต่น้อย เพราะที่ อีโวลฟ์ มิกซ์ มาร์เชี่ยล อาร์ต (Evolve Mixed Martial Arts) ประเทศสิงคโปร์ ผู้เรียนกว่า 95% ของที่นี่เลือกที่จะเรียนมวยไทยเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งที่มีบราซิลเลียนยิวยิตสู มวยปล้ำ และอื่นๆ ให้เลือกเรียนพร้อมกัน เป็นสิ่งชี้ชัดได้เป็นอย่างดีว่ามวยไทยได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ มีจำนวนผู้เรียนมวยไทยเต็มทุกวัน ทุกช่วงเวลา ทำให้โซนการสอนศิลปะการต่อสู้อื่นเงียบเหงาลงไปถนัดตาเลยทีเดียว
ครูมวยรายได้หลักแสน
ชาตรี ตรีศิริพิศาล เจ้าของฉายา ชาตรี ศิษย์ยอดธง นักธุรกิจหมื่นล้าน ผู้มีอดีตเป็นนักมวยไทยเก่าและเจ้าของธุรกิจอีโวลฟ์ มิกซ์ มาร์เชี่ยล อาร์ต ประเทศสิงคโปร์ เล่าว่า ที่จริงแล้วมวยไทยในต่างประเทศนั้นได้รับความนิยม มีคนสนใจเข้ามาเรียนมวยไทยเป็นจำนวนมาก ในประเทศสิงคโปร์ความนิยมในการเรียนมวยไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2552 หลังจากตั้งค่ายมวยอีโวลฟ์แห่งนี้ คนที่มาเรียนมวยไทยก็มีตั้งแต่ลูกๆ ของเจ้าของธุรกิจ คุณหมอที่อยากจะเรียนมวยไทย ไปจนถึงคนแก่อายุ 60 กว่าปีก็มาเรียนมวยไทยที่นี่
สาเหตุที่ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่สนใจมาเรียนมวยไทยมากกว่าศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวชนิดอื่น ก็เพราะมวยไทยมีอาวุธทั้งหมัด เข่า ศอก แข้ง แทบทุกส่วนของร่างกายใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวได้หมดและใช้ได้จริง เขามาเพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเอง ออกกำลังกาย และต้องการลดน้ำหนักด้วยในตัว
อีกอย่างหนึ่งก็คือชาวต่างชาติต่างรู้กิตติศัพท์ของมวยไทยเราเป็นอย่างดี จนเวลานี้เรียกได้ว่ามวยไทยกลายเป็นเทรนด์ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกไปแล้ว
ชาตรี ศิษย์ยอดธง
ครูมวยไทยที่มาสอนที่นี่เป็นคนไทยทั้งหมด และล้วนแต่เป็นฝีมือระดับแชมป์ที่มีประสบการณ์ขึ้นชกมวยไทยมากกว่า 200-300 ครั้ง ที่เมืองไทยนักมวยไทยเหล่านี้เมื่อแขวนนวมก็จะไปประกอบอาชีพอื่นๆ อย่าง ขับแท็กซี่ เป็น รปภ. บ้างก็เป็นบอดี้การ์ด หรือกลับไปทำเรือกสวนไร่นา และทิ้งความฝันของพวกเขาที่เคยรุ่งเรืองไว้เบื้องหลัง
แต่กับที่นี่นักมวยไทยทุกคนคือมาสเตอร์ เป็นปรมาจารย์ด้านมวยไทยที่ชาวต่างชาติให้ความเชื่อถือยกย่อง เพราะเขาได้เรียนมวยไทยกับคนไทยที่เป็นต้นตำรับมวยไทยอย่างแท้จริง
“รายได้ครูมวยไทยในต่างประเทศที่รับสอนตามยิมต่างๆ เมื่อตีเป็นเงินไทยส่วนมากจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ที่อีโวลฟ์พวกเขามีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 1.2 แสนบาท สูงสุดอยู่ที่ 5 แสนบาท/เดือน ถือว่าเป็นเงินเดือนที่สูงสุดในโลก และไม่มียิมไหนกล้าให้กับครูมวยไทยได้เท่านี้ แต่มีข้อกำหนดเพียงข้อเดียวก็คือคุณต้องเป็นแชมป์ในเวทีใหญ่ของเมืองไทยเท่านั้น ถึงจะสามารถเข้ามาเป็นครูมวยไทยของที่นี่ได้
“สาเหตุที่ผมให้เงินเดือนกับครูมวยไทยเหล่านี้สูง เพราะผมเคยรับรู้ถึงความลำบากความยากจนของนักมวยไทยเหล่านี้ดี สมัยผมอายุ 13 ผมได้มีโอกาสไปเรียนมวยไทยกับครูยอดธงที่พัทยา เด็กๆ คนอื่นในค่ายมวยล้วนแต่เป็นเด็กยากจนที่มาฝึกมวยไทยด้วยความฝันว่าวันหนึ่งจะลืมตาอ้าปากได้ในสังคม ตอนนั้นครอบครัวของผมยังดีอยู่ จนถึงวันหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวล้มละลาย ผมกลายเป็นเด็กยากจน ผมต้องใช้มวยไทยหาเลี้ยงชีพสมัยเรียนที่อเมริกา มวยไทยในอเมริกานั้นเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก ถ้าไม่มีมวยไทยหาเลี้ยงชีพ ถ้าไม่มีมวยไทยที่สอนให้ผมใจสู้ก็คงไม่มีวันนี้
“ในสมุดบันทึกความฝันของผมเมื่อตอนอายุ 19 ผมอยากมีค่ายมวยไทยเป็นของตัวเอง วันนี้เมื่อผมมีค่ายมวยเป็นของตัวเองถึงจะเป็นเอ็มเอ็มเอ แต่ผมก็ไม่ลืมมวยไทยและให้ผลตอบแทนคุ้มกับค่าตัวของพวกเขาเหล่านี้”
นักมวยไทยในต่างแดน
“เมื่อตอนผมอายุ 28 ผมเริ่มคิดว่าเส้นทางมวยไทยคงเดินมาถึงจุดสิ้นสุดในสายอาชีพนี้แล้ว เพราะค่าตัวเราเริ่มตก ขึ้นชกน้อยลงรายได้ก็น้อยลง จนกระทั่งมีชาวญี่ปุ่นชวนผมไปชกมวยคิกบ็อกซิ่งที่ญี่ปุ่น ผมจึงตอบตกลงและเดินทางไปชกในฐานะนักมวยไทยเต็มตัว คราวนั้นผมเตรียมเสื้อผ้าไปแค่ชุดเดียว คิดว่าขึ้นชกเสร็จก็จะเดินทางกลับเมืองไทยเลย แต่ปรากฏว่าพอชกชนะ ทางญี่ปุ่นขอให้เราอยู่ต่อในฐานะครูสอนมวยไทย เลยอยู่สอนมวยไทยที่ญี่ปุ่น 6 ปี ก่อนที่จะย้ายมาเป็นครูมวยไทยที่อีโวลฟ์ สิงคโปร์
“ตอนที่สอนมวยไทยที่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเขาค่อนข้างสนใจเรียนมวยไทยอย่างมาก แม้จะมีศิลปะป้องกันตัวประจำชาติของเขาเองก็ตาม แต่ชาวญี่ปุ่นก็รู้ดีว่ามวยไทยนั้นแข็งแกร่งแค่ไหนก็สนใจอยากจะเรียน ไม่เพียงแค่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่สนใจเรียนมวยไทย ชาวจีนก็มีความสนใจเรียนมวยไทยไม่แพ้ประเทศอื่นเหมือนกัน มีเพื่อนนักมวยไทยหลายคนหลังแขวนนวมแล้วก็ไปสอนมวยไทยอยู่ที่ประเทศจีน ถือว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับนักมวยไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการในยิมมวยหลายประเทศ”
“หรือทางหนึ่งที่ทำให้นักมวยไทยมีที่ยืน เมื่ออายุมากขึ้นก็คือการขึ้นชกในรายการอื่นนอกจากมวยไทยอย่างคิกบ็อกซิ่งของญี่ปุ่น หรือการต่อสู้ในรูปแบบเอ็มเอ็มเอ เพียงแค่เราปรับตัวให้เข้ากับกฎ กติกา เรียนรู้การป้องกันตัวจากศาสตร์อื่นแล้วกลับเข้ามาสู้ในรูปแบบมวยไทยที่เราได้เปรียบก็สามารถสู้ได้ทุกรายการแข่งในโลก”
ธำรง ทองใย หรือ “เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค” เจ้าของฉายา “ไอ้ตาดุ” เจ้าของแชมป์เวทีมวยลุมพินี 3 สมัย และแชมป์มวยเอ็มเอ็มเอ รายการ วัน แชมเปี้ยนชิพ (ONE Championship) รุ่นสตอว์เวท 115 ปอนด์ วัย 38 ปี เล่าชีวิตการเป็นนักมวยและครูมวยไทยในต่างแดน
เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค
สอนต่างชาติต้องทำให้ง่าย
ธีระ พงษ์วัน หรือคนไทยรู้จักกันในชื่อ ยอดสนั่น 3เค แบตเตอรี่ อดีตแชมป์มวยสากล เจ้าของฉายาไมค์ ไทสัน เมืองไทย หรือ เงาปีศาจ ซึ่งเวลานี้เขาเป็นครูสอนมวยไทยและมวยสากลให้กับอีโวลฟ์ เล่าชีวิตการเป็นครูมวยไทยในสิงคโปร์ว่า
“ตอนแรกก็ค่อนข้างยากในเรื่องของการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องภาษาที่จะสื่อสารกับลูกศิษย์ แต่ยังดีว่ามวยไทยเป็นกีฬา สามารถสื่อสารทางภาษากายได้ง่าย การสอนมวยไทยให้กับชาวต่างชาติจะสอนแบบที่เราเคยฝึกมาไม่ได้ อย่างสมัยผมฝึกมวยไทยต้องไปกินนอนอยู่กับครูมวย ตื่นเช้าตี 5 วิ่ง 6 กม. กลับมาที่ค่ายซ้อมชกกระสอบทราย พอตกบ่ายลงนวมต่อ คงรับไม่ไหวแน่ๆ
“แต่ที่นี่เราก็จะสอนหลักในการออกหมัด ตีศอก แทงเข่า ฝึกซ้อมร่างกายให้แข็งแรงเพื่อพร้อมที่จะสู้ เวลาเข้าเรียนก็จะมีใบลงเวลาว่าลูกศิษย์คนนี้มาเข้าเรียนกี่ชั่วโมงแล้ว ฝึกไปได้ถึงไหนแล้ว เมื่อครูมวยเห็นว่าลูกศิษย์คนนี้สามารถออกหมัดออกอาวุธได้อย่างถูกต้อง ก็จะใส่การฝึกอีกระดับเข้าไปจากพื้นฐานเป็นเรื่องของการใส่ลูกไม้มวยไทยเข้าไป แล้วก็ยกระดับขึ้นไปอีกเมื่อครูฝึกเห็นว่าลูกศิษย์มีความพร้อมที่จะฝึกถึงระดับต่อไป หรือถ้าอยากจะฝึกถึงขั้นขึ้นชกเราก็สอนพวกเขาได้หากเขาต้องการ
“ถามว่าเมื่อเทียบกับความแข็งแกร่งของร่างกายระหว่างคนที่ฝึกมวยไทยแบบเดิมที่ฝึกหนักในทุกวัน กับคนที่ฝึกแบบยิมสมัยใหม่ ต้องบอกว่าพอๆ กัน สมัยก่อนเราฝึกมวยไทยอย่างหนักทุกวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่ง แต่เดี๋ยวนี้ในต่างประเทศมีการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยพัฒนา ไม่จำเป็นต้องฝึกหนักทั้งวันทุกวันเหมือนนักมวยไทยก็มีร่างกายที่แข็งแกร่งเหมือนนักมวยไทยได้เหมือนกัน
“สำคัญคือการฝึกซ้อมจนร่างกายเคยชิน ชกกระสอบทรายทุกวันมือก็แข็งขึ้น หมัดก็หนักขึ้น ฝึกหลบหลีกปัดป้องทุกวัน เวลาใช้จริงแทบจะไม่ต้องคิดเลยสิ่งเหล่านี้จะออกมาเอง”
ครูมวยไทยเป็นที่ต้องการทั่วโลก
ชาตรี ทิ้งท้ายว่านักมวยไทยในต่างประเทศถือว่าเป็นที่ต้องการของหลายๆ ยิมที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยพัฒนามวยไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นอีกหนทางหนึ่งของนักมวยไทยที่มีอายุมากขึ้นก็อาจจะหาทางออกมาเป็นครูมวยในต่างประเทศ หรือเปลี่ยนแนวมาสู้ในเวทีอื่นดูบ้างก็ยังคงเป็นหนทางที่สดใสกว่าเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นที่เราไม่ได้มีใจรักในสิ่งนั้น