ชาวไต ที่คิดถึง ณ บ้านเมืองปอน
หากความคิดถึงทำให้บินได้ ตัวและหัวใจคงไปอยู่บ้านเมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เสียตอนนี้
โดย...กาญจน์ อายุ
หากความคิดถึงทำให้บินได้ ตัวและหัวใจคงไปอยู่บ้านเมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เสียตอนนี้ เพราะตั้งแต่บอกลาแม่คำหลู่ เจ้าของโฮมสเตย์ที่ได้ไปกางมุ้งนอนบนชานบ้าน ก็คิดถึงแต่กลิ่นถั่วเน่าและรสอาหารที่ติดเค็มหน่อยๆ ของรสมือแม่ คิดถึงใต้ถุนบ้านที่นอนดูละครกับแม่ และคิดถึงรอยยิ้มของแม่ที่ทำให้นึกถึงแม่ตัวเอง
บ้านเมืองปอนมีระบบจัดการด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมื่อปี 2555 ซึ่งเริ่มไปพร้อมๆ กับบ้านเมืองแพม อ.ปางมะผ้า (อ่านย้อนหลังได้ในฉบับเสาร์ที่ 14 พ.ค. 2559) แต่เพราะการเดินมายังขุนยวมง่ายๆ กว่า ทำให้บ้านเมืองปอนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวที่มองหาโฮมสเตย์ สุวิทย์ วารินทร์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน เล่าถึงบ้านเกิดตนให้ฟังว่า เมืองปอนเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทใหญ่หรือชาวไตจำนวนกว่า 1,500 คน เป็นชุมชนที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมอันดับหนึ่งของ จ.แม่ฮ่องสอน เพราะชาวบ้านยังมีประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติครบ 12 เดือนอย่างปอยส่างลอง บุญบั้งไฟ จองพารา และเขาวงกตที่ยังจัดแบบดั้งเดิมและยิ่งใหญ่
ตักบาตรพระหน้าบ้านแม่คำหลู่
ทั้งยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ครั้งหนึ่งทหารญี่ปุ่นเคยใช้ขุนยวมเป็นฐานทัพเพื่อต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในเมียนมา และใช้บ้านเมืองปอนเป็นที่พักอาศัยระหว่างทำเส้นทางเชื่อมไปยังเมียนมาและอินเดีย
ระหว่างบรรยายอยู่นั้น พี่กมล ฝ่ายประสานงานกลุ่ม ได้แสดงแผนที่เส้นทางอาหารการกินและศิลปหัตถกรรมให้เห็นภาพรวมและฐานกิจกรรมทั่วหมู่บ้าน ส่วนโฮมสเตย์มีจำนวน 20 หลัง โดยแต่ละครั้งจะรับนักท่องเที่ยวไม่เกิน 60 คน บ้านหลังสำคัญคือ บ้านแม่คำหลู่ เติ๊กอ่อง ลักษณะเป็นเรือนไตโบราณใต้ถุนสูง หลังคามุงใบตองตึง1,200 ตับ มากที่สุดใน จ.แม่ฮ่องสอน บริเวณบ้านประกอบด้วย ห้องน้ำแยกต่างหากเรือนตากกระเทียม ห้องครัวใต้ถุนบ้าน ส่วนบนเรือนหลักเป็นห้องนอนใหญ่และชานกว้างรับแขก
ตาแหลงคำฉลุกระดาษทำจองพารา
ชาวเมืองปอนมีอาชีพทำนา เกือบทุกหลังมีที่นาหลังหมู่บ้าน ปลูกกระเทียม กระเทียมที่นี่เก็บไว้ได้นาน กลีบเล็ก ไม่ลีบ กลิ่นฉุนอร่อย และปลูกถั่วเหลือง สำหรับทำเป็นถั่วเน่า ซึ่งเป็นวิธีการถนอมอาหารเพื่อนำมาใช้ในการปรุงรส “ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเรามีอาชีพมีงานที่ต้องทำ”พี่สุวิทย์ กล่าว “และถ้าการท่องเที่ยวมันมาทำลายวิถีชีวิตของเราเมื่อไหร่ เราก็จะหยุดรับนักท่องเที่ยว”
กิจกรรมในหมู่บ้านเป็นไปอย่างเรียบง่ายนั่นคือ เดินไปตามบ้านต่างๆ ไปขอความรู้ในสิ่งที่บ้านนั้นถนัด ช่างน่ารักตรงที่ไม่มีการจัดตั้ง ไม่บังคับซื้อของ และแทบจะไม่มีคำว่านักท่องเที่ยวเลยด้วยซ้ำ เพราะทุกคนเป็นเหมือนญาติห่างไกลที่กลับมาเยี่ยมบ้านคุณตาคุณยายประมาณนั้น
นวดจับเส้นแผนไต
อู๊ด ไกด์ท้องถิ่น นัดเจอกันที่บ้านแม่คำหลู่เป็นจุดสตาร์ทเพื่อนำเดินไปยังจุดต่างๆ เริ่มที่ บ้านแหลงคำ คงมณี คุณตาแหลงคำเป็นสล่าทำจองพารามานาน 60 ปี ลักษณะคล้ายปราสาท โครงทำจากไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยกระดาษสีสดใส และทำลวดลายด้วยการฉลุกระดาษ จองพาราเป็นองค์ประกอบหลักในประเพณีแห่จองพาราที่จัดขึ้นทุกปีช่วงวันออกพรรษา ซึ่งถือเป็นงานศิลปะที่วิจิตรเพราะต้องประณีตในการฉลุลาย
จากนั้นข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามจะเป็นบ้าน กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารดอกเอื้องงาม เหล่าแม่บ้านกำลังง่วนกับการทำขนมข้าวปองต่อ ฝั่งคนชมก็ดูไปชิมไปและซื้อติดมือกลับไปกินแกล้มกับกาแฟพรุ่งนี้เช้าระหว่างเดินจากบ้านนั้นไปบ้านนี้ พี่อู๊ดบรรยายสองข้างทางให้ฟังว่า บ้านชาวไตมีเอกลักษณ์ตรงที่มีหลังคาสองจั่ว รอบบ้านมีระเบียงเชื่อมถึงกัน มีอาณาเขตรอบตัวบ้านปลูกพืชผักสวนครัว ส่วนใหญ่มีโรงเก็บกระเทียมและโรงเก็บข้าวไว้สำหรับใช้บริโภคในครอบครัว
บ้านป้าอู๊ดขายเสื้อไต
ฟังเสียงไกด์เจื้อยแจ้วไปตลอดทางจนถึง บ้านตัดเย็บผ้าไต ป้าอู๊ดเป็นช่างตัดเย็บประจำหมู่บ้าน ผลิตเครื่องแต่งกายของชาวไตที่แม้ว่าจะไม่ใช้การทอแบบดั้งเดิมแต่ก็รักษาดีไซน์ไว้ เป็นเสื้อผ้าฝ้ายแขนยาว ติดกระดุมหน้า และมีกระเป๋าอกเฉียงเพิ่มความโก้ ยกเว้นส่วนกระดุมที่ยังเย็บมือเม็ดต่อเม็ดเป็นรูปใบโพธิ์บ้าง ดอกพิกุลบ้าง ดอกหูกระต่ายบ้าง ซึ่งต้องใช้เวลาเย็บเม็ดละเกือบชั่วโมง
เมื่อมาได้ครึ่งทางไกด์อู๊ดได้พาไปกราบพระที่วัดบ้านเมืองปอน วัดที่ได้อิทธิพลจากเมียนมาทั้งลักษณะพระพุทธรูปสถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง และศิลปกรรมภายในวัดและพาไปไหว้ศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ที่ต้องบอกกล่างเวลามีแขกไปใครมาตามความเชื่อชุมชน เสร็จจากนั้นก็ล่วงเข้าสู่ยามเย็น เป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองปอนกลายเป็นสีซีเปียจากแสงสีเหลืองอุ่นของพระอาทิตย์ใกล้อัสดง แต่การเดินทางของนักท่องเที่ยวยังไม่จบแค่นั้น ไกด์อู๊ดยังพาไปชมอีกสองบ้านสุดท้ายคือบ้าน กลุ่มจักสานกุ๊บไต หรือหมวกไต เป็นภูมิปัญญาของนายองปุ้นไชยวิฑูรย์ จากไม้ไผ่หรือไม้ข้าวหลามสานลายละเอียดลักษณะคล้ายงอบของภาคกลางแต่รูปร่างเหมือนดอกเห็ดที่ยังบานไม่เต็มที่ ใช้งานได้ดีทั้งกลางแดดและกลางฝน
คัดเกรดหอมแดง
จากนั้นไกด์อู๊ดพาไปปิดฉากอย่างฟินาเลที่ บ้านทำข้าวปุ๊ก ขนมพื้นถิ่นที่ทำแสนง่ายและแสนอร่อยแป้งทำจากข้าวนำมานวดให้เหนียวเหมือนโมจิ โรยงาดำแล้วนวดต่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน เคล็ดลับอยู่ที่ครกไม้สากไม้และกำลังการนวดที่สม่ำเสมอ พ่อสอนว่าต้องนวดอย่างต่อเนื่องและไปในทิศทางเดียวกันตลอดเมื่อกลมเกลียวก็ตักขึ้นจิ้มน้ำตาลอ้อยเล็กน้อยช่วยตัดรสจากเนื้อแป้งได้ลงตัว
บ้านสุดท้ายเสร็จสิ้นไปพร้อมแสงสุดท้ายและเสียงท้องร้องหาข้าวเย็นพอดี ถึงเวลาต้องแยกย้ายบ้านใครบ้านมัน กลับไปกินข้าวเย็นฝีมือแม่ที่ป่านนี้คงเตรียมกับข้าวกับปลาไว้เรียบร้อย การอยู่โฮมสเตย์มีเสน่ห์แบบนี้ ตรงที่มีคนรอกลับไปกินข้าว มีคนบอกให้ไปอาบน้ำเพราะกลัวตกดึกอากาศจะหนาว มีคนให้นอนหนุนตัก และมีคนบอกให้ห่มผ้าก่อนนอน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องคิดถึงบ้านเมืองปอน เพราะนั่นคือความรู้สึกเดียวกับความคิดถึงครอบครัวที่รู้ว่าเราจะมีความสุขมากเมื่อกลับไป
ก่อนจาก พี่สุวิทย์ ฝากบอกว่า บ้านเมืองปอนน่าฝนจะสวยเป็นพิเศษ และมีเมนูเห็ดเผาะอร่อยเด็ดที่ไม่อยากให้พลาด ดังนั้นหากใครพร้อมมาชิมความสุขบ้านเมืองปอนก็พร้อมให้ความสุขทุกฤดูกาล
บ้านมุงหลังคาตองตึง
วัดบ้านเมืองปอน
จักสานพัดแบบโมเดิร์น
ยอดมะขาม เมนูฮิตฤดูร้อน
หอมกลิ่นถั่วเน่าในสำรับอาหารกลางวัน
ข้าวปุ๊กหอมงา
ตายายทำข้าวปุ๊ก
ชิมข้าวพองต่อถึงครัว
โรงเก็บกระเทียม