posttoday

ออมระดับชาติ รากฐานจากครอบครัว

26 พฤษภาคม 2559

หนึ่งในสิ่งที่คนไทยว่าคนไทยด้วยกันเองคือ “ไม่รู้จักออมเงิน” “รู้จักหาไม่รู้จักใช้”

โดย...นกขุนทอง

หนึ่งในสิ่งที่คนไทยว่าคนไทยด้วยกันเองคือ “ไม่รู้จักออมเงิน” “รู้จักหาไม่รู้จักใช้” และสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่เจอหลังวัยทำงานก็คือ “วิกฤตทางการเงิน” ที่แม้จะขยันทำงานตัวเป็นเกลียวแต่ก็ไม่มีเงิน นั่นเพราะในชีวิต “ลืม” การออมเงิน มีแต่หามีแต่ใช้ไม่มีเก็บ

“อย่าให้ใครว่าไทย ไม่ออม” คือนิทรรศการที่ธนาคารไทยพาณิชย์จัดขึ้น และเข้าร่วมกับเครือข่ายอนาคตไทย ภายใต้โครงการ “อย่าให้ใครว่าไทย” เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีของคนไทยในมิติทางการเงิน ให้มีวินัยทางการเงิน รู้จักใช้เข้าใจเงิน ภายใต้แนวคิด ออมได้ทุกเรื่อง ออมได้ทุกวัย แบ่งเป็น 4 โซน ประกอบด้วย โซนตำราพิชัยการออม โซนออมสนุกทุกช่วงวัย โซนเกมเศรษฐี เกมเสริมทักษะสนุกๆ ด้านการเงิน โซน DIY เพิ่มสตางค์ และลดพลังงาน เพิ่มพลังออม นับเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่กระตุ้นเตือนให้พ่อแม่หันมาใส่ใจการออมเงินเพื่อลูก และปลูกฝังนิสัยเก็บหอมรอมริบให้แก่ลูก และทุกคนที่อยากมีอิสระในการเงิน ควรจะให้มาใส่ใจดูแลเงินมากกว่าการหามาใช้ไป

DIY ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้

ภายในนิทรรศการมีเวิร์กช็อปการประดิษฐ์สิ่งของเหลือใช้จาก ณฤต เลิศอุตสาหกูล หรือที่รู้จักกันในนาม Hoo DIY มาแนะนำเคล็ดลับง่ายๆ ในงานเปลี่ยนของเหลือใช้หรือของที่กำลังจะเป็นขยะให้กลายมาเป็นของชิ้นพิเศษที่ดูดีมีราคาน่าใช้ต่อไป บางอย่างต้องร้องว้าว เพราะแปลงโฉมจนจำไม่ได้ว่าเมื่อก่อนมันคืออะไร

ในวงการดีไอวาย ประดิษฐ์สิ่งของเหลือใช้ ชื่อของ Hoo DIY เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดี เพราะเป็นทั้งอาจารย์ นักเขียน พิธีกรรายการ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับการออกแบบสร้างสรรค์ เรียกว่าเป็น
กูรูด้านดีไอวายมานานถึง 15 ปี ซึ่งก็มีที่มาจากวัยเยาว์ถูกปลูกฝังจากพ่อแม่ให้รู้จักประหยัด อดทน อยากได้ของเล่นใหม่ก็ลองทำขึ้นเองก่อน ในวัยเด็กนอกจากเขาจะสนุกสนานกับการประดิษฐ์ดัดแปลงสิ่งของต่างๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดการพัฒนาเรียนรู้ จนต่อยอดมาเป็นอาชีพและสร้างชื่อให้แก่เขาได้ในปัจจุบัน

ออมระดับชาติ รากฐานจากครอบครัว

 

“จากเด็กๆ ที่ถูกปลูกฝังมา ของบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อ ใช้จินตนาการและทักษะของเรา อยากได้อะไรก็ทำขึ้นมาเองได้ ไม่ต้องรบกวนเงินพ่อแม่ จริงๆ การใช้เงินซื้อ การอยากได้อะไรสักชิ้น ถ้าพ่อแม่ใช้เงินซื้อของอย่างเดียวเด็กจะไม่มีความพยายาม อยากได้อะไรก็ร้องเอา แต่การสอนให้เขาลองทำเอง เด็กจะได้ฝึกหลายอย่าง เรียนรู้การทำอะไรด้วยตัวเอง มีความอดทนในการจะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง ได้ความรู้ไปกับการเล่น”

การดีไอวายที่ ณฤต แนะนำเป็นทิปส์ง่ายๆ เช่น ทำภาชนะใส่ของจากกระดาษเหลือใช้ การตัดแปะกระดาษให้เกิดรูปทรงลวดลายต่างๆ หรือการนำไม้แขวนเสื้อมาดัดแปลงเป็นที่ใส่ซองจดหมาย โดยการที่จะดัดแปลงอะไรสักอย่าง ให้มองของรอบตัวง่ายๆ ลองมองสิว่ามันสามารถกลายเป็นอะไรได้บ้าง มองจากรูปทรง วัสดุของมันคล้ายคลึงกับอะไร เช่น ขวดน้ำพลาสติก มีลักษณะเฉพาะ มีความใส มีรูปทรงต่างๆ ที่มีดีไซน์สวยงามต่างกันไป ลองมองว่ามันสามารถเพิ่มอะไรได้บ้าง เช่น เอามาทาสีอะคริลิกต่างๆ ให้มีสีสันสดใส เอามาตัดต่อ โดยใช้ความร้อน ใช้คัตเตอร์ ให้เป็นลวดลายต่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับทักษะของแต่ละคนจะผสมผสานออกมาอย่างไร ซึ่งวิธีการทำและไอเดียต่างๆ หาได้ง่ายในโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยให้เริ่มต้นจากวัสดุที่หาง่ายและทำที่เราถนัด เพื่อจะได้เริ่มต้นได้ง่ายและมีกำลังใจในการทำต่อไป

สร้างวินัยการออม สร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว

ครอบครัวศรีวราธนบูลย์ เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะยากจน ทว่าก็ไม่ได้อวดร่ำอวดรวย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนในแวดวงสัมผัสได้คือ คนในบ้านหลังนี้ต่างขยันทำมาหากินและมีวิธีการลงทุน ออมเงิน ไม่เว้นแม้แต่ลูกสาวลูกชายในวัยเรียน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีพ่อแม่ผู้เป็นแบบอย่างในการออมเงินให้แก่ลูก

วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ บรรณาธิการบริหาร ไฮ-คลาส มีเดียกรุ๊ป คุณแม่ลูกสอง คือ วีร์ และ วิศ นักลงทุนตัวน้อยที่มีเงินเก็บถึงแสนบาท

“ในความคิดของครอบครัวเราคือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์ มีความรู้ความสามารถในระดับที่เขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ไปจนถึงตอนที่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงมีต้นทุนทางการเงินสักจำนวนหนึ่งที่จะเป็นหลักประกันให้มีความมั่นใจได้ว่า หากมีความเสี่ยงใดก็ตามที่อาจทำให้พ่อแม่ไม่มีความสามารถส่งเสียเขาอย่างต่อเนื่อง ลูกๆ ก็จะยังมีเงินทุนในบัญชีของตัวเอง เพียงพอสำหรับโอกาสที่จะได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรี และหารายได้เลี้ยงตัวเองได้”

ออมระดับชาติ รากฐานจากครอบครัว

 

สำหรับวิธีการออมให้ลูกมี 3 ลักษณะ คือ

1.ออมแบบป้องกันความเสี่ยง คือ การซื้อประกันชีวิตแบบออมเงิน ซึ่งไม่ได้เน้นผลตอบแทนที่เป็นกำไร แต่เป็นความสบายใจว่าลูกจะได้รับความคุ้มครองตามสมควรเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน และถ้าไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็จะเหลือเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งกะว่าน่าจะพอสำหรับทุนการศึกษาลูกถึงระดับปริญญาตรีในประเทศ

2.ออมแบบประจำ คือ กำหนดให้มีเงินจำนวนหนึ่งตัดเข้าบัญชีเพื่อการออมในชื่อลูกทุกเดือนโดยอัตโนมัติไปตลอดระยะเวลาที่พ่อแม่ยังมีรายได้หลักเข้ามาเป็นประจำทุกเดือน แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่การที่เด็กเห็นว่าบัญชีเงินฝากของเขาเติบโตขึ้นตลอดเวลา ก็จะเกิดแรงจูงใจให้เขาอยากฝากเพิ่ม เพราะเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏในชื่อของเขา

3.ออมแบบลงทุน มีทั้งแบบความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนต่ำ เช่น สลากออมสิน และความเสี่ยงสูงผลตอบแทนสูง เช่น หุ้น โดยในการเล่นหุ้น เด็กๆ ยังอายุไม่ถึง พ่อแม่ก็จะเปิดบัญชีหุ้นในนามตัวเองให้ลูกสองคนใช้ร่วมกันไปก่อน และให้เงินก้อนเล็กๆ ก้อนแรกเพื่อฝึกลงทุน จากนั้นให้เขาช่วยกันตัดสินใจในการลงทุนต่อด้วยเงินออมจากบัญชีของตัวเอง ถ้าตกลงว่าจะซื้อหุ้นไหนเพิ่ม ก็จะถอนเงินเก็บจากบัญชีของแต่ละคนมาซื้อหุ้นจำนวนเท่ากัน (จะได้จำง่ายๆ ตอนแยกบัญชีในอนาคต) โดยพ่อแม่ต้องสอนความรู้เบื้องต้นในการพิจารณาหาบริษัทที่มีความมั่นคง และมีผลกำไรตอบแทนมาในรูปแบบของเงินปันผล ไม่เน้นการเก็งกำไรซื้อๆ ขายๆ แต่เน้นเรื่องความเป็นเจ้าของธุรกิจ เช่น ลูกคนโตนั่งรถไฟฟ้าเห็นคนแน่นทุกวัน เขาก็อยากซื้อหุ้นรถไฟฟ้า ส่วนลูกคนเล็กชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบพักโรงแรมหรูๆ เขาก็อยากซื้อหุ้นโรงแรม เพราะเขารู้สึกว่าอยากร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น เวลาไปกินไปเที่ยวด้วยกัน เขาก็จะชี้ชวนให้ครอบครัวอุดหนุนร้านที่อยู่ในเครือธุรกิจซึ่งเขามีหุ้นอยู่ ช่วงปิดเทอมถ้ามีการประชุมผู้ถือหุ้นก็จะพาเขาไปร่วมด้วย ให้ได้รู้ได้เห็นโลกที่อยู่นอกตำรา

นอกจากพ่อแม่ออมเงินให้ลูกแล้ว สำคัญยิ่งคือสอนให้ลูกออมเงิน โดยพ่อแม่นี่ล่ะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด

“จะสมมติยอดเงินที่ตั้งใจจะออมให้เป็นเสมือนหนี้สิน ที่จะต้องผ่อนจ่ายชำระให้ตรงทุกเดือน จะมาคดโกงหรือเบี้ยวหนี้ตัวเองไม่ได้เด็ดขาด แม้ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต ธุรกิจเจอปัญหา เงินจะฝืดยังไงก็จะต้องพยายามหามาจ่ายเงินออมอย่างเที่ยงตรงไม่ให้สะดุดแม้แต่งวดเดียว ซึ่งในการสอนเด็กๆ ช่วงแรกที่เขายังบังคับใจตัวเองไม่ได้ ก็จะให้เขาเปิดบัญชีที่จะต้องถูกตัดฝากอัตโนมัติเพื่อการออมทุกเดือน พอถึงกำหนดเขาต้องมีเงินพอให้ธนาคารตัด ก็จะเป็นการฝึกนิสัยให้เกิดวินัยไปเอง ตอนนี้คนโตทำได้แล้ว แต่คนเล็กยังฝึกกันอยู่

ผลที่ได้จากการออมเขาจะมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี มีความรับผิดชอบสูง รู้จักประหยัด รู้จักวางแผนการใช้จ่าย และการวางทุนสำรองในการใช้ชีวิต ไม่ให้พบกับปัญหาเงินขาดมือ ไม่ต้องเผชิญวิกฤตทางการเงิน และมีต้นทุนที่ดีในการเลือกเส้นทางชีวิตหรือเลือกอาชีพที่ชอบได้อย่างอิสระโดยไม่มีเรื่องเงินทุนมาเป็นข้อจำกัด และไม่ต้องคิดพึ่งใคร”

ด้านน้องวีร์ ลูกสาวคนโต ออมเงินด้วยการฝากธนาคาร ลงทุนในกองทุนรวมและหุ้น ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากคุณแม่ เงินที่นำมาออมนั้นได้จากการเก็บค่าขนม ส่วนหนึ่งได้จากเงินพิเศษที่ได้เป็นของขวัญจากผู้ใหญ่ในวาระสำคัญต่างๆ และได้มาจากการทำงานพิเศษต่างๆ เช่น รับจ้างช่วยงานในบริษัทพ่อแม่ ทำของขายเล็กๆ น้อยๆ รับจ้างทำงานในครอบครัว อย่างวีร์มีความถนัดหลายอย่าง ทั้งเขียนหนังสือ วาดรูป ร้องเพลง ก็ออกไปหางานพิเศษทำเอง ไม่ว่าจะเป็นรับแต่งคอสเพลย์ ไปร้องเพลงเล่นดนตรีเปิดหมวกหลังเลิกเรียน หรือช่วงปิดเทอม ร้องเพลงในร้านอาหาร ก็มีรายได้ต่อเดือนใกล้เคียงกับคนจบปริญญาตรี ซึ่งการที่เห็นตัวเลขในบัญชีงอกเงยจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองและจากการลงทุนออม ก็สร้างความภูมิใจอันยิ่งใหญ่ให้กับเด็กผู้หญิงตัวเล็ก

ออมระดับชาติ รากฐานจากครอบครัว

 

เงินเดือนแรกกับ 3 ทิปส์การออม

ทำงานมาเป็นสิบปีแต่ไม่มีเงินเก็บ เสียงบ่นนี้มักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เพียงเสียงลอยตามลมแล้วก็ปล่อยผ่านไป แต่นั่นเป็นเสียงแห่งปัญหาที่ถูกหมักหมมมานานของคนในวัยทำงาน ทำงานตั้งแต่ยังมีไฟแรงกล้าจนไฟเริ่มอ่อนล้า พออยากจะหยุดพักกลับไม่มีเงินพอดูแลตัวเองยามแก่เฒ่า หรือเอาไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ นั่นเพราะความไม่ใส่ใจมองข้าม ทั้งๆ ที่เรื่องการเงินในวัยทำงาน หรือวัยเริ่มเข้าสู่กลางคนนั้น เป็นวัยแห่งการหาเงิน และสะสมเงินด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองได้มากที่สุด

การออมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยเริ่มต้นทำงานซึ่งเป็นช่วงวัยของการเริ่มต้นวางรากฐานของชีวิตเพื่อความมั่นคงในอนาคต และการใช้ชีวิตในช่วงนี้จะเริ่มมีความต้องการในด้านต่างๆ  มากกว่าตอนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องรถยนต์ คอนโดมิเนียม การท่องเที่ยว สินค้าเทคโนโลยี  ทั้งหมดนี้ล้วนต้องตั้งเป้าหมายการออมเพื่อให้ได้มาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะออมเพื่อซื้อหรือออมเพื่อดาวน์ แต่ด้วยระดับรายได้ที่ยังไม่สูงมาก ประกอบกับต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวเอง การบริหารเงินให้เกิดการออมจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับช่วงวัยนี้

มี 3 ทิปส์การออมสำหรับวัยเริ่มทำงานจาก พรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ มาฝาก

1.ออมก่อนรวยก่อน ออมเป็นประจำทุกเดือน โดยแบ่งสัดส่วน 10% จากรายได้มาเก็บออม อาจทำโดยการสมัครหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่เงินเดือนเข้าบัญชี ไปยังบัญชีเงินฝากปลอดภาษีที่จะให้เราเก็บเงินสม่ำเสมอเท่าๆ กันทุกงวด และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากทั่วไป จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

2.ออมก่อนใช้  เพื่อสร้างวินัยการออม จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างชัดเจน  การออมไม่ใช่แค่การเก็บเงิน แต่เป็นการวางแผนเก็บเงินก้อนเพื่อเริ่มต้นเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น บ้านหรือคอนโดมิเนียม โดยเป็นเงินดาวน์สำหรับการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม แล้วค่อยๆ ผ่อนชำระ ซึ่งมูลค่าของสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลาที่ผ่อนชำระ ในปัจจุบันนี้ทางสถาบันการเงินต่างๆ  มีบริการทางการเงินที่หลากหลายรองรับไลฟ์สไตล์ของคนทุกกลุ่ม โดยสำหรับกลุ่มเริ่มต้นทำงาน เน้นไปที่การทำธุรกรรมที่สะดวก การออมเงิน และสร้างหลักประกันพื้นฐานให้ตนเองและครอบครัว เราสามารถให้สถาบันการเงินหรือธนาคารเป็นตัวช่วยในการบริหารการเงินในทุกๆ ด้าน

3.ออมฉลาดต้องศึกษา หาข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการบริการของธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ รวมถึงการบริการที่ครอบคลุม สะดวกสบาย เช่น การใช้บริการธนาคารใกล้ๆ ที่สะดวก การทำธุรกรรมออนไลน์เพื่อลดค่าใช้จ่าย การออมในบัญชีเงินฝากบางประเภทที่มีความคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุ เพื่อใช้เงินฝากของเราเป็นตัวช่วยในการปกป้องเราจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ เป็นต้น

การออมเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสร้างครอบครัว วัยเตรียมเกษียณ ทั้งหมดต่างมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป โดยการฝึกวินัยการออมอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักการประมาณตน ควบคุมตนเองให้อยู่ในความพอดี พอประมาณ ไม่ประมาท ดำรงตนอย่างมีสติ มีเหตุผล จะเป็นเกราะป้องกันและช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมาย สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นและมีอนาคตที่มั่นคงต่อไป

นิทรรศการอย่าให้ใครว่าไทยไม่ออม เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 27 พ.ค.นี้ ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ และสามารถดาวน์โหลด E-Book ตำราพิชัยการออมได้ที่ http://www.scb.co.th/thaikidaom และ https://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292#publishing/292/13272