ชีวิตใหม่ของเด็กด้อยโอกาส ครอบครัวแสนสุขที่วัดห้วยปลากั้ง

29 พฤษภาคม 2559

เยาวชนเกือบ 1,000 คน ที่วัดห้วยปลากั้งได้มอบโอกาสให้ในวันนี้ พวกเขาอาจกลับมาเป็นผู้ให้โอกาสแก่ผู้อื่นต่อไป

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและทำบุญสำหรับศาสนิกชนแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง วัดห้วยปลากั้ง ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ก็ดำเนินโครงการอุปถัมภ์เยาวชนกำพร้าทั้งชายและหญิงมากว่า 8 ปีแล้ว

ช่วงบ่ายใกล้เย็น บรรดานักเรียนทั้งชายและหญิงนับ 100 คน ทยอยเดินลงมาจากรถรับส่ง เข้ามานั่งพับเพียบก้มกราบ พระอาจารย์พบโชค ติสสวังโส (ติสฺสวํโส) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง แล้วสวดมนต์ก่อนที่จะกล่าวคำปฏิญาณตน “จะเป็นคนดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งที่เป็นพิษต่อตนเองและประเทศชาติ” เป็นประจำทุกวัน

“ภาพเหล่านี้ไม่ได้เสแสร้งทำ หรือเป็นการสร้างภาพ ถ้าไม่มีใจใส่ทุกรายละเอียดจะไม่มีความยั่งยืน และไม่ทำให้เด็กๆ เหล่านี้มีความสุขดังที่เห็น ถ้าทำเพื่อสร้างภาพจะทำได้ไม่นานหรอก การรับเลี้ยงดูเด็กกำพร้า ยากไร้ ยากจน ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่ไป ถือเป็นการให้และแบ่งปันโอกาสแก่เพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรช่วยเหลือกัน วัด ชุมชน โรงเรียน ล้วนต้องเกื้อกูลกัน ไม่มีแบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ทุกคนเท่าเทียมกัน คนพื้นที่สูงหรือพื้นที่ราบล้วนไม่แตกต่าง” พระอาจารย์พบโชค บอกถึงการอบรม ขัดเกลาเยาวชนที่วัดให้การอุปถัมภ์

วัดห้วยปลากั้ง มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ โดยพระอาจารย์พบโชคเป็นผู้ก่อตั้ง ในแต่ละวันมีผู้ศรัทธาเข้ามากราบไหว้นมัสการและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก

วัชรินทร์ แก้วกันทา ผู้อำนวยการกิจการเด็กกำพร้า วัดห้วยปลากั้ง กล่าวว่า “วัดได้เริ่มอุปถัมภ์เด็กๆ มาได้ประมาณ 7-8 ปีแล้ว เริ่มแรกมีประมาณ 7 คน ปัจจุบันมี 993 คน ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต แบ่งออกเป็นอุปถัมภ์อยู่ในวัดประมาณ 600 คน ที่เหลือเป็นการให้อุปถัมภ์นอกวัด เนื่องจากเด็กต้องอยู่ดูแลครอบครัว ดูแลผู้ปกครองและเรียนหนังสือไปด้วย บางรายหลวงพ่อก็ให้ทุนช่วยซ่อมบ้านให้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม

“เด็กๆ ที่จะเข้ามารับการอุปถัมภ์ของวัดได้จะเป็นเด็กกำพร้า ยากไร้ ยากจน พ่อแม่มีรายได้น้อย ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยวัดมีระบบการบริหารเด็กกำพร้าในการอุปถัมภ์ คือ ที่อยู่ อาหารการกิน การศึกษา การรักษาพยาบาล คือประหนึ่งคนในครอบครัวที่ต้องดูแลกันทุกเรื่อง ใส่ใจทุกรายละเอียด โดยมีกฎ ระเบียบของการอยู่ร่วมกัน ไม่สร้างปัญหาให้แก่ตนเอง ผู้อื่น โดยเฉพาะไม่สร้างปัญหาให้หลวงพ่อต้องไม่สบายใจ”

ที่พักเด็กๆ จะพักแยกระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ระดับอนุบาลยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จะมีแม่บ้านคอยซักผ้าดูแลเรื่องอาหารให้ เด็กโตตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาขึ้นไปสามารถดูแลตัวเองได้ ให้ซักผ้าเอง ทำความสะอาดห้องพัก อาคารที่พัก ทำเหมือนเป็นบ้านของตัวเอง วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะไม่ปลุกให้ตื่นเช้า หลวงพ่อให้พักผ่อนตามสบาย แต่เด็กๆ จะตื่นแต่เช้ามาช่วยกันทำงาน

“เด็กๆ ที่นี่จะกินกันอิ่มทุกคน เพราะหลวงพ่อย้ำเสมอว่า เมื่อท้องอิ่มสมองจะแล่น ดังนั้นเด็กจะมีกินอย่างไม่อดอยาก วันหนึ่งทาน 4 มื้อ มีขนมให้ด้วย ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายทุกอย่างเป็นภาระของหลวงพ่อท่านดูแลทั้งหมด ผู้ปกครองไม่ได้รับภาระ เพราะหลวงพ่อทราบว่าครอบครัวลำบากจึงช่วยเหลือ”

พระอาจารย์พบโชค บอกว่า เมื่อให้โอกาสเด็กเข้ามาอยู่ในที่ซึ่งเป็นเสมือนครอบครัวแล้ว ความรัก ความอบอุ่นก็ต้องมี กินอิ่ม นอนหลับ สมองแล่น ซึมซับคุณธรรมคำสอนที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เพราะที่นี่คือบ้าน เป็นที่อยู่อาศัย เป็นครอบครัว ทุกคนอยู่กันแบบพี่น้อง พี่ดูแลน้อง มีพี่เลี้ยงเป็นคนดูแลจัดการทั้งหมด เรื่องความเป็นอยู่ การเรียน ทั้งรายที่อยู่ในวัดและนอกวัด

“บางรายช่วงชีวิตหนึ่งมีความเสี่ยง แต่หลวงพ่อไม่ผลักไสออกไป ให้โอกาสปรับตัวดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ขยันเรียน ขอเพียงเราให้เกียรติ ให้กำลังใจ ให้ตำแหน่งที่ชัดเจน และให้ความสำคัญ ทุกคนคือทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าเท่ากัน”

ชีวิตใหม่ของเด็กด้อยโอกาส ครอบครัวแสนสุขที่วัดห้วยปลากั้ง

พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ซึ่งเคยมาดูงานที่วัดห้วยปลากั้งหลายครั้ง กล่าวว่า วัดห้วยปลากั้ง ถือเป็นองค์กรหนึ่งในสังคมที่มีส่วนร่วมในการตอบโจทย์นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน และที่สำคัญการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ด้วยป้องกันการเสี่ยงต่อการเข้าไปสู่ขบวนการค้ามนุษย์ตั้งแต่ต้นทาง โดยได้หลักธรรมคำสอนของพระอาจารย์ที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจด้วย

“ครอบครัวและชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน จะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงสู่ทัศนคติ เจตคติของครอบครัวและชุมชนที่ถูกต้อง นำไปสู่การแสวงหารูปแบบการพัฒนากลุ่มเป้าหมายหรือคนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน ขอทาน เพื่อเป็นแนวทางให้สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอื่นๆ ต่อไป เพื่อลดภาวะพึ่งพิงของรัฐ สร้างความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างจริงจัง และเป็นการเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่ชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี” อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าว

ด้านเยาวชนที่ได้รับความอุปถัมภ์จากทางวัด พรพิพล แซ่เติ๋น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา บอกว่า หลวงพ่อเป็นเหมือนพ่อและแม่ เป็นทุกอย่างในชีวิตของผู้ยากไร้

“ครอบครัวหนูอยู่ที่ อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย อยากเรียนหนังสือแต่ทางบ้านมีภาระหนักต้องเลี้ยงดูน้องๆ อีกหลายคน มาอยู่ที่นี่และได้รับการอุปถัมภ์มากว่า 3 ปีแล้ว ได้เรียนต่อและช่วยงานวัดเท่าที่ทำได้อย่างเต็มกำลัง ช่วยพระอาจารย์และพี่เลี้ยงดูแลน้องๆ เราอยู่กันเป็นครอบครัว พี่สอนน้อง ดูแลเรื่องการกิน เสื้อผ้า การบ้าน เมื่อเราได้รับโอกาสแล้วจึงตั้งใจเรียนและมาช่วยพระอาจารย์ทำงานเพื่อสังคม สืบสานเจตนารมณ์พระอาจารย์ให้โอกาสน้องๆ ต่อไปด้วยค่ะ”

เยาวชนเกือบ 1,000 คน ที่วัดห้วยปลากั้งได้มอบโอกาสให้ในวันนี้ พวกเขาอาจกลับมาเป็นผู้ให้โอกาสแก่ผู้อื่นต่อไป เพื่อการให้ได้ขยายต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด

Thailand Web Stat