posttoday

ดาวเสาร์อยู่ตรงข้าม ดวงอาทิตย์

29 พฤษภาคม 2559

ดาวอังคารเพิ่งจะผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

ดาวอังคารเพิ่งจะผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะใกล้โลกที่สุดในวันที่ 31 พ.ค. 2559 ด้วยระยะห่าง 75 ล้านกิโลเมตร สัปดาห์นี้ ดาวเสาร์ซึ่งขณะนี้ปรากฏอยู่ไม่ห่างจากดาวอังคารมากนัก ก็จะถึงคราวผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และอยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี แต่ไม่สว่างเด่นสะดุดตาเท่าดาวอังคาร

ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 6 ในระบบสุริยะ มีคาบการโคจรนาน 29.5 ปี โลกอยู่ห่างดวงอาทิตย์ที่ระยะห่างเฉลี่ย 1 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 1 เอยู ซึ่งเท่ากับ 149.6 ล้านกิโลเมตร ดาวเสาร์อยู่ห่างดวงอาทิตย์ที่ระยะเฉลี่ย 9.55 หน่วยดาราศาสตร์

วงโคจรที่เป็นวงรีทำให้ดาวเสาร์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดด้วยระยะห่าง 9.0 หน่วยดาราศาสตร์ และอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุดด้วยระยะห่าง 10.1 หน่วยดาราศาสตร์ ดาวเสาร์ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวงโคจรเมื่อกลางปี 2546 และจะผ่านจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดในปี 2561 ปัจจุบันดาวเสาร์จึงอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไกลกว่าระยะห่างเฉลี่ย และเกือบจะถึงจุดไกลที่สุด ซึ่งมีส่วนทำให้ขณะนี้ดาวเสาร์ไม่ค่อยสว่างมากนัก

เรารู้จักดาวเสาร์ในฐานะดาวเคราะห์ที่มีวงแหวน แต่วงแหวนของดาวเสาร์ไม่ได้ปรากฏให้เห็นได้ตลอดเวลา จะมีบางช่วงซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 15 ปี ที่ระนาบวงแหวนตัดกับระนาบวงโคจรของโลก ทำให้ดูเหมือนวงแหวนดาวเสาร์หายไป เนื่องจากระนาบวงแหวนอยู่ในแนวสายตา หรืออีกนัยหนึ่งคือขอบวงแหวนหันเข้าหาโลก ปัจจุบันวงแหวนดาวเสาร์ทำมุมเอียงให้สามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อส่องดูผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง โดยจะทำมุมเอียงมากที่สุดในปี 2560 หลังจากนั้นมุมเอียงจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งดูเหมือนวงแหวนหายไปในช่วงปี 2568

นอกจากดาวเสาร์ ดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนยังประกอบด้วยดาวพฤหัสบดี (เป็นวงแหวนบางๆ ไม่สามารถสังเกตได้จากโลก) ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน

ดาวเสาร์มีดาวบริวารที่ค้นพบแล้ว 62 ดวง ไททันเป็นดาวบริวารดวงใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5,150 กิโลเมตร ใหญ่กว่าดวงจันทร์ของโลกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,476 กิโลเมตร สามารถสังเกตเห็นได้เมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ แต่ไม่สว่างเท่าดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี

ไททันถูกค้นพบตั้งแต่ ค.ศ. 1655 โดย คริสเตียน ไฮเกนส์ นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ ไททันเป็นดาวบริวารของดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่พบว่ามีบรรยากาศหนาแน่น ความกดอากาศที่พื้นผิวสูงกว่าบรรยากาศของโลก ไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวได้ องค์ประกอบในบรรยากาศของไททันมีไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ มองเห็นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีส้มในแสงธรรมชาติหรือแสงที่ตามนุษย์มองเห็น สภาพแวดล้อมบนไททันเย็นจัดจนอาจไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิตแบบที่พบบนโลก แต่ก็มีการคาดหมายว่าสิ่งมีชีวิตบางแบบที่เราไม่รู้จักอาจดำรงอยู่ได้

ปีนี้ดาวเสาร์จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในวันที่ 3 มิ.ย. 2559 ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวนี้คั่นอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับคนยิงธนู สังเกตได้ง่ายเนื่องจากมีดาวอังคารสว่างเด่นอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาหัวค่ำ ดาวเสาร์อยู่ต่ำลงไปโดยเยื้องไปทางซ้ายมือเล็กน้อย เมื่อดึกขึ้น ทั้งดาวอังคารและดาวเสาร์จะเคลื่อนสูงขึ้น อยู่สูงสุดบนท้องฟ้าทิศใต้ในเวลา 5 ทุ่ม-ตี 1 หลังจากนั้นเคลื่อนต่ำลงไปทางทิศตะวันตก ดาวฤกษ์สว่างสีแดงที่อยู่ใกล้ๆ คือดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่อง

ในโอกาสที่ดาวเสาร์อยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี สมาคมดาราศาสตร์ไทยแจ้งว่าจะมีกิจกรรมดูดาวเสาร์ (รวมถึงดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี) ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ในวันศุกร์ที่ 3 มิ.ย. 2559 บริเวณข้างสนามฟุตซอล อาคาร 4 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) ตั้งแต่เวลา 19.00-22.00 น. โดยขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (29 พ.ค.-5 มิ.ย.)

เวลาหัวค่ำมองเห็นดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้า ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดปรากฏอยู่สูงบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก จากนั้นเคลื่อนต่ำลงจนตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณตี 1 ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ใกล้บริเวณส่วนหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง มีความสว่างเกือบเท่ากับดาวพฤหัสบดี ดาวอังคารผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ขณะท้องฟ้าเริ่มมืดจึงปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดาวอังคารจะผ่านจุดสูงสุดบนท้องฟ้าด้านทิศใต้ในเวลาประมาณ 5 ทุ่ม แล้วตกลับขอบฟ้าในเวลาตี 5 ดาวเสาร์อยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของดาวอังคารเป็นมุมประมาณ 15 องศา ในกลุ่มดาวคนแบกงู ผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในสัปดาห์นี้

ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นจนปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด สัปดาห์นี้อยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวแกะ ทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 5 มิ.ย. โดยอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 24 องศา สัปดาห์นี้และอีกสองสัปดาห์ถัดไปจึงมีโอกาสเห็นดาวพุธได้ดีหากท้องฟ้าเปิด

สัปดาห์นี้เป็นครึ่งหลังของข้างแรม มองเห็นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของทุกวัน ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันที่ 29 พ.ค. จากนั้นกลายเป็นเสี้ยว ผ่านใกล้ดาวพุธในเช้ามืดวันที่ 3 มิ.ย. โดยปรากฏอยู่สูง เยื้องไปทางขวามือของดาวพุธด้วยระยะห่าง 6 องศา วันที่ 4 มิ.ย. เป็นวันสุดท้ายที่มีโอกาสเห็นจันทร์เสี้ยวบางๆ อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกขณะฟ้าสาง ก่อนจันทร์ดับในวันที่ 5 มิ.ย.

สถานีอวกาศนานาชาติปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้า เช้ามืดวันจันทร์ที่ 30 พ.ค.กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเริ่มเห็นสถานีอวกาศขึ้นมาเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือเวลา 04.52 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้น ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มุมเงย 78 องศา ในเวลา 04.55 น. สถานีอวกาศผ่านใกล้ดวงจันทร์ ก่อนจะไปสิ้นสุดใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้เวลา 04.58 น.

วันอังคารที่ 31 พ.ค. สถานีอวกาศขึ้นมาใกล้ขอบฟ้าทิศเหนือเวลา 03.59 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวา ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มุมเงย 26 องศา ในเวลา 04.02 น. แล้วหายลับไปใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้เวลา 04.05 น.