posttoday

‘แฟร์ เทรด มิวสิค’ การค้าที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี

30 พฤษภาคม 2559

ในโลกยุคปัจจุบันการฟังและดูเพลงจากสื่อเก่าในยุคอะนาล็อกอย่างวิทยุ โทรทัศน์ แผ่นเสียง เทปคาสเซต

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ในโลกยุคปัจจุบันการฟังและดูเพลงจากสื่อเก่าในยุคอะนาล็อกอย่างวิทยุ โทรทัศน์ แผ่นเสียง เทปคาสเซต ดูเป็นสิ่งที่ล่าช้าและกลายเป็นของสะสมในอารมณ์หวนหาแบบเรโทร หรือแม้แต่ซีดีที่บุกเบิกยุคดิจิทัลกึ่งอะนาล็อกก็กำลังสูญหายไป คนรุ่นใหม่กำลังก้าวสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ฟังและดูเพลงผ่านสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ทั้งการแบ่งปันดูฟรีในโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงระบบสตรีมมิ่งฟังเพลงออนไลน์ได้ทั้งในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต โดยเสียค่าบริการเป็นรายเดือน

เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมดนตรีที่มีการประเมินกันว่าเติบโตขึ้นในยุคดิจิทัลถึง 5 เท่าจากของเดิมที่เคยเป็นมา เพราะมีอัตราการเปิดฟังเปิดดูผ่านออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เงินเหล่านั้นไม่คืนมาสู่ผู้ประพันธ์งานเพลง ผู้สร้างสรรค์ และผู้ผลิตดนตรีกรรมเหล่านั้นอย่างที่ควรจะเป็น จนเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์อย่างหนึ่งของบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี

การรวมตัวกันของสมาพันธ์ผู้สร้างสรรค์และนักแต่งเพลงระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (The International Confederation of Societies of Authors and Composers : CISAC) สภาสากลของผู้ประพันธ์เพลง (The International Council of Music Creators : CIAM) รวมถึงสมาพันธ์และองค์กรด้านลิขสิทธิ์ดนตรีในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาทิ สมาพันธ์ลิขสิทธิ์สำหรับนักเขียน นักแต่งเพลง และผู้เผยแพร่ประเทศญี่ปุ่น (Japanese Society for Rights of Authors, Composers and Publishers) สมาพันธ์นักเขียนและผู้แต่งเพลงแห่งฮ่องกง (Composer and Authors Society of Hong Kong : CASH) ฯลฯ ซึ่งมาประชุมสัมมนา “Asia - Pacific Music Creator Conference” ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเจ้าภาพร่วม

การประชุมสัมมนาครั้งนี้ได้สะท้อนภาพของวงการเพลงยุคปัจจุบัน ซึ่งเข้าสู่ระบบดิจิทัลและได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์การฟังเพลงออนไลน์ของคนรุ่นปัจจุบันอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะนักประพันธ์เพลง นักสร้างสรรค์ดนตรี ที่ดูเหมือนถูกกีดกันในเรื่องของการแบ่งปันค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรม

‘แฟร์ เทรด มิวสิค’ การค้าที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี

 

ฟังเพลงในยุคดิจิทัลต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์

“การค้าโดยชอบธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี” หรือสัญญาที่เป็นธรรมสำหรับนักแต่งเพลง ลักษณะการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของประเทศไทยและสากล ผลกระทบของการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีต่อการจัดการด้านลิขสิทธิ์ ความสามารถในการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักแต่งเพลง และศิลปินอันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการแบ่งปันรายได้อย่างเท่าเทียม

โลเรนโซ เฟอร์เรโน ประธานสภาสากลของผู้ประพันธ์เพลง (The International Council of Music Creators : CIAM) ชี้ว่าอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว แต่กฎหมายปรับตัวช้า

“คนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนแปลงไปในการฟังเพลงผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งที่เกิดขึ้นนั้นเปลี่ยนไปไวมาก กฎหมายไม่สามารถไล่ตามเทคโนโลยีได้ การเปลี่ยนยุคจากอะนาล็อกมาเป็นดิจิทัล มีการลักลอบนำลิขสิทธิ์ดนตรีและบทเพลงไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง”

“แฟร์ เทรด มิวสิค” (Fair Trade Music) เป็นระบบการจัดการที่โลเรนโซได้นำเสนอ เขาอธิบายว่า การเก็บค่าลิขสิทธิ์จะมีความยุติธรรม โปร่งใสด้วยระบบนี้ และจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมดนตรีในอนาคต

“การเปลี่ยนแปลงในวงการดนตรี โฉมหน้าของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่ออินเทอร์เน็ตและการฟังเพลงออนไลน์ได้เข้ามาแทนที่การฟังเพลงแบบเดิม ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมของผู้สร้างสรรค์เพลงในยุคดิจิทัลยังต้องมีการต่อรองกันอีกยาวนานเพื่อให้ได้อัตราที่เหมาะสม เพราะผู้ที่ให้บริการข้อมูลอินเทอร์เน็ตได้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้เป็นบิ๊กดาต้า เพื่อวิเคราะห์ตลาดซึ่งเป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ แต่การจ่ายค่าลิขสิทธิ์ยังไม่เป็นธรรม

“แฟร์ เทรด มิวสิค จะเป็นกระบวนการรับรองผลงานของนักร้องหรือวงดนตรีในแต่ละอัลบั้มจากหน่วยงานอิสระที่ช่วยประเมินเพื่อตีตราว่ามีการทำงานผลิตโดยได้ค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่ถูกเอาเปรียบ และหลักเกณฑ์นี้จะใช้ได้ทั่วโลก เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการค้าหรือธุรกิจเพลงในยุคดิจิทัลให้มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดผลดีต่อกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของนักประพันธ์เพลงในศตวรรษที่ 21 ให้อยู่รอดให้ได้ และคุ้มครองประโยชน์ให้ผู้ฟังสาธารณะทั่วไปด้วย”

‘แฟร์ เทรด มิวสิค’ การค้าที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี

 

โลเรนโซ ย้ำว่า แฟร์ เทรด มิวสิค ไม่ได้ไปขัดกับองค์กรต่างๆ ในการบริหารการจัดเก็บลิขสิทธิ์ แต่เป็นการส่งเสริมและสร้างให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันการจัดเก็บลิขสิทธิ์ในระบบดิจิทัลไม่มีการแบ่งปันคุณค่าอย่างเท่าเทียมกัน ต้องสร้างความมีส่วนร่วมและตระหนักรู้ในลิขสิทธิ์ดนตรีของผู้สร้างสรรค์หรือประพันธ์เพลง เพราะโซเชียลมีเดียนำความเป็นส่วนตัวไปทำเป็นธุรกิจขึ้นมา เงินจากวงการเพลงถูกจัดสรรไปที่อื่น คนที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เงินไปมากเกินไป แต่ผู้สร้างสรรค์งานเพลงกลับได้น้อยมาก ทั้งที่ถูกนำลิขสิทธิ์ไปใช้งาน โดยไม่ได้รับการแบ่งปันรายได้ที่เป็นธรรม ทั้งที่มูลค่าตลาดเพลงในปัจจุบันทั้งหมดสูงกว่าในยุคที่เป็นอะนาล็อกถึง 5 เท่า ปัญหาคือเงินเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ตกไปถึงมือคนที่เหมาะสม แฟร์ เทรด มิวสิค สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

ประธานสภาสากลของผู้ประพันธ์เพลงทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า ผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมจะทำให้ผู้ประพันธ์เพลง ผู้ผลิต และผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพื่อจะได้ผลิตงานอย่างต่อเนื่อง บริษัทยักษ์ใหญ่ทางอินเทอร์เน็ตในโลกออนไลน์ต้องเข้าใจเรื่องของผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรมดนตรีเหล่านี้

ในประเทศญี่ปุ่นถือว่ามีการจัดเก็บลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมที่เข้มแข็ง และมีการละเมิดค่อนข้างน้อย ด้วยความเคารพในสิทธิทั้งของผู้สร้างสรรค์งานและผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าในโลกโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ชื่อดังของโลกจะไม่มีบทเพลงและดนตรีจากญี่ปุ่นเผยแพร่ในนั้นเลย ชุนอิชิ โตกุระ นักแต่งเพลงชื่อดังชาวญี่ปุ่น เจ้าของผลงานเพลงชื่อดัง “ยูเอฟโอ” ของวงพิงค์ เลดี้ ยอมรับโดยดุษณีว่าโลกยุคดิจิทัลนั้นยุ่งเหยิงและสับสนในการเก็บลิขสิทธิ์ทางดนตรีมาก เพราะการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นไม่มีขีดจำกัด

“การละเมิดลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมสำหรับผู้ทำงานสร้างสรรค์หรือประพันธ์ดนตรีนั้นคิดจากฐานอะไร คนทำงานเพลงต้องผนึกเป็นภาคีทำงานกันเป็นเครือข่ายไปทั่วโลก เพื่อสร้างการค้าที่ชอบธรรมสำหรับงานเพลง ถ้ามีการจัดระบบระเบียบที่ดี คนที่มีฝีมือก็จะได้ก้าวหน้าและทำงานผลิตดนตรีอย่างมุ่งมั่นต่อไป”

‘แฟร์ เทรด มิวสิค’ การค้าที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี

 

สภาพการณ์การเก็บลิขสิทธิ์ในไทย

โลกยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าเข้าสู่การฟังเพลงแบบดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์และโซเชียลมีเดียไปเรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยก็ไปถึงจุดนั้นเช่นกัน แต่เรื่องการจัดเก็บลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม ประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน เวียนว่ายอยู่ในเขาวงกตด้วยปัญหาเดิมๆ ทั้งที่ผ่านมาถึง 10 กว่าปี

วิรัช อยู่ถาวร ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) มองว่า การประชุมสัมมนา “Asia - Pacific Music Creator Conference” มีวัตถุประสงค์ร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ลิขสิทธิ์ทางดนตรีเป็นที่ยอมรับเป็นที่เชื่อถือ ทางสมาพันธ์ผู้สร้างสรรค์และนักแต่งเพลงระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเอง ก็อยากโปรโมทเรื่องลิขสิทธิ์ไปทั่วโลกว่า ควรให้ความเคารพกับเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงลิขสิทธิ์ควรอยู่กับผู้แต่งเพลง

“ระบบการจัดเก็บลิขสิทธิ์คงจะต้องพัฒนาไปตามเทคโนโลยี ยูทูบและสตรีมมิ่งต่างๆ ก็คงมีการพัฒนาต่อไป การเผยแพร่ทางดนตรีออกทางไหนบ้าง ก็คงต้องพิจารณากันว่าอัตราการเก็บลิขสิทธิ์จะเป็นอย่างไร หลักเกณฑ์ก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งต้องมีการปรับปรุงพัฒนาไปเรื่อยๆ แฟร์ เทรด มิวสิค ต้องการมุ่งเน้นให้มีความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ใช้ลิขสิทธิ์”

สำหรับแนวโน้มในอนาคตในการจัดเก็บลิขสิทธิ์ดนตรีในประเทศไทย วิรัช ขยายภาพให้เห็นด้วยความเหน็ดหนาระอาใจว่า ปัจจุบันคนดูแลเรื่องจัดเก็บลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมในบ้านเรามีเยอะเกินไป

“แล้วต่างคนต่างจัดเก็บ โอเค...เขามีสิทธิเพราะเขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีสิทธิจัดเก็บด้วยตัวเขาเอง แต่ต่างคนต่างทำก็ทำให้มาตรฐานของเรตราคาก็ไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน ทำให้คนคิดว่าทำไมไม่เหมือนกัน ซึ่งน่าจะอยู่ในระบบเดียวกัน จริงๆ แล้ว ในใจผมอยากจะให้เหมือนต่างประเทศที่เขาดำเนินการมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว คืออยากให้องค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์เป็นองค์กรกลางจริงๆ ไม่ใช่องค์กรธุรกิจหรือผู้ผลิตจัดเก็บเสียเอง และในแต่ละสิทธิอย่างสิทธิในการเผยแพร่ เป็นต้น ควรเป็นหนึ่งสิทธิต่อหนึ่งองค์กรจัดเก็บ”

‘แฟร์ เทรด มิวสิค’ การค้าที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี

 

วิรัชบอกว่า ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็จะทำงานได้ง่ายขึ้นและผู้ใช้ก็รู้สึกได้ว่ามีการจัดเก็บอย่างเป็นธรรม อัตราการเก็บก็เป็นอัตราเดียวกันเหมือนกันทั้งประเทศ

“ปัจจุบันนี้จัดเก็บไม่เท่ากัน เก็บกันตามใจชอบ บริษัทนี้ต้องจ่ายห้าหมื่น บริษัทนี้ต้องจ่ายแสนหนึ่ง ปัญหาตรงนี้ก็จะหมดไป จะทำอย่างไรผมก็ไม่ทราบ ในความเห็นของผมและคนที่ร่วมงานอยากจะเห็นว่ามีเพียงหนึ่งองค์กรคือ องค์กรกลางที่ไม่ขึ้นอยู่กับธุรกิจเลย คือไม่แสวงหาผลกำไร จะได้แฟร์ แล้วก็การจัดเก็บนั้นต้องผ่านองค์กรนี้เท่านั้นเพื่อสะดวกและเป็นธรรมกับผู้ใช้ในเรื่องอัตราอะไรต่างๆ ต้องลดจำนวนผู้จัดเก็บให้น้อยลง เพราะมันมากจนผู้ใช้งงว่า ใช้ของคนนี้ก็ต้องขอทั้งคนนั้นคนนี้”

ผ่านไป 10 กว่าปี สำหรับการจัดเก็บลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม วิรัช เผยความในใจว่าเขาแค่พอใจในระดับหนึ่ง เพราะเรื่องธุรกิจเพลงแต่ละคนก็เจอกันแต่ละปัญหา

“ผมอยากให้เจ้าของลิขสิทธิ์ทุกคนพยายามรักษาสิทธิของตัวเอง ขอให้ผู้แต่งเพลง ผู้สร้างสรรค์ และผู้ผลิต คำนึงว่าสิทธิควรอยู่กับนักแต่งเพลง ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เขาอุตส่าห์คิดและแต่งขึ้นมา เป็นมรดกตกทอดไปถึงลูกเมียหรือครอบครัวของเขาได้ในภายหลัง อยากให้ตรงนี้ทุกคนเข้าใจว่า ผู้ผลิตสามารถนำไปทำกำไรได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิทธิควรอยู่กับผู้สร้างสรรค์หรือผู้แต่ง การจัดเก็บลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม อัตราการเก็บก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญของธุรกิจที่เกี่ยวกับดนตรีนั้นๆ อย่างคนที่เอาไปทำการค้าก็ต้องจ่าย แล้วเอาไปทำอะไร ดนตรีมีความสำคัญกับเขามากแค่ไหน เช่น แสดงคอนเสิร์ต เรตราคาการเก็บก็ต้องสูงกว่าร้านอาหารที่ขายอาหารแล้วมีดนตรีประกอบนิดหน่อยเพื่อเสริมบรรยากาศอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอัตราการเก็บก็จะต่างกัน ซึ่งบริษัทลิขสิทธิ์ดนตรีได้สร้างบรรทัดฐานเอาไว้ ทำตามมาตรฐานโลกอยู่แล้ว”

วิรัชบอกว่า เขาอยากฝากไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบว่าถ้าหากมีองค์กรกลาง มีองค์กรจัดเก็บน้อยที่สุด เก็บอัตราเดียวกันทั้งหมดก็จะทำให้สะดวกกันทุกฝ่าย

“ปัจจุบันก็ไม่รู้ว่าทางภาครัฐจะมีกฎระเบียบอย่างไร ที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องจัดเก็บซ้ำซ้อนลง คงต้องมีการคุยกันด้วยทุกฝ่าย เพราะก็มีกฎหมายกำกับดูแลอยู่แล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงกันอย่างไรที่จะให้อยู่ในระเบียบ อยู่ในกรอบที่จะจัดเก็บกันได้สะดวกไม่ซ้ำซ้อน ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับผู้ปฏิบัติงานที่จัดเก็บประสานงานกันเรื่องการจัดระบบ มีการแก้ไขระเบียบกันใหม่เพื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น

“สำหรับผู้นำลิขสิทธิ์ดนตรีไปใช้ ในเมื่อเราเอาทรัพย์สินทางปัญญาของเขามาใช้ในธุรกิจของตัวเอง ก็ควรมีการแบ่งปันไปให้เจ้าของบ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ซึ่งค่อนข้างเป็นธรรมอยู่แล้ว ขอความเห็นใจกันมากกว่า อยากให้ทุกคนมีความเข้าใจและมีความคิดอย่างเป็นธรรม อย่าเห็นแก่ได้เพียงฝ่ายเดียว ตรงไปตรงมา อย่าเอาเปรียบซึ่งกันและกัน”