ชัยพฤกษ์ ภูมิเมือง 24 ปี ในเขมร ‘โนว์-ฮู’ มาก่อน ‘โนว์-ฮาว’
ชัยพฤกษ์ ภูมิเมือง คือผู้บริหารคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศกัมพูชามาไม่ต่ำกว่า 24 ปี
โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล
ชัยพฤกษ์ ภูมิเมือง คือผู้บริหารคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศกัมพูชามาไม่ต่ำกว่า 24 ปี ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในธุรกิจบริการครบวงจร ทั้งตัวแทนท่องเที่ยวบริษัทอังกอร์ ทีเคทราเวล แอนด์ ทัวร์ ธุรกิจโรงแรม TARA Angkor ธุรกิจร้านอาหารไทย-ฟิวชั่น ร่วม 5 สาขาและบริษัทนิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณอินดัสเตรียล ที่มาพร้อมกับความท้าทายในการทำงานด้วยเป็นผู้บริหารคนไทยหนึ่งเดียวที่ต้องดูแลชีวิตพนักงานกัมพูชาถึงหลักร้อยคน
ชัยพฤกษ์ เล่าจุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานในกัมพูชาที่ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่กว่า 20 ปีก่อน ที่สมัยนั้นยังทำงานด้านอาหารและเครื่องดื่ม (เอฟแอนด์บี) ในโรงแรมสยามอินเตอร์ คอนติเนนตัล ที่เมืองไทย และมีโอกาสเดินทางไปโฮจิมินห์ ประเทศกัมพูชา กับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่อยู่ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมการ์เมนต์ ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นเจ้านายโดยตรง คือ ทวีกิจ จตุรเจริญคุณประธาน บริษัท ที.เค.การ์เม้นท์
ขณะที่ประเทศกัมพูชาเมื่อกว่า 20 ปีก่อนนั้น พบว่าร้านอาหารที่ดีที่สุดจะเป็นตึกเปิดตามห้องแถว การบริหารจัดการก็ยังไม่เป็นระบบ ไม่ถูกสุขลักษณะ อย่างทางเข้าไปห้องน้ำก็จะเห็นพ่อครัว แม่ครัว จัดวางหั่นเตรียมวัตถุดิบเพื่อปรุงอาหารกองกันตรงหน้าห้องน้ำ ซึ่งพอเรามาเห็นเข้าก็มองเป็นโอกาสว่าน่าจะเอาระบบการทำร้านอาหารที่มีมาตรฐานจากเมืองไทยเข้ามาเปิดธุรกิจที่นี่
“ในตอนนั้นไม่แปลกใจมากนักที่เห็นสภาพร้านลักษณะนี้ เพราะกัมพูชาติดอยู่ในภาวะสงครามมานานก่อนที่จะเปิดประเทศหลังจากกษัตริย์ นโรดมสีหนุได้นำกองกำลังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีทหารกว่า 1 หมื่นนายเข้ามาฟื้นฟูประเทศ ซึ่งก็เริ่มมองเห็นช่องทางแล้วว่าจากจำนวนทหารที่มีมากขนาดนี้พวกเขาจะหาอะไรกินกันที่ไหนในกัมพูชา จึงเริ่มนำโมเดลธุรกิจร้านอาหารไทยเข้ามาก่อนราวๆ ปี 2535 ในชื่อร้านเจ้าพระยา”
ช่วงที่ทำธุรกิจร้านอาหารดังกล่าว ยอมรับว่าเผชิญกับหลากหลายวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่การปะทะกันระหว่างสองรัฐบาลของกัมพูชาในยุคนั้นซึ่งมาพร้อมกับการจัดระเบียบกฎหมายต่างๆ อย่างในปี 2538 มีการฉีกสัญญาธุรกิจของนักลงทุนต่างๆ ทำให้ต่างชาติเริ่มมีความกังวลในเสถียรภาพทางธุรกิจ แต่ไม่นานนักกัมพูชาก็สามารถเปิดสภาขึ้นมาได้พร้อมจัดทำข้อตกลงต่างๆ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาอาเซียนที่เข้ามาคลายความกังวลให้กับนักธุรกิจข้ามชาติได้ระดับหนึ่ง
จากจุดพลิกทางการเมืองในกัมพูชาช่วงนั้น ทำให้เขาได้พบกับพันธมิตรธุรกิจชาวกัมพูชาที่น่าประทับใจและคอยช่วยเหลือมาโดยตลอดถึงปัจจุบัน ซึ่ง ชัยพฤกษ์ บอกว่าจะต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควรที่จะต้องมีทั้งความซื่อสัตย์และความจริงใจต่อกันด้วยกัมพูชาเพิ่งเริ่มต้นเปิดประเทศประชาชนส่วนใหญ่ต่างเคยสัมผัสภาวะสงคราม มีความดิ้นรน หวาดระแวงมาโดยตลอด ทำให้การเปิดใจกับเพื่อนใหม่เป็นไปได้ยากนัก แต่สุดท้ายก็สามารถใช้ใจเอาชนะมาได้
ด้วยการที่จะเข้าไปคลุกคลี หรือสร้างแต้มต่อทางการค้า การตลาดในกัมพูชาให้ได้นั้น จะต้องอาศัยคนท้องถิ่นที่ถูกต้องและถูกคน ที่จะสามารถเข้ามาให้การช่วยเหลือทั้งทางธุรกิจและการใช้ชีวิตในกัมพูชาได้จริงๆเรียกได้ว่าการเข้าประเทศนี้การรู้จักใคร หรือโนว์-ฮู นั้นสำคัญมากกว่าการนำกระบวนการเทคโนโลยี หรือ โนว์-ฮาว เข้ามากรุยทางทำตลาดในช่วงนั้น
เพราะหลังจากนั้นราวๆ 5-6 ปี หรือช่วงปี 2540-2542 ก็มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างไทยกับกัมพูชา มีการเผาสถานทูตกิจการร้านค้าของคนไทยที่เปิดในกัมพูชา เกิดการต่อต้านสินค้าไทยเป็นอย่างมาก กระทั่งทางการไทยต้องส่งเครื่องบินลำเลียงซี-130 จำนวน 4 ลำ เข้ามารับคนไทยเพื่อกลับประเทศ ทว่าชัยพฤกษ์กลับโชคดีที่สามารถอยู่ในประเทศกัมพูชาได้อย่างปลอดภัย โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพาร์ตเนอร์กัมพูชาท้องถิ่น
และจากการที่ไม่ต้องกลับเมืองไทยในช่วงนั้น ยิ่งทำให้ได้ศึกษาสภาพแวดล้อมต่างๆ ของผู้บริโภคกัมพูชามากขึ้น และยิ่งโชคดีขึ้นไปอีกที่เมื่อเหตุการณ์ทางการเมือง 2 ประเทศคลี่คลายลง ทำให้เขาสามารถกลับมาเปิดให้บริการร้านอาหารได้ทันที พร้อมกับการปรับเปลี่ยนชื่อร้านอาหารใหม่เป็น Tonle Bassac Restaurant และใช้มาถึงในปัจจุบัน เพื่อให้มีความเป็นร้านอาหารของคนท้องถิ่น และป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดได้อีกในอนาคต
ชัยพฤกษ์ เล่าว่า ในช่วงบุกเบิกของการทำธุรกิจร้านอาหารไทย ร้านได้มีโอกาสเข้าไปให้บริการแคเทอริง จัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม เมนูอาหารคาวหวานไทยเพื่อเสิร์ฟให้กับแขกผู้ใหญ่ระดับวีไอพีของกัมพูชาหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการได้รับเกียรติอย่างสูงจากฮุนเซน (นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรกัมพูชาคนปัจจุบัน) ที่เจาะจงใช้บริการแคเทอริงจากร้านอาหารไทยของเขาด้วย
ด้วยความที่ทางร้านถูกเรียกใช้บริการแคเทอริงให้กับวีไอพีของกัมพูชาบ่อยครั้งนี่เอง ที่ทำให้ได้รู้จักกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านในประเทศ ทำให้ได้คอนเนกชั่น เพราะเราไม่มีคู่แข่งด้วยหายไปหมด จากเหตุการณ์ในเมืองหลวงกรุงพนมเปญที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้ความชำนาญด้านธุรกิจงานเอฟแอนด์บีให้เต็มที่ โดยเฉพาะการวางแผนบริหารจัดการให้ดี
อย่างมีช่วงหนึ่งต้องรับงานแคเทอริงถึง 3 งาน ใน 1 คืน พร้อมกับได้รับคำขอให้ช่วยไปจัดเลี้ยงต้อนรับแขกระดับวีไอพีอย่างฮุนเซน ในที่ทำการใหญ่พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ซึ่งมีแขกร่วม 1,200 คนแต่ทางร้านได้ขอเจรจาต่อรองให้บริการเหลือ400 คน ซึ่งทางพรรคก็ยินยอมตอบตกลงให้เราจัดแคเทอริงได้ตามจำนวนนั้น
ชัยพฤกษ์ บอกว่า ด้วยจุดเด่นของร้านคือให้บริการระดับเหลา ทุกอย่างเซตมาจากเมืองไทย ตั้งแต่เมนูสตาร์ทเตอร์ไปจนถึงเมนคอร์ส โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการธุรกิจร้านอาหารภายในเครือรวมกัน 5 แห่ง กระจายอยู่ในกรุงพนมเปญ และจังหวัดเสียมราฐ รองรับกลุ่มเป้าหมายทั้งคนท้องถิ่นในกัมพูชา และนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น หลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
นอกเหนือจากธุรกิจร้านอาหารไทยแล้ว บริษัทแม่จากไทยยังขยับขยายธุรกิจบริการต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง อย่างโรงแรมภายใต้ชื่อ TARA Angkor ที่ต่อยอดจากความต้องการของลูกค้าคนไทยที่เข้ามาทำธุรกิจ หรือท่องเที่ยวในกัมพูชาและเข้ามารับประทานอาหารที่ร้าน และบอกผ่านให้ชัยพฤกษ์ประสานติดต่อจองโรงแรมที่พักให้ รวมถึงบริการเอเยนต์ทัวร์ บริษัท อังกอร์ ทีเค ทราเวล แอนด์ ทัวร์ เพื่อเสริมความครบวงจรธุรกิจบริการท่องเที่ยวด้วย ที่มองเห็นว่าในอนาคต หลังจากที่กัมพูชาเร่งสปีดพัฒนาเศรษฐกิจประเทศแล้ว จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาอีกจำนวนมาก อย่างในปีนี้ที่มีการวางเป้าไว้ราว 5 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อนมีนักท่องเที่ยวราว 3 ล้านคน และมองว่าหากจะมีนักท่องเที่ยวแตะอยู่ที่ 10 ล้านคนก็ไม่ยากนัก
ชัยพฤกษ์ กล่าวถึงการค้าการลงทุนในกัมพูชาที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปีนี้ที่รัฐบาลกัมพูชาเตรียมผลักดัน 3 ด้านสำคัญ คือ 1.สร้างอาชีพในสายงานการท่องเที่ยว ด้วยเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ 2.ด้านการเกษตร ที่ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นตามมา และ 3.การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามามากขึ้น โดยปัจจุบันทุนจากจีนครองอันดับ 1 เกาหลีใต้เป็นอันดับ 2 เวียดนามอยู่อันดับ 3 ส่วนไทยรั้งอยู่อันดับ 4 จากในอดีตไทยเคยครองเบอร์ 1 ด้านการลงทุนในประเทศกัมพูชา
จากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 15 ล้านคน และจะเป็นกำลังซื้อที่มีศักยภาพจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 7.5% ภายในปี 2559-25560 จากในปีก่อนที่จีดีพีสูงถึง 8% เลยทีเดียว