โรคนี้ก็มีด้วย โรคกลัวการเป็นโสด
กลัวการเป็นโสด โรคนี้จะเป็นมากในกลุ่มผู้หญิง จากประเทศที่พัฒนาน้อย มีปัญหาเรื่องความเชื่อและวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสาน
โดย...อณุสรา ทองอุไร / ชุติมา สุวรรณเพิ่ม
กลัวการเป็นโสด โรคนี้จะเป็นมากในกลุ่มผู้หญิง จากประเทศที่พัฒนาน้อย มีปัญหาเรื่องความเชื่อและวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีโอกาสทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ถ้าไม่แต่งงานชีวิตจะลำบาก จำเป็นต้องมีสามีเลี้ยงดูช่วยเหลือ จึงอยากแต่งงานให้จบๆ ไป
สำหรับประเทศไทยปัญหาเรื่องนี้ก็มีอยู่บ้าง ในผู้หญิงที่มีบุคลิกแบบภาวะพึ่งพิงอ่อนแอ ที่อยากให้มีใครเคียงข้างช่วยเหลือเสมอ นิสัยอ่อนๆ ไม่เข้มแข็ง จึงมักจะรีบตัดสินใจแต่งงานโดยไม่เลือกเฟ้นผู้ชายที่ดีพอ คือรีบร้อนในการตัดสินใจ เมื่อแต่งงานไปแล้วเจอปัญหาชีวิตคู่ที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายจิตใจก็จะไม่กล้าหย่า เพราะกลัวต้องออกมาอยู่คนเดียว จะแย่แค่ไหนก็จะทนอยู่กับสามีแม้จะระทมทุกข์เพียงใดก็ตาม
ด้านผู้หญิงรุ่นใหม่ในกลุ่มคนชั้นกลาง แม้จะมีการศึกษาพอเลี้ยงตัวเองได้ แต่พอถูกถามบ่อยๆ เรื่อยๆ กลายเป็นความกดดัน ไม่อยากฟัง เครียด เก็บกด กลายเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า โรคกลัวการเป็นโสด (Anuptaphobia) คือกลัวการอยู่คนเดียวอย่างรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นโรคทางจิตใจชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อกลับบ้านต่างจังหวัดจะถูกญาติๆ และเพื่อนบ้านถามว่า ยังไม่แต่งงานอีกหรือ ทำไมล่ะ คนถามอาจจะไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่คนถูกถามอาจจะเจ็บคันจิตใจไม่น้อย มาดูกันว่าโรคนี้คืออะไร ระดับไหนถึงเข้าข่ายว่าเป็น
โรคกลัวการเป็นโสดคืออะไร
ในทางจิตวิทยาได้จัดโรค Anuptaphobia ไว้ว่าเป็นโรคกลัวชนิดเฉพาะเจาะจง (Specific Phobia) สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แน่นอนว่าจะเกิดกับผู้หญิงวัยสาวตอนปลายมากที่สุด โรคนี้อาจมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย แต่โดยส่วนมากนักจิตวิทยาจะพบว่าความกลัวนั้นๆ มีสาเหตุมาจากสิ่งที่ฝังใจ เหตุการณ์สุดสะเทือนใจในวัยเด็ก เช่น อาจสัมผัสได้ถึงความเหงาและความอ้างว้างจากคู่รักที่เลิกรากันไป หรือเห็นคนโสดใกล้ตัวดูเศร้าหมองไม่มีความสุข ทว่าโรคนี้ก็ยังมีสาเหตุได้จากพันธุกรรม หรือลักษณะบางอย่างของยีนด้วย แต่ก็ยังมีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้จากสาเหตุแรกมากกว่า
แค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นโรคกลัวการเป็นโสด มีอาการบ่งชี้เบื้องต้นมาให้ตรวจวัดกันว่าเข้าข่ายหรือไม่ ลองถามใจดูอีกทีว่าที่เป็นโสดอยู่ตอนนี้เรารู้สึกกลัวสถานะของตัวเองบ้างหรือเปล่า แล้วถ้าต้องขึ้นคานจริงๆ คิดว่าตัวเองจะรับมือกับการอยู่ตัวคนเดียวได้ไหม
ถ้าตอนนี้สถานะของตัวเองคือ โสด โปรดจีบ แสดงว่าคุณก็ไม่ค่อยจะมีความสุขกับการอยู่คนเดียวสักเท่าไรจริงไหม และแม้ว่าใครๆ ก็น่าจะไม่ชอบที่ต้องใช้ชีวิตตามลำพัง ทว่าในโลกนี้ยังมีอาการกลัวเป็นโสดขั้นกว่าที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า ป่วยเบาๆ หรือที่เรียกว่า โรคกลัวการเป็นโสดอยู่ด้วยนะรู้ยัง
อาการบ่งชี้
นอกจากจะต้องถามใจเพื่อเช็กสุขภาพจิตตัวเองสักหน่อยแล้ว ยังสามารถบ่งชี้ความเป็นโรค จากอาการเหล่านี้
1.รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เหมือนชีวิตต้องการใครสักคนมาเติมเต็มอยู่ตลอด โดยเฉพาะเมื่อต้องออกไปไหนมาไหนคนเดียว หรือต้องทำอะไรตามลำพังบางครั้งอาจมีความรู้สึกกังวลมากถึงขั้นรู้สึกเครียด
2.อยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ ถ้าอยู่คนเดียวจะนอนไม่หลับ ทำอะไรไม่ถูก ต้องหาเพื่อนมานอนด้วย หรือมักจะเป็นคนที่มีนิสัยติดเพื่อนฝูงหนักมาก
3.หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่จะมีแฟน การแต่งงาน หรือชีวิตคู่ในอนาคต ชอบมโนถึงความรักที่สวยงาม ความสุขของการมีคู่ โดยไม่สนใจความเป็นจริง
4.มีความสุขกับการเพ้อว่าได้รักกับคนที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งวาดฝันความสุขกับคนที่ไม่เคยสนใจเรา หรือเพ้อว่าได้รักกับดารา นักร้อง คนที่เพิ่งพบกันครั้งแรก คนที่เจอในโลกโซเชียล หรือแม้กระทั่งกับคนที่ตัวเองรู้สึกไม่ชอบหน้า
5.ไขว่คว้าหาความรัก เฝ้านับวันที่จะมีแฟนสักที หรือชอบคิดเล่นๆ ถึงวันที่จะมีความรัก
6.มักจะดำเนินความสัมพันธ์ในโลกของจินตนาการ คือเมื่อมีรักก็มักจะเป็นคนชอบเพ้อเจ้อ เหมือนอยากให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ มีความคาดหวังว่ารักต้องดีงามที่สุด ทำให้ต้องเจอกับปัญหาความสัมพันธ์บ่อยครั้ง หรือต้องจบความสัมพันธ์ไปซะทุกที
7.รักแบบแสดงความเป็นเจ้าของมากๆ ชนิดที่ไม่เว้นช่องว่างให้คนรัก หรือต้องมีเขาอยู่ข้างๆ ทุกเวลาที่ตัวเองต้องการ
8.พยายามที่จะมีความรัก โดยไม่สนใจว่าคนที่จะมาอยู่ข้างๆ จะเป็นใคร มีนิสัยที่เข้ากันได้หรือไม่ ทำให้ความรักมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ หรือต้องจบความสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว
9.เกิดความรู้สึกกลัวจนเหงื่อแตก ใจสั่น รู้สึกเหมือนไม่สบาย หากต้องอยู่ตามลำพัง
การวินิจฉัยและการรักษา
เพราะในโลกนี้อาจมีคนขี้เหงาจำนวนไม่น้อย ฉะนั้นการจะวินิจฉัยผู้ป่วยโรคนี้ได้อาจต้องอาศัยแบบทดสอบทางจิตวิทยาร่วมกับการวิเคราะห์อาการของโรคด้วย ซึ่งหากลองเช็กแล้วว่าตัวเองกลัวการเป็นโสดมากจนเข้าข่ายอาการของโรค กรณีนี้แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อความชัวร์อีกที
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต และแพทย์ที่ปรึกษาประจำโรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ของโรคที่เข้าขั้นว่าเป็นโรคนี้จริงๆ นั้นมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ที่เหลือนั้นส่วนใหญ่จัดเป็นเพียงแค่ความเครียดวิตกกังวล ไม่ถึงขั้นทุรนทุรายรุนแรง การรักษาจึงต้องประเมินเป็นรายๆ ไป ถ้าแค่วิตกกังวลก็อาจจะมาปรึกษาเพื่อรับข้อแนะนำ ถ้าไม่ดีขึ้นก็อาจจะใช้ยาช่วยเพื่อลดความกังวล ทำจิตบำบัด เพราะบางรายอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าตามมา
“ข้อแนะนำเพื่อลดความเครียดเบื้องต้นก็คือ ปรับมุมมองความคิดของตัวเองใหม่ ว่าถ้าแต่งแล้วเจอคนไม่ดีจะแย่ยิ่งกว่า ควรดูแลตัวเองให้ดีทำร่างกายให้ร่าเริงแจ่มใสอ่อนหวาน วางตัวให้ดีให้
น่ารัก มีอะไรบกพร่องก็ให้แก้ไข เมื่อเจอคนดีจะได้มีโอกาสมากขึ้น หรือเอาเวลาไปออกกำลังกายไปเรียนไปทำอะไรที่ชอบจะได้ไม่หมกมุ่นกับเรื่องนี้เกินไป”
โดยปกติแล้วความกลัวชนิดจำเพาะเจาะจงอย่างนี้ อาจรักษาได้ด้วยการให้คำปรึกษา การเยียวยาด้วยการบำบัดตามหลักจิตวิทยา เช่น การบำบัดด้วยวิธีหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง โดยฝึกให้ผู้ป่วยค่อยๆ ทนกับการอยู่คนเดียว หรือแพทย์อาจเลือกใช้วิธีสะกดจิตบำบัด โน้มน้าวให้ผู้ป่วยเชื่อว่าการอยู่คนเดียวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หรือบำบัดด้วยการปรับทัศนคติเกี่ยวกับการต้องอยู่คนเดียวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การใช้ยารักษาโรคยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เพราะยารักษาอาจมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และอาจต้องใช้ยาเป็นเวลานาน ทว่าจิตแพทย์ก็อาจจ่ายยาคลายเครียดเพื่อช่วยบรรเทาอาการในเบื้องต้นไปก่อน
ผู้ป่วยโรค Anuptaphobia อาจมีโรค Gamophobia หรือโรคกลัวการแต่งงานแฝงมาด้วย ซึ่งอาจเป็นเพราะว่ามีประสบการณ์กับความรักที่เจ็บปวดมาเยอะ หรือมีความคาดหวังสูงมากกับคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิต จนทำให้รู้สึกไม่มั่นใจว่าคนที่ตัวเองเลือกจะดีพอไหม และจากคนที่กลัวขึ้นคานก็กลายเป็นเจ้าสาวที่กลัวฝนเพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง
แค่รอคนที่ใช่...ไม่เห็นจะกลัว
ชัญญาภัค วิทยาอนุมาส นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และนักพยากรณ์จากไพ่ออราเคิล กล่าวว่า เธอนั้นไม่กลัวความโสดเลย แม้วันนี้จะอายุเฉียดเลขสี่ก็ยังโสดและมีความสุขดี วันนี้ก็ทำให้ดีที่สุด วาง
ตัวให้ดี ทำตัวเองให้ดูดีสวยงามมีคุณค่าและเป็นตัวของตัวเอง เธอเชื่อว่าสิ่งดีๆ เหล่านี้จะดึงดูดคนที่เราคู่ควรและเหมาะสมเข้ามาเอง ที่ยังไม่เลือกเพราะคิดว่ายังไม่ใช่คนที่ดีที่สุดสำหรับเรา ในเมื่อเราเองก็มีความพร้อมทุกอย่าง ถ้าไม่เจอคนที่คิดว่าดีว่าใช่จะตัดสินใจผิดๆ ไปให้ชีวิตเสียหายทำไม ถ้าไม่ใช่ไม่เลือกแน่นอนค่ะ
“เชื่อว่าน่าจะมีคนที่ใช่ของเรา บอกไม่ได้ว่าจะเจอเมื่อไหร่ ช้าหรือเร็วคงอยู่ที่บุญวาสนาที่ทำด้วยกันมา เราอาจจะต้องผ่านเหตุการณ์ดีหรือร้ายกันก่อนที่จะได้มาเจอกัน ถ้ามีบุญร่วมกันมาเราจะได้คู่ที่ดีในเวลาที่เหมาะที่ควร แต่ถ้าไม่มีก็อยู่คนเดียวเป็นคนดีดูแลตัวเองและช่วยเหลือสังคมต่อไปก็สบายใจดีไม่มีปัญหาอะไรเลย” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้มสบายๆ
ด้าน มนูญสินี ฟูตระกูล นักดูแลภาพลักษณ์ให้กับองค์กรต่างๆ จากบริษัท มิร์เรอร์ เมอริต ดิ อิมเมจ คอนซัลแทนต์ส บอกว่า ความสำคัญของชีวิตในวัย 39 ปี คือ งาน และคุณแม่ยังมอบภาระพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ให้อีกหน้าที่หนึ่งด้วย “โสดไม่สนิท ไม่คิดแต่งงาน” ด้วยเหตุผลคู่คิดเป็นผู้หญิงด้วยกัน แน่นอนว่าหญิงสาวฐานะดี บุคลิกดี ก็ย่อมมีผู้ชายมาขายขนมจีบไม่ใช่น้อย แต่ไม่ขอตอบรับความสัมพันธ์ที่ต้องพิจารณามากที่สุดในชีวิต
“ไม่ได้หวงความโสด แต่เสียดายเวลาค่ะเพราะขณะที่ดิฉันโสด เพื่อนๆ เรานี่หย่าร้างไปแล้วหลายคน เวลาเอากลับมาไม่ได้ ผู้ชายที่เข้ามาดิฉันมองคนศีลเสมอกัน คือ 1.ครอบครัว ไม่ใช่ร่ำรวยนะคะ แต่มีจิตใจดีมีเมตตาต่อกัน 2.ปัญญา มองโลกไม่ต่างกัน 3.เสียสละ ต้องมีให้กัน ดิฉันมองสามเรื่องนี้ยาวเลยค่ะ ไม่มีใครถูกใจเสียทีนะคะ ขณะที่ผู้หญิงจะง่ายกว่าเพราะการคบกันในแบบกัลยาณมิตร เพราะฉะนั้นเรื่องแต่งงานสำหรับดิฉันบอกเลยค่ะ ไม่ง่ายแน่นอน” มนูญสินี บอกพร้อมสียงหัวเราะ