หมอออนไลน์ เรื่องป่วยไข้เข้าใจไม่ยาก!
เด็กรุ่นใหม่ยุคนี้นิยมลุกขึ้นมาเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจกันเป็นว่าเล่น แต่ที่เห็นได้ชัดและเป็นที่สนใจของผู้คนมักจะเป็นเพจของบุคลากรทางการแพทย์หรือคุณหมอ
โดย...ภาดนุ
เด็กรุ่นใหม่ยุคนี้นิยมลุกขึ้นมาเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจกันเป็นว่าเล่น แต่ที่เห็นได้ชัดและเป็นที่สนใจของผู้คนมักจะเป็นเพจของบุคลากรทางการแพทย์หรือคุณหมอ ซึ่งถ่ายทอดสาระความรู้แฝงความน่ารักและความฮาผ่านคาแรกเตอร์ของตัวเองหรือตัวการ์ตูนจนมียอดฟอลโลว์เป็นหลักแสน ลองไปส่องดูซิว่ามีเพจไหนน่าสนใจบ้าง
หมอแล็บแพนด้าฮาแบบได้สาระ
ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ แม็ค นักเทคนิคการแพทย์วัย 37 ปี เจ้าของเพจ หมอแล็บแพนด้า เล่าว่า เขาเรียนจบจากคณะสหเวชศาสตร์ สาขาเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
“แรกๆ ผมเปิดเพจโดยใช้ชื่อจริงคือ ‘ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน’ มาตั้งแต่ปี 2013 โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้คนทั่วไปได้รู้จักและเข้าใจวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ เพราะเทคนิคการแพทย์ส่วนใหญ่ทำงานในแล็บ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วพวกเราทำอะไร ส่วนใหญ่คนจะรู้จักแค่แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทำอะไรแค่นั้น เพราะเห็นงานที่ทำได้ชัดเจน แต่งานเบื้องหลังที่พวกเราทำไม่มีใครรู้ เมื่อคนไข้มาเจาะเลือด มาตรวจฉี่ ตรวจปัสสาวะ เขาก็ไม่ได้เจอกับเรา อย่างผมเองก็ทำงานในห้องแล็บและมีหน้าที่ตรวจเลือดเป็นหลัก ผมจึงอยากให้คนทั่วไปได้รู้ว่ายังมีนักเทคนิคการแพทย์หรือ ‘หมอแล็บ’ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่อยู่ด้วย”
แม็ค บอกว่า เขาได้ถ่ายภาพห้องแล็บและการทำงานลงในเพจอยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อรู้สึกว่าจำนวนคนเข้าดูเพจไม่ค่อยขยับเพราะใช้ศัพท์เทคนิคที่ยากเกินไป แล้วคนที่มากดไลค์ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่วัตถุประสงค์หลักจริงๆ คือ อยากให้คนทั่วไปเข้าใจถึงวิชาชีพนี้มากกว่า
“ตอนแรกผมก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้มีคนมาสนใจเพจมากขึ้น ก็พอดีว่ามีจุดเปลี่ยนคือมีละครเรื่องหนึ่งที่มีฉากบริจาคโลหิตโดยให้เลือดแบบต่อสายตรง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ มันต้องเอาเลือดนั้นไปทดสอบผ่านกระบวนการในแล็บอีกหลายอย่าง เมื่อคนทั่วไปยังเข้าใจผิดอยู่ ผมเลยอยากออกมาให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่พวกเขา ปรากฏว่าคนสนใจและแชร์กันเยอะมาก
ผมจึงมาวิเคราะห์แล้วสรุปว่า ที่คนทั่วไปชอบเพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัว แล้วเราพูดโดยใช้ศัพท์ง่ายๆ ซึ่งนำเสนอแบบฮาๆ หน่อยก็เลยโดนใจคน ทุกเรื่องที่โพสต์ลงเพจผมจะศึกษาจากงานวิจัยเพื่อหาข้อมูลก่อนเสมอ ความเชื่อผิดๆ ของคนจึงได้รับการไขข้อข้องใจ ซึ่งคนอื่นๆ ที่ติดตามก็จะได้ความรู้กลับไปด้วย”
แม็ค เสริมว่า คลิปหรือภาพแบบซีรี่ส์เรื่องต่อๆ มาที่โพสต์ลงไป เขาต้องศึกษาข้อมูลอย่างดีและใช้เวลาคิดมุขและใช้เวลาทำนานมากเพราะทำยาก แต่ก็พยายามทำออกมาเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้มีสมาชิกเพจร่วม 4 แสนคนแล้ว
“ผมเพิ่งเปลี่ยนชื่อเพจจากชื่อจริงมาเป็น ‘หมอแล็บแพนด้า’ ได้ 3-4 เดือนเท่านั้น ที่ต้องเปลี่ยนเพราะเมื่อคนรู้จักเยอะก็มีคนจับตามองเยอะ จะขยับตัวทำอะไรก็ยาก เพราะมีคำนำหน้าวิชาชีพ ‘ทนพ.’อยู่ และให้เพจดูมีความเป็นกันเองมากขึ้น ก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘หมอแล็บแพนด้า’ ที่คนเข้าใจได้ง่ายแทน
ที่มาของชื่อนี้ก็เพราะเวลาถ่ายรูปในห้องแล็บ อยู่เวรทำงานกะดึกแล้วตาผมจะคล้ำๆ โหลๆ ซึ่งเวลาถ่ายหน้าใสๆ ไปคนก็เข้ามาบอกว่า ทำไมตาไม่คล้ำล่ะ ตัวจริงหรือเปล่า ก็เลยต้องคงคอนเซ็ปต์แพนด้าไว้ เวลาถ่ายคลิปวิดีโอ ผมก็ต้องแต่งหน้าให้ตาคล้ำๆ ก่อน แต่เวลาถ่ายภาพนิ่งผมจะใช้โฟโต้ช็อปแต่งภาพ (หัวเราะ) ก็เลยออกมาอย่างที่เห็น”
แม็ค ทิ้งท้ายว่า เนื้อหาที่คนส่วนใหญ่ชอบจะเป็นภาพแบบซีรี่ส์ซึ่งคนกดไลค์กันถล่มทลายเพราะรู้สึกว่ามันฮา เรื่องล่าสุดก็คือ ‘จดหมายถึงจิ๋ม’ ซึ่งจะบอกวิธีดูแลของสงวนของผู้หญิงให้ถูกสุขอนามัย และไม่ทำตามความเชื่อผิดๆ หรือซื้อยาอันตรายที่ขายเกลื่อนทางอินเทอร์เน็ตมาใช้
“ก่อนจะโพสต์ภาพแบบซีรี่ส์ ผมใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะต้องค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการ นั่งคิดมุข แล้วจึงมาทำภาพทีหลัง นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอร้องแร็ปเรื่องเบาหวาน เรื่องยาลดความอ้วน ยาที่กินแล้วผิวขาว ภาพข่าวสั้นที่คนให้ความสนใจและอื่นๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้ามาถามอยู่บ่อยๆ ผมก็เลยเอาคำถามเหล่านี้มาย่อยเป็นภาพและถ้อยคำแบบซีรี่ส์สั้นๆ ให้เข้าใจง่าย คนจึงชอบและแชร์กันเยอะมากจนผมรู้สึกประทับใจ แล้วคงจะนำเสนอเรื่องดีๆ ที่มีประโยชน์แบบนี้ต่อไปครับ”
เอ้า! ใครเป็นแฟนคลับหนุ่มคนนี้ นอกจากเพจแล้วยังสามารถตามอ่านพ็อกเกตบุ๊ก “หมอแล็บ ความเชื่อผิดๆ ชิดซ้าย เรื่องหลอกลวงชิดขวา” ของเขาได้ที่ร้านหนังสือทั่วไป
หมอหมึกดุ๋ยแชร์ความรู้ผ่านการ์ตูน
จากบทความสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บชวนเชื่อแบบผิดๆ บางครั้งก็ถูกบิดเบือนไปจากความจริง ทำให้ หิมะ-ปิยะธิดา โตพึ่งพงศ์ นักศึกษาแพทย์สาวชั้นปี 4 จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ลุกขึ้นมาเปิดเพจชื่อ “หมอหมึกดุ๋ย” เพื่อแชร์ความรู้ต่างๆ ผ่านภาพการ์ตูนดึงดูดความสนใจ และใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายขึ้น จนมีคนติดตามเพจของเธอหลักแสน
หิมะ-ปิยะธิดา โตพึ่งพงศ์
“เพจ ‘หมอหมึกดุ๋ย’ เป็นนามปากกาที่หนูกับเพื่อนใช้มาตั้งแต่ ม.ต้น ชื่อนี้เกิดจากการที่หนูเอาทิชชู่มาซับหมึกตอนวาดการ์ตูนแล้วรู้สึกว่ามันดุ๋ยๆ จึงตั้งชื่อเพจว่า ‘หมอหมึกดุ๋ย’ ค่ะ ซึ่งเนื้อหาในเพจนี้จะเป็นข้อมูลทางการ แพทย์ที่ผ่านการคัดกรองมาแล้วว่าถูกต้องตามหลักการแพทย์ โดยข้อมูลได้ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นการ์ตูนที่เข้าใจง่าย สามารถเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย”
หิมะ บอกว่า จุดเริ่มต้นในการตั้งเพจขึ้นมาก็เพราะมีข่าวว่ามีคนกินยาลดความอ้วนแล้วเสียชีวิต เธอจึงไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก นั่นเพราะหลายคนเชื่อโฆษณาในเว็บไซต์ว่ามียาที่สามารถลดความอ้วนได้ เม็ดละไม่กี่บาท อันนั้นลดแขน อันนี้ลดขา ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก
“เนื้อหาการ์ตูนความรู้ที่หนูโพสต์ลงไปตอนนี้มี 6 เรื่องด้วยกันคือ ยาลดความอ้วน ฟันผุ พยาธิในเนื้อหมู ไข้เลือดออก แพ้อาหาร และการคุมกำเนิด หนูขอยกตัวอย่างเรื่องแพ้อาหาร ภาพการ์ตูนก็จะอธิบายว่า ทำไมบางคนถึงไม่อยากกินอาหารชนิดนั้น นั่นก็เพราะกินแล้วเกิดอาการแพ้ (มิได้ล้อเล่น แพ้จริงๆ) ซึ่งเรื่องแพ้อาหารมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะคนที่กินอาหารแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นมา ร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้จนอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
หนูก็จะวาดเป็นรูปกุ้ง และอธิบายถึงกระบวนการย่อยจนกลายเป็นสารอาหาร เมื่อกินไปแล้วเกิดอาการแพ้ก็จะมีเม็ดเลือดขาวออกมาสร้างแอนติบอดิสู้กับสารที่แพ้ ซึ่งถ้ากินครั้งแรกอาจจะยังไม่เกิดอาการ แต่เมื่อกินครั้งที่สองแอนติบอดิก็จะทำงาน คนที่กินอาหารนั้นเข้าไปจึงเกิดอาการแพ้ขึ้นมา
หรืออย่างเรื่องการคุมกำเนิด เนื่องจากว่าเนื้อหาเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะและซับซ้อน หนูจึงลงเนื้อหาทีละตอน โดยเริ่มต้นจากการคุมกำเนิดในเพศหญิงก่อน ซึ่งจะย่อยข้อมูลให้ทราบถึงเรื่องกลไกของฮอร์โมน การทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงแบบพื้นฐาน กลไกของประจำเดือน และยาคุมแบบรับประทานทั่วไป เป็นต้น”
หิมะ บอกว่า ก่อนวาดการ์ตูนลงเพจต้องศึกษาข้อมูลก่อนทุกครั้ง จากนั้นจึงวาดภาพและย่อยข้อความให้สั้นๆ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้น โดยใช้เวลาวาดประมาณครึ่งวันก็จะวาดการ์ตูนเสร็จ 1 เรื่อง
“พอเริ่มมีคนสนใจเข้ามาติดตามเพจมากขึ้น เพื่อนๆ หนูก็จะมาแซวว่า เอ๊ะ ทำไมในเพจไม่เหมือนตัวจริงเลย (หัวเราะ) ซึ่งอาจารย์ที่สอนก็รู้เรื่องที่หนูทำเพจนี้ขึ้นมา เพราะบ่อยครั้งที่หนูต้องไปขอความรู้จากอาจารย์เพื่อมาช่วยอธิบายด้วยเช่นกัน ก็ต้องขอบคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ
อย่างเวลาที่มีคนแชร์เรื่องที่ไม่จริงหรือเรื่องที่เข้าใจผิด เช่น หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก ให้เจาะเลือดที่นิ้วจะช่วยได้ ซึ่งความจริงแล้วต้องรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วนต่างหาก ซึ่งความรู้ผิดๆ เหล่านี้มันอาจจะก่อให้เกิดความสูญเสียหรือฆ่าคนได้ เพราะถ้าไม่รีบพาไปส่งโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจพิการหรือเสียชีวิตได้เลย”
หิมะ ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้เธอได้ต่อยอดจากเพจโดยพิมพ์พ็อกเกตบุ๊กรวมเล่มชื่อ “โรคภัยไม่เจ็บ” ฉบับการ์ตูนซึ่งเขียนใหม่ทั้งหมด เช่น โรคไมเกรน โรคอ้วน โรคกระเพาะ โรคกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ และโรคออฟฟิศซินโดรม ออกมาแล้ว ใครที่สนใจก็ตามอ่านกันได้ที่ร้านหนังสือ เพราะความตั้งใจของเธอคืออยากเห็นคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น
แพทย์หญิงท่านหนึ่ง การ์ตูนฟรุ้งฟริ้งแฝงสาระ
“แพทย์หญิงท่านหนึ่ง” เพจการ์ตูนฟรุ้งฟริ้งแนวฟิกชั่นนัล คาแรกเตอร์ ผสมความกวนที่ถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตประจำวันของแพทย์หญิงเจ้าของเพจ มีทั้งเรื่องแซวๆ ฮาๆ ของชีวิตหมอ ทั้งเป็นโสด หาแฟนยาก อยากมีคู่ แต่ไม่ค่อยมีเวลา บทสนทนาตอนตรวจคนไข้ ฟีดแบ็กจากคนไข้ เรื่องโรคภัยต่างๆ เช่น ไข้เลือดออก รวมถึงเรื่องความสวยความงาม อย่างการเลือกใช้ครีมกันแดดว่าควรเลือกอย่างไร ค่าเอสพีเอฟ ยูวีเอ ยูวีบี หมายถึงอะไร และอื่นๆ ซึ่งถ่ายทอดผ่านคำพูดสั้นๆ เข้าใจง่ายและตัวการ์ตูนทั้งฟรุ้งฟริ้งทั้งยียวนผสมกันไป
แต่ละโพสต์จะมีทั้งแซว ทั้งเสียดสีเบาๆ ออกแนวน่ารัก เช่น คาแรกเตอร์ของแพทย์หญิงสาขาต่างๆ อย่าง หมอสูตินารี หมอเมด หมอศัลย์ หมอดมยา หมอเด็ก มีลักษณะเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง หรือคาแรกเตอร์แพทย์ชายแต่ละสาขา เช่น ชายออร์โธ ชายเมด ชายสกิน และชายศัลย์ มีบุคลิกและนิสัยอย่างไร เป็นต้น โดยใช้ข้อความสั้นๆ เข้าใจง่าย ได้ความฮาแฝงสาระปะปนกัน จึงถือเป็นอีกหนึ่งเพจที่สร้างสีสันให้ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะตอนนี้หน้าเพจขึ้นโชว์ว่ามีคนกดไลค์ทะลุหลักแสนไปเรียบร้อยแล้ว