‘เกาเข่า’ วาระแห่งชาติ ‘เอนทรานซ์จีน’
ทุกวันที่ 7 และ 8 มิ.ย. คือวันแห่งวาระแห่งชาติของจีน วัน “เกาเข่า”
ทุกวันที่ 7 และ 8 มิ.ย. คือวันแห่งวาระแห่งชาติของจีน วัน “เกาเข่า”
“เกาเข่า” เป็นภาษาจีน แปลว่าการสอบขั้นสูง ซึ่งหมายถึงการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือที่บ้านเราเคยเรียกกันว่า เอนทรานซ์ “เกา” แปลว่าสูง “เข่า” แปลว่าการสอบ พออ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยแล้วรู้สึกคัน
ท่านชายทั้งหลายยังอาจรู้สึกคันยิ่งกว่า เมื่อได้ยินชื่อเพื่อนชาวจีนคนหนึ่งของผมที่ชื่อ “เกาข่าย” (ในที่นี้ “เกา” คือแซ่ ส่วน “ข่าย” แปลว่าชัยชนะ)
กลับมา “เกาเข่า” ต่อ
จีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการแข่งขันสูงในทุกด้านของชีวิต ที่ประเทศจีน ชีวิตคือการแข่งขัน ไม่ว่าจะเกิด กิน หางาน ขึ้นรถเมล์ ล้วนต้องแข่ง “เกาเข่า” ในจีนจึงไม่พ้นบรรยากาศอันดุเดือดเลือดซิบๆ
ขอเล่าย้อนไปเมื่อช่วงก่อนเริ่มต้นการปฏิวัติวัฒนธรรม กระแสวิพากษ์วิจารณ์การศึกษายุคนั้นเพ่งเล็งเรื่องการศึกษาของยุวชน ว่าการศึกษาจีนช่างเลวร้าย ชั่วโมงเรียนเยอะ การบ้านก็มาก นักเรียนมีความกดดันสูง อาจารย์ออกสอบอย่างกับเห็นนักเรียนเป็นศัตรู ให้ท่องจำแต่ตำรา แต่ไม่รู้จักชีวิตจริง!
ปี 1966 เริ่มยุคอลหม่านแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม กลุ่มนักเรียนมัธยมที่ปักกิ่งกลุ่มหนึ่งรวมตัวแสดงพลังวัยรุ่นให้ยกเลิกเกาเข่า เหมาเจ๋อตงอนุมัติ! เยาวชนทุกคนจงหันมาเรียนนอกตำรา คือผู้นำที่เห็นคุณค่าการเรียนรู้ของเยาวชน!
ไม่ต้องเกาเข่าอีกต่อไป พร้อมๆ กันกับการล่มสลายของระบบการศึกษาจีนทุกระดับ เป็นสิบปีที่แทบไม่มีการเรียนการสอนหนังสืออะไร เด็กวัยเรียนออกมาเดินขบวน ตะโกนคำขวัญ กำจัดฝ่ายขวา
จนเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงก้าวขึ้นมาหยุดความวุ่นวายแห่งยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ระบบเกาเข่าจึงฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้งในฤดูหนาวปี 1977 (เป็นปีเดียวในประวัติศาสตร์เกาเข่าที่จัดสอบในฤดูหนาว) 11 ปีที่เกาเข่าหายไป ทำให้ปีนั้นมีผู้เข้าสอบถึง 5.7 ล้านคน โดยมหาวิทยาลัยรองรับนักศึกษาได้เพียง 2 แสน 7 หมื่นคนเท่านั้น คิดเป็นอัตราสอบติด 4.8%
นักเรียนจีนน่าจะซาบซึ้งจนอัดอั้นแล้วว่าชีวิตที่ไร้การศึกษามีแนวโน้มจะมืดมน จึงเบียดเสียดกันเข้าแข่งขันเกาเข่า
จากนั้นหลายปี จำนวนผู้เข้าสอบก็เริ่มปรับสมดุล จนในช่วงปี 1990-1998 มีผู้เข้าสอบประมาณ 2.5-3 ล้านคน/ปี และมีอัตราการสอบติดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30%
หลังจากนั้น จำนวนเด็กจีนในแต่ละปีที่เข้าสอบก็มีมากขึ้น พร้อมๆ กับจำนวนมหาวิทยาลัยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลขอัตราผู้สอบติดจึงค่อยสูงขึ้น
ช่วง 5 ปีหลังมีนักเรียนทั่วประเทศที่เข้าร่วมเกาเข่ากว่า 9 ล้านคน/ปี โดยมีอัตราผู้สอบติดอยู่ที่ประมาณ 70%
แต่ความดุเดือดไม่เคยลดลง!
เพราะนอกจากไม่อยากตกขบวน 70% ใครๆ ก็อยากได้ไปอยู่ในมหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ เพื่อเบิกทางคว้าโอกาสในสังคมที่คุณภาพชีวิตถีบตัวห่างกันมากขึ้นทุกวัน
การเตรียมตัวของเด็กแต่ละรุ่นจะต้องเตรียมตัวก่อนเป็นปี โดยมีผู้ปกครองคอยทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อวาระนี้ เริ่มตั้งแต่หาเงินทองมาให้ลูกหลานเข้าเรียนพิเศษ ซึ่งกรรมวิธีการติวบางครั้งเหมือนกับเข้าค่ายทหาร โรงเรียนติวเกาเข่าบางแห่ง จัดหอพักให้เด็กอยู่ ห้ามเด็กพกเครื่องมือสื่อสารหรือนำข้าวของเครื่องใช้ที่ทำให้วอกแวกจากการเรียนมาเข้าค่ายติว
เสียงตามสายของค่ายติวประกาศออกลำโพงก่อนเข้าเรียนทุกเช้า
“โหดกับตัวเองขึ้นอีกนิดเพื่อยกมาตรฐานตัวเอง โหดกับตัวเองขึ้นอีกนิดคืออาวุธประจำตัว เพื่อทำลายล้างความไม่รู้ อย่าบอกว่าเรียนไม่รู้เรื่อง อย่าบอกว่าอาจารย์ไม่ใส่ใจ เรียนล้าหลังไม่ต้องการเหตุผล อ้างอะไรมานั่นเป็นคำแก้ตัว ล้มลงก็ลุกขึ้นปัดเนื้อปัดตัวเสีย เพราะพวกเราคือนักสู้ เกาเข่ามันมีอะไรซะที่ไหน ยังไงเราก็จะผ่านมันไปให้ได้!”
นี่จะไปรบ หรือจะไปเรียน... อ่อ ลืมบอกไป ทุกเช้าจะต้องมีการท่องคำขวัญปลุกใจก่อนการติวด้วย
โรงเรียนติวมักจัดอบรมผู้ปกครอง บางครั้งถึงขั้นแนะนำผู้ปกครองว่า พ่อแม่มีเรื่องกันอย่างไรก็ห้ามหย่าร้าง หรือมีปัญหาให้ลูกเห็นในปีแห่งการเกาเข่า...
ช่วงใกล้สอบ การเตรียมตัวยิ่งเข้มข้น ผู้ปกครองบางคนอาจจะเช่าโรงแรมให้เด็กอ่านหนังสือ เพราะเห็นว่าที่บ้านไม่มีความเป็นส่วนตัวพอ ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ
เมื่อมีความกดดันมาก กรรมวิธีแปลกๆ ก็ตามมา ให้กรดอะมิโนทางสายน้ำเกลือ หรืออัดออกซิเจนเพิ่มศักยภาพ เด็กที่ป่วยไข้ในช่วงนี้ต้องชั่งใจเลือกที่จะให้ยาผ่านสายน้ำเกลือมากกว่าทานยา เพราะหายได้เร็วกว่า ไม่เป็นอุปสรรคต่อการท่องหนังสือ
ความกดดันทั้งหลายอยู่รอบตัว ตั้งแต่เพื่อน พ่อแม่ และญาติพี่น้อง ช่วงเวลาเตรียมเกาเข่าคือความเครียด กดดัน และทรมาน
ในวันสอบ ทั้งประเทศเตรียมพร้อม สถานีโทรทัศน์ต่างแจ้งข้อมูลให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปใกล้สถานที่สอบ แท็กซี่บางคันประกาศให้นักเรียนขึ้นฟรี หรือรถตำรวจจะคอยพานักเรียนที่ติดอยู่กลางทางฝ่าการจราจรเข้าสนามสอบ รถบางคันมีสติ๊กเกอร์เฉพาะติดไว้หน้ารถ “เด็กเกาเข่า in car” เพื่อให้รถคันอื่นที่อยู่บนท้องถนนหลีกทางให้
ผู้ปกครองมาส่งและรอลูกหลาน ยืนรอคอยเตรียมข้าวปลาอาหารให้ลูกๆ หลานๆ ที่หน้าโรงเรียน
ทั้งหมดเกิดขึ้น ณ วันเวลาเดียวกันทั่วประเทศ
ที่จริงก็คล้ายๆ กับบรรยากาศการเอนทรานซ์ของบ้านเราในสมัยก่อน ที่การสอบครั้งเดียวถือเป็นการตัดสินชะตา เพียงแต่เพิ่มความหนาแน่นและดุเดือดกว่าหลายเท่าตัว
“เกาเข่า” คือโอกาสและจุดเปลี่ยนของชีวิต เด็กที่สอบติดมหาวิทยาลัยดีๆ จะมีอนาคตสดใส มหาวิทยาลัยรองๆ ลงไปก็ยังพอมีงานทำ ส่วนเด็กที่ไม่ติด ดูเหมือนชีวิตจะเหลือทางเลือกเพียงน้อยนิด
กลุ่มที่เคร่งเครียดจริงจังหนักหน่วงที่สุดกับเกาเข่า จะเป็นกลุ่มครอบครัวของชนชั้นซึ่งไม่สามารถซื้อโอกาสทางการศึกษาอื่นๆ ให้ลูกได้ เพราะไม่ร่ำรวยถึงขนาดส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศหรือมหาวิทยาลัยเอกชน (ซึ่งชื่อชั้นไม่เท่ามหาวิทยาลัยรัฐบาล)
แม้ไม่มีใครชอบบรรยากาศความกดดันแบบนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดเกาเข่าก็เป็นสนามแข่งที่เท่าเทียมกันมากที่สุดเท่าที่จะหาได้แล้วของชีวิตชาวจีน
ลองได้ลงสนามเกาเข่าแล้ว ไม่ว่ายากดีมีจน ลูกข้าราชการ หรือทายาทเศรษฐี ทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าข้อสอบ
ไม่ต้องแปลกใจที่จีนออกกฎเข้มสำหรับผู้ทุจริต ตัดสิทธิเข้าสอบระดับประเทศ 3 ปี และมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี
เพราะเสาหลักหนึ่งของความเท่าเทียมกันในสังคมจะถูกสั่นคลอนหากไม่คุมเข้ม
ชาวจีนมักนำเกาเข่าไปเทียบกับการสอบจอหงวน (ที่ถูกต้องควรเรียกว่าสอบ “เคอจวี่”) ซึ่งก็ใกล้เคียง เพราะทั้งคู่ต่างเป็นความหวังเพื่อเปิดประตูสู่การยกระดับชีวิตทั้งชีวิต
ทำให้นึกถึงคำของฮ่องเต้ซ่งเจินจง (ฮ่องเต้ในราชวงศ์ซ่ง-ราชวงศ์ที่เริ่มต้นเปิดให้คนทุกชนชั้นสอบจอหงวนได้) ที่ปลุกเร้าให้ผู้คนขยันร่ำเรียนตำรา ว่า
ร่ำรวยไม่ต้องซื้อที่นา เพราะในตำรามีธัญพืชนานา มอบให้
ตั้งบ้านไม่ต้องสร้างขื่อคาน เพราะในตำรามีหอทองคำอร่าม มอบให้
หาคู่ไม่ต้องหาแม่สื่อแม่ชัก เพราะในตำรามีหญิงงามคนรัก มอบให้
เดินทางไม่ต้องหาผู้รับใช้ เพราะในตำรามีรถเทียมม้าให้ มากมาย
ลูกผู้ชายมีปณิธานสร้างชีวิต จงหมั่นเรียนคิดอ่านหกตำรา (เพื่อสอบจอหงวน-ผู้เขียน)
บทกลอนนี้เป็นบทกลอนที่ส่งเสริมการเรียนที่มักใช้มากระตุ้นให้เด็กจีนขยัน แต่ดูเหมือนว่าผลสัมฤทธิ์ของการร่ำเรียนในบทกลอน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิต มากกว่าการแสวงหาความรู้
อาจดูแปร่งๆ แต่จะว่าไปก็ต้องให้ความเป็นธรรมให้กับเสี้ยวความคิดแบบนี้ เพราะสังคมยังไม่ถึงจุดที่หวัง ซึ่งทุกคนยังต้องแข่งขันเอาตัวรอด