posttoday

รื้อสร้างและต่อยอด ‘สิ่งทอไทย’

20 มิถุนายน 2559

อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะผลักดันเศรษฐกิจของไทย หนึ่งในฐานรากของอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะผลักดันเศรษฐกิจของไทย หนึ่งในฐานรากของอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับ 7 ของการส่งออกทั้งหมด แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ในปี 2559 ผู้ประกอบการส่งออกสิ่งทอมั่นใจว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจะพลิกกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้อย่างน้อย 2% เพราะสถานการณ์ส่งออกของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไม่น่าจะติดลบมากไปกว่านี้แล้ว เพราะที่ผ่านมาก็ถือว่าหดตัวลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว

นี่คือหนึ่งในภาวะวิกฤตของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในเชิงอุตสาหกรรม แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตต้นน้ำปลายน้ำที่สมบูรณ์ เหมือนเป็นศูนย์กลางในอาเซียน แต่ปัจจุบันไทยเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ผู้ผลิตบางรายเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศใกล้เคียง ทำให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นความท้าทายหนึ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่จะต้องก้าวข้ามไปให้ได้

รื้อสร้างและต่อยอด ‘สิ่งทอไทย’

 

การยกระดับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยให้ขึ้นสู่ความเป็นชั้นเลิศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงทุนทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์มากกว่าสินค้าเชิงอุตสาหกรรม จึงมีการระดมสมองกันมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด โครงการประชุมวิชาการงานสร้างสรรค์ด้านศิลปะการออกแบบสิ่งทอและเครื่องแต่งกายนานาชาติ - ไทย : ขณะสืบค้นและสังเคราะห์ (Thai : Sur
veying + Analyzing The International Textile & Fashion Symposium 2016) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปินนักออกแบบสิ่งทอและเครื่องแต่งกายระดับนานาชาติ ในการที่จะหาทางออกในการนำช่างฝีมือสิ่งทอไทยก้าวไกลไปกับเทคโนโลยี และหาช่องทางในการเพิ่มมูลค่าของสิ่งทอที่ไม่เป็นเพียงเสื้อผ้าและแฟชั่น

ถือว่าเป็นความท้าทายหนึ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่จะต้องก้าวข้ามไปให้ได้

หลากหลายแนวคิดการออกแบบสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน ในปี 2555 สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้จัดแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอชุมชน ดึงแนวคิดวิถีชีวิตสร้างสรรค์สินค้าและยกระดับคุณภาพผลักดันสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเชิงวัฒนธรรม พร้อมส่งเสริม SMEs ใช้เทคโนโลยีสะอาดร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมขอการรับรองฉลากเขียว การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอชุมชนสู่อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ผสมผสานกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มยกระดับคุณภาพสินค้าสิ่งทอให้มีความหลากหลาย

รื้อสร้างและต่อยอด ‘สิ่งทอไทย’

 

งานในครั้งนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นของไทยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้มากยิ่งขึ้น

แต่มีการกล่าวกันว่า ช่างทอเมื่อฝึกฝนการทอผ้าจนชำนาญถึงระดับสร้างสรรค์วิจิตรการ ช่างทอผ้าผู้นั้นจะได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากชนชั้นนำหรือนายทุน บังเกิดให้เกิดความปีติและมั่งมี ช่างทอบางคนใช้เส้นไหมทองคำทอเป็นเครื่องนุ่งห่มเพื่อตัดเย็บเป็นอาภรณ์ แม้ตัวเองจะไม่เคยได้สวมใส่ก็ตาม เช่นเดียวกันกับยุคปัจจุบันศิลปินและนักออกแบบสิ่งทอและเครื่องแต่งกายร่วมสมัยกับช่างทอฝีมือพื้นบ้าน ผู้สืบสานปัญญาท้องถิ่นจะมีหนทางและเป้าหมายร่วมกันได้หรือไม่?

การสร้างการตระหนักรู้และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยสร้างสรรค์แห่งท้องถิ่นสู่ภาษาสากล โดยส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากศิลปะการออกแบบสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ตลอดจนทัศนศิลป์ ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศิลปะสิ่งทอและเครื่องแต่งกายของไทย เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ สืบค้น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ นำไปสู่ทัศนะและคำถามปลายเปิดเพื่อการพัฒนาในอนาคต โดยเปิดโอกาสให้นักออกแบบ ศิลปิน นักวิชาการ และนักศึกษาในสาขาวิชาออกแบบสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ทัศนศิลป์ ฯลฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการออกแบบและสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด และภูมิปัญญาไทยผ่านวิสัยทัศน์สากลจากศิลปิน นักออกแบบไทย อาเซียน และนานาชาติ โดยโครงการประกอบด้วยการลงพื้นที่ของศิลปินและนักออกแบบในแหล่งอารยธรรมสำคัญของประเทศไทยเพื่อเก็บข้อมูล (จ.อุดรธานี และราชบุรี) นิทรรศการผลงานศิลปินและนักออกแบบที่เข้าร่วม และการสัมมนาทางวิชางานสร้างสรรค์ด้านศิลปะการออกแบบสิ่งทอและแฟชั่นต่างแขนงข้ามศาสตร์ อาทิ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย และทัศนศิลป์

ผศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล หัวหน้าภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย และประธานหลักสูตรการออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายถึงกระบวนการสร้างสรรค์สำหรับการออกแบบสิ่งทอและแฟชั่นว่า รูปแบบการทำงานสะท้อนถึงการรวมตัวกันของศิลปะ สิ่งทอ และแฟชั่น

“ศิลปะสิ่งทอเป็นงานฝีมือหรืองานศิลปะที่ใช้วัสดุและเส้นใยหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยจากสัตว์ และเส้นใยสังเคราะห์ ชิ้นผลงานถูกสร้างสรรค์โดยเทคนิคมากมาย อาทิ ทอ พิมพ์ ปักเย็บ”

รื้อสร้างและต่อยอด ‘สิ่งทอไทย’

งานศิลปะสิ่งทอนั้น ผศ.ดร.น้ำฝน ชี้ว่าสามารถนำไปใช้ทั้งการประดับตกแต่งและในวงการแฟชั่น

“เรามักจะเห็นว่าศิลปินส่วนใหญ่สร้างสรรค์ชิ้นผลงานจากแรงบันดาลใจผ่านรูปแบบศิลปะใน 4 แขนงหลัก ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อผสม ศิลปินนักออกแบบสิ่งทอได้ออกแบบสร้างสรรค์ผลงานโดยเน้นย้ำให้ความสำคัญที่คุณค่าของพื้นผิว แบบแผน และสีสันของผ้าแต่ละผืน”

ส่วนการส่งเสริมถึงอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของช่างทอ การถ่ายทอดและผลักดันจากกระบวนการสร้างสรรค์ที่ผ่านวิถีทางซึ่งผสมผสานประสบการณ์ทำงานอย่างเข้มข้นจากการทำงานใน 3 สื่อหลัก ศิลปะ แฟชั่น และสิ่งทอ รวบรวมเรื่องราวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ผศ.ดร.น้ำฝน มองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อที่จะออกจากแนวทางเดิม ๆ ของช่างทอที่เป็นงานฝีมือ นำไปสู่หนทางในการทดลองที่หลากหลายแย้งย้อนเพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา

สำหรับตัวอย่างของการทำงานในรูปแบบการออกแบบสิ่งทอไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเชื่อมั่นในการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน GoWentGone ที่มีสมาชิกกลุ่มประกอบด้วย เอก สุวรรณรัตน์ ศักดิ์สิทธิ์ ภัทรประกฤต และอาภามาศ เบ็ญพาด ที่ได้ริเริ่มดำเนินกิจกรรมและโครงการสร้างสรรค์เพื่อสังคม โดยใช้ความรู้ทางศิลปะเป็นพื้นฐานเพื่อเพิ่มรายได้และขยายกิจกรรมเชิงพัฒนาชุมชนและต่อยอดขยายผล

โดยเฉพาะโครงการต้นแบบศึกษาที่ชื่อ “From Surin To you” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับชุมชน มีการลงพื้นที่ทำงานอนุรักษ์และพัฒนาองค์ความรู้ในงานสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาดั้งเดิมให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด โดยใช้กระบวนการดั้งเดิมของแต่ละชุมชนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ที่สำคัญการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาตกอยู่ในมือของช่างทอหรือชุมชนนั้นๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดใหม่ที่ทำให้มีการพลวัตและพัฒนาไปข้างหน้าสำหรับสิ่งทอที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศเพื่อนำสู่ตลาดนานาชาติ

รื้อสร้างและต่อยอด ‘สิ่งทอไทย’

 

บทสรุปจากผู้เชี่ยวชาญ

พรพิไล มีมาลัย อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการ Baan Noorg Collaborative Arts and Culture ซึ่งทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์โครงการร่วมกับ จิระเดช มีมาลัย
คัดเลือกศิลปินและนักออกแบบชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีความรู้และมีผลงานเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเข้าร่วมในโครงการ อาทิ แมนดี แทม นักออกแบบเครื่องแต่งกายละครเวที/จีนโอเปร่า จากฮ่องกง ดร.วิทวัน จันทร สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ จักกาย ศิริบุตร ศิลปินทัศนศิลป์ ดร.กฤษณ์ เย็นสุดใจ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย/ศิลปินทัศนศิลป์ เทียร์มา สิรัต ศิลปินเครื่องแต่งกาย/แสดงสด จากบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

พรพิไล ขยายความว่าได้รวบรวมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ที่เกี่ยวเนื่องกับผ้าและสิ่งทอ แฟชั่น และศิลปะแฟชั่น ซึ่งจะไม่จำเพาะที่ผู้ที่ทำสิ่งทอเท่านั้น รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานสิ่งทอด้วย เช่น ศิลปินด้านทัศนศิลป์มาจากหลากหลายสาขา

“เพราะฉะนั้นเป็นการระดมแนวความคิดที่มาจากหลากหลายมุมมองและพื้นฐานของแนวทางพัฒนาการของแต่ละคน ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นไปในเรื่องที่ว่างานสิ่งทอและหรือวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม ความรู้ รากเหง้าและภูมิปัญญาเหล่านี้ จะสามารถสื่อสารกับสถานการณ์ร่วมสมัยได้อย่างไร ซึ่งแต่ละคนก็ได้นำเสนอในมุมมองของตัวเอง ประสบการณ์ ซึ่งมีการพัฒนาในการลงพื้นที่กับชุมชน รวมไปถึงการทำกิจกรรมในลักษณะศิลปะร่วมสมัย ซึ่งมองเห็นแนวทางพัฒนาที่ค่อนข้างจะหลากหลาย ต้องใช้ความเหมาะสมในองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมและข้อจำกัดของแต่ละที่ในแต่ละรูปแบบกันไป”

การพัฒนาก็ไม่ใช่ลักษณะของการทำงานอนุรักษ์เพียงอย่างเดียวแล้ว พรพิไล ย้ำว่าต้องควบคู่กับการรื้อฟื้นร่องรอยเก่า

รื้อสร้างและต่อยอด ‘สิ่งทอไทย’

 

“เช่นในกรณีที่มีปัญหาทางด้านสังคมและการเมืองก็เคยเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดที่ทำให้รากเหง้าของสิ่งทอสูญหายไป เพราะฉะนั้นการอนุรักษ์ก็ต้องควบคู่ไปกับการที่จะรื้อฟื้นค้นหาร่องรอยเดิม รวมทั้งการที่เราจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ก็คือสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ ผู้ที่มีศักยภาพ ผู้ที่มีความสนใจ ผู้ที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน เพื่อฟื้นชีวิตให้กับภูมิปัญญาสิ่งทอของไทย ซึ่งอาจจะไม่ใช่การสื่อสารกับคนรุ่นเก่า แต่เป็นการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีการและกลไกที่เข้าถึงได้ง่าย

“แทนที่เราจะมองไปถึงการสืบทอดวัฒนธรรมที่มีความละเอียดซับซ้อน ต้องทำให้ใหม่ขึ้นและคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือมีการตั้งชื่อผ้าทอลายใหม่ๆ ตามชื่อของผู้ทอ ซึ่งลิขสิทธิ์ของลายทอผ้านั้นก็จะเป็นของผู้ทอ มีสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นแนวทางของกลุ่ม GoWentGone ใช้ทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชนที่เป็นช่างทอผ้ารุ่นใหม่ในพื้นที่ต่างๆ”

การไม่มองความรู้และพัฒนาการเป็นขอบเขตเชิงเดี่ยว ต้องมองว่าองค์ความรู้และการถ่ายทอดการใช้งานภูมิปัญญาเหล่านี้ต้องทำกันในเชิงกว้างเป็นสหวิทยาการ เน้นไปที่การทำงานสิ่งทอให้เป็นงานสิ่งทอ พรพิไล บอกว่าต้องสร้างกิจกรรมให้มีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน และมีการเก็บรวบรวมความรู้ มีการสร้างความร่วมมือทั้งทางตรงและทางอ้อม

“ตัวผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งทอเดิมๆ ของเมืองไทย ไม่ใช่มีแต่ผ้าถุง ซึ่งต้องมองดูโลกปัจจุบันว่าวิถีชีวิตเป็นอย่างไร ก็เอาสิ่งเดิมและองค์ความรู้เดิมมาพัฒนาให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ต้องไม่ไปสนใจมากเกินไปเกี่ยวกับเรื่องของความขัดแย้งในทัศนคติเรื่องของการทำลายและการพัฒนา ถ้ามีการผ่านกระบวนการของการคิดและมีแนวทางที่ชัดเจนก็จะนำไปสู่ผลที่ดีและตอบสนองวิธีคิดและชีวิตร่วมสมัย”

รื้อสร้างและต่อยอด ‘สิ่งทอไทย’

 

อุปสรรคและปัญหาที่เรื้อรังมาหลายทศวรรษสำหรับงานทองานย้อมที่เกี่ยวกับองค์ความรู้แบบดั้งเดิมนั้นมีความละเอียดซับซ้อนมาก จนชาวบ้านนำมาทำต่อเพื่อรับมรดกทางภูมิปัญญาไม่ไหว รวมทั้งมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาก็ไม่เพียงในการดำรงชีวิตเท่าที่ควรจะเป็น พรพิไล บอกว่าต้องแก้ปัญหาจุดนี้ให้ได้เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

“คือไม่ต้องทำสิ่งทอหรืองานทอ ไปทำอย่างอื่นจะมีรายได้มากกว่า ซึ่งเป็นความยุ่งยากสลับซับซ้อน ก็เลยต้องใช้ความรู้และการศึกษาเข้าไปส่งเสริม อย่างสิ่งทอหรือผ้าบางลายเขาทอนานและเหนื่อยมาก แต่รายได้ไม่คุ้มกับที่ลงแรงไป แต่ถ้ามองในมุมนักวิจัยก็จะพบว่าปัญหานั้นแก้ได้โดยการปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้ทอผ้า เช่น การปรับปรุงสร้างกี่ที่ทอผ้าทั้งสองด้านได้ขึ้นมา แต่เราก็ไม่เคยรวบรวมข้อมูลจากนานาชาติ เช่น ในอาเซียนด้วยกัน

“อย่างกรณีที่นำความรู้ทางด้านแฟชั่นและศิลปะเข้ามา ไม่ใช่แฟชั่นก็คือแฟชั่นที่เป็นเสื้อผ้าสวมใส่ได้เพียงอย่างเดียว แต่ได้มองทะลุกรอบออกมา สามารถเป็นการแสดงแนวคิดออกไปสู่สาธารณะจะทำให้เกิดการกระตุ้นมุมมองต่อสังคม ทำให้คุณค่าของตัวผ้ามีมากกว่าการเป็นแค่ผืนผ้าหรือวัสดุชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว การนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบจะเป็นการไขว้กันไปมาระหว่างงานช่างฝีมือและเทคโนโลยีการทอที่ก้าวหน้า กลายเป็นงานสิ่งทอที่ถูกเพิ่มมูลค่าแทนที่จะเป็นผ้าธรรมดาๆ รับจ้างการผลิตให้กับแฟชั่นโลก ไม่ใช่เข้าไปพัฒนาฝีมือชาวบ้านเพียงอย่างเดียว คือชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมมากกว่านั้น ร่วมพัฒนาทั้งการทอ เทคนิค และผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย”

ท้ายสุด พรพิไล มองว่าต้องตามหาตัวเชื่อมระหว่างคนในชุมชนที่เขามีภูมิปัญญาดั้งเดิมถ่ายทอดกันมากับโลกร่วมสมัย ไม่ควรเข้าไปตีกรอบการสร้างสรรค์ของแต่ละสาขา จะทำให้ตัวงานเฉพาะของแต่ละส่วนมีมิติที่มากขึ้น ทั้งแฟชั่น และศิลปะสิ่งทอต่างๆ จะทำให้มีพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า