ข้าวยำสมุนไพรน้ำบูดู สารพัดเครื่องเคียงเพื่อสุขภาพ
ข้าวยำ จัดเป็นอาหารจานเดียวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะมีทั้งคุณค่าทางสมุนไพรและแหล่งใยอาหาร
โดย..เมธี เมืองแก้ว
ข้าวยำ จัดเป็นอาหารจานเดียวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะมีทั้งคุณค่าทางสมุนไพรและแหล่งใยอาหาร มีส่วนประกอบ หรือเครื่องเคียง มากถึง 52 ชนิด ปัจจุบันนิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า หรืออาหารกลางวัน ของชาวปักษ์ใต้ ซึ่งทางโรงเรียนวัดเขาวิเศษ ต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง จึงเปิดคอร์สอบรมนักเรียนให้รู้วิธีทำ “ข้าวยำสมุนไพรน้ำบูดู” เพื่อรับประทานเองและขายเป็นอาชีพเสริม
ขณะเดียวกันทางโรงเรียนยังได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมประกวดการแข่งขันปรุงอาหารจานเดียว ประเภทข้าวยำ ปรากฏว่า สามารถคว้ารางวัลในระดับต่างๆ มามากมาย เช่น รางวัลระดับเหรียญทอง ชนะเลิศ กิจกรรมการทำอาหาร งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 63 ณ เมืองทองธานี รวมทั้งรางวัลโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง รางวัลสถานศึกษาพอเพียง รางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทอง รางวัลโรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนในฝัน รุ่น 2 และรางวัลชมเชยรางวัลพระราชทาน
ข้าวยำสมุนไพรน้ำบูดู คิดค้นสูตรโดยอาจารย์จำเนียร ราชบุตร และอาจารย์อรุณศรี แซ่จิ้ว ที่ประกอบไปด้วยข้าวสวยที่หุงค่อนข้างสวย เครื่องเคียงต่างๆ เช่น มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่น พริกแห้งคั่วป่น และผักชนิดต่างๆ ซึ่งผักสมุนไพรที่นิยมใช้ประกอบในข้าวยำ ได้แก่ ใบชะพลูหั่นฝอย ถั่วฝักยาวหั่นฝอย ตะไคร้หั่นฝอย ดอกดาหลาหั่นฝอย ใบมะกรูด ถั่วงอก ส้มโอ ข้าวตังทอด หรือเส้นหมี่ทอด โดยส่วนประกอบหรือเครื่องเคียง ซึ่งนำมาทำข้าวยำเกือบทุกชนิดเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเองภายในโรงเรียนทั้งสิ้น
เคล็ดลับความอร่อยของ ข้าวยำสมุนไพรน้ำบูดู คือ การให้ความสำคัญกับการเคี่ยวน้ำบูดูด้วยไฟอ่อนๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนตะไคร้ ข่า หอมแดง ใบมะกรูด และน้ำอ้อย ที่ใส่ลงไปเคี่ยวด้วยนั้น ก็เพื่อให้น้ำบูดูมีกลิ่นหอม และไม่เหม็นคาว โดยเฉพาะน้ำอ้อยจะต้องมีความสด เพราะจะทำให้น้ำบูดูมีรสชาติหอมอร่อย เช่นเดียวกับน้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลแว่น จะต้องใช้ของแท้ที่ไม่ผสมน้ำตาลทราย หรือสารฟอกขาว และข้าวสารที่นำมาหุง จะต้องเป็นพันธุ์หอมมะลิ ที่ไม่เก่าไม่ใหม่เกินไป
ผลไม้บางชนิด เช่น มะม่วงดิบ ควรใช้พันธุ์โชคอนันต์ เพราะมีเนื้อแห้ง รวมทั้งส้มโอ
ควรใช้พันธุ์ขาวทองดี เนื่องจากมีรสหวานอมเปรี้ยว ขณะที่ผักสมุนไพร ต้องเน้นความสด เพราะจะได้มีความหวานกรอบ ที่สำคัญที่สุด คือ การผสมข้าวยำให้อร่อย ควรราดน้ำบูดูลงบนข้าว และบีบมะนาวผสมลงไปก่อน จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปรับประทานทันที พร้อมกับเครื่องเคียง เช่น ข้าวกล้องทอดกรอบ กุ้งแก้วทอด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และหมี่กะทิ เพื่อเพิ่มรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ
อาจารย์สง่า พิรามวิทวัส ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาวิเศษ บอกว่า โครงการสนับสนุนให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องปรุง ข้าวยำสมุนไพรน้ำบูดู ทำให้สามารถคัดตัวแทนนักเรียนส่งเข้าแข่งขันในระดับต่างๆ ได้แก่ ด.ญ.ชลธิชา เรืองหนู ด.ญ.นลินนิภา เกิดผล และ ด.ญ.พิมพ์ชนก คงมีสุข จนสามารถคว้ารางวัลมาแล้วมากมาย จากการจัดทำแบบบันทึกรายรับรายจ่าย รวมทั้งการคำนวณต้นทุน ผลผลิต ต่อข้าวยำ 1 กล่อง นักเรียนทั้ง 3 คน พบว่า มีรายจ่ายหลัก 3 รายการ คือ ข้าวและเครื่องเคียง 710 บาท ผักสมุนไพร 180 บาท และเครื่องดับกลิ่นน้ำบูดู 115 บาท
“เมื่อนำข้าวยำที่ผลิตได้มาขายจานละ 60 บาท รวมจำนวน 30 จาน จะได้เงินถึง 1,800 บาท เมื่อนำมาหักกับค่าใช้จ่ายแล้ว จะได้กำไร 795 บาท หรือจานละ 26.50 บาท ส่วนนี้แบ่งให้นักเรียน 80% คือ 297.90 บาท และแบ่งให้สหกรณ์โรงเรียนอีก 20% คือ 39.75 บาท”
อนาคตทางโรงเรียนจะผลักดันข้าวยำสมุนไพรน้ำบูดูทำตลาดเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับนักเรียน ขณะเดียวกันยังสามารถต่อยอดนำไปทำเป็นธุรกิจในครอบครัวหรือส่วนตัวได้ ข้าวยำสมุนไพรน้ำบูดู ถือเป็นอีกช่องทางการทำตลาดที่มีแนวโน้มสดใส