posttoday

ชินจัง สาระในความทะลึ่งตึงตัง

26 มิถุนายน 2559

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสดูการ์ตูน “ชินจังจอมแก่น” อีกครั้ง เพราะอยู่ดีๆ กล่องดีวีดีรวมการ์ตูนเรื่องนี้หลายแผ่นก็ตกลงมาจากหลังตู้

โดย...พรเทพ เฮง

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสดูการ์ตูน “ชินจังจอมแก่น” อีกครั้ง เพราะอยู่ดีๆ กล่องดีวีดีรวมการ์ตูนเรื่องนี้หลายแผ่นก็ตกลงมาจากหลังตู้ แล้วลูกสาววัย 8 ขวบกว่าก็เอามาเปิดดูกันอีกรอบ แถมยังตามหาหนังชินจังมาดูอีกในยูทูบ เลยดูชินจังกันทะลุปรุโปร่งแจ่มแจ้งแถลงไข

เมื่อก่อนก็เคยดูด้วยกัน ซึ่งลูกสาวยังเป็นเด็กอนุบาลก็ชอบแต่ไม่ถึงกับชอบมากมาย พอโตขึ้นได้มาดูอีกรอบแบบลากยาวคราวนี้ ดันชอบมากๆ

ตอนนี้คำว่า “หน้ากากแอ็กชั่น” ยังก้องอยู่ในหู และทวารของชินจังก็ลอยโดดเด่นอยู่ในหัว มีความรู้สึกว่าคนเขียนคือ โยะชิโตะ อุซึอิ ผู้ล่วงลับจากไปเมื่อเดือนกันยายน ปี 2556 จากอุบัติเหตุตกหน้าผาโตะโมะอิวะ ขณะกำลังถ่ายรูป ระหว่างทางที่จะปีนขึ้นยอดเขาอะระฟุนะ เป็นคนที่คอยคิดไอเดีย สรรหามุขตลกอันคาดไม่ถึงมาเขียนมาวาดได้อย่างทะลึ่งตึงตังทว่าไม่สัปดน เพราะมีลูกน่ารักและความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ มาบรรเทาเบาบางทำให้สนุก

“เครยอน ชินจัง” (Crayon Shin-chan) หรือรู้จักกันในชื่อที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ชินจังจอมแก่น” วาดโดย โยะชิโตะ อุซึอิ ในปี 2533 พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายสัปดาห์ โดยสำนักพิมพ์ฟูตะบะชะ และเป็นอนิเมะฉายเป็นตอนละครึ่งชั่วโมงทางทีวี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก จากรูปแบบการวาดที่ง่ายๆ ใช้สีวาดธรรมดา นำเสนอนัยความจริงผ่านอาร์ตเวิร์ก และใช้วิธีการนำเสนอในแบบมัมโบ้ จัมโบ้ (Mumbo Jumbo) ที่ดูสนุกสนานเน้นตลกขบขันอย่างไร้สาระไม่เป็นพิษเป็นภัยจากการเล่นสำนวนในการพูดคุยของตัวละคร

ที่สำคัญการนำเสนอเรื่องครอบครัว (Family Show) ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะพฤติกรรมของเด็กชายวัย 5 ขวบ ภายใต้จิตไร้สำนึกและจิตใกล้สำนึกในส่วนของแรงขับทางเพศ ในมุมมองแบบฟรอยเดียนส์ (Freudians) นอกจากบุคลิกลักษณะของชินจังเองถูกนำเสนอในฐานะตัวแทนบทบาทเชิงลบของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ การพูดจาที่ไม่เหมาะสมของวัยเด็กทั่วไป และได้กลายเป็นสิ่งที่เด็กได้นำไปเลียนแบบ

ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เคร่งและหัวเก่าสายอนุรักษนิยมสายตึงจะไม่ชอบการ์ตูนชินจัง ด้วยพฤติกรรมข้างต้น และมักจะห้ามไม่ให้ลูกหลานหรือเด็กในปกครองดูหรืออ่านการ์ตูนเรื่องนี้ เพราะมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีสำหรับเด็ก ทะลึ่ง ไม่เหมาะสมกับเด็ก เกรงว่าอาจเกิดการเลียนแบบด้วยมุมมองของผู้ใหญ่ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือผิด

ทุกตอนของ  “ชินจังจอมแก่น” แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของชินจังในการแสดงพฤติกรรมทางเพศออกมาอย่างชัดเจน ทั้งการแสดงอย่างเปิดเผย การโชว์อวัยวะเพศ การโชว์ตูด การใช้ภาษา หรือคำพูดล่อแหลมและส่อในทางเพศ การดูและวิพากษ์วิจารณ์อวัยวะเพศของบุคคลอื่น ทั้งที่เป็นคนเพศเดียวกันและคนต่างเพศอย่างจงใจ มากกว่าการเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และเป็นการแสดงพฤติกรรมอย่างไม่เปิดเผย เป็นเพียงความนึกคิดภายในและการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา เช่น ความฝัน จึงทำให้เห็นว่าพัฒนาการของเด็กในช่วงนี้ เป็นช่วงที่ฟรอยด์มองว่าเป็นช่วงหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพเมื่อเติบใหญ่

ชินจัง สาระในความทะลึ่งตึงตัง

หยิบบทความ “การรับรู้ของเด็กที่มีต่อพฤติกรรมของตัวการ์ตูนชินจังในการ์ตูนทางโทรทัศน์ชุดชินจังจอมแก่น” ของ เบญจมาศ เบ็ญจพรกุลพงศ์ ที่ศึกษาลักษณะการแสดงพฤติกรรมของตัวการ์ตูนชินจังในการ์ตูนทางโทรทัศน์ชุดชินจังจอมแก่น และเพื่อศึกษาการรับรู้ จดจำ และตีความของเด็กที่มีต่อพฤติกรรมของตัวการ์ตูนชินจัง ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้การเก็บข้อมูลจากการวิเคราะห์เนื้อหาจากวิดีโอเทปและวิดีโอซีดีที่มีวางจำหน่ายและให้เช่าในปี 2543 ทั้งหมด 24 ม้วน รวมทั้งสิ้น 245 ตอน และใช้การจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อสอบถามการรับรู้ จดจำ และตีความในเรื่องการ์ตูนชินจังจอมแก่นกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียนที่มาจากสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่แตกต่างกัน

ผลการวิจัยในด้านการวิเคราะห์เนื้อหาการ์ตูนชินจังจอมแก่น พบว่า พฤติกรรมของตัวการ์ตูนชินจังมีทั้งหมด 18 พฤติกรรม โดยพฤติกรรมที่พบส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมในด้านที่ไม่เหมาะสม พฤติกรรมที่พบมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการพูด เช่น พูดจาอวดดี เถียงผู้ใหญ่ พูดตำหนิผู้อื่น อันดับ 2 ได้แก่ พฤติกรรมดื้อรั้นซุกซน เอาแต่ใจตนเอง และอันดับ 3 ได้แก่ การแสดงพฤติกรรมทางด้านเพศ เช่น อวดอวัยวะเพศหรือก้นต่อหน้าผู้อื่น เป็นต้น

โดยผู้แต่งได้นำพฤติกรรมในด้านที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้มาสร้างเป็นมุขตลกของการ์ตูน สำหรับผลการวิจัยในด้านการวิเคราะห์การรับรู้ จดจำและตีความของเด็กพบว่า ตัวแปรทางด้านอายุและสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวมีผลต่อการเปิดรับและมีผลต่อการรับรู้จดจำ และตีความเนื้อหาและพฤติกรรมของตัวการ์ตูนชินจัง โดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กวัยเรียนที่มาจากสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวในระดับปานกลาง-สูงจะสามารถรับรู้และจดจำได้ในด้านตัวละครและพฤติกรรมของตัวการ์ตูนชินจังได้มากที่สุด

พฤติกรรมของตัวการ์ตูนชินจังที่กลุ่มตัวอย่างสามารถรับรู้และจดจำได้ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมในด้านที่ไม่เหมาะสมจากการสังเกตพบว่ากลุ่มตัวอย่างจะรับรู้และจดจำพฤติกรรมของชินจังได้ดีในฉากที่เป็นมุขตลกของการ์ตูนที่นำเสนอการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวการ์ตูน เช่น อวดอวัยวะเพศ จีบผู้หญิง แกล้งเพื่อน เป็นต้น

ในด้านการตีความนั้น กลุ่มตัวอย่างสามารถตีความแยกแยะพฤติกรรมในด้านที่ดีและไม่ดีได้และยังสามารถนำเนื้อหาที่ได้รับรู้มาทั้งหมดตีความเป็นข้อคิดหรือคติเตือนใจที่ได้จากเรื่อง

สำหรับความคิดเห็นของเด็กที่มีต่อการ์ตูนชินจังจอมแก่น พบว่า เด็กมีการรับรู้ว่าชินจังเป็นเด็กไม่ดี และไม่มีเด็กคนใดอยากเลียนแบบชินจัง แต่ที่เด็กๆ ชอบดูการ์ตูนชินจังเพราะความตลก สนุกสนาน ทั้งนี้ ในมุมมองทางจิตวิทยามองว่า เด็กได้ใช้การ์ตูนชินจังจอมแก่นมาช่วยลดความกดดันและความขัดแย้งในใจของเด็ก

ว่าไปแล้ว บางครั้งการ์ตูนก็เป็นทางออกทางสังคม (Social Outlet) ของความขัดแย้งและกฎเกณฑ์ทางสังคม อย่างเช่นความขัดแย้งในครอบครัว ทางออกสำหรับความกดดันของเด็กและวัยรุ่น หรืออาจกล่าวได้ว่าช่วยลดความตึงเครียดลงได้

เพราะฉะนั้น “ชินจังจอมแก่น” จึงเป็นพื้นที่เสรีภาพของเด็กที่จะได้ช่วยแยกพฤติกรรมสมควรหรือไม่สมควร และเป็นทางปลดปล่อยในการขับเคลื่อนทางจิตเกี่ยวกับเรื่องเพศของลูกผ่านการ์ตูนได้อย่างสมบูรณ์แบบเรื่องหนึ่ง เท่าที่มีการ์ตูนบนโลกใบนี้