ปิดอ่าวมาหยา ขอเวลาให้เธอพักบ้าง
อ่าวมาหยาอยู่ในเกาะพีพีเล อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
โดย...ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
อ่าวมาหยาอยู่ในเกาะพีพีเล อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของไทย โดยเฉพาะเมื่อ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เล่นหนังเรื่อง The Beach ก่อนออกฉายจนโด่งดังไปทั่วโลก
อ่าวมาหยาเริ่มมีผู้คนมาเที่ยวมากขึ้นและมากขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเมืองไทย จากจำนวน 15 ล้านคนเศษในปี 2553 กลายเป็นมากกว่า 30 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวในระยะเวลาเพียง 6 ปี นักท่องเที่ยวเหล่านี้เกือบทั้งหมดไปทะเล โดยเฉพาะทะเลรอบเกาะภูเก็ต ตัวเลขนักท่องเที่ยวจึงพุ่งไม่หยุดยั้งจนเกิน 12 ล้านคน นับเฉพาะชาวต่างชาติ
เกาะพีพีเป็นจุดหมายอันดับ 1 ในทะเลแถวนั้น สมัยก่อนอาจมีตัวเลขไม่แน่ชัด เมื่อเริ่มมี “พีพีโมเดล” ตัวเลขที่แท้จริงเริ่มปรากฏภายในเวลา 10 เดือน มีนักเที่ยวเข้าอุทยานกว่า 1.4 ล้านคน กลายเป็นอุทยานที่มีคนไปมากที่สุดในประเทศ (เขาใหญ่ยังมีตัวเลขไม่ถึง 1 ล้านคนครับ)
นักท่องเที่ยวจึงแห่แหนไปอ่าวมาหยาวันละหลายพันคน แม้ในช่วงโลว์ซีซั่นนักท่องเที่ยวแทบจะไม่ลดลงเลย เมื่อผมไปสำรวจอ่าวมาหยาตอนต้นเดือน ก.ค. ผมจึงเจอภาพอันน่าตกใจ นักท่องเที่ยวท่วมหาด แทบไม่มีทางเดิน ไม่ต้องพูดถึงการนอนอาบแดดหรือเล่นทรายให้ชิลใจ สมกับเดินทางมาแสนไกลกว่าจะถึง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายจนบรรยายไม่หมด ในอ่าวมาหยามีแนวปะการัง แต่ลองคิดดูว่าปะการังไหนจะทนได้ หากมีเรือเร็วนับร้อยลำวิ่งเข้าออกในเขตน้ำตื้นตลอดเวลา ทรายฟุ้งกระจายไปทั่วทะเล ยังไม่พูดถึงคราบน้ำมันและปัญหาอื่นๆ
หน่วยพิทักษ์อ่าวมาหยามีเจ้าหน้าที่ 18 คน ต้องดูแลหลายอ่าวรอบเกาะพีพีเล ไม่ใช่เฉพาะอ่าวมาหยา การดูแลนักท่องเที่ยวเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทสุดๆ และคงทุ่มเทได้ไม่ตลอดไป เพราะคนเราทำงานทุกวันตั้งแต่เช้ามืดยันเย็นย่ำ ไม่มีวันหยุด เงินเดือนเพียงไม่กี่พันบาทมันก็ต้องหมดแรงครับ
นี่จึงกลายเป็นประเด็น “ปิดอ่าวมาหยา ขอเวลาให้เธอพักบ้าง” ไม่ใช่เฉพาะทะเล ยังหมายถึงธรรมชาติบนเกาะ หมายถึงเจ้าหน้าที่ผู้ต้องใช้เวลาอบรมเพิ่มศักยภาพ ปรับปรุงสถานที่ วางแผนทำโน่นนี่ มิใช่มาคอยรับฝูงชนคนมาเที่ยวเพียงอย่างเดียว
แนวคิดดังกล่าวคือปิดอ่าวในช่วงฤดูมรสุมปีละ 4-5 เดือน ในระหว่างนั้นนักท่องเที่ยวอาจกระจายไปจุดอื่น เพื่อให้เกิดการเฉลี่ยกันไปและมีการปิดเปิดสลับกันเป็นช่วงเวลา
เขียนมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจสงสัยแล้วชาวบ้านจะเอาด้วยหรือ? คำตอบของผมคือชาวบ้านไม่เพียงแต่เอาด้วย แต่เขาเป็นผู้เสนอกรมอุทยานฯ ขอให้ปิดด้วยซ้ำ โดยมีทั้ง อบต. ชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยว กลุ่มพิทักษ์พีพี ฯลฯ ร่วมกันแถลงต่อผู้สื่อข่าวหลายสำนัก
นี่อาจเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของเมืองไทย ที่คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาขอให้ปิดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในบ้านตัวเอง ผมต้องปรบมือดังๆ ให้ชาวบ้านพีพีครับ
เมื่อหลายฝ่ายเห็นด้วย กรมอุทยานฯ จึงเริ่มวางแผนปิด-เปิดอ่าวมาหยา แต่ต้องทำให้รอบคอบ เพราะระหว่างการปิด ต้องมีการจัดระเบียบต่างๆ ทั้งการวางทุ่น การกำหนดเขตแนวปะการัง ตลอดจนการกำหนดให้เรือเข้า-ออกให้ถูกต้องและมีจำนวนเหมาะสม
ผมมั่นใจว่าการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จะทำให้การปิดอ่าวครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่รอคอยมาแสนนาน และจะเป็นกรณีศึกษาที่สามารถนำไปใช้กับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งอื่นๆ ที่ผู้คนกำลังจะท่วมอยู่แล้ว
สุดท้ายก็คงเป็นคำถามกลับไปสู่นโยบายท่องเที่ยวของทุกรัฐบาล เราคิดว่าประเทศนี้มีเกาะอยู่กี่แห่ง? หากเราไม่เคยหยุดยั้งการโปรโมทให้นักท่องเที่ยวแห่กันมา แล้วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะมีอะไรเหลือ?
ปิดอ่าวมาหยาเป็นเพียงแค่มาตรการชะลอความพินาศ แต่หากอยากรอดพ้น เราต้องทำอะไรให้มากกว่านี้อีกเยอะครับ