เบื้องหลังอาภรณ์ ในละครพีเรียด

16 กรกฎาคม 2559

หน้าจอทีวีไทยมีละครพีเรียดออกมาให้ชมกันอย่างต่อเนื่อง และยังมีที่กำลังถ่ายทำและจ่อคิวออกอากาศอีกหลายเรื่อง

โดย...นกขุนทอง

หน้าจอทีวีไทยมีละครพีเรียดออกมาให้ชมกันอย่างต่อเนื่อง และยังมีที่กำลังถ่ายทำและจ่อคิวออกอากาศอีกหลายเรื่อง เรียกได้ว่าละครพีเรียดหรือละครย้อนยุคเป็นอีกแนว เรื่องที่ได้รับความนิยมและไม่เคยหายจากหน้าจอแก้ว ไม่ว่าจะพีเรียดที่อิงเรื่องจริงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ บุคคลในอดีต หรือจะเรื่องแต่งตามแต่จินตนาการ หากแต่ก็ยังนำรายละเอียดบางอย่างเข้าไปเกี่ยวข้อง ด้วยการอ้างอิงยุคสมัย ข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น

พอได้ชื่อว่าเป็นละครพีเรียด นอกจากเนื้อเรื่องที่ผู้ชมติดตามแล้ว ยังมีเรื่องรายละเอียดต่างๆ ในละครที่ผู้คนให้ความใส่ใจ ไม่ว่าจะเสื้อผ้า หน้าผม ข้าวของเครื่องใช้ การใช้คำพูดคำจา เรียกว่าสิ่งเหล่านี้นับเป็นองค์ประกอบสำคัญให้กับละครพีเรียดดูสมจริง ไม่ใช่พากันย้อนยุคไปแต่ละเลยรายละเอียดปล่อยเสียงรถยนต์แทรกเข้ามา มีคำอุทานที่เพิ่งเกิดในวัยรุ่นเจนวาย นุ่งผ้าผิดลายผิดยุคสมัย สิ่งละอันพันละน้อยหากแต่ก็ลดอรรถรสในละครพีเรียดไปได้มากโข

ในส่วนของทีมเบื้องหลังที่รับผิดชอบต่างก็ตระหนักในข้อนี้ดีและระแวดระวังทำงานด้วยความรอบคอบ ศึกษาข้อมูลอย่างเต็มที่ ไม่ใช่สักแต่มโนหยิบจับมาตามใจ กว่าที่คนดูจะได้ชมเสื้อผ้างามๆ ตามท้องเรื่องนั้น พวกเขาได้ค้นคว้ากันอย่างหนัก

เบื้องหลังอาภรณ์ ในละครพีเรียด

 

รายละเอียดเสื้อผ้าบอกบทบาทตัวละคร

ตอนนี้ค่ายกันตนากำลังถ่ายทำละครพีเรียด 3 เรื่อง คือ วังนางโหง ริษยา และ เพลิงพระนาง มี “เป็ด-อกฤษณ์ กาญจนกันติกะ” เป็นสไตลิสต์ ดูแลเสื้อผ้าหน้าผมทั้งหมด

ในเรื่อง “เพลิงพระนาง” เป็นพีเรียดประยุกต์ ไม่ได้ระบุยุคสมัยและเชื้อชาติที่แท้จริง เป็นการสมมติขึ้นมาด้วยการผสมผสานการแต่งกายของหลายเชื้อชาติในอาเซียน รวมไปถึงประเทศอินเดีย “นิยายเดิมมาจากพม่าเสียเมือง แต่เราเอาเค้าโครงมา เป็นเมืองสมมติขึ้นมาจะว่าหาเสื้อง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก เพราะต้องออกแบบใหม่หมดเลย ว่าจะใส่คาแรกเตอร์สีแบบไหน ลายแบบไหน อย่างตัวละครพระมหาเทวีเจ้าเศกขระเทวี (ยุ้ย-จีรนันท์ มะโนแจ่ม) ใช้โทนสีพาสเทล เช่น ส้มอ่อน เขียวอ่อน พอมาเป็นเจ้านางอนัญทิพย์ (อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ) บทมีความเข้มข้นกว่า ผมก็วางคาแรกเตอร์เสื้อผ้าสีเข้ม สีม่วง แดง ส้ม แต่ทุกสีไม่แจ๊ดมีผสมดำหมดให้ดูดร็อปลงมา เวลา 2 คนนี้เข้าฉากด้วยกันจะเห็นความแตกต่างชัด อัญมณีของยุ้ยเป็นเพชรพลอย ของอั้มอลังการแบบเครื่องประดับอินเดีย ให้ดูรู้ว่าอยู่คนละเมือง รุ่นลูกก็ดูตามบท ตัวร้ายใส่สีเยอะหน่อย ตัวดีก็พาสเทล”

“วังนางโหง” เนื้อหาอยู่กึ่งกลางรัชกาลที่ 5 “ชุดแต่งกายผ้าพัน ผ้าแถบ ผ้าสไบ บ่งบอกยศตำแหน่งด้วยเนื้อผ้า อย่างนางเอกเป็นชาวบ้านใช้ผ้าคอตตอน ผ้าลินิน สีเอิร์ธโทนทั้งหมดผสมดาร์ก เพราะละครพีเรียดไม่ใช้สีแจ๊ด ตัวเจ้านายใช้ผ้าลูกไม้นำเข้าจากฝรั่งเศสและผ้าแพรจีน เพราะในสมัย ร.5 มีการติดต่อกับ 2 ประเทศนี้แล้ว ตัวพระเอกในบทตระกูลมีรากเหง้ามาจากจีน เวลาออกงานก็ใส่เสื้อราชปะแตน อยู่บ้านเป็นเสื้อจีน กางเกงแพรจีน พวกนี้จะแยกเห็นชัดโดยการใช้เนื้อผ้า”

เบื้องหลังอาภรณ์ ในละครพีเรียด ละครวังนางโหง

 

สำหรับละคร “ริษยา” เรื่องดำเนินในรัชกาลที่ 8-9 “ผู้หญิงนิยมตัดผมสั้น นุ่งชุดลูกไม้กับผ้าถุงสั้น วัฒนธรรมฝรั่งเข้ามา เสื้อลูกไม้ เสื้อปกบัว แขนตุ๊กตา คอระบายใส่กับกระโปรงบาน เป็นยุคกำกึ่งแต่งตัวสากลขึ้น แต่มีบางกลุ่มที่รักษาความเป็นไทย อย่างตัวละครพี่เหมียว ชไมพร ก็อนุรักษ์ไทยจ๋ามาเลย ใส่ผ้าถุง เสื้อผ้าไหม เครื่องประดับแหวนลงยา ต่างหูพิกุล

ในการทำงานทุกเรื่อง ต้องหาข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติ ก๊อบปี้รูปมา แล้วมาประยุกต์ให้เข้ากับนักแสดง ถ้าชุดไหนมีภาพยืนยันอยู่แล้วจะพยายามทำให้เหมือนจริงที่สุด เวลาเตรียมงานหลายเดือน กว่าจะประชุมขั้นตอนต่างๆ เพราะละครปัจจุบันเป็นไปตามแฟชั่น เลือกให้เหมาะสมกับนักแสดง แต่พอพีเรียดต้องระวังมากเพราะบางอย่างยังมีอยู่จริง คนดูก็คอยจับตาดู ทางเราก็พยายามป้องกัน ต้องหาข้อมูลเยอะมาก”

งานศิลปะบนชุดนางรำสมัยปลายอยุธยา

ละคร “พิษสวาท” ของค่ายเอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ เป็นละคร 2 ยุค ยุคอดีตเกิดขึ้นปลายสมัยอยุธยา ซึ่งมีชุดนางรำหลวง 2 ชุด ที่ตัวเอก นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี ต้องใส่ ซึ่งการสร้างชุดขึ้นมาใหม่นั้นผ่านขั้นตอนอย่างประณีต รวมถึงค่าใช้จ่ายในชุดนี้สูงถึงหกหลัก โดย “บิ๊ก-พีรมณฑ์ ชมธวัช” นักออกแบบและสร้างเครื่องละครไทย จากคณะละครอาภรณ์งาม เป็นคนรับผิดชอบทั้งชุดนางรำสไบสีทองและสีแดง

เบื้องหลังอาภรณ์ ในละครพีเรียด ละครริษยา

 

“เนื่องจากชุดนี้เป็นชุดนางละครหลวง เป็นชุดแสดงนาฏศิลป์ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทำ เพราะชุดนางรำในปัจจุบันไม่เหมือนสมัยอยุธยา และชุดนางรำในยุคนั้นก็ไม่มีสมบูรณ์ให้เห็นในปัจจุบัน มีปรากฏมันอยู่ในสมุดข่อย ตามจิตรกรรมฝาผนังในวัด ซึ่งเราต้องไปศึกษางานจิตรกรรมในยุคนั้น หรือจากหลักฐานในต้นสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ยังใช้อ้างอิงได้ เพราะช่างศิลป์ต่างๆ ยังเป็นกลุ่มเดียวกันอยู่ อย่างศิลปกรรม เช่น หุ่นไม้แกะสลัก หัวหุ่นหลวง ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ใส่รัดเกล้า (เครื่องประดับศีรษะ) ทรงแบบโบราณ เราสันนิษฐานว่าเป็นทรงที่สมัยอยุธยาเคยใช้ ลายผ้าเป็นลวดลายโบราณแบบอยุธยาเอามาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม จาก จ.เพชรบุรี เป็นลวดลายบนเสาที่หลงเหลืออยู่ มาทำลายปักผ้าสไบด้วยมือ สะดึงกลึงไหม ปักปีกแมลงทับ ปักเลื่อม

เครื่องประดับ อย่างเช่น รัดเกล้าเปลว  ศึกษาจากหัวหุ่นแล้วทำขึ้นใหม่ฝีมือ ดร.สุรัตน์ จงดา ศิราภรณ์เป็นทับทิมสีแดงประดับ ทรงเกี้ยวยอด เป็น 3 ชิ้น มี เกี้ยวจร กะบังหน้า กรรเจียก ในเรื่องศิราภรณ์ชิ้นนี้สำคัญมาก นางเอกได้รับประทานมาจากเจ้านาย ทับทิมคือต้นเหตุของเรื่อง ศิราภรณ์ก็เหมือนตัวเอก เราโชคดีที่เจ้าของบทประพันธ์ (ทมยันตี) อธิบายไว้ชัดเจนมาก คร่าวๆ คือ เป็นศิราภรณ์กะบังหน้าสีทอง ประดับด้วยทับทิมเม็ดใหญ่สีแดงเลือด แล้วทับทิมเม็ดนี้สามารถถอดได้ไปเป็นหัวปั้นเหน่งได้ด้วย ดังนั้นผมก็ต้องทำทับทิมเม็ดนี้ให้ถอดได้ บวกกับหลักฐานที่หลงเหลือ เราก็มาศึกษาว่าสลักกลไกการถอดเป็นยังไง ตัวกระเปาะรองรับมีรูปทรงยังไง ก็ไปดูที่กรุเครื่องทองวัดราชบูรณะ อยุธยา ที่ถูกเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา”

ชุดสไบสีแดงจะเห็นแค่ไม่กี่ฉาก ส่วนชุดสไบสีทองจะเห็นแทบทั้งเรื่อง ดังนั้นชุดนี้จึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าองค์ประกอบใด นอกจากชุดแล้วนักออกแบบยังใส่รายละเอียดเล็บสีทองใช้ทองแดงตีขึ้นมาแล้วชุบทอง ตามแบบละครรำอยุธยาและการแต่งหน้าขาวแบบโบราณ เขียนคิ้วเขียนตาดำ ทาปากแดงเท่านั้น

เบื้องหลังอาภรณ์ ในละครพีเรียด อาจารย์เผ่าทอง หม่อมน้อย ตุ้ย ธีรภัทร

 

“ชุดนี้สามารถเอามาเป็นต้นแบบชุดนางรำหลวงสมัยอยุธยาได้จริง ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่เราก็ยังไม่สามารถทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราทำในระยะเวลาและปัดเจตส์ประมาณหนึ่ง และหลักฐานที่หาได้ในตอนนี้ ถ้าในอนาคตเจอหลักฐานมาเพิ่มเติมให้รายละเอียดครบครันมากกว่านี้ก็จะดี เราทำเป็นชุดเริ่มต้นไว้ให้เพราะที่ผมสังเกตชุดนางรำในละครยังทำไม่ตรงถูกต้องกับยุคสมัยจริงๆ ครั้งนี้ผมในฐานะผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาค้นคว้าก็ได้นำการศึกษาและผลงานไว้ให้เป็นบรรทัดฐานใช้ในครั้งอื่นๆ”

เติมความรู้ทางประวัติศาสตร์ ผ่านสี่แผ่นดิน

ละคร “สี่แผ่นดิน” เวอร์ชั่นผู้กำกับ “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” (หม่อมน้อย) นำกลับมาฉายใหม่ทางช่องพีพีทีวี อยู่ในขณะนี้ ทางด้าน “อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ” ผู้ดูแลองค์ประกอบศิลป์และเครื่องแต่งกายของสี่แผ่นดิน ให้รายละเอียดว่า “การแต่งกายสมัยรัชกาลที่ 5 จะเห็นได้ถึงการรับวัฒนธรรมมาจากตะวันตกอย่างชัดเจน เมื่อพระชนมายุได้ 17-18 พรรษา ได้เสด็จไปสิงคโปร์ นำข้าราชการเสนาบดีไปกว่า 200 คน เพื่อดูความเจริญของที่นั่น ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มีการปรับรูปแบบการแต่งกายแบบฝรั่ง เช่น การใส่กางเกง ใส่เสื้อแจ็กเกต เมื่อเสด็จกลับก็ได้นำมาใช้กับประเทศไทย โดยเปลี่ยนเป็นเสื้อราชปะแตน คอเนห์รู ใส่กับโจงกระเบน ส่วนเจ้านายผู้หญิง ใส่ทรงมิลิทารีแจ็กเกต ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา จากนั้นก็พัฒนามาเป็นเสื้อแขนหมูแฮมแบบที่แม่พลอยใส่ในละคร แต่ด้านล่างจะเป็นโจงกระเบนหรือจีบหน้านาง ซึ่งผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้านำเข้าทั้งหมด

ในสมัยรัชกาลที่ 6 เราเริ่มส่งกองรบ กองทหารไปร่วมรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบกับลูกเสนาบดี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ไปเรียนต่างประเทศ แล้วกลับมาพอดี อย่างเช่นลูกของคุณเปรมกับแม่พลอย ดังนั้นผู้ชายจะแต่งเป็นฝรั่งเลย คือใส่แจ็กเกต ใส่สูท ส่วนผู้หญิงจะเริ่มแต่งตัว เป็นแบบแกสบี้มากขึ้น หรือหากใครยังเป็นประเพณีนิยมอยู่ก็จะนุ่งผ้าซิ่นแต่นุ่งสั้นถึงใต้เข่า เป็นทรงกระโปรงแซก”

เห็นได้ว่า เครื่องแต่งกายในละครพีเรียดกว่าจะออกแบบกันได้แต่ละชุดนั้น ทีมงานให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ารายละเอียดอื่นๆ นอกจากผู้ชมจะได้ความบันเทิงในการชมละครพีเรียดแล้ว หากใส่ใจใสในรายละเอียดเหล่านี้ก็จะซึมซับเอาสาระความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปไม่มากก็น้อย

เบื้องหลังอาภรณ์ ในละครพีเรียด นุ่น วรนุช ชุดนางรำสีทองในพิษสวาท

 

เบื้องหลังอาภรณ์ ในละครพีเรียด อกฤษณ์ กาญจนกันติกะ สไตลิสต์ ค่ายกันตนา

 

เบื้องหลังอาภรณ์ ในละครพีเรียด

Thailand Web Stat