จิตรภัทร์ จึงอยู่สุข นักโฆษณาผู้เชื่อในทุกความเป็นไปได้
“ผมเป็นคนเชื่อว่า มีความเป็นไปได้หมดทุกอย่าง ผมไม่เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้
โดย...โยธิน อยู่จงดี
“ผมเป็นคนเชื่อว่า มีความเป็นไปได้หมดทุกอย่าง ผมไม่เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ แค่เราต้องลองก่อน ลองในทุกรูปแบบที่เรามี ต้องมีเครื่องมือสักอย่างในงานโฆษณาที่จะทำให้เป้าหมายของลูกค้าเป็นจริง เพียงแค่จะใช้วิธีไหนเท่านั้นเอง” จิตรภัทร์ จึงอยู่สุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์มินัล วัน นักโฆษณาหนุ่มผู้สร้างปรากฏการณ์ในวงการโฆษณาอันเป็นที่จดจำของทุกคนอย่างผงซักฟอก ออล แคมเปญหอมกระจาย และสินค้าในเครือยูนิลีเวอร์หลายชิ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลงานจากไอเดียทีมโฆษณาของเขา
เกิดมาเพื่องานโฆษณา
“สิ่งที่ทำให้ผมเลือกเส้นทางในวงการโฆษณาเริ่มต้นมาจากตอนเด็กๆ ผมเป็นคนชอบดูโฆษณา ชอบดูงานดีไซน์ ชอบงานที่ดูสวยงามเป็นศิลปะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณแม่ผมเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ทำให้ผมชอบงานศิลปะไปด้วยในตัว ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูป แรกๆ ก็วาดภาพแบบเด็กๆ ทั่วไปที่วาดกัน ท้องฟ้า ทะเล ภูเขา จู่ๆ วันหนึ่งผมเกิดไปวาดการ์ตูนช่องโฆษณาสินค้า โดยที่ไม่รู้เลยว่าการวาดแบบนั้นคือส่วนหนึ่งในกระบวนการทำโฆษณา ซึ่งทำให้ผมตัดสินใจเรียนต่อด้านโฆษณา”
จิตรภัทร์ เรียนจบปริญญาตรี ด้านโฆษณา ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) และเรียนต่อปริญญาโท ภาควิชาโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบจึงเข้าทำงานที่บริษัท ลีโอ เบอร์เน็ทท์ อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงเข้าทำงานที่บริษัท เจดับบลิวที ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้และพัฒนาฝีมือในวงการโฆษณาจนเป็นที่ยอมรับ
“ที่เจดับบลิวที ต้องขอบคุณโอกาสที่ให้ผมดูแลสินค้าในเครือยูนิลีเวอร์ โอเรียนทอล พริ้นเซส แบรนด์โฟร์โมสต์ ซึ่งทำให้ผมเรียนรู้งานโฆษณาและได้ประสบการณ์มากมายจากที่นี่ จนวันหนึ่งผมเริ่มเห็น
มุมที่จะทำอะไรได้มากมายเกี่ยวกับแบรนด์ต่างๆ แต่ที่ผมรู้สึกก็คือข้อจำกัดในการทำงานหลายอย่าง ที่ทำให้ไอเดียนั้นไม่สามารถออกมาเป็นรูปร่างได้ เลยคุยกับเพื่อนๆ ว่าเรามาเซตอัพบริษัทกัน เป็นบริษัทโฆษณาไทยแท้ ที่เชื่อใน วันเบสต์ แคมเปญไอเดีย ว่าลูกค้าแต่ละแบรนด์ แคมเปญที่ดีที่สุดของพวกเขาคืออะไร
“นอกจากแนวคิดหลัก ในเรื่องขั้นตอนการทำงาน ผมพยายามลดขั้นตอนในการทำงาน ด้วยการใช้บุคลากรที่เป็นซีเนียร์ทั้งหมด และพนักงาน 1 คนเป็นได้ทั้งแพลนเนอร์ จนถึงโปรดิวเซอร์ เพื่อลดสเต็ปการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป สิ่งที่ลูกค้าจะได้คือเรื่องงานที่ตรงใจและเข้าถึงเป้าหมายมากขึ้น ได้งานที่เร็วขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น”
สำเร็จด้วยสร้างสรรค์
“สินค้าที่ทำให้ผมมีชื่อในวงการก็คือ ผงซักฟอกออล เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยประมาณปี 2011 ออลเป็นแคมเปญแรกของเรา ที่ต้องทำให้ผงซักฟอกน้องใหม่ของวงการซึ่งจะลงไปทำตลาดล่างนั้นเข้าไปติดอยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมาย แม่บ้านทั่วประเทศและจดจำว่าเป็นผงซักฟอกที่มีความหอมให้ได้
“เราได้โจทย์กลับมาคิดอยู่ไม่นานนักก็ได้ไอเดียอย่างนึงออกมา คือถ้าเราคิดในแพตเทิร์นทั่วไปก็คือเราสร้างหนังโฆษณา และบอกว่าผงซักฟอกออลหอมอย่างไร แต่เราอยากทำให้ออลนั้นดูสนุกสนาน เพราะเราได้อินไซด์ว่าการซักผ้าด้วยมือของแม่บ้านเป็นเรื่องน่าเบื่อ และเราก็พบว่าแม่บ้านเหล่านี้ชอบเรื่องเอนเตอร์เทน ดังนั้นแทนที่เราจะบอกแค่ว่าผงซักฟอกหอม เราก็ทำให้เรื่องการซักผ้าเป็นเรื่องสนุกสำหรับทุกคน โดยทำเพลงขึ้นมาหนึ่งเพลง ชื่อเพลงว่า 'หอม' จากปกติที่เราจะเดินไปโปรดักชั่นส์ เฮาส์ เราไปคุยกับครีเอเทีฟและเพลนเนอร์ เพื่อทำโฆษณาออกมา เราเลือกเดินไปคุยกับแกรมมี่ ขอศิลปินของเขา 1 คน เพื่อมาร้องเพลงหอม เราได้ศิลปิน ไอซ์ ศรัญยู มาร้องเพลงนี้ให้เรา
“แล้วเมื่อมาดูเนื้อเพลงหอม จะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับผงซักฟอกออลที่เด่นเรื่องความหอมทั้งหมด แต่ไม่มีแบรนดิ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นเราปล่อยเพลงออกอากาศ ตามรายการเพลงและในคลื่นวิทยุต่างๆ ในเอ็มวีมีท่าเต้นเป็นท่าซักผ้า ไม่นานนักเพลงก็ขึ้นอันดับ 1 ในคลื่นวิทยุต่างๆ กลายเป็นเพลงยอดนิยมในช่วงนั้น เราปล่อยเวลาให้เพลงนี้ได้รับความนิยมไป 1 เดือนและจึงเริ่มแคมเปญหอมกระจาย เป็นเพลงเปิดตัวสินค้าของออล พร้อมท่าเต้นซักผ้าซึ่งเป็นที่จดจำของกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ผงซักฟอกออลเป็นที่รู้จักจดจำเทียบเท่ากับแบรนด์ผงซักฟอกรุ่นพี่ที่เป็นเจ้าตลาดทั้งหมด และทำให้เกิดกระแสการทำเพลงโฆษณาตามมาอีกหลายชิ้น และผลงานแคมเปญเพลงหอมจากออล ‘ไลฟ์ อิส อะ มิวสิคัล, ก็คว้ารางวัล ‘เดอะพีเพิล อวอร์ด, จากเทศกาลสื่อสากล ปี 2554 เมืองมงเทรอซ์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในที่สุด”
ทุกปัญหามีทางออกเสมอ
“เคล็ดลับที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่ให้เราพูดจาภาษาเดียวกับลูกค้า ลูกค้าจะบอกผมเสมอว่าผมพูดจาภาษาเดียวกับเขา คือพูดแล้วเรามีความเข้าใจตรงกัน เพราะสิ่งที่ผมจะทำเสมอคือ ใจเย็น ตั้งใจฟังให้ลูกค้าพูดให้หมดก่อนอย่าเพิ่งไปขัด ฟังจบแล้วเราถึงจะบอกสิ่งที่เราคิดว่าเราคิดตรงกันไหม ผมจะพูดเสมอคือ ‘ผมเข้าใจพี่และสิ่งที่ผมคิดคือ..., ดังนั้นการฟังและวิธีการพูดเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจลูกค้า
“ต่อมาก็คือเรื่องประสบการณ์ เราต้องเข้าใจลูกค้า เข้าใจกระบวนการทำงานและการต้องกลั่นกรองความคิด เราต้องสร้างภาพใหญ่ขึ้นมาก่อน และทำให้ภาพนั้นกับภาพในความคิดลูกค้าตรงกัน ด้วยการพูดคุยกันที่เนื้อหาโดยตรง เราไม่ปฏิเสธความคิดลูกค้า ถ้าทำได้และทำแล้วดีเราจะทำ แต่ถ้ามีมุมที่เราเห็นว่าน่าจะดีกว่าเราจะปรับความคิดนั้นออกมาเป็นวิธีการทำงานและพูดว่าอะไรที่สามารถทำได้และทำไม่ได้ และเราต้องปรับการทำงานนั้นอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด
บางอย่างอาจจะดูเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเป็นคนเชื่อในความเป็นไปได้หมดทุกอย่างเวลาที่ลูกค้าเข้ามาเขาจะมาพร้อมปัญหา และเราต้องหาทางออกให้กับพวกเขา เพียงแต่ว่าจะใช้วิธีอะไรเท่านั้น ทุกปัญหาในโลกนี้มีทางออก ในงานโฆษณาก็เช่นกันอยู่ที่ว่าเราจะใช้วิธีไหนมาแก้ปัญหาเท่านั้นเอง”