ศาสตร์พระราชา ต้นแบบการพัฒนาอีสาน
70 ปีแห่งการครองราชย์ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ด้วยพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดย...วราภรณ์
70 ปีแห่งการครองราชย์ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ด้วยพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากให้กับประชาชนของพระองค์มาโดยตลอด และในปี 2559 นี้ ถือเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินโครงการพิเศษร่วมเฉลิมฉลอง โดยกำหนดจัดกิจกรรมศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดปี ในครั้งนี้พาไปดูงานในพื้นที่ จ.สกลนคร และกาฬสินธุ์ ซึ่งมีหลากหลายโครงการที่ถือเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาทางภาคอีสาน
‘พัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน’ ปฐมบทแห่งการพัฒนาทางภาคอีสาน
อำพล ตมโคตร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ และหัวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เล่าถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทางภาคอีสาน เริ่มต้นเมื่อ 24 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เสด็จฯ เยี่ยมโครงการศิลปาชีพที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาทรงงานไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จฯ มาด้วย ช่วงนั้นฤดูหนาว ลมแรง ทรงเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึงเวลา 14.00 น. แต่เฮลิคอปเตอร์ต้องบินวน ลงไม่ได้เพราะลมแรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ในพระหัตถ์ของพระองค์มีแผนที่ ทรงทอดพระเนตรลงมาด้านล่าง ทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้ง จึงทรงวงพื้นที่แห้งแล้งลงในแผนที่ หลังจากเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งลงจอดในตัวอำเภอ มีพิธีการต้อนรับจากชาวบ้านภูไทเสร็จสิ้น ทรงตระหนักในสิ่งที่พระองค์ได้เห็นและทรงวงไว้บนแผนที่ ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นหน้าเก็บเกี่ยว มีแต่ความแห้งแล้ง
อำพล ตมโคตร
“หลังเสร็จพิธีการต้อนรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุยกับผู้ติดตามว่า ตอนบินวน พระองค์เห็นความแห้งแล้ง ทรงเรียกผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านมาดูในแผนที่ว่าบริเวณที่ทรงวงไว้คือบริเวณใด ชาวบ้านในยุคนั้นไม่ชินกับแผนที่ จึงดูแผนที่ 1 : 50,000 ไม่เป็น ทรงบอกว่าไม่เป็นไร จากนั้นทรงเสด็จฯ นอกหมายกำหนดการ ทรงรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ทรงค่อยๆ อ่านแผนที่และเสด็จฯ ไปด้วยพระองค์เอง ทรงนำชาวบ้านไปด้วย และก็หาจุดที่ทรงวงไว้ในแผนที่จนเจอ ซึ่งเป็นโขดหินที่วังพระยา ทรงคิดว่าก่อสร้างแหล่งเก็บน้ำได้ น่าจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ขณะที่เสด็จฯ กลับระหว่างทางทรงเห็นชาวบ้านนวดข้าวอยู่ริมถนนลูกรัง ทรงจอดรถและเสด็จฯ ลงไปกำข้าวที่ชาวบ้านนวดเสร็จแล้วไว้หนึ่งกำมือ และรับสั่งถามชาวบ้านว่า ข้าวกินได้เหรอ ชาวบ้านตอบว่า กินได้ แต่ข้าวหนึ่งกำมือนั้น มีแค่ 5% เท่านั้นที่กินได้ ที่ข้าวไม่สมบูรณ์เช่นนั้น เพราะทรงรู้ว่าข้าวกำลังออกรวง แต่ไม่มีน้ำทำนาจึงทำให้เกิดการเสียหายต่อผลผลิต จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานในสมัยนั้นหาแหล่งน้ำ จากนั้นกรมชลประทานจึงสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน เริ่มก่อสร้างปี 2537 เสร็จเรียบร้อยและสามารถเก็บกักน้ำได้ในปี 2538 เต็มความจุของอ่าง 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี”
โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ บริหารจัดการน้ำได้ทั่วถึง
ต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งอยู่ทาง จ.มุกดาหาร มาเติมให้อ่างลำพะยังเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานมากขึ้น สร้างปี 2546 เสร็จปี 2552 สำหรับอ่างใช้ระบบท่อส่งน้ำและหัวจ่ายกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรเหมือนก๊อกน้ำในนา ส่งน้ำได้ 4,700 ไร่ ถือเป็นแห่งแรกของไทยที่ใช้ระบบท่อ ส่วนอุโมงค์ผันน้ำตามแนวพระราชดำริส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่เกษตร 1.2 หมื่นไร่
อุโมงค์ผันน้ำเป็นโครงการต่อเนื่องมาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนตามแนวพระราชดำริ เป็นวิธีบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มรูปแบบ พอสร้างเสร็จกรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำ หัวจ่าย 76 หัว ต้องบริหารให้ดี เพื่อให้ชาวบ้านได้รับการกระจายน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะคนต้องการน้ำพร้อมๆ กัน เพื่อเกิดการแบ่งปันทั่วถึง 19 หมู่บ้าน หลังจากมีอุโมงค์ผันน้ำแล้วทำให้ผลผลิตข้าวจากเดิม ปี 2539 ปลูกข้าวได้ 250 กิโลกรัม/ไร่เท่านั้น แต่หลังจากเริ่มมีการส่งน้ำ ช่วงข้าวจะตั้งท้องก็ส่งน้ำไป ทำให้ปลูกข้าวได้ผลผลิต 690 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มปริมาณผลผลิตอย่างเห็นได้ชัด นาบางแปลงปลูกได้มากถึง 700 กิโลกรัม/ไร่ทีเดียว
“หลังโครงการลำพะยังสร้างเสร็จแล้ว ทรงให้สร้างอุโมงค์น้ำลอดภูเขา เรางงท่านคิดได้อย่างไร ผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ที่เหลือน้ำประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร นำมาใช้ที่นี่ เพื่อนำน้ำลงในพื้นที่ 1.2 หมื่นไร่ มีหัวจ่ายน้ำเป็นร้อยหัวจ่าย โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการผันน้ำไปให้คนที่กาฬสินธุ์ด้วย ปัจจุบันจากน้ำเพื่อการเกษตร ตอนนี้ 10 ปีหลังยังสามารถใช้น้ำเพื่อโรงงานอุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภคภายในครอบครัวด้วย” อำพล กล่าว
หัวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยัง บอกอีกว่า ฤดูนาปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยผลผลิตอยู่ที่ 700 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบ 60 ล้านบาท ลงทุนสร้างอ่างเก็บน้ำ 200 ล้านบาท 3 ปีกว่าก็คืนทุนแล้ว ส่วนปี 2558-2559 ส่งเสริมปลูกพืชฤดูแล้งตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ มีปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกมะเขือเทศ ส่งโครงการหลวงประมาณ 300 กว่าไร่ รวมถึงถั่วลิสง ยาสูบ เหตุพื้นที่ปลูกยังไม่มาก เพราะชาวบ้านไม่มั่นใจราคาผลผลิต และมีทางเลือกอื่นสร้างรายได้
“การบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานเป็นผู้แนะนำ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะเรื่องบริหารจัดการน้ำให้เหมาะกับบริบทของภูมิสังคม ผมเข้ามาทำงานที่นี่ตอนปี 2540 พอรู้ว่าเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ผมรู้สึกทึ่งมากๆ ทำไมเราคิดไม่ได้เหมือนพระองค์ท่าน ปีที่แล้วปลูกได้ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา เอกลักษณ์ของข้าวเหนียวเขาวง อร่อยขึ้นชื่อแต่มีน้ำตาลสูง ข้าวจึงมีรสหวาน เพราะดินมีความเข้มข้นสูง สถานการณ์น้ำแล้งในปัจจุบัน ทางกรมชลประทานให้ชาวบ้านปรับตัว คือให้บริหารจัดการน้ำร่วมกับเรา ซึ่งต้องใช้วิธีอธิบายความจำเป็นของการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ชาวบ้านก็เข้าใจ เพื่อจะได้กระจายน้ำในช่วงหน้าแล้งได้ทั่วถึงขึ้น”
หมอดิน นำศาสตร์พระราชามาใช้พัฒนาความเป็นอยู่
วิศักดิ์ อารมณ์สวะ เกษตรกรสายเลือดภูไท วัย 48 ปี เขาได้เรียนรู้นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้พัฒนาที่ดินจำนวน 12 ไร่ของเขา ให้ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์นำรายได้มาเลี้ยงครอบครัวได้ตลอดทั้งปี และการเรียนรู้และนำมาใช้อย่างเกิดประโยชน์ของเขา ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็นหมอดิน ผู้อนุรักษ์ดินและน้ำแห่งบ้านโนนสูง จ.กาฬสินธุ์ การตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนมีรายได้เลี้ยงทั้งครอบครัว และเขาได้ทำไร่นา 12 ไร่ของเขาให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเผยแพร่ศาสตร์พระราชาอีกทางหนึ่งด้วย
“เดิมผมไปรับจ้างที่จังหวัดอื่นหลังช่วงปลูกข้าวเสร็จ เพราะยุคก่อนเราทำนาอย่างเดียว ที่บ้านก็ไม่มีอะไร แต่พอมีโครงการผันน้ำตามแนวพระราชดำริ ทำให้ชีวิตของครอบครัวผมดีขึ้น พวกผมกลับมาบ้านไม่ต้องใช้ชีวิตเป็นแรงงานต่างถิ่น หลังจากที่บ้านมีอุโมงค์ 8 ปีถึงได้กลับมาบ้าน พอกลับบ้านผมไปดูบ้านที่ใช้ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วสำเร็จ ผมจึงกลับมาพัฒนาที่ดิน เริ่มแรกปรับรูปแปลงนาของตัวเอง แบ่งพื้นที่ 30-30-30 คือ พื้นที่ไร่นา 30 สระน้ำ 30 และเลี้ยงสัตว์อีก 30 ที่เหลือปลูกต้นไม้อีก 10% บนที่ดิน 12 ไร่ พอหลังฤดูเกี่ยวข้าวแล้ว ผมก็หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ มะเขือเทศ ข้าวโพด นอกเหนือจากการปลูกข้าว ปลูกกินพอในครัวเรือนแล้วค่อยแบ่งขาย ทำให้มีรายได้ปีละ 1 แสนบาท พออยู่พอกิน เพราะเราไม่ต้องเสียเงินซื้อหาอะไร เรายังมีการรวมกลุ่มกัน 50 คน หลังหน้านาเราจะรวมกลุ่มกันปลูกพืชฤดูแล้ง ควบกับการเลี้ยงฟาร์มหมูและเลี้ยงไก่ ตอนนี้ผลผลิตข้าวได้ประมาณ 600 กิโลกรัม/ไร่/ปี สามารถส่งลูกเรียนปริญญาตรีได้ ซึ่งสมัยก่อนเป็นเรื่องยากมาก แต่สมัยนี้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น เพราะผมหันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงไก่ มีผลผลิตกินตลอดทั้งปี กิน 40% ออกขายอีก 60%”
วิศักดิ์ อารมณ์สวะ
แหล่งเรียนรู้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ราวปี 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคแรก ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรภาคอีสานที่แร้นแค้น จึงเป็นจุดกำเนิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งใจความว่า
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อ.เมือง จ.สกลนคร เดิมเป็นป่าโปร่งคนไปตัดไม้สำหรับเป็นฟืนและใช้พื้นที่สำหรับทำการเกษตรกรรม ป่าไม้ที่อยู่เหนือพื้นที่ถูกทำลายไปมาก จึงไม่มีน้ำในหน้าแล้ง น้ำไหลแรงในหน้าฝน ทำให้มีการชะล้าง (Erosion) หน้าดิน (Top Soil) บางลง และเกลือที่อยู่ข้างใต้จะขึ้นเป็นหย่อมๆ...”
จึงมีพระราชดำริจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน ณ หมู่บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเป็นห้องทดลองงานพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ อันได้แก่ การพัฒนาป่าไม้ การเกษตรต่างๆ ตามความเหมาะสม รวมทั้งการดำเนินงานด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้ อันจะนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ต่อไป ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นแบบจำลองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ส่วนย่อที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหา และศึกษาวิธีการพัฒนาของภูมิภาคนี้ได้อย่างเหมาะสม ศูนย์ศึกษาแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1.33 หมื่นไร่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่สาธิตเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม จำนวน 2,300 ไร่ และพื้นที่พัฒนาป่าไม้ จำนวน 1.1 หมื่นไร่ พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ 22 หมู่บ้าน จำนวน 1.1 หมื่นไร่
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จึงเป็นเสมือนแบบจำลองของภาคอีสาน เพื่อศึกษาวิธีการพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ อันได้แก่ ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ป่าเปียก การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และปลูกป่าในใจคน นอกจากนี้ยังมีการสอนเลี้ยงโคเนื้อทาจิมะภูพาน มีการเลี้ยงไก่ดำภูพาน การเลี้ยงสุกรภูพาน การส่งเสริมให้ปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร การปลูกข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 เป็นต้น ศูนย์นี้จึงถือเป็นโรงเรียน 1 ใน 6 แหล่งสำหรับภูมิภาคนี้ ทรงเน้นธรรมชาติ ภูมิสังคมเป็นหลัก ให้สอดรับเพื่อแก้ไขปัญหา ศูนย์นี้มีพื้นที่ขยายผลแก้ไขปัญหา 20 กว่าจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งสภาพปัญหาของอีสานคือ ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาใหญ่ ต่อมาคือปัญหาด้านแหล่งน้ำและป่าไม้ แหล่งน้ำธรรมชาติไม่มีเพียงพอ มีการแผ้วถางเพื่อประกอบอาชีพ ทำให้แหล่งต้นน้ำลำธาร ระบบนิเวศถูกทำลาย” ณรงค์ ณ ทองหลาง หัวหน้านายช่างชลประทานอาวุโส กล่าวทิ้งท้าย