สมรภูมิโกดังสี่ห้าง ธงชาติ และสัญลักษณ์รวมใจ
“เป็นเรื่องทั้งไม่น่าประหลาดใจและน่าประหลาดใจ ที่เรารู้สึกภาคภูมิใจเมื่อธงชาติไทยได้ขึ้นอวดนานาชาติในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก...”
โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์
“เป็นเรื่องทั้งไม่น่าประหลาดใจและน่าประหลาดใจ ที่เรารู้สึกภาคภูมิใจเมื่อธงชาติไทยได้ขึ้นอวดนานาชาติในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก...”
ปลายปี ค.ศ. 1937 สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองเริ่มเข้าสู่จุดแตกหัก ญี่ปุ่นยึดปักกิ่งไปได้แล้ว และกำลังจะยกทัพเข้ายึดเซี่ยงไฮ้ แม้ยุคนั้นเมืองเซี่ยงไฮ้บางส่วนที่เป็นเขตพื้นที่เช่าของต่างชาติ แต่ก็ถือว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจีนที่สำคัญเช่นกัน
เจียงไคเช็กผู้นำรัฐบาลก๊กมินตั๋ง บัญชาการให้รักษาเซี่ยงไฮ้ไว้จนสุดความสามารถ จีนนำกำลังทหารจำนวนมากเข้าต้านทานทัพญี่ปุ่นในยุทธการเซี่ยงไฮ้ นักข่าวต่างประเทศบางคนขนานนามยุทธการนี้ว่า “สตาลินกราดแห่งแยงซีเกียง”
แม้จะทุ่มกำลังทหารเข้าป้องกันกองทัพญี่ปุ่นอย่างไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภาพรวมของสงครามได้ ทัพจีนกำลังสูญเสียอย่างหนัก ยื้อไปมากกว่านี้ เท่ากับผลาญชีวิตทหารทั้งหมดทิ้ง พอปลายเดือน ต.ค. ภาพรวมของยุทธการเซี่ยงไฮ้จึงเป็นการถอนกำลังไปปกป้องเมืองหลวงที่ “นานกิง” แต่ต้องเป็นการถอนกำลังอย่างช้าๆ หนึ่งเป็นเรื่องการทหาร เพราะต้องประวิงเวลาให้กำลังหลักมีเวลาถอยทัพอย่างเป็นขบวน สองเป็นเรื่องการเมือง คือให้นานาชาติยังรับรู้ว่า จีนไม่ได้ทิ้งเซี่ยงไฮ้ไปง่ายๆ
รัฐบาลก๊กมินตั๋งมอบหมายให้กองพลที่ 88 รั้งท้ายรักษาเซี่ยงไฮ้ กองพล 88 มีกำลังพลอยู่เพียง 423 นายเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นทหารกองหนุนที่เพิ่งเกณฑ์ เจียงไคเช็กต้องการให้กองกำลังชั้นดีเข้าปกป้องเมืองหลวง
กองพล 88 เลือกตั้งยันที่อาคารโกดังสี่ห้าง (ซื่อหังชางคู่) ริมแม่น้ำซูโจวด้านเหนือ โดยทางฝั่งใต้แม่น้ำและพื้นที่ด้านตะวันออกเป็นเขตพื้นที่เช่าของนานาชาติ กองทัพจีนไม่สามารถติดอาวุธล้ำเขตแดนเข้าไปทำสงครามได้ ส่วนทางด้านตะวันตกและเหนือถูกญี่ปุ่นยึดครองไปหมดแล้ว
โกดังสี่ห้าง กลายเป็นป้อมปราการด่านสุดท้ายที่ยันทัพญี่ปุ่น โกดังสูงหกชั้น พื้นที่สองหมื่นตารางเมตร เป็นโกดังที่ธนาคารของจีน 4 แห่งร่วมกันสร้างขึ้น (จึงเป็นที่มาของชื่อโกดัง 4 ห้าง) เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีต เสริมเหล็กไม่กี่หลังในเซี่ยงไฮ้
สภาพโกดังแม้แข็งแรงคล้ายจะเป็นป้อมปราการ แต่ยังต้องเพิ่มการเตรียมพร้อมอีกมาก ผู้บัญชาการกองพล 88 สั่งให้นำกระสอบทรายวางเรียงอุดช่องประตูด้านล่างทั้งหมด พร้อมทั้งเสริมกระสอบที่ช่องหน้าต่างด้านบนให้สูงขึ้นเตรียมไว้เป็นช่องยิงต่อต้าน ที่ดาดฟ้าติดตั้งปืนกลสำหรับยิงระยะไกล ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเดินทัพมาถึง กองพล 88 และชาวจีนในเขตพื้นที่เช่านานาชาติ ต่างช่วยกันส่งเสบียงเตรียมความพร้อมให้ปราการนี้ปักหลักอยู่ได้นานที่สุด
มันเคยถูกเรียกว่าโกดัง ตอนนี้บางคนเรียกมันว่าป้อมปราการ แต่นายทหารบางคนเรียกมันว่าสุสานของพวกเรา เพราะพวกเขาต้องปักหลักสู้ตาย
เช้าตรู่วันที่ 27 ต.ค. กองทัพญี่ปุ่นก็เปิดศึกโจมตีโกดังสี่ห้าง การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด ทัพญี่ปุ่นนำขบวนด้วยรถถังคอยกำบังพลเดินเท้า เมื่อเริ่มเข้าใกล้โกดัง กองพล 88 ระดมยิงไม่ยั้งจนทัพญี่ปุ่นต้องล่าถอย
ต่อมาทัพญี่ปุ่นเข้าโจมตีทางฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นผนังทึบไม่มีมุมให้กองพล 88 ได้โจมตี ทำให้กองทัพญี่ปุ่นวางเพลิงที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอาคารได้สำเร็จ กองพล 88 ต้องแบ่งทหารส่วนหนึ่งมาช่วยกันดับไฟ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ยังคงระดมยิงป้องกัน แต่ที่สุดญี่ปุ่นก็เข้ายึดโกดังแห่งนี้ไม่สำเร็จ
ท่ามกลางการสู้รบที่ยังดุเดือดกันอยู่ ชาวจีนที่อยู่ในเขตเช่าต่างชาติอีกฟากแม่น้ำเห็นว่ากองพล 88 ยังขาดอะไรอยู่สิ่งหนึ่ง
นั่นคือธงชาติจีน
ทางด้านเหนือและตะวันตกมีแต่ธงพระอาทิตย์แห่งกองทัพญี่ปุ่นที่บอกว่ากองทัพญี่ปุ่นได้ยึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว ทางด้านตะวันออกและอีกฟากของแม่น้ำทางด้านใต้ก็มีแต่ธงของอังกฤษ อเมริกา ที่คอยเป็นสัญญาณว่า เป็นที่ดินของชาติที่เป็นกลาง ไม่ขอเอี่ยวในสงครามครั้งนี้
เซี่ยงไฮ้ของจีนในเวลานั้น ขาดแต่ธงชาติของแผ่นดินจีน!
หยางฮุ่ยหมิ่น ยุวชนทหารหญิงอายุ 14 ปี เดิมเธอเป็นแค่เด็กต่างจังหวัดที่ต้องการเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่ แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้น เธอก็ขอทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองเท่าที่ศักยภาพของเธอจะอำนวย
เธอพับธงผืนใหญ่ซ่อนไว้กับตัวแล้วลักลอบออกเดินทางจากเขตเช่านานาชาติกลางคืนที่มืดมิดเข้าไปที่ปราการโกดังสี่ห้าง เพื่อส่งมอบธงชาติจีนให้กับกองพล 88
นาทีที่เธอเข้าไปที่ลักลอบเข้าโกดัง เธอส่งมอบธงชาติทั้งน้ำตา เป็นน้ำตาในความรู้สึกที่บอกไม่ถูก กองพล 88 ร่วมทำความเคารพและกล่าวขอบคุณเธอ แล้วจึงหาไม้ไผ่ทำเป็นเสาธงเชิญธงชาติจีนขึ้นปักบนยอดตึก
ตอนนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่ง ธงชาติจีนผืนใหญ่จึงได้ปลิวสะบัดอยู่เหนืออาคาร เป็นธงชาติจีนผืนเดียวในดินแดนนั้น เพิ่มความฮึกเหิมให้กับทหารที่อยู่ภายในป้อม รวมถึงกระตุ้นเตือนอะไรอีกหลายอย่างให้กับชาวจีนที่คอยสังเกตการณ์อยู่ในเขตเช่านานาชาติ เช้าวันนั้นชาวจีนจำนวนหนึ่ง ยืนทำความเคารพธงชาติอยู่นอกป้อมปราการ ฟากตรงข้ามแม่น้ำซูโจว
ทัพญี่ปุ่นเข้าโจมตีอีกหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถโค่นปราการด่านโกดังสี่ห้างนี้ไปได้ จนถึงวันที่ 30 ต.ค. ศูนย์กลางแจ้งข่าวว่ากองกำลังหลักล่าถอยได้ตามแผน ถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจของกองพล 88 โดยสมบูรณ์ ทั้งหมดถอนกำลังเข้าเขตเช่านานาชาติ โดนปลดอาวุธ และถูกจับเข้าเขตกักกันพิเศษ และด้วยวีรกรรมที่โกดังสี่ห้างของพวกเขา กองพล 88 ยังคงได้รับอนุญาตให้ร้องเพลงชาติและเคารพธงชาติจีนได้ในเขตกักกัน
ยุทธภูมิเซี่ยงไฮ้ที่ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะยึดพื้นที่ให้ได้ภายในสามวัน กลับยืดเยื้อไปนานสามเดือน สมรภูมิโกดังสี่ห้างนี้เป็นช่วงระยะ 4 วัน 5 คืนสุดท้ายของยุทธภูมิเซี่ยงไฮ้ เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของกองกำลังเล็กๆ
หนึ่งในชัยชนะนั้น มี ด.ญ.หยางฮุ่ยหมิ่นอยู่ด้วย เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักชาติ พอๆ กับธงชาติที่เธอนำไปมอบให้ก็เป็นสัญลักษณ์ของการรวมใจของชาวจีน โกดังสี่ห้างและกองพล 88 ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการยืนหยัดรักษามาตุภูมิ
ความเข้าใจหรือซาบซึ้งใน “สัญลักษณ์” เป็นสิ่งแปลกประหลาดที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น
สัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ บางครั้งเกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่แค่เพียงครั้งเดียว ก็เกินพอที่จะส่งต่อให้คนระลึกถึงได้พร้อมกัน และส่งทอดความซาบซึ้งผ่านกาลเวลา สิ่งที่เชื่อมต่อคนตัวเล็กๆ ซึ่งอาจไม่มีโอกาสหรือกำลังพอที่จะทำสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า มักขาดสัญลักษณ์ไปไม่ได้
ธงชาติอาจเป็นเพียงสิ่งสมมติ แต่ในหลายสถานการณ์ก็หล่อหลอมรวมใจคนได้จริงๆ เพราะพาผู้คนจำนวนมากผ่านประสบการณ์อันน่าภาคภูมิใจต่างๆ นานา
สัญลักษณ์จึงสามารถเป็นคลังเก็บความภาคภูมิใจที่คนลืมตาพร้อมจะมองเห็น คนหลับตาไม่มีทางมองเห็น ส่วนคนแกล้งหลับตาคงเรียกเขาให้ลืมตาขึ้นมาเห็นได้ยากยิ่ง
ความภาคภูมิใจเมื่อธงชาติไทยได้ขึ้นอวดนานาชาติในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็เช่นกัน... สำหรับบางคนมันอาจไม่ได้มีความหมายใหญ่โตอะไร สำหรับบางคนมันกำลังทำให้ความยิ่งใหญ่ ความภูมิใจเพิ่มพูนเข้าไปในสัญลักษณ์มากขึ้นๆ